คปส.และเครือข่ายวิพากษ์วาระสื่อของรัฐบาล ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ฟังชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่รับรัฐธรรมนูญ


ประชาไท - 25 .. 50 เวลา 11.00 . ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชน และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม แถลงข่าวร่วมกันในเรื่องรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพของประชาชน วิพากษ์การผลักดันวาระสื่อของรัฐบาลชั่วคราว ปฏิปักษ์หรือปฏิรูปต่อขบวนปฏิรูปสื่อเพื่อประชาชน โดยมีตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชนจากภาคต่างๆ ร่วมกันแถลงด้วย

 

นาย พรพิพัฒน์ วัดอักษร เครือข่ายเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคตะวันตก ยืนยันเรื่องการไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)เพราะคณะทำงานของรัฐบาลไม่เคยชี้แจงให้ประชาชนรับรู้ข้อดี ข้อเสียจากการยุบเป็นองค์กรเดียว และไม่มีส่วนในการตัดสินใจดังกล่าว อีกทั้งภาคประชาชนก็มีการต่อสู้ในเรื่ององค์กรอิสระที่ดูแลด้านสื่อ จนได้พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2543 กำหนดให้มี 2 องค์กร แต่จนบัดนี้กลับมีความพยายามทำให้เหลือองค์กรเดียว

 

โดยการกำหนดมีองค์กรเดียว อาจนำมาซึ่งการขาดการคานอำนาจ และำกิจการโทรคมนาคมวิทยุโทรทัศน์ ยังเป็นกิจการที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละกิจการ ซึ่งต้องการความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลที่ต่างกัน จึงควรกำหนดให้มีองค์กรอิสระตามประเภทของสื่อและลักษณะการประกอบกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

ในส่วนเรื่องทีวีสาธารณะนั้น นันทพร เตชะประเสริฐสกุล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เห็นว่าความพยายามทำให้ TITV เป็นทีวีบริการสาธารณะ แต่รูปแบบการจัดองค์กรจะทำให้เป็น ITV เหมือนเดิมกลับไปสู่ความไม่ชัดเจนและคลุมเคลืออีกครั้ง ว่าจะให้กลับเป็นทีวีเอกชนอีกครั้งหรือ นอกจากนั้นแล้วการทำ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ถ้าจะทำให้ทีวีสาธารณะเป็นประโยชน์กับทุกคน น่าจะสร้างการรับรู้ของประชาชนด้วย การับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนค่อนข้างจะน้อยมากในเรื่องนี้

 

ทางเครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอในเรื่องทีวีสาธารณะ คือการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนอย่างเพียงพอ รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ยืนยันได้ว่าข้อเสนอจากภาคประชาชนจะไม่สูญเปล่า และมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าภาคประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในสถานีทีวีสาธารณะที่ปรากฎเป็นรูปธรรมแล้วได้อย่างไร ซึ่งควรให้ประชาชนมีตัวแทน หรือเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการ ดำเนินการ หรือเป็นเจ้าของได้ด้วย

 

ด้าน ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ตัวแทนจากเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ (Free Thai Cinema Movement) ยกกรณีหนังเรื่องแสงศตวรรษเป็นตัวอย่างการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการับสื่อและข่าวสารของประชาชน ซึ่งไม่ได้ถูกแบน แต่ตัวผู้กำกับยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอสิ่งที่เขาคิด และตัดสินใจไม่นำหนังเข้าฉาย ซึ่งนอกจากความล้าหลังของพ.ร.บ.ภาพยนตร์ปี 2473 แล้ว ยังเป็นเรื่องทัศนคติของคน ไม่ว่าจะเป็นส่วนกฤษฎีกาที่ไม่ว่าร่างกฎหมายแบบใดส่งไปก็ตาม ก็อ้างว่าต้องควบคุมภาพยนตร์อย่างเคร่งครัด หรือคณะกรรมการเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นคนไม่กี่คน ที่ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นใครบ้าง มีสิทธิ์คิดแทนและมีอำนาจบอกว่าภาพนี้ เรื่องนี้ดูไม่ได้ เพราะอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี อีกทั้งก็ยืนยันไม่ได้ว่าเขาดูหนังทั้งเรื่องจริงๆ หรือเปล่า

 

"ถ้อยคำความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งปรากฎทั้งใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ปี 2473 และร่างรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 45 วรรค 2 เป็นคำที่กว้างมาก ซึ่งทำให้ผู้สร้างแทบไม่ได้มีโอกาสป้องกันตัวเอง เพราะทุกอย่างแทบจะถูกตีความไปได้ว่าขัดต่อความสงบและศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะในยุคการปกครองที่ทุกอย่างสามารถถูกอ้างว่าเป็นภัยต่อความสงบและขัดต่อศีลธรรมได้" ชลิดากล่าว

 

ส่วน ซี.เจ.ฮิงกิ (C.J. Hinke) จากกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) ให้ความเห็นต่อการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ในประเทศไทยว่ารัฐบาลที่ใช้การเซ็นเซอร์เป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมือง มันแปลว่าประเทศกำลังเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ใช่เพียงรัฐบาลคมช.นี้ แต่ในรัฐบาลทักษิณเองก็อ้างว่าต้องการบล็อคเว็บไซต์กว่า 800,000 แห่ง  แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสทำอย่างนั้น ด้านรัฐบาลปัจจุบันบล็อคเว็บไซด์ไปกว่า 45,000 เว็บ จาก 5,000-7,000 ล้านเว็บในเมืองไทย ซึ่ง ICTทำการบล็อคกันอย่างเงียบๆ  รายชื่อเว็บที่บล็อคก็เป็นความลับ บางเว็บก็ไม่มีการให้เหตุผลใดๆ ด้วย

 

ซี.เจ. กล่าวว่าพรบ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แม้จะมีการเอาโทษประหารชีวิตออกไป แต่โทษการจำคุกหรือโทษร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งเขาเห็นว่าประเทศอาจเป็นประเทศเดียวที่มีกฎหมายเรื่องนี้รุนแรงขนาดนี้ แม้แต่คนดูเว็บที่ถูกแบนก็ผิดกฎหมายด้วย  ซี.เจ.กล่าวต่อว่าการเซ็นเซอร์ในเมืองไทย ทำให้คนรุ่นต่อไปพิกลพิการในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และด้อยประสิทธิภาพในรับรู้และแสดงความคิดเห็น จึงเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องลุกขึ้นและต่อต้านการเซ็นเซอร์

 

จากนั้นเครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชนนำโดยนายไพศาล ภิโลคำ ตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ นายณตวรรษ อินทะวงษ์ จากภาคอีสาน และนายพรพิพัฒน์ วัดอักษร จากภาคตะวันตก ได้ร่วมกันเสนอข้อเรียกร้องต่อการร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องสื่อมวลชน เช่น การแก้ไขในมาตรา 45 โดยขยายคำว่าสื่อมวลชนอื่น โดยระบุชัดเจนว่าหมายถึงสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือกและสื่อภาคประชาชน ต้องได้รับการคุ้มครอง มาตรา 46 เพิ่มเรื่องการต้องมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ และให้เจ้าของกิจการสื่อและรัฐต้องสนับสนุนการรวมตัวกัน หรือการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และมาตรา 47 เสนอให้มีองค์กรอิสระไม่น้อยกว่า 2 องค์กรและองค์กรภาคประชาชน ร่วมกันทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งรัฐต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นเจ้าของ การบริหารจัดการ ดำเนินงานสื่อมวลชนสาธารณะ

 

แต่เครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชนก็ยืนยันว่าถ้าการจัดร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่รับความคิดเห็นและหลักการของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่รับรัฐธรรมนูญเหมือนกัน

 

จากนั้นนายสุเทพ วิไลเลิศ ผู้ประสานงานคปส.แถลงสรุปในตอนท้ายว่า "สิทธิเสรีภาพของประชาชนหลัง 19 .. ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะในด้านสื่อ การถูกเซ็นเซอร์ ถูกควบคุมสื่อภาคประชาชน มันก่อให้เกิดความกลัว และหวั่นเกรงต่ออำนาจรัฐที่ปกคลุมความเข้าใจของประชาชนไปทั้งหมด นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างถึงที่สุด ทั้งการผลักดันวาระสื่อของรัฐบาลนั้น สิ่งที่ควรทำ ไม่ทำ แต่สิ่งที่ทำกลับไม่ควร ข้อเสนอทั้งหมดคือให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในทุกประเด็น และสิ่งที่ควรทำในเรื่องสื่อคือการคุ้มครองไม่ใช่การควบคุม"

เอกสารประกอบ

ข้อเสนอเครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท