Skip to main content
sharethis

 


 



 


 


ประชา ธรรมดา


การต่อสู้ของชนชั้นกรรมกร ที่ต้องการปลดโซ่ตรวนการกดขี่ขูดรีดจากนายทุนที่มุ่งแสวงหากำไรไม่รู้จักจบสิ้น โดยกดขี่ค่าจ้างแรงงานจากกรรมกร ทั้งที่ใช้แรงงานกายและแรงงานสมอง บังคับให้ทำงานหนัก ใช้เวลายาวนาน แต่จ่ายค่าจ้างต่ำ ไม่มีสวัสดิการเพียงพอ การดำรงชีพแร้นแค้น ขาดหลักประกัน ขาดอนาคตที่ดีของครอบครัวหรือบุตรหลานในอนาคต มีมาเป็นเวลายาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ


การต่อสู้เริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 13-14 ในยุโรป เมื่อสังคมเกษตรเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุตสาหกรรม และบริการตามลำดับ ขณะนั้นลูกจ้างต้องทำงานวันละ 16-18 ชั่วโมง ไม่เว้นแม้กระทั่งแรงงานหญิงและเด็กอายุ 8 ขวบที่ต้องทำงานเยี่ยงทาส การต่อสู้ได้ขยายไปทั่วทุกประเทศในยุโรปและอเมริกา ทำให้กรรมกรถูกปราบปราม เข่นฆ่า และถูกจับกุมคุมขังจากรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของนายทุนอย่างโหดเหี้ยมทารุณ


ในหลายประเทศที่นายทุนมีอำนาจรัฐ แต่กรรมกรก็ไม่หวั่นไหว รวมกันต่อสู้จนประสบผลสำเร็จ เมื่อกรรมกรในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา พร้อมใจกันนัดหยุดงานพร้อมกันกับประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม รวมทั้งละตินอเมริกา ในเอเชีย ญี่ปุ่น และในออสเตรเลีย นัดหยุดงานครั้งยิ่งใหญ่ของโลกพร้อมกัน เพื่อให้ลดชั่วโมงการทำงานลงเป็นวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง มีเวลาพักผ่อน 8 ชั่วโมง และเพื่อการศึกษา 8 ชั่วโมง (ที่เรียกว่าระบบสามแปด) รวมทั้งให้มีเวลาหยุดพัก 1 ชั่วโมง และมีวันหยุดประจำสัปดาห์


 


การต่อสู้ของกรรมกรไทยกับรัฐขุนศึก


สำหรับสังคมไทยนั้น ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานไทย เริ่มมาตั้งแต่สังคมไทยพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย สมัยรัชกาลที่ 7 นำโดยนายถวัติ ฤทธิเดช บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรรมกร  นำคนงานรถรางประท้วงหยุดงาน การต่อสู้ของกรรมกรไทยก็มีมาโดยตลอดไม่ว่าในยุคกระแสสูงหรือต่ำทางการเมืองก็ตาม


 


ล่าสุด คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มีข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากลปี 2550 ทั้งหมด 3 ประการคือ 1.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) 2.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ.... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) 3.ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบและยกเลิกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542


 


สนช.บิดเบือน เป็นเพียงขุนศึกขุนนางผู้รับใช้นายทุน


พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย


อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพัฒนาสู่อุตสาหกรรม รัฐไทยมีนโยบายขยายพื้นที่อุตสาหกรรมสู่หัวเมืองต่างจังหวัด ในรูปของ "นิคมอุตสหากรรม" จังหวัดลำพูนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่รองรับแรงงานจากภาคชนบทที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานเพื่อความอยู่รอด รวมถึงนักศึกษา ลูกหลานชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรรายย่อย ผู้มีวิถีชีวิตอยู่ในเมือง ซึ่งไม่สามารถใช้ปริญญาไต่เต้าฐานะทางชนชั้นที่ดีกว่าได้


 


เช่นเดียวกัน ชีวิตกรรมกร คนงาน ผู้มีแรงงานเป็นสินค้า ถ้าไม่มีการรวมตัวกัน ย่อมถูกเอาเปรียบจากนายทุน ย่อมถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อสามปีที่แล้ว คนงานอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทำงานอยู่กับบริษัท อี เอฟ ดี (ไทยแลนด์) จำกัด จัดตั้ง สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) ขึ้น ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานและเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย


 


และเมื่อวันกรรมกรที่ผ่านมา สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) มีข้อเรียกร้องต่อภาพรวมปัญหาของกรรมกรนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน 3 ประการ คือ 1.ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดลำพูนให้ขึ้นมาอยู่ในเขตพื้นที่ค่าจ้างขั้นต่ำเขต 1 (เท่ากรุงเทพฯ) 2.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ....(ฉบับผู้ใช้แรงงาน) 3.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. ...(ฉบับผู้ใช้แรงงาน)


 


อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้อง ปัญหาภาพรวมของกรรมกร ยังคงถูกเมินเฉยไม่สนใจใยดีจากรัฐบาลสุรยุทธ์ผู้ที่มีคุณธรรมซึ่งมาจากการรัฐประหาร  ขณะเดียวกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ที่ได้รับเทียบเชิญจากอำนาจเผด็จการ ก็ได้เปิดให้เห็นธาตุแท้ของพวกอำนาจนิยมเผด็จการรับใช้นายทุน เนื่องจากได้บิดเบือนข้อเรียกร้องต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ โดยเตรียมนำฉบับกระทรวงแรงงาน ที่เอื้อประโยชน์กับนายทุนเข้าพิจารณาในสภาฯ  ซึ่งเป็นลักษณะ "ขุนศึกขุนนางผู้รับใช้นายทุน" นั่นเอง


 


 


สหภาพแรงงานอัญมณีฯ (สอส.)และการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด


นอกจากนี้แล้ว สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.)มีข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการพื้นฐานของกรรมกรในโรงงานตนเองโดยตรง แต่กลับถูกบริษัท อี เอฟ ดี (ไทยแลนด์) จำกัด เรียกร้องในสิ่งที่สวนทางกับกรรมกร


นายณัฐพงษ์ อุดเวียง ประธานสหภาพฯ  มีความคิดเห็นว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ ของฝ่ายบริหารบริษัทฯ (เอกสารประกอบของบทความ) ที่ยื่นต่อพวกเราทุกคน โดยสหภาพฯ เป็นตัวแทนนั้น เป็นเรื่องของการลด ตัดทอน ยกเลิก สวัสดิการ  ที่พวกเราเคยได้รับในหลาย ๆ ประการ  ให้ต่ำลงไปเท่ากับเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดนั้นเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับคนงานทุกคน 


 


แต่พวกเราทุกคน ทำงานอย่างทุ่มเทให้กับบริษัทฯ มาคนละหลายปี สร้างผลผลิตและผลกำไรมากมายมหาศาลให้กับบริษัทฯ แลกมาซึ่งค่าจ้างที่แทบจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต สวัสดิการที่เพิ่มมาน้อยนิดจากมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้น กว่าที่พวกเราจะได้มาก็ต้องแลกกับที่ต้องทำงานอย่างทุ่มเทให้กับบริษัทฯ ตลอดมา ที่สำคัญ สวัสดิการที่ได้รับ ก็ยังไม่ได้ทำให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่าไรนัก


 


แต่แล้ว ฝ่ายบริหารบริษัทฯ ก็ยังยื่นข้อเรียกร้องต่อพวกเรา เพื่อที่จะลดสวัสดิการต่างๆ ที่น้อยอยู่แล้ว ให้ยิ่งน้อยลงอีก เหมือนว่าฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ไม่ได้เห็นถึงความสำคัญของพวกเรา ไม่ได้คำนึงถึงแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเราเลย  และที่ผ่านมา สวัสดิการหลายๆ อย่างของพวกเรา ถูกตัดทอน หรือถูกฝ่ายบริหารบริษัทฯ ยกเลิกไป โดยที่พวกเราไม่มีโอกาสแม้แต่จะต่อรอง


 


นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า การยื่นข้อเรียกร้องของฝ่ายบริหารบริษัทฯ ในครั้งนี้ ฝ่ายบริหารกล่าวอ้างแต่ว่า บริษัทฯ ขาดทุนมาหลายปีติดๆ กัน จึงต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ  ถามว่า ถ้าขาดทุนติดต่อกันอย่างที่กล่าวอ้างแล้ว บริษัทฯ จะยังอยู่ได้อย่างไรโดยที่ไม่ปิดกิจการไป ทำไม่มีการขยายบริษัทออกไปอีกหลายบริษัท หรือ สิ่งเหล่านี้คือการขาดทุน


 


นายณัฐพงษ์ ตั้งคำถามต่อบริษัทฯ ว่า ทำไมไม่มีการชี้แจงให้กับคนงานทราบว่าบริษัทในเครือมีผลกำไรเท่าไหร่ สิ่งที่พวกเราเห็นและรับทราบ คือบริษัทฯ มีบริษัทอื่น ๆ ที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวกันมากกว่า 50% อีกหลายบริษัท และในจำนวนนั้น มีบางบริษัทที่มีผลกำไรมากมายจากการจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นผลผลิตจากแรงงานของพวกเราที่ทำงานในบริษัท อี เอฟ ดี (ไทยแลนด์) จำกัด พวกเรามิได้ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการของบริษัทฯ เราเข้าใจว่าเราเป็นแรงงาน ดังนั้นสิ่งที่เราคิดและต้องการคือ การทำงานและมีผลตอบแทน มีสวัสดิการที่ดี ที่สมเหตุสมผลกับความทุ่มเทที่พวกเรามีต่อการทำงานให้กับบริษัทฯ ฉะนั้นโปรดอย่ากล่าวอ้างแต่ว่าขาดทุน เพื่อมาลดสวัสดิการของพวกเรา


 


ปัจจุบันสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์(สอส.) ได้จัดชุมนุมขึ้น และมีการเจรจากับฝ่ายนายจ้าง  แต่ยังไม่มีข้อตกลงข้อสรุปที่ชัดเจน  การต่อสู้เพื่อศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของกรรมกรลำพูนก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดียวกับกรรมกรไทย


 


 






 


ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.)


 


1.ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าชำนาญงานให้กับพนักงานทุกคนเหมือนเดิมดังนี้


1.1       พนักงานผ่านงานรหัส 80 ค่าชำนาญงาน วันละ 5 บาท


1.2       พนักงานที่ได้รับการบรรจุ ค่าชำนาญงานวันละ 10 บาท


จากนั้นเพิ่มปีละ 5 บาทต่อปีแต่ไม่เกิน 40 บาท


 


2.ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสประจำปีให้กับพนักงานทุกคน คนละ 26วัน โดย


1.3       ไม่มีการหักเงินโบนัสอันเนื่องจากมีการลงโทษพนักงานโดยการหักเงินไปแล้ว


1.4       ไม่นำการลาพักร้อนประจำปีไปรวมกับการขาดงาน14 วัน ที่บริษัทฯ ได้กำหนดว่าหากขาดงานเกิน 14วัน บริษัทฯ จะไม่จ่ายเงินโบนัสให้


 


2.       ขอให้บริษัทฯ ปรับค่าจ้างให้กับพนักงานทั้งพนักงานรายเดือนและรายวัน โดยปรับเพิ่มขึ้นวันละ  7 บาท


 


3.       ขอให้บริษัทฯ จัดให้มีวันหยุดพักพักผ่อนประจำปี ของพนักงานปีละ 10 วัน


 


4.       ขอให้บริษัทฯ จัดให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตให้กับพนักงาน


 


5.       ขอให้บริษัทฯ จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงานทุกคนโดยให้พนักงานจ่ายเงินสมทบให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ300 บาท และให้ทางบริษัทฯ จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ300 บาทเท่ากับพนักงาน


 


6.       ขอให้บริษัทฯ จัดให้ มีสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความปลอดภัย  ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงาน และทำให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัวไม่เกิดการสูญเสียของวัตถุดิบ ดังนี้


6.1       จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันให้เพียงพอและเหมาะสมตามมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน


6.2       จัดให้มีอุณหภูมิห้องในการทำงานสายการผลิตไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส


6.3       เปลี่ยนสีของพื้นที่ทำให้สามารถสังเกตความแตกต่างกับเพชรอย่างชัดเจน


 


7.       ขอให้บริษัทฯ จัดให้มีการลาไปปฏิบัติกิจของสหภาพโดยไม่มีการหักค่าแรง เบี้ยขยัน และโบนัสประจำปี 30 วัน ต่อ ปี


 


8.       ในบรรดาข้อตกลง / สวัสดิการใดและ/หรือ ประเพณี ปฏิบัติที่ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้คงสภาพการจ้างเหมือนเดิม


 


9.       ห้ามมิให้นายจ้างรังแก / เปลี่ยนแปลงหน้าที่หรือเลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆอันเป็นเหตุทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้


 


 


 


 


 



ข้อเรียกร้อง ของบริษัทฯ


 



 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net