ม็อบสมัชชาคืบเคลื่อนทัพไปทำเนียบฯ ต่อด้วยรัฐสภา

 

ประชาไท - 25 พ.ค. 50 เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. ของวันที่ 24 พ.ค.สมัชชาคนจน เกือบ 1,000 คนจาก 7 เครือข่ายภาคประชาชน อาทิ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เครือข่ายผู้ป่วยจากโรงงานอุตสาหกรรม เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายสลัม และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ได้เดินขบวนจากที่พักชั่วคราวด้านข้างกระทรวงศึกษาธิการ ใกล้เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปยังที่ทำการทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงสัญญาจากนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์

 

หลังจากวันที่ 23 พ.ค. เครือข่ายสมัชชาคนจนได้เดินทางไปชุมนุมหน้ากองทัพบกเพื่อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการขัดขวาง หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมของชาวบ้านสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในวันนั้นพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช.ไม่อยู่ มีเพียง คมช. ที่ให้ข้อมูลว่าไม่มีอำนาจสั่งการกองกำลังบูรพา แต่จะเร่งทำหนังสือแล้วให้ทางสมัชชาคนจนโทรศัพท์ไปถามความคืบหน้าภายหลัง

 

จากการเดินขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมไม่ได้พบกับนายรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เนื่องจากกติดภารกิจ แต่ได้มีการพูดคุยหารือนอกรอบระหว่างตัวแทนกลุ่มเครือข่ายสัชชาคนจนกับพลเอกนิพนธ์ ศิริพร หัวหน้าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในช่วงเที่ยงของวัน ส่วนกลุ่มเครือข่ายสมัชชาคนจนได้เดินขบวนต่อไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นข้อมูลต่อนางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และ สนช. ท่านอื่นๆ ที่ติดตามข่าวสารของกลุ่มสมัชชา เพื่อขยายข้อมูลถึงเหตุผลของการเดินทางมายื่นเรื่องเรียกร้องให้ สนช. ได้รับรู้

 

"เราอยากเร่งพูดคุยประสานงานกำหนดการเจรจาโดยเร็ว เราไม่ได้อยากออกมา เราอยากกลับเร็วๆ เพราะฟ้าฝนกำลังมา เราอยากกลับไปทำการเพาะปลูกที่บ้านเรา" นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานแสดงความเห็น

 

นอกจากนี้นายอุบล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ร่วมพูดคุยหารือนอกรอบกับพลเอกนิพนธ์ ศิริพรพลได้ให้ข้อมูลว่าหัวหน้าสำนักเลขานายกรัฐมนตรีได้ออกมาพูดแสดงความเป็นมิตรที่ต้องการช่วยแก้ไขปัญหาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และยืนยันว่ารัฐบาลจะพยายามทำให้ลุล่วงภายในเวลา 4-5 เดือนที่เหลืออยู่ของรัฐบาลนี้อย่างสุดความสามารถที่จะทำได้

 

ส่วนข้อเสนอของเครือข่ายสมัชชาคนจน คือการเจรจารวมที่สถานที่ใดที่หนึ่งเพื่อไม่ให้ต้องเคลื่อนย้ายชาวบ้านไปไกล โดยได้ขอให้มีการประสานงานกับรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในกระทรวงต่างๆ มาร่วมพูดคุยรับฟังปัญหาของชาวบ้าน แต่ที่รับปากแน่นอนตอนนี้มีเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ส่วนกระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงานต้องรอการติดต่อพูดคุยเพื่อตกลงกันอีกครั้งหนึ่งในเย็นวันนี้

 

"เรายืนยันความเห็นตั้งแต่ที่ได้ประชุมกันมา พี่น้องเราไม่อยากเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เราจึงอยากให้เรื่องทั้งหมดเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 30 โดยจะขอให้ทุกเรื่องของเราได้พิจารณาจนกลุ่มสุดท้ายแล้วเราจึงจะเดินทางกลับพร้อมกัน"

 

"ทุกเรื่องชี้ขาดที่การต่อสู้ในพื้นที่เพราะชัยชนะบนเวทีโต้เถียงไม่ได้ชี้ว่าปัญหาที่ขึ้นโต๊ะเจรจาจะได้รับการแก้ไข บางครั้งมติครม.ก็ไม่ได้มีค่าอะไรเลย แต่ยังไงมันก็ดีกว่าการใช้มือเปล่า เรื่องแบบนี้ทำให้พี่น้องสมัชชาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพราะเขาได้สัมผัส ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จนชำนาญ" นายอุบล กล่าวแสดงความคิดเห็น

 

"ปัญหาของเรา เราไม่ใช้ช่องทางของกฎหมาย เพราะมันเป็นช่องทางที่บีบให้เรายอมแพ้ กฎหมายรับใช้รัฐอยู่แล้ว มันไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้ประชาชน ในเมื่อผู้สร้างกฎหมายคือรัฐ" นายสวาท อุปฮาด ที่ปรึกษาเครือข่ายที่ดินกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาที่ชาวบ้านมักถูกจับกุมในข้อหาบุกรุกที่สาธารณะในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องของการลิดรอนสิทธิ แต่ก็ทำให้การรวมกลุ่มของชาวบ้านเข้มแข็งขึ้น

 

"เรื่องของสิทธิเขียนให้สวยยังไงแต่เจ้าของใช้ไม่ได้มันก็ไม่มีประโยชน์ การที่พี่น้องมารวมตัวกันนี่คือการเคลื่อนไหวใช้สิทธิ โดยไม่ต้องมีการระบุไว้เป็นเอกสาร หรือในกฎหมายใดๆ" นายอุบลกล่าวย้ำเพิ่มเติม

 

สำหรับความคืบหน้าของการเดินทางเข้ามาเพิ่มเติมของกลุ่มสมัชชาในพื้นที่ต่างๆ ขณะนี้กลุ่มสมัชชาจาก อ.ตาพระยา จังหวัดสระแก้ว กว่า 50 คน เดินเท้ามาร่วมชุมนุมกับกลุ่มสมัชชาคนจนที่ปักหลักอยู่ริมถนนบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ และมีการคาดการกันว่าจะมีผู้เข้าร่วมเพิ่มจำนวนขึ้นหากเหตุการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป

 







แถลงการณ์ สมัชชาคนจน ฉบับที่ 2

นายกอย่าเสียสัตย์ นัดแล้วต้องเปิดการเจรจา เร่งแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน

                การชุมนุมติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ตามนัดหมายที่นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญากับสมัชชาคนจนไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งการสกัดกั้นการเดินทางมาชุมนุม เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนยังดำรงอยู่ พี่น้องเราบางส่วนต้องตัดสินใจเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพราะถูกสกัดกั้นจากจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารในพื้นที่ แต่พี่น้องเราก็ยืนหยัดที่จะเดินทางมาด้วยการเดินเท้าเข้าสู่กรุงเทพฯ

                เราขอประณามการสกัดกั้นการเดินทางมาร่วมชุมนุม เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในการกดขี่ข่มเหงรังแกประชาชน เป็นการปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นเผด็จการเท่านั้น พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ คมช. ยุติการใช้อำนาจเยี่ยงเผด็จการนี้โดยเร่งด่วน

          การแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน จำเป็นต้องอาศัยอำนาจการสั่งการข้ามกระทรวง เพราะโครงสร้างนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมในหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง หลายหน่วยงานราชการ ดังนั้น หากจะดำเนินการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ให้เป็นจริง ผู้ที่เป็นตัวแทนในการเจรจาจึงจำเป็นต้องมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจและสามารถสั่งการข้ามกระทรวงได้

                พวกเรายืนยันที่จะชุมนุมอย่างยืดเยื้อ เพื่อรอการเจรจาแก้ไขปัญหา จากคำมั่นสัญญาที่นายกรัฐมนตรีได้สัญญาไว้กับพวกเรา พวกเราขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้เร่งเปิดการเจรจา หาข้อยุติร่วมกับสมัชชาคนจนโดยเร็ว

 

ด้วยจิตรคารวะ

สมัชชาคนจน 24 พฤษภาคม 2550 ณ หน้ารัฐสภา

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท