ได้เวลาชู "ธงเขียว" ทวงคืน รธน.40

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถ้าเวลา 10 ปี ยังไม่ยาวนานเกินไปที่จะพรากความทรงจำ ใครหลายคนยังอาจจะจำได้ว่า ในห้วงเวลานั้น โดยเฉพาะช่วงก่อนถึงเดือนตุลาคม คนในสังคมไทยต่างตื่นตัวในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับคนอื่นๆ และเกี่ยวกับบ้านกับเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

ห้วงเวลานั้น นับได้ว่ากระแสปฏิรูปการเมืองพุ่งถึงขีดสูงสุด และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ก็เชื่อว่าได้ทำให้หลายคนหายใจโล่งอก หลายคนแอบหวังถึงสังคมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ หลายคนชื่นชมและมั่นใจว่า นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ไม่มีใครกล้าฉีกทิ้งอีกแล้ว อันเป็นหมุดหมายสำคัญปักหลักประชาธิปไตยขึ้นในสังคมการเมืองไทยเพื่อรอวันเติบโตเจริญยิ่งๆ ขึ้น

 

ครั้งหนึ่ง ในขบวนรณรงค์ใหญ่ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่นำโดยคุณอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ  ขบวนรณรงค์ครั้งนั้นปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใช้ปีกนกของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้ง 4 ด้าน ซึ่งผู้ออกแบบใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความเจริญเป็นฉากหลัง ที่ขนาบผ้าผืน "เขียวตองอ่อน" โดยมีข้อความรณรงค์ให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญ 2540

 

ถ้า 10 ปีไม่นานเกินไป คุณย่อมจำได้ เวลานั้น "สีเขียวตองอ่อน" พรึบพรับเต็มเมือง ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพ หัวเมืองในทุกภาค ต่างก็อยู่ในอารมณ์และบรรยากาศของการชู "ธงเขียว" ทั้งสิ้น

 

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ประจำจังหวัดของ ส.ส.ร.รวม 76 จังหวัด รายงานการดำเนินการรับฟังทั้งหมดในชั้นเบื้องต้นว่ามีถึง 629,232 คน ขั้นประชาพิจารณ์ในระดับจังหวัด 70 จังหวัด 122,584 คน เวทีระดับภาค 3,828 คน มีผู้กรอกแบบสอบถาม 87,912 คน รวมผู้มีส่วนร่วมทั้งสิ้น 843,556 คน นอกจากนี้ยังมีการมีส่วนร่วมระดับองค์กรกลุ่มธุรกิจ กลุ่มภาคประชาชน กลุ่มองค์กรประชาธิปไตย พรรคการเมืองจำนวนกว่า 300 กลุ่ม

 

ไม่ว่าใครจะบอกว่านั่นคือการสร้างกระแสอย่างได้ผล หรือใครจะบอกว่านั่นคือไฟไหม้ฟางก็ตามเถอะ แต่หัวจิตหัวใจของคนไทยในเวลานั้นและแบบนั้น แบบที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับให้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแต่ก็หามาอ่าน ไม่มีใครเชิญชวนให้ไปร่วมแสดงความเห็น แต่ก็เดินไปร่วมแสดงความเห็นในทุกเวทีที่หาได้ใกล้บ้าน น่าจะเป็นคำตอบส่วนหนึ่งได้ว่า ทำไมเวลานี้จึงมีประชาชนผู้ตื่นตัวเต็มไปหมดในทุกเวทีอภิปราย ในทุกวงปราศรัย ในทุกตำบลทุกท้องถิ่น

 

วันนี้เราแทบจะไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรเลยกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีแต่คำประกาศว่า "เอ้า ทุกคนจงมีส่วนร่วม" และยืนยันได้ว่า หากจะให้ได้ตัวเลขของผู้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นให้เท่ากับจำนวนที่ ส.ส.ร.ในปี 2540 ทำไว้ ส.ส.ร.ในปี 2550 จะต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน (เงินเราๆ นั่นเอง) เฉพาะเพื่อการนี้ไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท เพราะแทบจะปิดกันไม่มิดว่า การแสดงความเห็นนั้นได้จ่ายเป็นค่าจ้างหรือค่ารถให้ชาวบ้านรายละ 150 บาทด้วย  

 

0 0 0

 

คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ต่อเช้าวันที่ 20 กันยายน 2549 หลังการรัฐประหารไม่กี่ชั่วโมง "ประชาไท" ขึ้นแบนเนอร์พาดหัวสำคัญสั้นๆ ว่า "เอารัฐธรรมนูญ 2540 คืนมา"

 

แน่นอน รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อบกพร่อง มีแน่ๆ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดคนอย่างคุณทักษิณขึ้นมา แต่ส่วนที่ดีที่มีมากกว่ามากนั้น หนึ่งในนั้นก็คือ ได้สร้างนายกฯ ที่เก่งอย่างคุณทักษิณขึ้นมาด้วย

 

รัฐธรรมนูญ 2540 ว่าไปก็ออกแบบให้แก้ไขได้ และเอาเข้าจริง กระบวนการแก้ไขที่เรียกว่า "เดินหน้าต่อ : ปฏิรูปการเมือง" ก็เปิดฉากขึ้นแล้วด้วยสัญญาประชาคม หลังการยุบสภาของคุณทักษิณ เพียงแต่ตอนนั้นคุณทักษิณล้มละลายด้านความน่าเชื่อถือไปเสียก่อนเท่านั้นเอง

 

ข้อเสนอ "เดินหน้าต่อ : ปฏิรูปการเมือง" จึงเป็นข้อเสนอของภาคประชาชน เป็นข้อเสนอของฝ่ายต้านคุณทักษิณเห็นดีด้วย และเป็นข้อเสนอที่ฝ่ายรักคุณทักษิณก็รับ และเชื่อเถิดว่าเขายินดี แบบยากจะบิดพริ้ว

 

มาวันนี้ที่สังคมไทยแบ่งออกเป็นสามขั้ว รักทักษิณ เอารัฐประหาร และขั้ว "สองไม่เอา" คือไม่เอาทั้งทักษิณ ไม่เอาทั้งรัฐประหาร

 

ประชาไทจึงเห็นด้วย กับข้อเสนอของนักวิชาการทั่วประเทศซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่เรียกร้องให้ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยการเข้าคูหา คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ 2550 - นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ใหม่ - เลือกตั้งใน 60 วัน  - ให้มี ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เพื่อกลับไปสู่กระบวนการก่อนรัฐประหาร และเพื่อ "เดินหน้าต่อ : ปฏิรูปการเมือง"

 

ประชาไทจึงเห็นด้วย กับข้อเสนอของนักวิชาการทั่วประเทศ ที่ระบุว่า มีแต่ทางนี้เท่านั้นที่จะคืนความสมานฉันท์ให้กับทุกฝ่ายและทุกขั้ว

 

ประชาไทจึงเห็นด้วย มีแต่ทางนี้เท่านั้นที่ภาคประชาชนจะก้าวข้ามกับดัก "เตะหมูเข้าปากหมา" และเพิ่มอำนาจให้ประชาชน

 

ได้เวลา "ชูธงเขียว" กันอีกแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท