Skip to main content
sharethis

ประชาไท  - 30 พ.ค.50 หลังจากตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมบริหารพรรคทั้ง 111 คนเป็นเวลา 5 ปี


 


นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้กล่าวปราศรัย ณ ที่ทำการพรรคไทยรักไทย ระบุว่า รู้สึกผิดหวังกับคำตัดสินดังกล่าว และจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 พ.ค.นี้เวลา 11.00 น.


 


"เราไม่นึกเลยว่าจะมีการตัดสินออกมาแบบนี้ คำตัดสินที่ออกมานั้น เรามีความเห็นแตกต่าง เราเห็นว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม คำตัดสินนี้จะมีนักวิชาการทั้งในประเทศและทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปแน่นอน เราขอพูดเพียงสั้นๆ ว่า คำตัดสินนี้เกิดจากแนวความคิดที่ว่าใครยึดอำนาจรัฐได้คือความถูกต้อง ใครยึดอำนาจรัฐได้แม้จะมาจากปากกระบอกปืนก็เป็นผู้กำหนดความถูกผิดในสังคมได้"


 


"เมื่อการตัดสินออกมาอย่างนี้แล้ว แน่นอนว่าประชาชนทั้งประเทศคงรับไม่ได้ แต่ว่าวันนี้เราต้องพูดเพื่อให้มันมีทางออก อย่าเพิ่งคิดเพียงทำอะไรให้สะใจ พวกผมยืนอยู่ที่นี่ แกนนำยืนอยู่ที่นี่ มีสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าประชาชนอีก เพราะถูกตัดสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไปแล้ว แต่พวกเราไม่รู้สึกหมดหวัง ไม่รู้สึกหมดอนาคต เราไม่ได้คิดว่าน้อยเนื้อต่ำใจต่อตัวเรา ไม่ได้คิดว่าเรากำลังลำบากยากเข็ญอะไร ขอให้พี่น้องคิดอย่างนี้ ประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเรากำลังมีปัญหามากกว่าพรรคไทยรักไทย เพราะประเทศเรากำลังปกครองโดยระบอบเผด็จการ ที่อารยะประเทศไม่ยอมรับ กำลังปกครองในระบอบเผด็จการที่เศรษฐกิจแย่ลงๆ" นายจาตุรนต์กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์กล่าวปราศรัยได้ไม่นาน สถานีโทรทัศน์ทุกช่องที่มีการถ่ายทอดสด ก็ได้ตัดสัญญาณเข้าสู่ช่วงข่าวหรือรายการปกติในทันที


 


ทักษิณระบุ "เราต้องเคารพกฎหมาย"


ด้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นต่อผู้สื่อข่าวเอพีทีวี กรุงลอนดอน หลังทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องเคารพคำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญ


 



"เราต้องเคารพกฎหมาย ถ้าปฏิบัติตามกฎหมาย เราก็ต้องเคารพ" พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุ


 



เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีแผนการจะเดินทางกลับเมืองไทยหรือไม่ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องการจะกลับเมืองไทยอย่างแน่นอน


 



"ประเทศไทยเป็นบ้านเกิดของผม ผมรักประเทศของผม ผมรักประชาชนของผม ผมจะกลับบ้านอย่างแน่นอน แต่จะกลับต่อเมื่อถึงเวลาที่จะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนไทย ผมต้องการให้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ผมไม่อยากให้สถานการณ์เป็นอย่างทุกวันนี้"


 



ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดความไม่สงบภายหลังมีคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับผู้บริหารของพรรคแล้ว และได้เรียกร้องให้คนที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยอยู่ในความสงบ


 



"สนธิ"ปัดออกความเห็น ทรท.ถูกยุบ


พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และเว้นวรรคทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ว่า "ไม่มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ไว้รอดูบรรยากาศก่อนจะดีกว่ามั้ง ขณะนี้ผมยังไม่อยากพูดอะไร รอดูบรรยากาศก่อน ซึ่งเท่าที่ผมติดตามเห็นนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องยอมรับ"


 



เมื่อถามว่าทหารจะต้องเตรียมพร้อมหรือไม่ หากสมาชิกพรรคไทยรักไทยและผู้สนับสนุนมีการเคลื่อนไหวไม่ยอมรับคำตัดสิน พล.อ.สนธิ กล่าว ก็ต้องรอดูอีกที ยังไม่มีความเห็นในขณะนี้


 



ด้าน พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีต รมว.กลาโหม ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเช่นกัน เพียงแต่ตอบสั้นๆ ว่า ขอรอเวลาอีก 1-2 วัน ถึงจะแสดงความเห็น แต่ยืนยันว่า พร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ


 



ทั้งนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญเริ่มอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคพัฒนาชาติไทย โดยชี้แจงถึงประเด็นต่างๆ ที่จะต้องวินิจฉัยหลายข้อ เช่น


 



ประเด็นที่ 1 ตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญสรุปว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจ โดยอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ คำโต้แย้งฟังไม่ขึ้น


 



ประเด็นที่ 2 การร้องเรียนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ได้ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่ถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย และนายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจสอบสวนกรณีหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้เห็นการกระทำผิดด้วยตัวเอง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น และไม่ว่านายทะเบียนนักการเมืองจะเห็นเอง หรือผู้ใดแจ้งถึงการกระทำผิด ก็มีอำนาจในการสอบสวนทั้งนั้น คำโต้แย้งจึงฟังไม่ขึ้น



 


ประเด็นที่ 3 การสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่เคยเรียกผู้ถูกร้องไปชี้แจงเลย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นไปตามระเบียบและวิธีการ คำร้องฟังไม่ขึ้น



 


ประเด็นที่ 4 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2541 สิ้นผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยหรือไม่ ตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับยังมีผลบังคับใช้อยู่ เพราะประกาศ คปค. ที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นระบุชัดว่า ไม่ให้มีผลต่อ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ดังนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2541 จึงยังมีผลใช้บังคับ




ระเด็นที่ 5 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 (บางมาตรา) ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่ ตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 (บางมาตรา) ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540


 



ส่วนการวินิจฉัย ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ฯลฯ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เช่น พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล นายอมรวิทย์ สุวรรณผา เจ้าหน้าที่ กกต. นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย นางฐัติมา ภาวะลี จากพรรคแผ่นดินไทย ฯลฯ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีเหตุผลฟังได้ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ ได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลจริง และทั้ง พล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ให้เงินสนับสนุนพรรคแผ่นดินไทยเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งจริง ส่วนการให้ปากคำของพยานทั้งนางฐัติมา ที่กลับคำให้การ อ้างว่าถูกนายสุเทพข่มขู่จะดำเนินคดีปลอมแปลงเอกสารนั้น นางฐัติมายืนยันมาตลอดว่าไม่เคยปลอมแปลงเอกสาร จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้น และไม่น่าเชื่อว่าถ้านางฐัติมาได้รับเงินจากนายสุเทพแล้วจริง จะกล้ากลับคำให้การ


 



ขณะเดียวกันก็ฟังได้ว่า พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต มีส่วนร่วมรู้เห็นการที่ พล.ท.ผดุงศักดิ์ นำเงิน 3 ล้านไปมอบให้นางฐัติมาจริง เพราะ พล.ท.ผดุงศักดิ์เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพล.อ.ไตรรงค์ และทั้งคู่ก็เคยเดินทางไปที่พรรคแผ่นดินไทยเพื่อสอบถามเรื่องการวางตัวผู้สมัคร


 



ส่วนประเด็นที่ 9 การกระทำของนายพงษ์ศักดิ์และ พล.อ.ธรรมรักษ์ เกี่ยวกับพรรคหรือไม่ รวมทั้งการที่พรรคไทยรักไทยต่อสู้ว่าคนทั้งสองไม่ใช่หัวหน้าพรรค เป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรค คนทั้งคู่ไม่เกี่ยวกับการเงินและบัญชี และพรรคไม่ได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวนั้น ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า แม้ไม่เห็นได้ว่าพรรคมีมติให้ไปทำดังกล่าวทั้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลและให้เงินพรรคเล็ก หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้สั่งการ แต่มาตรา 20 กฎหมายพรรคการเมือง มีผลใช้บังคับ หากเป็นการดำเนินกิจการฝ่าฝืนบทกฎหมาย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่พรรคจะมีมติ หรือหัวหน้าพรรคมอบหมาย


 



นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นทั้งกรรมการบริหาร เป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็น รมว.กลาโหม ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์เป็นกรรมการบริหารพรรค รองเลขาธิการพรรค และรมว.คมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงใหญ่ แสดงว่าย่อมเป็นคนสำคัญ และได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการบริหารพรรค จึงย่อมมีบทบาทในการกำหนดนโยบายอย่างสูง อีกทั้งคนทั้งสองก็ไม่ได้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัวจากการทำภารกิจนี้ แต่ถ้าสำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อพรรค


 



ประเด็นที่ 10 การกระทำของนายบุญทวีศักดิ์ มีผลผูกพันต่อพรรคพัฒนาชาติไทยหรือไม่ และการกระทำของนายบุญญาบารมีภณ มีผลผูกพันต่อพรรคแผ่นดินไทยหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ถือว่ามีผลผูกพันต่อพรรค เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าได้รับความเห็นชอบจากกรรมการบริหารพรรคแล้ว


 



นอกจากนั้น ยังมีข้อพิจารณาอีกด้วยว่าการกระทำของไทยรักไทย ควรถูกยุบพรรคหรือไม่ และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยจะมีเหตุอันควรให้ยุบพรรคหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่พรรคไทยรักไทยสนับสนุนให้มีการแก้ไขฐานข้อมูลของพรรคเล็ก ย่อมเป็นการสนับสนุนให้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย และการให้เงินสนับสนุนแก่พรรคเล็กเอง ย่อมมีผลเท่ากับผู้ถูกร้องที่ 1 ส่งผู้สมัครมากกว่า 1 คนในเขตเลือกตั้งเดียวกัน เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่ให้แต่ละพรรคส่งผู้สมัครได้แค่เขตละ 1 คน ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามครรลองปกติ เพื่อให้การกลับคืนสู่อำนาจเร็วยิ่งขึ้น ถือว่าได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติ


 



ส่วนกรณีมีเหตุสมควรยุบพรรคทั้ง 3 หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคการเมืองต้องเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวม แต่เมื่อดูจากเหตุยุบสภาเมื่อปี 2549 เป็นเพราะมีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนและขยายตัวไปรุนแรงขึ้น ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวนี้มีในบันทึกของนายสุเทพว่า มีสาเหตุจากการที่ประชาชนไม่พอใจ พ.ต.ท.ทักษิณขายกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐให้แก่ต่างชาติหลายหมื่นล้านโดยไม่เสียภาษี ทั้งก่อนการขายเพียง 3 วัน มีการแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น การยุบสภาจึงมีสาเหตุมาจากส่วนตัวของหัวหน้าพรรค ไม่ใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวเนื่องด้วยประโยชน์สาธารณะ การผลักดันของหัวหน้าพรรคเป็นการใช้อำนาจเหนืออุดมการณ์อย่างเด็ดขาด


 



พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองอันเป็นสถาบันหลัก ย่อมต้องมีหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตย แต่ไทยรักไทยกลับทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 2 เมษายน เป็นเพียงแบบวิธีที่จะนำไปสู่การผูกขาดอำนาจของไทยรักไทยเท่านั้น ทั้งที่การเลือกตั้งทั่วไปเป็นช่วงจังหวะเวลาและกระบวนการทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเปิดโอกาสกว้างขวางที่สุดของประชาชนในการแสดงเจตจำนงในการหาผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ แสดงว่าพรรคไทยรักไทยไม่ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน และไม่เคารพยำเกรงของกฎหมายบ้านเมือง ทั้งๆ ที่เป็นพรรคที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด ควรต้องสร้างความยั่งยืนต่อระบอบประชาธิปไตย ควรมั่นคงกับคำว่ากฎหมายต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ยิ่งไปกว่านั้น พรรคไทยรักไทยไม่ได้มุ่งสร้างอุดมการณ์ในการสร้างความก้าวหน้า หากแต่มุ่งให้ได้มาทุกวิถีทางซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศ พฤติการณ์ของพรรคไทยรักไทบแสดงให้เห็นว่าไม่อาจดำรงเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างความชอบธรรมได้อีกต่อไป มีเหตุอันควรยุบพรรคไทยรักไทย ข้ออ้างที่อ้างว่ามีสมาชิก 14 ล้านกว่าคนนั้น การสั่งยุบพรรคจะส่งผลรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคและกรรมการร่วมกันรับผิดชอบต่อสมาชิกพรรคเอง


 



ส่วนพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ที่รับเงินจากพรรคไทยรักไทยและแก้ไขข้อมูล อันเป็นการให้ความร่วมมือกับพรรคไทยรักไทยย่อมแสดงให้เห็นว่าทั้งสองพรรคเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อก่อตั้งเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ก่อตั้ง แสดงให้เห็นว่าทั้งสองพรรคมิได้มีสภาพเป็นพรรคการเมืองอยู่เลย จึงต้องยุบพรรคทั้งสองด้วย


 



ด้วยเหตุดังกล่าวตุลาการรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ให้ยุบพรรคไทยรักไทย พัฒนาชาติไทย และ แผ่นดินไทย ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 67 ประกอบมาตรา 66 (2) และ (3) และให้เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร 111 คน และกรรมการบริหารอีกทั้งสองพรรคเป็นเวลา 5 ปี


 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย บรรดาแกนนำพรรคไทยรักไทยที่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ต่างนั่งอึ้ง และมีท่าเคร่งเครียด ขณะที่หลายคนมีน้ำตาคลอ


 



ส่วนกองเชียร์ที่จับกลุ่มอยู่หน้าที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญและหน้าที่ทำการพรรคไทยรักไทย ถนนพระราม 3 หลายคนถึงกับปล่อยโฮออกมาอย่างไม่อายสายตาใคร


 



กองเชียร์บางคนยอมรับว่า รู้สึกเสียใจอย่างมากที่พรรคไทยรักไทยที่พวกเขาชื่นชอบ ต้องปิดฉากลงเช่นนี้



            


         


 


-----------------------------------


บางส่วนจาก : http://www.komchadluek.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net