มหันต์ภัยโลกร้อน : ผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน

ประชาไท- 25 พ.ค. 2550 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2550 เวลา 13.00 น. สำนักงานส่งเสริมบริการวิชาการ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง มหันต์ภัยโลกร้อน : ผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ที่อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 4 ห้องประภาศน์ อวยชัย บรรยายโดย ผศ.ดร.กำพล รุจิวิชชญ์ คณะสหเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ปรากฏการณ์วันนี้ มีผลต่อเยาวชนวันหน้า

ผศ.ดร. กำพล กล่าวว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อเยาวชน ซึ่งจะต้องเข้าใจและหาวิธีการที่จะอยู่ให้ได้ในอนาคต แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ในวิกฤติโลกร้อนนี้ได้เพราะทำให้เราเบียดเบียนธรรมชาติน้อยลง ใช้ของเท่าที่จำเป็นและทำให้ลดการใช้พลังงาน

 

อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 0.8 องศาเซสเซียส

ผศ.ดร.กำพล กล่าวอีกว่า บางพื้นที่อาจจะอุณหภูมิสูงขึ้นไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วอุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น 0.8 องศาเซลเซียสและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุณหภูมิสูงขึ้นนี้มีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของพายุ ซึ่งเกิดขึ้นจากการถ่ายเทของสภาพความเย็นไปหาความร้อน ส่วนไหนร้อนก็จะไปหาเย็นแล้วก็นำเอาความชื่นจากทะเล เมื่อโลกร้อนขึ้น ความชื้นก็จะสูงขึ้น เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิ ภาวะการหมุนตัวของลมหรือพายุก็จะเกิดขึ้น หลายคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็เป็นธรรมชาติที่รุนแรงและก็อาจจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังธรรมชาตินั้น ๆ ตัวอย่างเช่น กรณีประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกิดพายุเฮอริเคนแคทรีนาเมื่อปี 2549และในปีนั้นเองสหรัฐอเมริกามีพายุมากถึงขั้นที่ใช้ตัวอักษร A-Z แล้วก็ยังไม่หมดซึ่งไม่เคยมีสมัยใดที่ต้องใช้อักษร Alfa Beta ในการตั้งชื่อพายุ นอกจากนี้ยังรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

 

ลมมรสุม - ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ผศ.ดร.กำพล กล่าวต่อไปว่าปลายเดือนทีผ่านมา มีฝนตกติดต่อกันถึง 20 วัน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ฤดูฝนเกิดจากการที่ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเปลี่ยนมาเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเห็นได้ว่าเมืองไทยร้อนมากในช่วงนั้น เป็นสัญญาณเตือนว่าฤดูกาลต่าง ๆ จะผิดเพี้ยนไป ภาวะที่เคยเป็นไปตามธรรมชาติจะมีความรุนแรงมากขึ้น ความแตกต่างระหว่างพื้นน้ำกับพื้นดินเริ่มเปลี่ยนแปลงไป แสดงว่าจากเดิมลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเอาความชื้นมาจากเบงกอลมีความเร็วมากขึ้นเพราะอุณหภูมิบ้านเราสูงขึ้น

 

หมีขั้วโลกลดลงและจมน้ำตาย

นอกจากนี้ ในปี 2549 มีรายงานว่าหมีขั้วโลกลดลงและจมน้ำตายมากมาย เกิดประเด็นคำถามว่าทำไมหมีขั้วโลกถึงจมน้ำตาย

 

หมีขั้วโลกเวลาที่หาอาหารต้องเดินไปบนน้ำแข็ง แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นน้ำแข็งมีการละลายตัวทำให้ไม่สามารถแบกรับน้ำหนักของหมีได้ จากการศึกษาพบว่าหมีขาวมีน้ำหนักลดลงเพราะหาอาหารไม่ได้ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนเพระไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ?

ในประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมากมายและยอมแลกเพื่อความเจริญ ทำให้เราเบียดเบียนธรรมชาติ กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การขนส่ง การส่งออก ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นก็เป็นผลทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก

 

ผศ.ดร.กำพลกล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มประเทศ G8 เป็นกลุ่มประเทศที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกเพราะมีการใช้น้ำมันอย่างมากมาย เพราะฉะนั้นกลุ่มประเทศ G8 คือกลุ่มที่ส่งออกคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนสูงที่สุดถึง 20 ตันต่อคนโดยเฉพาะอเมริกา

 

ผลกระทบ

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น มีรายงานการวิจัยจากอเมริการะบุว่า ผลจากการศึกษาพบว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ข้าวมีร่วงลีบลงในข้าวบางสายพันธุ์ พืชบางชนิดไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้พืชหายไปหรืออาจจะลดลง ความหลากหลายทางพันธุ์กรรมจะหายไปซึ่งมีผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์

 

ส่วนมนุษย์สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีโดยการเปลี่ยนแปลงระบบควบคุมทางสรีรวิทยาที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ให้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัว

 

"ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นไม่มาก เราเองก็สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิสูงขึ้นเราก็มีการขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกไป หรือบางครั้งก็เปิดแอร์ ซึ่งทำให้เราไม่ได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น" ผศ.ดร.กำพล กล่าว

 

นอกจากนี้ยังกล่าวต่อไปว่า แม้ว่ามนุษย์จะสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้แต่ก็มีขีดจำกัด ในบางประเทศมีคนตายจากคลื่นความร้อนเพราะปรับตัวไม่ทัน แต่ถ้าค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา 10-20 ปีเราก็อาจจะปรับตัวได้ ร่างกายจะมีการปรับตัวอาจจะมีต่อมเหงื่อที่รูใหญ่ขึ้นเพื่อระบายความร้อนระบายออกมากขึ้น ดื่มน้ำมากขึ้นไตอาจจะทำงานน้อยลงเพราะปัสสาวะน้อยลงเพื่อให้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้

 

"ถ้าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น วันนี้อุณหภูมิอาจจะ 30 เย็นสบาย แล้วพรุ่งนี้อุณหภูมิ 37 ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาทันทีทันใด ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เพราะว่าไม่สามารถปรับตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ภูมิต้านทานลดลง"

 

ปัญหารังสี UV

ผศ.ดร. กำพลอธิบายว่า รังสีอุลตราไวโอแลตนั้นมี 3 ชนิดคือ UV A, UV B และ UV C พบว่า ชนิด A นั้นไม่ดูดซับในชั้นโอโซน ชนิด B จะดูดซับได้บ้างถูกปล่อยได้บ้าง ชนิด C ดูดซับในชั้นโอโซนได้หมด

 

"ถามว่าในทั้ง 3 ชนิดนี้ ชนิดไหนมีพลังงานมากที่สุด ก็ต้องเป็นชนิด C ซึ่งส่งผลต่อร่างกายได้มาก แต่ชนิด B ส่งผลต่อร่างกายเรามากที่สุดเพราะ UV B จะดูดซับโดยผิวหนังและมีผลต่อชั้นผิวหนังชั้นกำพร้า ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดมะเร็งและเกิดฝ้าในผู้หญิง"

 

ผลกระทบที่เกิดจากUV B คือ โรคมะเร็งผิวหนัง โรคทางตา ต่อกระจก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง

 

ปัญหาโรคติดเชื้อ

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่มีปัญหามาจากภาวะโลกร้อน มีกลไกการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน สองกลไกคือ 1.เกิดการดัดแปลงนิเวศวิทยาของแมลงนำโรค 2.มีกลไกการดัดแปลงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในมนุษย์

 

โดยปกติแล้วแมลงนำโรคจะสามารถอยู่ได้ในภาวะที่เหมาะสม อัตราการฟักตัวขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในร่างกาย ไม่มีตัวปรับอุณหภูมิ เมื่ออยู่ในที่ร้อนก็จะปรับตัวให้อยู่กับที่ร้อน เมื่ออยู่ในที่เย็นก็จะปรับให้เข้ากับที่เย็นด้วย ดังนั้นแมลงที่อยู่ในที่เย็นก็จะอยู่ในที่ร้อนไม่ได้ ขณะเดียวกันแมลงที่อยู่ในที่ร้อนก็จะอยู่ในที่เย็นไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากคนที่ปรับอุณหภูมิในร่างกายที่ 37 ไม่ว่าจะอยู่ในที่ร้อนหรือเย็น

 

ผศ.ดร. กำพล กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าไวรัสหรือปรสิตที่อาศัยแมลงเป็นตัวนำจะมีวิวัฒนาการเร็วขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายของแมลงสูงขึ้น

 

ในเรื่องของกลไกการดัดแปลงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในมนุษย์ ผศ.ดร.กำพลกล่าวถึงโรคมาลาเรียว่า ในสมัยก่อนคนที่จะเป็นไข้มาลาเรียได้ต้องเข้าป่า  ปัจจุบันพบว่าคนที่ไม่เคยเข้าป่าก็ติดเชื้อมาลาเรียได้ซึ่งเกิดขึ้นจากที่ว่ายุงได้มีปัจจัยที่เหมาะแล้วกับในเมือง ความชื้นพอเหมาะกับอยู่ในป่า เพราะโลกมีความชื้นขึ้นและมีอุณหภูมิที่เอื้อได้

 

และจากการศึกษาวิจัยเรื่องอหิวาตกโรคว่า  พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง เป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้ออหิวาตกโรค แต่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรค หมายความว่าสายพันธุ์จะเกิดโรคได้ต้องติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า CTX ซึ่งอยู่ในสาหร่ายสีเขียวที่อยู่ในน้ำ ปัจจุบันนี้พบว่าอหิวาตกโรคไม่ได้เกิดในเฉพาะฤดูร้อนอย่างเดียวแต่เกิดขึ้นทั้งปี

 

ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลงคือประชากรของแมลงจะเพิ่มขึ้น การก่อเชื้อของแมลงจะเร็วขึ้น ตัวเชื้อโรคมีการกลายพันธุ์ เช่น เข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น คนมีโอกาสเสี่ยงที่เป็นโรคมากขึ้นและตายมากขึ้นจากโรคติดเชื้อ

อุณหภูมิสูงขึ้น ความชื้น ปริมาณฝนที่ฝนตกมาก น้ำท่วมขังเยอะทำให้ยุงชุม ลมมีความรุนแรงมากขึ้นสามารถพัดพาแมลงสัตว์ปีกไปได้ไกล ๆ พัดพาเอาเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับละอองดินไปตกยังพื้นที่ไกล ๆ เปลี่ยนทิศทางการเกิดโรคไปในที่ใหม่ ๆ ทำให้เชื้อระบาดได้เร็วและไปไกลขึ้น

 

อีกทั้งในปัจจุบันนี้โรคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นซาร์ ไข้หวัดนก โรคเอดส์ เป็นเพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นเปรียบเหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง โรคต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนยอดที่โผล่ขึ้นมา แต่ในส่วนฐานล่างนั้นยังมีโรคอะไรที่ไม่รู้อีกเยอะที่รอวันระเบิดออกมาอีกเยอะ

 

ส่วนโรคต่างๆที่จะมีผลต่อเนื่องจากการที่โลกร้อนอย่างแรกเลยคือ ไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นตัวนำ ปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีประชากรที่เสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกถึง 2,500 ล้านคน มีประชากรที่ติดเชื้อนี้ 50 ล้านคนต่อปี มาลาเรีย มีประชากรเสี่ยง 24,400 ล้านคน มีผู้ป่วย 300 - 500 ล้านคนต่อปี โรคเท้าช้าง มีประชากรเสี่ยง 1,094 ล้านคนมีประชากรป่วย 117 ล้านคน โรค Schistosomiasis ที่เกิดจากหอยมีความเสี่ยงของประชากร 600 ล้านคน ส่วนใหญ่ที่อยู่ในทวีปแอฟริกามีประชากรติด 200 ล้านคนต่อปี โรค Leishmaniasis ซึ่งมี แมลงSandfiles เป็นสื่อ พบในประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่ปีที่แล้วในประเทศไทยกลับมีรายงานพบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในเด็กทั้งที่ไม่เคยเดินทางไปประเทศตะวันออกกลาง เชื้อของโรคอาจจะเปลี่ยนที่อยู่อาศัย จึงมีความเสี่ยงของประชากร 350 ล้านคน ขณะนี้มีคนป่วย 12 ล้านคนต่อปี 

 

นอกจากนี้ยังมีโรคติดเชื้อไวรัสแดงกีซึ่งเป็นโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง โรคนี้มีทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการจะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสนี้มาก่อนและจะมีการตอบสนองอย่างรุนแรงซึ่งจะทำให้ภูมิต้านทานเกล็ดเลือดลดลง

 

ปัจจุบันนี้พบว่าไข้เลือดออกชนิดมีอาการและเกิดภาวะช็อก เมื่อก่อนเป็นในเด็กแต่ตอนนี้พบว่าผู้ใหญ่ก็มีโอกาสที่จะเป็นไข้เลือดออกชนิดนีได้เช่นกัน แสดงว่าวิวัฒนาการของโรคได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุว่ามาจากโรคร้อนหรือเปล่า

 

ผศ.ดร. กำพล ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้โดยขอให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาช่วยกันลดการใช้พลังงานและการกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาและนำความรู้ที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ไปบอกต่อ ๆ กันและรณรงค์เรื่องการใช้พลังงานเพื่อรักษาไว้ให้รุ่นต่อไปได้ใช้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท