Skip to main content
sharethis

อรรคพล สาตุ้ม [1]


 



สามีภรรยาช่วยกันจับปลาบนดอนริมน้ำแม่โขง


 


สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ติดกับพรมแดนเมืองห้วยทราย ประเทศลาว ทำการค้าแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งปลา อาหาร การเกษตรของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่มีความผูกพันกับการจับปลาในแม่น้ำมายาวนาน ทำให้มีความสัมพันธ์ชุมชนต่อพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง


 


 


ประวัติศาสตร์ว่าด้วย "น้ำโขง" กับ "ชีวิตคนหาปลา"


คนจับปลากับเรือเป็นสิ่งสัมพันธ์ต่อเครื่องมือจับปลาพื้นบ้านด้วย ในการใช้ "ไซลั่น" ดักจับปลาตามริมแม่น้ำ การจับปลาของชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงสองชุมชนร่วมกันสืบทอดเคารพความเชื่อต่อผีแม่น้ำโขง การมีเครื่องบูชาบนเรือหาปลา มีการจับปลาพันธุ์ต่างๆ หลากหลายมาก เช่น ปลาเพทาย ปลาไน ปลาเพี้ย ปลานิล ปลาแกง ปลากวง ฯลฯ นอกจากนี้ชาวบ้านยังแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเครื่องมือหาปลาระหว่างไทย-ลาว กับจับปลาขายตามตลาด รวมถึงทำการเกษตร ปลูกผักริมฝั่งแม่น้ำโขง 


 


ภาพสะท้อนความสัมพันธ์การจับปลาในอดีตระดับชุมชนที่เคยมีปฏิสัมพันธ์กันมา ก่อนมีพรมแดนขวางกั้น คือประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนา-ล้านช้าง และเมืองเชียงของกับห้วยทรายก็เปลี่ยนไปอยู่ในขอบเขตแดนของสยาม ก่อนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยกับประเทศลาว เพราะเปลี่ยนแปลงแนวคิดเดิมทางแผนที่ของสยามเพื่อสร้างขอบเขตแดน ให้มีอาณาเขตอย่างชัดเจน เพราะการเข้ามาล่าอาณานิคมของอังกฤษกับฝรั่งเศส ทำให้เปลี่ยนจากแนวคิดแผนที่คติจักรวาลแบบไตรภูมิ เป็นแผนที่ตามภูมิศาสตร์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ตะวันตก แต่ที่นี่ก็ยังเป็นเส้นทางสานสัมพันธ์ของผู้คนสองเชื้อชาติและสองประเทศที่ใช้ข้ามไปมาหาสู่ดุจญาติฉันท์มิตร มีสิทธิการติดต่อซื้อขายกันอย่างเสรี เสมือนไร้รัฐ จะมีเพียงเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์หรือทางธรรมชาติคือแม่น้ำโขงที่แบ่งแยกแผ่นดินออกจากกันเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงแม่น้ำโขงถูกใช้เป็นพรมแดน นอกจากเรื่องการค้าระหว่างกัน และรากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ดังเช่น ปลา ด้วย


 


 


เมื่อสตรี "ขึ้นนั่ง" บนเรือหาปลา


ท่ามกลางการพัฒนาและโลกาภิวัตน์จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ใหม่ ความเชื่อเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนให้สตรีได้นั่งบนเรือหาปลาได้ ซึ่งเดิมคนจับปลาได้เคยกล่าวไว้ถึงความเชื่อของการห้ามไม่ให้สตรีขึ้นนั่งบนเรือ หรือข้ามเรือ นอกจากนั้นบทบาทของแม่ย่านางเรือ (ความเชื่อเคารพเพศแม่และแม่น้ำ) รวมทั้งหญิงลาวที่เข้ามาแต่งงานกับคนจับปลาคนไทยก็ได้สะท้อนภาพหลังการเปลี่ยนแปลงทางด้านการถูกแบ่งแยกทางพรมแดนให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างทางพรมแดนของคนจับปลาไทย-ลาว ถ้าหากพิจารณาตามกรอบของทฤษฏีสตรีนิยมแล้ว ก็คงเห็นสภาพการขยับความเท่าเทียมทั้งทางกายภาพและทางอุดมการณ์ของความคิด ความเชื่อ ที่ให้สตรีมีส่วนร่วมในการเข้ามาในพื้นที่แห่งการจับปลาได้


 


ดังนั้นต้องเอ่ยถึงการนิยามรัฐชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้งรวมถึงผลกระทบต่างๆ ซึ่งทำให้พรมแดนทางกายภาพเปลี่ยนแปลงจากเดิม แม่น้ำซึ่งไม่เคยกั้นขวางกลับแปรเปลี่ยนเป็นขวางกั้น ทั้งยังได้เปลี่ยนพรมแดนทางความรู้ ความคิด ความเชื่อของคนตามไปด้วย ฉะนั้นการนิยามแม่หญิงแห่งแม่น้ำโขงสตรีศรีภรรยาของคนจับปลาขึ้นมาใหม่ก็เป็นการก้าวข้ามพรมแดนของอคติทางเพศในความเชื่อเก่าต่อสตรีจะต้องมีส่วนของผลกระทบหลายอย่างประกอบกัน


 


 


เมื่อเส้นสมมติที่ชื่อว่า "อุดมการณ์" ขวางคั่นชุมชน


ดังที่บ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ที่เป็นหมู่บ้านชายแดนไทยติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งพรมแดนของสองประเทศคือแม่น้ำโขงได้ขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่แบ่งแยกอย่างชัดเจนอีกด้วย ในห้วงนั้น ทั้งสองชุมชนได้ขาดการติดต่อไปมาหาสู่ไม่สามารถข้ามฝั่งแลกเปลี่ยนติดต่อกันได้


 


แต่แล้วความสัมพันธ์ก็ได้กลับคืนมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายทางการเมืองของสองประเทศ หลังสิ้นสุดสงครามเย็นทางอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ท่ามกลางกระแสของการพัฒนาตามปัจจัยภายในของประเทศและปัจจัยภายนอกของโลกาภิวัตน์ทางการสื่อสารคมนาคม ที่ได้เข้ามามีผลกระทบทั้งสองประเทศก็ได้เปิดประตูการค้ากันโดยมีวาทกรรมเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ครอบงำและครอบคลุมโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของชุมชน


 


 


การมาถึงของโลกาภิวัตน์ : การค้าชายแดน เขื่อน ไฟฟ้า และการระเบิดแก่ง


ประวัติศาสตร์ระดับชาติจากยุคอดีตมาปัจจุบันกำลังถูกนำทิศทางใช้ประโยชน์ทางกระแสด้านเศรษฐกิจการค้าเสรีระดับระหว่างประเทศ ผลกระทบนี้ได้เข้ามาสู่ชุมชนตามการขนส่งสินค้าทางเรือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่งที่ท่าเรือเชียงของ จุดผ่านแดนแลกเปลี่ยนสินค้าชายแดน นอกจากนี้แผนของการพัฒนายังคงเติบโตขึ้นมาในนามโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หลังวิกฤติเศรษฐกิจแล้วก็ยังเดินหน้าผลักดันขยายเป็นหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ ต่อมามีการสร้างเขื่อนในลาว กับจีน ซึ่งลาว-จีนจะปันน้ำใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายด้วย ทำให้มีความวิตกกังวลตามมาด้วยการระเบิดเกาะแก่งหินเพื่อการเดินเรือสินค้าก็ทำการระเบิดในส่วนของประเทศจีน ต้นธารแห่งแม่น้ำโขงแล้ว มีแผนว่าจะสืบเนื่องมาถึงไทย


 


อย่างไรก็ตามผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์จากเทคโนโลยี เรือสินค้าเคลื่อนย้ายสินค้า และเกี่ยวพันกับการค้าลงทุนของเงินกองทุนธนาคารแห่งเอเชียต่างนานา ที่รัฐบาลคิดว่าซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจของคนจับปลาที่จะรู้ได้ว่าตัวแปรและปัจจัยของสาเหตุหลายอย่างมีผลกระทบต่อคนจับปลาเหล่านั้น


 


 


ผลกระทบที่มาต่อ "ผู้ชาย" หาปลา และการเปลี่ยนสถานภาพของ "ศรีภรรยา"


แต่ในที่สุดคนจับปลาที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายก็ได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะแวดล้อมธรรมชาติของแม่น้ำโขงผ่านมากับแนวทางของนโยบายการพัฒนาประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงต่างก็เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และละเลยคนจับปลากลุ่มเล็กๆ ที่มีครอบครัวเป็นลูก ภรรยา ต้องช่วยกันประคับประคองวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมของจำนวนปลาจับได้แต่ละวันลดลงเพราะจากการรบกวนของเรือเดินสินค้าที่ทำให้แม่น้ำโขงสกปรก กับระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงตามกระแสน้ำไม่ปกติของเขื่อน


 


เหตุผลดังกล่าวประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของโลกทัศน์เดิมคือเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนจับปลาต่อพรมแดนความเชื่อดั้งเดิม บดบังบทบาทของสตรีไม่ให้ผู้หญิงนั่งบนเรือจับปลา แตะต้องเรือ หรือข้ามเรือ เพราะจะ "ขึด" (อาเพศ) ในความหมายเป็นข้อห้ามว่าทำแล้วไม่ดี แต่โลกทัศน์สมัยใหม่แบบวิทยาสาสตร์ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดคนจับปลาไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของกรมประมงในการผสมเทียมเพาะพันธุ์ปลาบึกได้ และคาดหวังว่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ดังนั้นหลังจากได้รับผลกระทบของการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการท่องเที่ยวของจังหวัดที่เน้นให้พื้นที่มีผลิตพิธีกรรมบวงสรวงจับปลาขึ้นมาอย่างใหญ่โตสร้างภาพเทียมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเข้ามาจ้องมองดูพิธีกรรมนี้ตามกระแสของตลาดการท่องเที่ยว


 


แต่ก็มีพิธีกรรมแท้โดยชาวบ้านได้แยกออกไปทำพิธีกรรมต่างหากเช่นกัน สะท้อนการปรับตัวในความขัดแย้งของพรมแดนความเชื่อในการเคารพผีปลาบึกที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและแม่น้ำโขงลดลง รวมถึงการบูชาแม่ย่านางเรือเพื่อการจับปลา (บางคนทำพิธีบูชาแต่ละวัน ขณะที่บางคนไม่ทำเลย) กลับกลายเป็นการเปิดพื้นที่ให้แม่หญิงแห่งแม่น้ำโขง ได้มีพื้นที่ตัวตนสามารถนั่งบนเรือได้ "ไม่ขึด" และปรากฏการณ์ดังกล่าวกับส่งเสริมให้สตรีศรีภรรยาของคนจับปลาถือว่าเป็นตัวนำโชคด้วย (หมาน - ภาษาคำเมือง)


 


จากหน้าที่ของสตรีเพียงแบ่งพื้นที่ให้จับปลาที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงติดกับหาดทรายของวัดหาดไคร้และใช้อุปกรณ์จับปลาขนาดเล็กทอดแหหรือใช้เครื่องมือจับปลาพื้นบ้าน เช่น ไซ อันสะท้อนภูมิปัญญาของชาวบ้านด้านจักสานใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุเกี่ยวกับธรรมชาติ


 


อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าการมาช่วยจับปลาใหญ่ในพื้นที่ดอนจะมีสตรีนั่งอยู่บนเรือคนเดียวแล้วจับปลานั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก "มอง" (อวน) มีขนาดใหญ่ต้องอาศัยกำลังมาก ดังนั้นจึงเป็นเพียงผู้ช่วยจับปลาเพราะความห่วงใยของสามีคือคนจับปลาต่อภรรยาว่าจะตากแดด จะร้อน จะต้องเสี่ยงกับแรงดึงของปลาแล้วร่วงลงจมน้ำหรือ "มอง" เกี่ยวพันกับใบพัดของเรือเดินสินค้าทำให้ตกน้ำประสบอุบัติเหตุต่างๆ นานา


 


หากจะเชื่อมโยงภาพของอดีตกับปัจจุบันของพื้นที่ทางกายภาพกับพื้นที่ทางความคิดของพรมแดนแม่น้ำโขงหรือดอนนี้ สะท้อนตัวตนของสตรีออกมาเกี่ยวกับข้อห้ามทางความเชื่อเดิม คนจับปลาเชื่อถือเรืองโชคชะตาว่าจับปลาได้ย่อมเกี่ยวข้องกับฝีมือจากประสบการณ์ สัญชาตญาณ และ "หมาน" (โชคดี) ก็ต้องเกี่ยวข้องกับเรือ รวมถึงพื้นที่จับปลาในปัจจุบันก็ถูกแย่งชิงทรัพยากรปลาและทางสิ่งแวดล้อม


 


 


ที่ดอน จากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจ


อนึ่ง ความสำคัญของพื้นที่ในบริบททางประวัติศาสตร์ของความคิด วิธีคิด สำนึกของอดีตพื้นที่ดอนเป็นเหมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธ์ทางศาสนาพุทธ ตามการรับรู้ที่อำเภอเชียงแสนเคยมีการสร้างพระพุทธรูปและเป็นที่ประกอบพิธีกรรมเป็นวัดบนดอน ดังที่ปรากฏเนื้อหาพงศาวดารโยนก และพื้นที่ดอนนี้เกี่ยวพันกับความรู้เรื่องปลากับการรับรู้แม่น้ำโขง (คติเกี่ยวกับน้ำ) ผ่านคติไตรภูมิจักรวาลสะท้อนสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแบบพุทธะ พื้นที่ย่อมเชื่อมโยงกับคติทางพระพุทธศาสนา ดังที่มีตำนานพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่วัดตีนธาตุ


 


อย่างไรก็ตามพื้นที่นี้ใกล้วัดหาดไคร้ ซึ่งก็มีกฎทางศีลธรรมของวัดอยู่แล้วว่าวัดเป็นเขตอภัยทานห้ามจับสัตว์น้ำ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่กระแสของการพัฒนานิยามพื้นที่เป็นล่าปลาบึกแห่งแรกของโลกแล้วก็เปลี่ยนแปลงตามกระแสอนุรักษ์เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกปฏิสัมพันธ์ของชุมชนกับนโยบายของรัฐในการจัดการท้องถิ่นอันเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ


 


สภาพบรรยากาศของพื้นที่ดอนขณะที่เคยเป็นอดีตรุ่งโรจน์ของการจับปลาบึก มีคนมาตั้งกระท่อมนอนรอจับปลาบึกจำนวนมากและรอดูปลาบึก แต่ปัจจุบันพื้นที่เกิดขึ้นในฤดูน้ำลดและเป็นฤดูกาลจับปลาเล็ก ปลาใหญ่อย่างปลาบึก ทำให้เปิดโอกาสให้มีการใช้เรือหาปลากับนักท่องเที่ยวในการพาไปเที่ยวดูวิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำโขงดังเช่น เที่ยวชมภาพตึกรามเล็กๆ ท่าเรือบริเวณวัดริมน้ำตีนธาตุ หาด ดอน ฝูงนกนางนวล ก่อให้เกิดความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งตรงจุดนี้ก็น่าเป็นสาเหตุให้เรือหาปลาเปลี่ยนความหมายมีพื้นที่ของสตรีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คนจับปลาได้พาภรรยานั่งบนเรือดูธรรมชาติและจับปลาไปด้วย แสดงความรักของครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างกันในโอกาสดังกล่าวไปตามสายลมกับแสงแดดในเวลาที่มีอิสระของสองคน


 


พื้นที่ดอนก็ได้เป็นพื้นที่ของการเข้ามาช่วยเหลือของภรรยาในการทำความสะอาดมอง หลังจากจับปลาแล้วในแต่ละรอบก็จะพักเพื่อรอคิวออกไปหาปลาไม่ให้ขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรปลากันเอง แน่นอนว่าภรรยามานั่งที่เพิงพักกินข้าวก็ย่อมเป็นกำลังใจ เวลาที่คนจับปลา "ใจอ่อน" สูญเสียกำลังใจในการจับปลาไม่ได้สักตัวเดียวก็จะบ่นออกมาว่าต้นแม่น้ำโขงจับปลามากเกินไป หรือผลจากเขื่อนอื่นๆ


 


ดังนั้นวิถีชีวิตของคนจับปลาย่อมเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เพราะผลกระทบของการพัฒนาที่ทำให้คนจับปลาโดยไม่เคารพธรรมชาติมากขึ้น และวิกฤติทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนให้สตรีเข้ามาในพื้นที่นี้มากขึ้นตามกระแสการท่องเที่ยวด้วย สตรีข้ามเรือไม่ขึด นั่งเรือเล่นได้ ปัจจัยที่มีผลให้พื้นที่ดอนลดความศักดิ์สิทธ์ลงของความเชื่อถือ แต่บางคนก็แสดงความเคารพที่เพิงโดยวางของบวงสรวงไว้บ้าง แต่เป็นเพียงปัจเจกไม่เป็นปึกแผ่นของสังคม เพราะความสัมพันธ์ของเรือจากเรือเป็นแพมาสู่เรือขุดจากไม้ใช้ไม้พายเรือในอดีต ซึ่งต้องเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์  เช่น เรือทำจากไม้ตะเคียน ด้วยความเป็นศิลปะพื้นบ้านของเรือก็มีความเชื่อว่าสามารถจับปลาได้มาก


 


แต่โชคชะตาก็เป็นความไม่แน่นอนในยุคโลกาภิวัตน์ที่พึ่งพิงทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นเทคโนโลยีก้าวหน้ากำหนดให้เรือหาปลาพัฒนาจากใช้ไม้พายเรือเป็นเครื่องจักรเพื่อหาปลาได้เร็วขึ้นก็ลดต้นทุนการเซ่นไหว้เรือกับถูกบีบบังคับทางอ้อมจากเครื่องจักรต้องเติมน้ำมัน ทำให้ต้องจับปลามากขึ้นให้คุ้มกับต้นทุนของราคาน้ำมันด้วย ตามมาด้วยประสบปัญหาจากตัวเครื่องจักรถูกน้ำแล้วเสียหายได้ง่าย อีกทั้งถ้าไม่ได้ปลาตามที่คาดหวังไว้คนจับปลาก็จะต้องพึ่งพิงฐานะของภรรยาแทนการจับปลาได้น้อยลง


 


ภรรยาของคนจับปลาจึงมีตำแหน่งแห่งที่ ในการค้าขายของในตลาดและนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วย


 


 


การเกิดขึ้นร้านยาดอง บนพื้นที่ดอนของคนจับปลา


เมื่อเกิดการสลับความสัมพันธ์เชิงอำนาจก็เกิดการต่อรองทางอำนาจขึ้นกับคนจับปลา ได้หาภรรยาที่เก่งทางการค้าขาย กรณีสตรีชาวลาวได้เข้ามาตั้งร้านขายเหล้ายาดองบนพื้นที่ดอนดังกล่าวนอกจากบทบาทของแม่หญิงไทยแล้ว ก็มีความสัมพันธ์กับแม่หญิงลาวที่เหมือนกับเครือญาติครอบครัวเดียวกันของชุมชนที่เชื่อมโยงข้ามพรมแดนของประวัติในบรรพบุรุษก็เกี่ยวข้องด้วยอีกต่างหาก กรณีการเข้ามามีส่วนร่วมของความสัมพันธ์กับระบบนิเวศและยุคโลกาภิวัตน์ของสตรีชาวลาวได้เกิดปฏิสัมพันธ์เกี่ยวกับพื้นที่ดอนนี้คนจับปลาไทย-ลาวหาปลาร่วมกัน


 


จากประวัติศาสตร์ความเป็นพี่น้องหรือเครือญาติทางชาติพันธุ์ เช่น คนจับปลาบางคนเป็นไทลื้อที่เคยโยกย้ายถิ่นฐานมาไม่นานเกินไป และเพื่อนร่วมจับปลากัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้า ซึ่งมีการขายเหล้ายาดองบนพื้นที่ดอนของคนจับปลา ทำให้เกิดพื้นที่ตัวตนของแม่หญิงชาวลาวใช้ความรู้การปรุงเหล้ายาดองเพื่อสุขภาพของคนจับปลาที่เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อย


 


การค้ายาดองจึงเป็นการสร้างสรรค์ทางการค้าในพื้นที่ตามการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในการรับรู้โลกทัศน์ใหม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยและใช้ภูมิปัญญาเดิมมาเป็นผลประโยชน์ใหม่ๆ ดังเช่น คนจับปลาใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากก้อนหินที่คอยช่วยเหลือทำความสะอาดแม่น้ำโขงทางธรรมชาติโดยว่าจ้าง แม่หญิงลาวคนอื่นเก็บหินบนพื้นที่ดอนของแม่น้ำโขงมาขายให้กับร้านตกแต่งสวนที่รับซื้อก้อนหินสีสวยต่างๆ ก็สะท้อนว่าคนจับปลารู้จักวัฒนธรรมการบริโภคสัญญะของสินค้าในชนชั้นกลางด้วย


 


 


สรุป : การปรับเปลี่ยนบทบาท และ พื้นที่ของแม่หญิง และภาพแสดงแทนของ "แม่น้ำโขง"


อย่างไรก็ดีสัญลักษณ์ทางนามธรรมภาพแสดงแทนของแม่หญิงแห่งแม่น้ำโขงคือบทบาทสตรีศรีภรรยาของคนจับปลามีภาพเชื่อมโยงกับพื้นที่รูปธรรมบนดอน ดุจว่าการเรียกชื่อ "แม่น้ำโขง" แต่ต่างกันคนเมืองเรียกว่า "น้ำของ" ในที่นี้ขอเน้นสะท้อนคำออกมาว่า จากคำว่า "แม่" เป็นเพศหญิงเคารพในธรรมชาติของสตรี ที่ต้องมีบทบาททางอุดมการณ์เป็นแม่ของลูกและสิ่งแวดล้อม แต่ว่าการก้าวข้ามพรมแดนทางอุดมการณ์ความคิดให้เกิดความสมดุลนี้เป็นภาพแห่งความเป็นอุดมคตินี้ ในความเป็นจริงผู้วิจัยได้พบตัวชี้บอกว่าการนิยามของคนจับปลาต่อความขัดแย้งในการนิยามการพัฒนาของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ขัดแย้งนี้ย่อมสัมพันธ์กับครอบครัวบทบาทของสตรี ที่มายังพื้นที่นี้ต้องมีส่วนร่วมในการพยายามสร้างอำนาจในการนิยามการพัฒนาคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนี้คือความหมายที่คนจับปลาได้พยายามบอกกล่าวแก่ผู้วิจัย


 


นอกจากสร้างนิยามเพื่อมีอำนาจต่อรองแล้ว บทบาทของสตรียังมีขึ้นพร้อมปรากฏการณ์ช่วยเหลือทำความสะอาดพื้นที่ดอน ทำเพิงที่พักสำหรับร้านเหล้ายาดอง อื่นๆ รากฐานของความร่วมมือของสตรีในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทำให้มีพื้นที่ตัวตนและคงหาทางประสานกับทางเลือกของการพัฒนากับสามีของครอบครัว ความสัมพันธ์เพศก็เกิดขยับความเท่าเทียม ทั้งทางอุดมการณ์แห่งการผลิตวัฒนธรรมใหม่


 


ถึงอย่างไรก็ตามการพัฒนาอย่างสมดุล เสมือนการพัฒนาที่ชาย-หญิงเท่าเทียมกันนั้นในพื้นที่บนดอนดังกล่าว แต่ทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของแม่น้ำโขงตอนบนโยงใยกับปัญหาซับซ้อนต่างๆ นี้ เพราะอคติทางการพัฒนาแม่น้ำโขง อคติว่าประชาชนไม่รู้เรื่องทางการพัฒนากีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เหมือนกับอคติทางเพศต่อผู้หญิง แต่ว่าแม่น้ำคือแม่ของเรา หากการเปรียบดังกล่าวนี้เป็นเหมือนสำนวนโวหารมากกว่าหลักตรรกะแล้ว ก็คงเหมือนสัญลักษณ์ของความสำคัญของความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม จึงสมควรมีพื้นที่สำหรับแม่หญิงแห่งแม่น้ำโขงได้แล้ว.


 


รายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์


กฤติพร ขัตติยะ, ตี๋ รัตนไตย, แม่หญิงลาว จินะราช, ณรงค์ จินะราช, สนั่น สุวรรณทา, สมนึก สุวรรณทา, สุพจน์ รัตนไตย, ไชยา จินะราช และซ้อ จินะราช


 







แม่น้ำโขง : ข้อมูลสังเขป


แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่ 10 และเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความ อุดมสมบูรณ์ที่สุด ของโลก จากต้นกำเนิดในที่ราบสูงทิเบต จนไหลลงสู่ ทะเลที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งหมดกว่า 4,902 กิโลเมตร


 


แม่น้ำของตอนบนรับน้ำจากการละลายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาขา แม่น้ำสาขาในภาคเหนือของไทยมีน้ำกก, น้ำอิง, น้ำคำ, น้ำรวก ภาคอีสานมีน้ำมูน, น้ำสงคาม และอีกหลายสิบแม่น้ำในเขตประเทศอื่นๆ


 


แม่น้ำโขงมีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบกว่า 1,245 ชนิด และมีพื้นที่ชุ่มน้ำ 798,000 ตารางกิโลเมตร


 


แม่น้ำโขงทำหน้าที่หล่อเลี้ยง ประชาชนกว่า ใน 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน พม่า ไทย ลาว เขมร และ เวียดนาม ผู้คนกว่า 60 ล้านคนมีชีวิตผูกพันอยู่กับแม่น้ำสายนี้ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำสำหรับการเกษตร การเดินทาง ดื่มกินและสันทนาการต่างๆ


 


อย่างไรก็ตามเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN) เปิดเผยว่า แม่น้ำโขง ซึ่งเปรียบดังชีวิตและสายสัมพันธ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ถูกคุกคามมาโดยตลอด โดยกิจกรรมการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงถึงความยังยืน ของสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ที่ขึ้นอยู่กับชีวิตของแม่น้ำนานาชาติสายนี้ 


 


โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งผลกระทบ อย่างมหาศาลต่อแม่น้ำโขง ในปัจจุบันมี การวางแผนที่จะสร้างเขื่อนจำนวนมากตลอดลำน้ำ ในแม่น้ำโขงตอนบนรัฐบาลจีนได้ก่อสร้างเขื่อนมันวาน ปิดกั้นแม่น้ำโขงและมีอีกหลายเขื่อนที่กำลังถูกสร้างขึ้นและหลายเขื่อนอยู่ที่ในแผนงาน ทั้งนี้ยังไม่รวมแผนงาน ในส่วนของแม่น้ำโขงตอนล่าง แม่น้ำสาขาทั้งหมดได้ถูกวางแผนในสร้างเขื่อนกั้น แม่น้ำหลายสายได้ถูกปิดกั้น โดยเขื่อนโดยเฉพาะในประเทศลาวเพื่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย


 


เขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมากมาย ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การลดลงและสูญพันธุ์ของปลาแม่น้ำโขง ดังจะเห็นได้ชัดเจนจาก กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งก่อผลกระทบอย่างมากมายต่อสังคมไทย


 


นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 มีข่าวคราวการระเบิดแก่งหินในลุ่มน้ำโขง เพื่อเปิดเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศเล็กๆ ในลุ่มน้ำโขง ผลของการสร้างเขื่อนและระเบิดแก่ง ได้ทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลา ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนหาปลาริมฝั่งโขงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้


 


จึงเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิจัยลุ่มน้ำโขง รวมถึงกลุ่มรักษ์เชียงของ แห่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อปกป้องสายน้ำและวิถีชีวิตของผู้คนบนแดนดินถิ่นนี้ จนกลายเป็นที่มาของเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา


 


ที่มา :


เชียงของ ชีวิตแห่งสายน้ำ ผู้คนแห่งความเปลี่ยนแปลง, นพพร ชูเกียรติศิริชัย, ประชาไท 9 ก.พ. 2549


วิถีคน-วิถีน้ำ ยามโขงเหนื่อยอ่อน, สุมาตร ภูลายยาว, ประชาไท 26 พ.ค. 50


ลุ่มแม่น้ำโขง, เว็บไซต์เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Rivers Network - SEARIN)






เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ


[1] นักวิจัยอิสระ, เจ้าหน้าที่พิเศษโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ บทความนี้ปรับปรุงมาจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ หัวข้อ "ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงตอนบน: การหายไปของปลา" ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภูมิภาคศึกษา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net