Skip to main content
sharethis

"พลเมืองเหนือ" ขอย้อนรอยคดีฉาว เส้นทางการหว่านเงินเป็นเบี้ยแลกกับสถานะคนไทยและการได้รับความคุ้มครองที่ซัดทอดพัวพันบุคคลสำคัญในสังคมเชียงใหม่อย่างนัวเนีย


 


 "อาหลิว" หรือ "เฉิน หมั่นซุง" ชดใช้กรรมอยู่ในเรือนจำเชียงใหม่ ข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนราษฎร์และจ้างวานเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ได้มาซึ่งเอกสารของทางราชการ มาตั้งแต่ปี 2543  


 


และเพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของคดีฉาวนี้ ขออนุญาตแนะนำ  ตัวละครที่ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกก่อนหน้านี้ มากมายและน่าตื่นตะลึง ด้วยเป็นคนดังคับฟ้าเมืองเชียงใหม่และดังระดับประเทศ หลายคนถูกพาดพิง หลายคนอยู่ระหว่างหลบหนีมีหมายจับ แต่ที่เป็นคดี ซึ่งผู้พิพากษา  "เฉลิม เบ็ญมาศ" ได้อ่านคำพิพากษาในคดีดำหมายเลข อ. 5868/2543 ฐานความผิดต่อเจ้าพนักงานนั้น โจทก์คือพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยมีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย


 


จำเลยที่ นายพูลสวัสดิ์ วรวัลย์                                                                                   


จำเลยที่ 2 นายพิทักษ์ ตันติศักดิ์                                                                      


จำเลยที่ 3 นายจรัส ณรงค์จันทร์ชัย                                                                        


จำเลยที่ 4 นายสุรชัย จันทร์เป็ง                                                                                      


จำเลยที่ 5 นายบุญยัง ปัญจศีล                                                                                   


จำเลยที่ 6 นายสิงห์ทร  เกสร                                                                                             


จำเลยที่ 7 นายประสิทธิ์ เจียมจิต 


 


เป็นคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องพัวพันในการปลอมแปลงและออกเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนให้เขาและภรรยา


 


การเข้ามาของอาหลิว: สู่คดีเด็ดข้ามชาติ 


"เฉิน หมั่นซุง" หรือที่คนรู้จักเรียก "อาหลิว" คืออาชญากรเศรษฐกิจที่สำนักงานอัยการเมืองจงซาน มณฑลกวางตุ้ง และองค์กรตำรวจสากล แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนติดตามตัวมายาวนาน ด้วยข้่อหายักยอกเงินธนาคารกลางจีนมากว่า 300 ล้านหยวนหรือกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อกลางปี 2538 พร้อมภรรยา "เฉินโซวหย่วน" ผ่านคอนเนคชั่นลึกล้ำของชายแดนไทย - จีน โดยใช้เส้นทางแม่น้ำโขงสู่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย


 


"อาหลิว"สานสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนักการเมืองที่เชียงราย เชียงใหม่ ไปจนถึงนักการเมืองระดับชาติของไทย กระทั่งสามารถมีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยถึง 2 ใบใช้ชื่อ "สุก ตาจง" และ "เลา แสนซุ้ง" และผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้าใหม่จนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน


 


อาหลิวถูกจับกุมได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 และวันที่ี 17 พ.ย.2543 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาเขาและภรรยาในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนราษฎร์และจ้างวานเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ได้มาซึ่งเอกสารของทางราชการ รวมทั้งสิ้น 29 กระทง


อาหลิวและภรรยาให้การรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 13 ปี 10 เดือน ส่วนภรรยาจำคุกเหลือ 11 ปี 4 เดือน


 



ภาพบน .เฉินโซวหย่วน  หรือ นิภา สมใจ ภรรยาอาหลิว ที่ถูกจับกุมพร้อมกัน ภาพล่าง อาหลิว " เฉิน หมั่นซุง" หรือ "สุก ตาจงผู้ใช้อำนาจเงินหว่านความคุ้มครองนักการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่  จนได้บัตรประชาชนคนไทยถึง 2 ใบ


 


ปัจจุบัน อาหลิวถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำเชียงใหม่ แต่ก่อนหน้านี้ถูกส่งข้ามแดนไปพิจารณาคดีที่ประเทศจีน ปี  และสถานะของอาหลิวยังเป็นพยานในคดีสำคัญที่อัยการจังหวัดเชียงใหม่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องพัวพันในการปลอมแปลงและออกเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนให้เขาและภรรยาด้วย


 


"ไหนบอกว่าจะช่วย ทำไมโทษมันหนักอย่างนี้ !คือเสียงของอาหลิวที่ตะโกนอย่างสั่นเครือ หลังถูกพิพากษาคดี เขาน้ำตาคลอเบ้าแต่ไม่อุทธรณ์คดีนี้ และคำให้การของเขาก็สร้างความตื่นตะลึง เมื่อเขาคายคำสารภาพพาดพิงว่าเม็ดเงินที่เขาฉ้อโกงมาถูกสูบซ้ำจากนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการบางคน เพื่อแลกกับสถานะคนไทย และการคุ้มครองให้อยู่ในเมืองไทยอย่างวีไอพี   


 


ย้อนรอย อาหลิว ภาค 1 - ในนาม "สุก ตาจง"


เส้นทางการได้มาซึ่งบัตรประชาชนไทยของอาหลิวเริ่มขึ้นในกลางปี 2538 สำนักข่าวแทบทุกสำนักของไทยและต่างชาติรายงานการสอบสวนตรงกันในขณะนั้นว่า อาหลิวเดินทางจากประเทศจีนโดยล่องเรือมาตามลำน้ำโขง ถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ห้วงเวลานั้น สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจของชายแดนเหนือกำลังเบ่งบาน


เรือที่อาหลิวและพวกอาศัยมานั้นคือบริษัทเดินเรือสิบสองปันนาจำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจเดินเรือของสิบสองปันนา และผู้ร่วมทุนกิจการนี้คือนักการเมืองระดับรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มน้ำโขงขณะนั้น  และทันทีที่มาถึงเมืองไทยก็มีบุคคลระดับเจ้าของรีสอร์ทใหญ่ และกำนันในอ.แม่จัน จ.เชียงรายให้การดูแล


 


ใช่ว่าจะมาเมืองไทยโดยตัวเปล่า อาหลิวรู้จักชาวจีนฮ่อในไทยที่ชื่อ "ประสิทธิ์"มาก่อน ที่ที่พบปะกันคือบ่อนในมาเก๊า และโอนเงินจากเมืองจีนมายังไทยในชื่อของบุคคลนี้ เขาพาอาหลิวและภรรยามาเชียงใหม่ เข้าซื้อบ้านในหมู่บ้านเวียงทอง มูลค่า 6 ล้านบาท และรถเบนซ์มูลค่า 3 ล้านบาท โดยใช้ชื่อของ "ประกายดาว" ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้แต่ยังหลบหนีอยู่


 


ขั้นตอนการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้อาหลิวเริ่มขึ้นโดยเลือกสำนักงานทะเบียนสาขาตำบลห้วยน้ำหอม กิ่ง อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2538 เมื่อมีการนำอาหลิวและภรรยาไปแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา และเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านในชื่อของ "นายสุก ตาจง" และ "นางสาวนิภา สมใจ" ซึ่งเป็นชื่อที่กุขึ้นมา โดยเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการคือ "นายสุดพงษ์ วสนาท" อดีตปลัดอำเภอกิ่งอำเภอแม่วงก์   ปัจจุบันบุคคลผู้นี้ ถูกไล่ออกจากราชการและหลบหนีคดีโดยยังคงมีหมายจับอยู่ และเปลี่ยนชื่อเป็น "จิรัฏฐ์ วสนาถ"


 




นาย สุดพงษ์ วสนาท ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น จิรัฎฐ์ วสนาท ซึ่งหลบหนีการจับกุมในคดีนี้ โดยนายสุดพงษ์ใช้หน้าที่ปลัดกิ่งอำเภอแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ แจ้งเข้าชื่อสุก ตาจงในทะเบียนบ้าน และออกบัตรประชาชนให้ โดยได้ดำเนินการลักษณะเดียวกันนี้มาก่อนหลายราย


 


เมื่อมีชื่อในทะเบียนบ้านแล้วก็เข้าสู่กระบวนการทำบัตรประจำตัวประชาชน และนำใบแจ้งการย้ายที่อยู่ของนายสุก ตาจงและ น.ส.นิภา สมใจ จากกิิ่งอำเภอแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มาแจ้งเข้าบ้านในหมู่บ้านเวียงทอง ที่สำนักงานทะเบียนเทศบาลนครเชียงใหม่ แขวงเม็งราย


 


แรงจูงใจที่ทำให้ "อาหลิว" อยากมีบัตรประชาชนคนไทย คือเขาอยากทำธุรกิจเองในไทย  เพราะเคยมีบทเรียนถูกโกงจากการใช้ชื่อคนอื่นในทรัพย์สินของตัวเองมาแล้ว  และนำมาซึ่งการค้นหาบุคคลที่มาคุ้มครองมากกว่าบุคคลกลุ่มเดียว


 


ด้วยเงินร่วม 30 ล้านบาท ที่อาหลิวฝากไว้ที่ธนาคารในชื่อบุคคลอื่น ถูกนำไปค้ำประกันธุรกิจและสาบสูญ 


จากนั้นไม่นาน เจ้าบ้านที่อาหลิวอาศัยชื่ออยู่ซึ่งคือกลุ่มบุคคลที่อำนวยความสะดวกในการทำบัตรประชาชนให้ครั้งแรก ก็ย้ายชื่อ อาหลิว หรือสุก ตาจง และภรรยา หรือ นิภา สมใจ ออกจากทะเบียนบ้านที่หมู่บ้านเวียงทองเข้าทะเบียนคนบ้านกลาง แขวงเม็งราย โดยอ้างว่าค้างค่าเช่าบ้านและติดต่อไม่ได้


 


อาหลิวเชื่อมั่นว่า ถูกกลั่นแกล้ง และรู้แล้วว่าจะหวังคนคุ้มครองรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวไม่ได้จึงเป็นที่มาของการสานสัมพันธ์กับนักการเมืองและข้าราชการปกครองของเชียงใหม่


 


สายสัมพันธ์อาหลิวในเมืองเชียงใหม่ไม่ธรรมดา  ตำรวจตรวจพบบัตรที่เขามีตำแหน่งเป็นถึงที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เซ็นต์ชื่อโดย "นายปกรณ์ บูรณุปกรณ์" ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น กระเป๋าเงินของอาหลิวพกนามบัตรนักการเมืองชื่อดัง อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล และส.ว. รถเบนซ์ที่เขานั่งเป็นทะเบียนเดิมของพ่อเลี้ยงคนดังของเมืองเชียงใหม่ด้วย


 


"เมื่ออาหลิวรู้ว่าถูกหลอกเอาทรัพย์สิน มีการใช้คนมีสีมาข่มขู่  อาหลิวก็หาคนคุ้มครองใหม่ เข้าหาผู้ยิ่งใหญ่ในท้องถิ่นเชียงใหม่ ซึ่งสมประโยชน์เพราะอาหลิวใจใหญ่ ใช้เงินเป็นเบี้ยแลกกับสิ่งที่ได้คือความคุ้มครองและการต่อสายสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดคดีนี้บอก 


และสายสัมพันธ์ในเทศบาลนครเชียงใหม่ ก็ทำให้อาหลิว มีบัตรประชาชนอีก 1 ใบ ในชื่อของ "เลา แสนซุ้ง"    


 


อาหลิว ภาค 2 - ในนาม "เลา แสนซุ้ง"


ปลายปี 2541 มีการติดต่อแจ้งย้ายบุคคล 5 ราย ซึ่งเป็นชาวเขาจากบ้านที่จังหวัดน่าน เข้าไปยังบ้านที่ อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย   1 ใน 5 นั้น มีชื่อและมีตัวตนจริงของชายที่ชื่อ "เลา แสนซุ้ง"


 


รายงานผลการสืบสวนและสอบสวนที่ชี้แจงกรรมาธิการปกครองวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543 ที่อาคารรัฐสภา ระบุว่านักการเมืองท้องถิ่นของเชียงใหม่ให้อาหลิว ไปทำบัตรประจำตัวประชาชนที่ที่ว่าการอำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย ในชื่อ "นายเลา แสนซุ้ง" โดยมีเจ้าหน้าที่ชื่อนายปฐมดำเนินการให้ แต่บัตรประจำตัวประชาชนนั้นไม่ถึงมืออาหลิว กลับถูกใช้เพื่อแลกกับเม็ดเงินอีกเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง


ต้นปี 2542 มีการแจ้งย้ายชื่อ น.ส.นิภา สมใจ ออกจากทะเบียนคนบ้านกลาง แขวงเม็งราย เข้าไปยังบ้านของนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่ง และมีการทำบัตรประจำตัวประชาชนในชื่อนางนิภา สมใจ ที่เทศบาลนครเชียงใหม่  จากนั้นก็มีการยื่นคำร้องขอแจ้งย้ายปลายทางต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่ แขวงศรีวิชัย ย้ายชื่อ นายเลา แสนซุ้ง ออกจากบ้านที่อำเภอพญาเม็งราย จ.เชียงราย มายังบ้านหลังหนึ่งที่ต.ช้างเผือก   


   


ต่อมาความจริงเริ่มปรากฏพบว่า นายเลา แสนซุ้ง มีตัวตนอยู่แล้ว จึงกลายเป็นว่า มีนายเลา แสนซุ้งขึ้นมา 2 คนทันที จึงมีการให้อาหลิวไปแจ้งย้ายชื่อนายเลา แสนซุ้ง ออกจากบ้านที่ช้างเผือกกลับไปยังบ้านที่จังหวัดเชียงราย และจากนั้นก็มีการแจ้งย้ายชื่อนายสุก ตาจง และนิภา สมใจ เข้าและออกในพื้นที่ ต.ช้างเผือก อันเป็นบ้านของนักการเมืองท้องถิ่นในเชียงใหม่หลายครั้ง  


 


อาหลิว เมื่อมีสถานะเป็นคนไทยภายใต้ชื่อ สุก ตาจง  ถึง 5 ปีเต็ม ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตเงียบๆ ในฐานะผู้หลบหนีคดีจากประเทศจีน หากแต่เชื่อมั่นใจอำนาจ ใช้เงินหว่านการคุ้มครองต่อยอดไปเรื่อยๆ และเงินกับความโลภของนักการเมืองท้องถิ่นเอื้ออำนวยความสะดวกให้อาหลิวทำใบขับขี่ พาไปยื่นเรื่องกับจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอมีอาวุธปืน ไปจนถึงซื้อทะเบียนรถจากนักการเมืองท้องถิ่นคนดัง ซื้อพระเครื่อง ของเก่า และอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเชียงใหม่หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นบ้านราคาหลายล้าน หรือร้านอาหารในโรงแรมดัง


 


อิสรภาพสิ้นสุด ตำรวจสากลจีนประสานตำรวจไทยรวบตัว


กระทั่งอิสระภาพสิ้นสุด เมื่อตำรวจสากลจากจีนประสานตำรวจไทยให้ติดตามอาหลิวในข้อหายักยอกทรัพย์และหลบหนีมาอยู่เชียงใหม่  เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มติดตามและพบอาหลิวที่ตลาดวโรรส จึงเชิญตัวไปให้ปากคำ 


 


ปรากฏว่าอาหลิว และภรรยากลับแสดงบัตรประชาชนคนไทย และปฏิเสธการเป็น "เฉินหมั่นซุงจึงทำให้คดีนี้บานปลาย จากเพียงการติดตามตามหมายศาลของจีนข้อหาคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง กลับกลายเป็นคดีบัตรประชาชนปลอม


 



หนังสือขอประสานจับกุม เฉิน หมั่นซุง จากองค์กรตำรวจสากล แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการติดตามทะเบียนบ้านสุดท้ายที่อาหลิวอยู่ในเขต ต.ช้างเผือก และเป็นห้องแถวของนักการเมืองท้องถิ่นคนดังของเชียงใหม่ คดีนี้จึงไม่ธรรมดา  และยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมอาหลิวในวันที่ กันยายน 2543  มีนักการเมืองท้องถิ่นมาให้ความช่วยเหลือแก้ต่างให้ว่า อาหลิวมีบัตรประชาชนคนไทย แต่เมื่อได้รับคำตอบว่าตำรวจสากลจากจีนยืนยันว่าคือ เฉิน หมั่นซุง และแม้บัตรที่แสดงจะเป็นบัตรจริง แต่ข้อความทั้งหมดเป็นเท็จ คดีนี้จึงอื้อฉาวและเริ่มถูกสาวหาต้นตอนับจากนั้น


 


จีนทวงของกลาง


เรื่องไม่จบเพียงแค่อาหลิวถูกจับเท่านั้น ความครึกโครมเกิดขึ้นเมื่อทรัพย์สินของกลางทั้งที่เป็นชื่ออาหลิวในคราบคนไทย ทรัพย์สินที่ฝากไว้กับชื่อบุคคลอื่นจะต้องถูกติดตามคืนเนื่องจากเป็นทรัพย์ที่มาจากเงินที่ยักยอกของทางการจีน แต่ปรากฏว่า เมื่อตำรวจพาอาหลิวมาค้นบ้านพักหลังถูกจับกุมไม่กี่วัน ปรากฏว่าทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล หลายรายการได้หายไป


 


ประเด็นนี้ ขยายผลสู่ความละเอียดอ่อนของสัมพันธภาพระหว่างประเทศ เพราะลำพังการที่เจ้าหน้าที่ไทยมีความเกี่ยวพันกับการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้ร้ายข้ามแดนอย่างอาหลิวแล้ว ทรัพย์สินในเมืองไทยทั้งสิ้นที่เกิดจากเม็ดเงินที่ยักยอกมาจากเมืองจีน กลับทำท่าจะติดตามคืนไม่ได้ 


 


เรื่องนี้ถึงขั้นสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีหนังสือขอให้จังหวัดเชียงใหม่ พิจารณาในส่วนของทรัพย์สินของอาหลิว  ซึ่งช่วงเวลานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ต้องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบทรัพย์สินเป็นการเฉพาะ แต่เป็นไปอย่างยากลำบาก


 


เพราะนอกเหนือจากรายการทรัพย์สินที่ตำรวจแจ้งตรวจยึดได้และนำส่งมอบให้กับสถานกงสุลจีนฯอย่างเป็นทางการแล้ว ที่เหลือไม่มีใครรู้ว่าทรัพย์สินมีที่ไหน อยู่ภายใต้ชื่อใครบ้าง และเชื่อว่าจำนวนไม่น้อยมีการเปลี่ยนมือไปยังผู้ที่ไม่รู้ถึงที่มาแล้ว 


  


คายความลับฟาดงวงฟาดงาพาดพิงคนดัง


การทำงานของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง กระทั่งอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้ มีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 12 คน  โดยผู้ต้องหาที่ 1 และ คืออาหลิวและภรรยารับสารภาพทุกข้อกล่าวหา และมีคำพิพากษาไปแล้ว  ส่วนที่เหลืออีก 10 รายนั้นแยกเป็นอีกคดี และมีผู้ต้องหาหลบหนี 3 ราย คือประกายดาว สินธุยี่สุระ,  สุดพงษ์ วสนาท ที่กำลังมีหมายจับหลายคดีอยู่ และบุญเลิศ เขตรวิทย์ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตแล้ว ที่เหลืออีก 7 รายเข้ามอบตัวและปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมประกันตัวเข้าสู้คดี 


ในส่วนของอาหลิว ก็เป็นหนึ่งในพยานคนสำคัญฝ่ายโจทก์ และเมื่อไม่มีอะไรจะเสียอีกต่อไปแล้วในชีวิตนี้ เขาได้คายความลับความเกี่ยวพันพาดพิงถึงหลายบุคคลที่ไม่ปรากฏเป็นจำเลยทำให้กลายเป็นข่าวโด่งดังมากมาแล้ว


 


รายงานคำชี้แจงกรรมาธิการปกครองวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543 ที่อาคารรัฐสภา ที่ระบุความเกี่ยวโยงคนดังว่า อาหลิวพาดพิงว่ารู้จักกับพี่ชายนักการเมืองท้องถิ่นคนสำคัญในเชียงใหม่จากการที่ได้ติดต่อซื้อขายสินค้าของที่ระลึก และของเก่า   และต่อมามีการแนะนำให้ผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ มีการเผยขั้นตอนการได้มาซึ่งบัตรประชาชนไทยที่มีผู้บริหารท้องถิ่นของเชียงใหม่เกี่ยวข้อง รวมถึงอ้างว่าให้การสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นจนชนะการเลือกตั้ง


 


ครั้งนั้นสื่อมวลชนระดับชาติรายงานข้อมูลนี้อย่างต่อเนื่อง !!


 


สกู๊ปเรื่อง อาหลิว :เพชรซาอุ 2 ของผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2543  รายงานถึงสายสัมพันธ์ระหว่างอาหลิวกับนักการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่ว่า เริ่มจากพี่ชายของนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งที่เคยเดินทางระหว่างไทย-จีนเป็นประจำ และรู้จักกับอาหลิวมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นผู้แนะนำ หลังจากนั้นจึงนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งขึ้น จนทำให้อาหลิวได้เป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่


 


ประพันธ์ บูรณุปกรณ์ อดีตผู้สมัคร ส.ว.เชียงใหม่  และปกรณ์ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ว่า ไม่ได้รู้จักกับอาหลิวเป็นการส่วนตัว โดยปกรณ์บอกว่าได้รับการแนะนำจาก พูลสวัสดิ์ วรวัลย์ เทศมนตรีฝ่ายงานช่างว่า อาหลิว เป็นผู้ที่รู้ภาษาจีน จึงได้มีการติดต่อขอให้มาช่วยงานภายหลัง


 


กระเป๋าเงินของอาหลิว ยังมีนามบัตรอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล  สมาชิกวุฒิสภาบางคน บัตรผ่านเข้าออกกองบิน บัตรที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนคร ลงชื่อ ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีฯ บัตร บก.สศก. ที่พบในรถเบนซ์อี 220 กธ 4444 เชียงใหม่ ซึ่งเป็นทะเบียนของนักการเมืองท้องถิ่นคนดังอีกคนหนึ่ง 


 



ภาพสื่อสนใจทำข่าวคดีฉาว


 


รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า หากไม่สะดุดจนถูกจับกุมเสียก่อน ในอนาคตอาหลิว ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่ ลงสมัคร ส.ท. พร้อมกับมีสิทธิ์ที่จะได้รับตำแหน่งบริหารด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาว่ากันว่า เขาใช้เงินช่วยเหลือนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่น-ระดับชาติ ในการเลือกตั้งแล้วหลายครั้ง รวมกันไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท


 


และนอกเหนือไปจากกลุ่มนักการเมือง ทิ่อาหลิว วิ่งเข้าหาเพื่อความมั่นคงของตนเองแล้ว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพลบางคน ก็ได้รับการต่อสายเงินด้วยเช่นกัน จนมีการพูดกันว่า เขาเป็นแหล่งเงินที่อยู่เบื้องหลังโต๊ะบอลขนาดใหญ่บางแห่งร่วมกับนักการเมืองบ่อนการพนันขนาดใหญ่ในเชียงใหม่ ไม่น้อยกว่า 2 แห่ง


 


อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวชิ้นเดียวนั้นระบุว่า อุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์ นายก อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นเจ้าของทะเบียนรถ กธ 4444 เชียงใหม่ ปฏิเสธว่า ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหลิว แม้จะเคยเป็นเจ้าของทะเบียนรถดังกล่าวแต่ได้คืนสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ไปแล้ว


 


ส่วนพล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย อดีต  ส.ว.เชียงใหม่ ออกมาแสดงตัวชัดเจนที่จะให้มีการสอบสวนกรณีอาหลิวอย่างถึงที่สุด โดยได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภา ให้นำกรณีอาหลิว มาพิจารณาศึกษาเป็นการด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาระดับชาติที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งในการเมืองระดับชาติ และการเมืองระดับท้องถิ่น


 


คดีสุดหินสางข้ามจังหวัด 7 ปี


นายประวิทย์ ศรีโสภณ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น มีคำสั่งจังหวัดเชียงใหม่ที่ 2580/2543  ลงวันที่ 11 กันยายน 2543 แต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าทำการสอบสวนคดีนี้ เช่น พ.ต.อ.มนตรี สัมบุญณานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนั้นดูแลสภต.ช้างเผือก พ.ต.ท.สัมพันธ์ ศิริมา พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี นายไพโรจน์ แสงภู่วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองในขณะนั้น นายคุณวัตร สุคนธกุล ปลัดจังหวัดตาก ซึ่งเป็นปลัดอาวุโส อ.เมืองในขณะนั้น  ปลัดทรงพล นาคหนุ  เป็นต้น


 


เป็นการผสานความรู้ด้านสืบสวนของตำรวจและความชำนาญด้านทะเบียนปกครองของเจ้าหน้าที่ปกครองเข้าสางคดีนี้ร่วมกัน


 


พนักงานสอบสวนหลายคนบอก "พลเมืองเหนือ" ตรงกันว่าคดีนี้เป็นคดีที่ยากและซับซ้อน และต้องติดตามภายใต้ข้อมูลจริงของเอกสาร  เนื่องจากผู้ต้องหามีทั้งระดับนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการประจำ


 


การผสานความชำนาญของตำรวจและฝ่ายปกครองจึงเป็นหัวใจสำคัญ


เริ่มจากการค้นต้นตอของการออกบัตรประชาชนอาหลิวในชื่อ สุก ตาจง  ขั้นตอนจะต้องเริ่มจากการแจ้งเกิดเกินเวลาในทะเบียนบ้านที่จ.นครสวรรค์ พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ และปกครองเดินทางร่วมกันไปกิ่ง อ.แม่วงก์ ทันที เพื่อค้าหาหลักฐานที่มาของ "สุก ตาจง" และบางส่วนแยกไปที่เชียงราย และน่าน เพื่อค้นหาเอกสารการออกบัตรในชื่อ"เลา แสนซุ้ง" ด้วย  


 


ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ต้องมีเอกสารในการเข้าและออกของบุคคล จึงสามารถติดตามและยืนยันได้   แม้บางพื้นที่ เช่นที่ นครสวรรค์ เอกสารบางส่วนถูกทำลาย แต่ก็สามารถเรียกต้นขั้วจากไมโครฟิล์มของกรมการปกครองมาตรวจสอบ  หรือการเข้าพื้นที่เสี่ยงต่ออันตราย รวมทั้งมีความกดดันถูกร้องเรียนจากฝ่ายญาติจำเลยว่าพนักงานสอบสวนไม่ให้ความเป็นธรรม รวมทั้งข้อมูลในเชิงลึกที่ได้สอดรับกับสถานการณ์การเมืองอันแข็งแกร่งของผู้เกี่ยวข้องในคดีส่งผลให้เจ้าหน้าที่เกิดความกดดันและต้องระมัดระวังไม่น้อย  


 


แต่แนวทางการสืบสวนทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของเอกสารเป็นหลัก และที่สำคัญการให้การที่เป็นประโยชน์ของอาหลิว  เพราะเมื่อตรวจสอบตามคำให้การก็จะพบหลักฐานตามที่บอกเสมอ   


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจำเลย ก็ได้ใช้ความพยายามชี้แจงสู้ข้อกล่าวหา โดยมีทนายความเข้าทำหน้าที่ถึง 7 คน และแต่ละครั้งของการให้การของทั้ง 2 ฝ่ายก็เต็มไปด้วยความเข้มข้นอย่างยิ่ง


 


ศาลเชียงใหม่พิพากษาจำคุกหนักกลุ่มพัวพันปลอมแปลงออกบัตรประชาชนให้"อาหลิว"


23 พ.ค.2550  ศาลเชียงใหม่พิพากษาจำคุกนักการเมืองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน และนักธุรกิจใน จ.เชียงใหม่ จ.นครสวรรค์ และกทม.ขั้นหนักฐานร่วมกันปลอมแปลงออกบัตรประชาชนให้ "อาหลิว" ผู้ต้องหาชาวจีนที่ยักยอกเงินธนาคารกลางจีนกว่า 1,000 ล้านบาท หลังองค์กรตำรวจสากล

จีนประสานตำรวจเชียงใหม่สืบสวนมากว่า 7 ปี


ที่ห้องพิจารณาคดี 8 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นายเฉลิม เบ็ญมาศ ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีดำหมายเลข อ. 5868/2543 ฐานความผิดต่อเจ้าพนักงานคดีเจ้าหน้าที่รัฐพัวพันปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนราษฎร์ให้ "อาหลิว"หรือเฉิน หมั่น ซุง ผู้ต้องหายักยอกเงินจากธนาคารกลางจีนกว่า 1,000 ล้านบาทเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา


 


โดยโจทก์คือพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยมีจำนวน 7 คน ประกอบด้วยจำเลยที่ 1 นายพูลสวัสดิ์ วรวัลย์ อดีตเทศมนตรีฝ่ายงานช่างเทศบาลนครเชียงใหม่ จำเลยที่ 2 นายพิทักษ์ ตันติศักดิ์ จำเลยที่ 3 นายจรัส  ณรงค์จันทร์ชัย จำเลยที่ 4 นายสุรชัย จันทร์เป็ง จำเลยที่ 5 นายบุญยัง ปัญจศีล จำเลยที่ 6 นายสิงห์ทร  เกสร และจำเลยที่ 7 นายประสิทธิ์ เจียมจิต


ผู้พิพากษาใช้เวลากว่า 2.30 ชั่วโมง อ่านคำพิพากษาตัดสินจำเลยที่ 1 ,2 และ 7 กระทำผิดพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร  พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน และพ.ร.บ.คนเข้าเมือง ให้จำคุกจำเลยที่ 1 นายพูลสวัสดิ์ วรวัลย์ กำหนด 8 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2  นายพิทักษ์ ตันติศักดิ์ กำหนด 12 ปี  6  เดือน และจำเลยที่ นายประเสริฐ เจียมจิต กำหนด 8  ปี 6  เดือน ส่วนจำเลยที่ 3,4,5 และ 6  ศาลยกฟ้อง


ปัจจุบัน อาหลิวยังคงถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำเชียงใหม่ ก่อนจะถูกส่งไปดำเนินคดีในประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านั้นศาลจีนได้พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต.


 


ที่มาและเรียบเรียง                                                                                                          พลเมืองรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21-27 พ.ค.2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net