Skip to main content
sharethis


ในที่สุดภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่ตกกระบวนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยล่าสุดมีมติให้บรรจุเรื่อง "เขตวัฒนธรรมพิเศษ" ลงในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ


แม้ประเด็นนี้ จะไม่ตอบโจทก์การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ แต่ภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เชื่อว่า จะเป็นบันไดนำสู่การสร้างความสงบสันติในพื้นที่ในอนาคต


เขตวัฒนธรรมพิเศษ มีเนื้อหาหน้าตาอย่างไร ปรากฏอยู่ในคำสัมภาษณ์ของ "นายวุสนุง มัดดา" นักเคลื่อนไหวในภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้แล้ว


000


มีความคาดหวังอะไรบ้างถึงได้เสนอให้บัญญัติเรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษในรัฐธรรมนูญ
คำว่าพิเศษในที่นี้หมายถึงความเป็นพิเศษทางด้านศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ที่มีอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน ไม่เฉพาะมุสลิมเท่านั้น แต่รวมทั้งศาสนาพุทธด้วย


ในกระแสปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกตอบรับมากในสังคม หรือไม่ถูกตอบรับจากผู้นำในสังคม คนที่มีบทบาททางการเมือง มีน้อยมากที่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข บางคนตอนยังไม่เป็นนักการเมือง เป็นคนดีมีจริยธรรม แต่พอเข้าไปเป็นนักการเมือง ก็เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ดื่มเหล้า ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่ดีอย่างอื่นด้วย


ดังนั้น การบัญญัติคำว่าเขตวัฒนธรรมพิเศษตรงนี้ ก็เพื่อต้องการชูประเด็นนี้ขึ้นมา โดยตรากฎหมายขึ้นกำหนด เพื่อให้คนดีมีคุณธรรมได้มีกำลังใจ ลุกขึ้นมาสร้างสังคมที่มีคุณธรรม อย่างน้อยก็ไม่ไปต่อสายกับสิ่งไม่ดีต่างๆ ทำให้ทุกคนมุ่งเข้าสู่จริยธรรม


เรื่องนี้คงจะมีคนคัดค้านอยู่แล้ว กลุ่มคัดค้านก็คงออกมาบอกว่า ทำไมถึงต้องออกกฎหมายไปบังคับบุคคลกันขนาดนั้น


เขตวัฒนธรรมพิเศษจะมีรูปแบบอย่างไร
ก็เป็นไปตามที่คุยกันในที่ประชุม คือ น่าจะต้องมีรูปแบบที่ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น หมายรวมถึงวิถีชีวิต การดำเนินงาน การปกครองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม อัตลักษณ์ และศาสนาในท้องถิ่น หมายถึงทุกศาสนาที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ โดยต้องการให้มีการออกกฎหมายขึ้นมาดูแลเฉพาะด้วย


การที่ที่ประชุมเสนอให้เพิ่มคำว่า "และหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษให้มีลักษณะสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น" ในมาตรา 272 วรรคสอง ก็เพื่อเสริมในสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นการเสนอไปก่อนแล้วค่อยว่ากันในช่วงแก้กฎหมายอีกหลายฉบับขึ้นมารองรับ


จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
ในส่วนของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อย ที่มีจุดหมายเฉพาะของเขาอยู่แล้ว เราคงไปขัดขวางไม่ได้ การกำหนดเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ถึงแม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยตรง แต่เราเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะการมุ่งไปที่การให้ทุกคนเป็นคนดี ถ้าทุกคนเป็นคนดี มันก็ไม่จะเกิดปัญหา ไม่ต้องมาสู้กัน


เรื่องนี้เป็นอีกกระแสหนึ่งที่เชื่อว่า จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้โดยพยายามมุ่งให้คนมีจริยธรรมคุณธรรม เพราะปัจจุบันคนยิ่งออกห่างจากศาสนาไปทุกที แม้แต่หลักการศาสนาที่กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบใช้อ้างเราก็ยังไม่แน่ใจ ดังนั้น เราพยายามให้ทุกคนมีคุณธรรมจริยธรรมมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำ หรือผู้ที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยผ่านเขตวัฒนธรรมพิเศษ


คนพื้นที่อื่นนอกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็น่าจะต้องการอย่างนี้ด้วย เช่น ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เท่าที่ผมสัมผัสมา เขาเห็นว่า การกำหนดให้มี 19 กลุ่มจังหวัดยุทธศาสตร์ หรือกำหนดให้บางจังหวัดเป็นจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวในสมัยรัฐบาลทักษิณ ได้ทำลายวิถีชีวิตที่งดงามของท้องถิ่น เพราะมีอบายมุขเข้าไปมากขึ้น


ดังนั้นคำว่าวัฒนธรรมพิเศษในที่นี้ก็คือ มีความเป็นพิเศษตามวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละที่ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมกำกับอยู่แล้ว


แล้วจะส่งผลอะไรต่อสถานการณ์ในพื้นที่
หากประเด็นนี้ผ่านไปได้ เชื่อว่าฝ่ายที่ก่อความไม่สงบคงหยุดมามองบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้พวกเขาหยุดก่อเหตุไปเลย แต่ความรุนแรงก็น่าจะชะงักลงในระดับหนึ่ง พอที่จะทำให้เหตุการณ์สงบลงบ้าง ซึ่งจะเป็นจังหวะที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเต็มที่ เพราะมีเวลาคิดในการแก้ไขสถานการณ์ และเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งมุสลิมและไทยพุทธจะเห็นด้วย


คิดว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะได้รับการบัญญัติลงในรัฐธรรมนูญ
ถ้ามองตามกระแสแล้วก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ แต่ก็อาจจะไม่ง่ายเสียทีเดียว เราเชื่อว่าทางสภาร่างรัฐธรรมนูญคงจะมีความเข้าใจ อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเปิดใจกว้างพอที่รับเรื่องนี้ได้ สถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ข่าวสารมีการสื่อสารถึงกันหมด สังคมมีความหลากหลาย ดังนั้นจะกำหนดให้ทุกพื้นที่เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมดคงไม่ได้


ถ้าครั้งนี้ไม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็แสดงให้เห็นได้ว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ยังมีมุมมองที่ไม่กว้างพอ แต่เราก็จะยังยืนยันต่อไปอีก


หากประเด็นนี้ไม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ หรือร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไรต่อไป
ถ้าต้องแก้กฎหมายฉบับอื่นด้วยก็ต้องแก้ แต่คงจะเป็นการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่ขัดกับหลักคุณธรรมจริยธรรม เพราะเขตวัฒนธรรมพิเศษ เรามุ่งไปที่คุณธรรมจริยธรรมเป็นหลัก


เราไม่ถือว่าเป็นการเสียโอกาสหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติหรือถูกคว่ำ เพราะอย่างน้อยเราได้เริ่มต้นแล้ว เราจะพยายามผลักดันต่อไป จุดมุ่งหมายก็เพื่อสร้างสังคมที่สันติสุข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net