Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 23 พ.ค. 50 เวทีประชาธิปไตยประชาชน (วปช.) จัดประชุมภาคประชาชนเปิดประเด็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับส.ส.ร. และสอบถามความเห็นเบื้องต้นต่อกรณีจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


บุคคลที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ มาจากองค์กรต่างๆ อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายเด็กและผู้ปกครอง มูลนิธิเพิร์ล เอส บัค, มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, เครือข่ายสุขภาพและการพัฒนา (HDN), มูลนิธิหนังไทย, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ รวมถึงประชาชนทั่วไป รวมผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน และมีนายสวิง ตันอุด ส.ส.ร. เข้าร่วมรับฟังประเด็น


 


จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ประสานงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน เป็นผู้ดำเนินการประชุมครั้งนี้ เริ่มเปิดประเด็นให้ร่วมกันวิจารณ์รัฐธรรมนูญภาคสมาชิกสภาร่างฯ


 


รัฐธรรมนูญฉบับไม่ไว้วางใจประชาชน


ใจ  อึ๊งภากรณ์ สมาชิกพรรคแนวร่วมภาคประชาชนกล่าววิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญของคมช.ร่างขึ้นภายใต้ปรัชญาที่มองว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะ จึงต้องให้กลุ่มอภิสิทธิ์ดูแลสังคม เช่น มีมาตรา 86 ที่ระบุเอาไว้ว่าต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องน่าตลก เพราะจริงๆ น่าจะเอาคมช.มาอบรมประชาธิปไตยมากกว่า


 


นายใจกล่าวว่า สิ่งนี้เห็นชัดในสามประเด็นของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 คือ มีการ


ลดพื้นที่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง, การเพิ่มอำนาจให้กลุ่มทุน และการเพิ่มอำนาจให้ทหาร ศาล และข้าราชการ


 


โดยประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหา ประการแรก คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดพื้นที่ประชาธิปไตยและตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ในมาตรา 107 ที่ยกเลิกการเลือกตั้งส.ว. ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้


 


"เราจะเห็นได้ว่า ที่มีการเลือกตั้งส.ว. สองครั้งในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้มีตัวแทนส.ว.เข้ามา ก็เป็นเรื่องที่พวกเขารับไม่ได้"


 


ส่วนเรื่องศาล ก็มีการเพิ่มอำนาจให้ศาลหรือตุลาการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสร้างระบบพรรคพวกชนชั้นนำแต่งตั้งกันเองคือ ฝ่ายศาลและองค์กรที่อ้างว่า "อิสระ" แต่งตั้งส.ว. และส.ว. กับอภิสิทธิ์ชนแต่งตั้งองค์กร "อิสระ" วนเวียนกันในวัฏจักรน้ำเน่าของคนชั้นสูง


 


ในมาตรา 4 ที่ว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ทั้งที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้ ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ ย่อมได้รับความคุ้มครอง" นั้น มีการใช้คำว่า "ประเพณีการปกครองแบบไทยๆ" ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นประเพณีการปกครองที่คัดค้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม


 


ในเรื่องของ "กรรมการวิกฤติ" ในมาตรา 167 แสดงถึงความไม่ไว้ใจประชาชน และมองว่าการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนไม่ใช่คำตอบ ทั้งที่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผู้เสนอให้เพิ่มทหารเข้าไปในกรรมการนี้อีกด้วย


 


นอกจากนี้ ยังกีดกันคนส่วนใหญ่จากการบริหารประเทศ (รัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา) แม้จะยกเลิกการกำหนดวุฒิปริญญาตรีของส.ส. แต่ก็มีข้อจำก้ดอื่นๆ อยู่ เช่น ข้อจำกัดเรื่องอายุและวุฒิการศึกษา และกีดกันบทบาทพรรคการเมืองที่ต้องสมัครรับเลือกตั้ง


 


ขณะที่มีมาตรการที่กีดกันคนส่วนใหญ่จากการบริหารประเทศ แต่มีเรื่องอื่น เช่น การเพิ่มบทบาทของทหารในสองแง่ คือ มาตรา 76 ที่ระบุชัดว่ารัฐต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อซื้ออุปกรณ์ทันสมัย และในมาตรา 299 ที่ให้ความชอบธรรมกับการรัฐประการ 19 กันยา แม้คมช.อ้างว่าไม่ใช่ แต่มาตรานี้ก็ให้ความชอบธรรมโดยรวม ดังนั้น มันจึงสร้างมาตรฐานเผด็จการในสังคมขึ้นมา


 


 


ประการที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพิ่มอำนาจให้กลุ่มทุน เช่น ในมาตรา 82 และ 83 ในหมวดที่เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจนั้น ได้พ่วงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและระบบตลาดเสรีอย่างชัดเจน ส่งเสริมให้ลดบทบาทรัฐในการควบคุมกลุ่มทุน ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และบังคับให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณที่ใช้สร้างสวัสดิการให้คนจนผ่านประโยคเรื่อง "การรักษาวินัยทางการคลัง"


 


ใจกล่าวว่า จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรระบุว่า ประเทศจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบไหน แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ใช้ประโยคที่ว่า "ต้องรักษาวินัยทางการคลัง" ซึ่งเป็นแนวเสรีนิยม ประโยคดังกล่าวปรากฏขึ้น 3 ครั้ง และยังเชิดชูเรื่องกลไกตลาด แต่ขณะเดียวกันก็น่าสังเกตว่า ในมาตรา 76 ไม่มีประโยคนี้ ฉะนั้น การเพิ่มงบทหารนั้น ไม่ต้องมีวินัยทางการคลัง


 


ไม่มีมาตรการที่ประชาชนจะลงประชามติเห็นชอบหรือคัดค้านในการทำรายละเอียดข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น เรื่อง FTA ที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้รายละเอียดก่อนเซ็น


 


ไม่มีการเพิ่มอำนาจต่อรองให้คนที่ทำงานในสถานประกอบการ เช่น สหภาพแรงงาน แต่ให้อำนาจกับกลุ่มทุนมากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงคือ ไม่มีส่วนใดในรัฐธรรมนูญนี้ที่ภาคประชาชนเรียกร้อง เช่น รัฐสวัสดิการ ภาษีก้าวหน้า การแก้ปัญหาภาคใต้ แต่กลับพูดกันเรื่องจะให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ


 


 


ประชาชนที่หายไปในรัฐธรรมนูญ


ภารนี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองกล่าวว่า ประเด็นที่ไม่เห็นด้วยในรัฐธรรมนูญ เช่น ใน มาตรา 42 ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ให้อำนาจรัฐเวนคืนทรัพย์สิน โดยอ้างว่าจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่กลไกนี้ก็ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และแม้ว่าเมื่อมีการอ้างเรื่องนี้ จะมีข้อแย้งกลับว่าประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนได้บรรจุอยู่ในมาตราอื่นๆ แล้ว แต่อย่างไรก็ดี การมีส่วนร่วมนั้นต้องมีตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ


 


นอกจากนี้ ในมาตรา 44 ว่าด้วยนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ดูเหมือนจะเขียนไว้ดี แต่การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ที่ดิน ไม่ควรมาจากภาครัฐ แต่ต้องมาจากประชาชน


 


ในมาตรา 74 ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น กำหนดให้รัฐมนตรีรายงานต่อสภาแค่ปีละครั้ง เห็นว่ารัฐมนตรีจะต้องแถลงการทำงานและการใช้จ่ายงบประมาณเป็นรายบุคคล รายปี


 


ภารนียังกล่าวสนับสนุนประเด็นข้อท้วงติงในมาตรา 186 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาข้อตกลงใดๆ ต้องผ่านกลไกรัฐสภา


 


อีกประเด็นหนึ่งที่ภารนีย้ำคือ กระบวนการสรรหาให้ได้มาซึ่งองค์กรอิสระนั้น ดูจากองค์ประกอบของกรรมการสรรหาแล้ว ไม่มีความยึดโยงกับประชาชนในด้านใดๆ เลย


 


 


ประเด็นเจ้าปัญหา มาตรา 186


จักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) และกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ กล่าวถึงประเด็นปัญหาในมาตรา 186 ว่าด้วยพันธกรณีระหว่างประเทศนั้น ปัญหาที่มีแต่เดิมคือ กระบวนการทำความตกลงไม่ได้มีการมีส่วนร่วมจากประชาชน และบทบาทของรัฐสภาถูกตัดออกไป เสนอว่า รัฐสภาน่าจะเข้ามามีบทบาทว่า ความตกลงชนิดใดบ้างที่รัฐสภาต้องเห็นชอบ เช่น ความตกลงที่ผูกพันการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นความตกลงที่จะมาจำกัดกรอบนโยบายในอนาคต นอกจากนี้ การเห็นก่อนจะลงนามทำข้อตกลง จะทำให้ไม่กระทบกระเทือนการเจรจา ก่อนจะไปแสดงเจตนาผูกพัน


 


จักรชัยกล่าวว่า แต่มีเนื้อหาในบทเฉพาะการที่น่าเป็นห่วงคือ มาตรา 295 วรรค 4 กำหนดว่ามิให้นำวรรค 3 ของ 186 ไปใช้ในการดำเนินการหรือข้อตกลงที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ จะมีผลทำให้มาตรา 186 ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เพราะเวลานี้ประเทศไทยได้เจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศไปเกือบครบแล้ว และถ้าไม่แก้ไขวรรคนี้ มีปัญหาแน่นอน


 


จักรชัยกล่าวต่อ ว่าคำอ้างที่ว่าต้องใส่บทเฉพาะกาลนี้ไว้ เพราะหากไม่ใส่จะทำให้การเจรจาที่ผ่านมาต้องไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นใหม่ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียเครดิต แต่ถ้าดูให้ดี การแก้ไขทำได้สองอย่าง คือ หนึ่ง ความตกลงหลายอย่างก็ไม่เสียหายที่จะเริ่มใหม่ ความตกลงไหนมีปัญหา ก็ให้ผู้เจรจาชี้แจงต่อรัฐสภา


ผู้ร่างฯ ไม่ควรให้ความกังวลจนเกินเหตุ


 


นอกจากนี้ ในมาตราที่ข้องเกี่ยวกัน เช่น มาตรา 56 และ 66 ที่ว่าประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนตัดสินใจ มาตรานั้นพูดเรื่องการทำโครงการของรัฐ แต่ไม่ได้พูดเรื่องความตกลงระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี บางโครงการเป็นผลมาจากความตกลงระหว่างประเทศ หากไม่ให้สิทธิกับประชาชนก็จะเกิดช่องโหว่ขึ้นมา


 


เขาวิจารณ์รัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ในมาตรา 83 ที่ให้รัฐสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีนั้น เขาเห็นต่าง แต่มิใช่แย้งเพราะเห็นว่าเศรษฐกิจเสรีนิยมนั้นไม่ดี แต่ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดว่า ประเทศจะต้องใช้ระบบใดระบบหนึ่งไปสู่เป้าหมาย


 


ในเรื่องพันธกรณีระหว่างประเทศนั้น เขียนลงไปชัดว่าต้องส่งเสริมเรื่องการค้ากับการลงทุนระหว่างประเทศ เขาเห็นว่าหากเขียนแบบไม่มีหางเสือแบบนี้ ไม่เขียนจะดีกว่า เพราะไม่มีความจำเป็นต้องกำหนด


เช่นนั้น ถ้าจะเขียน น่าจะเขียนเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม


 


 


ความเท่าเทียมกันของมนุษย์


ด้านเฉลิมชัย เผื่อนบัวผัน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย กล่าวย้ำในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิของประชาชนว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีการพูดเรื่องระบบสาธารณสุข แต่ระบุว่ารัฐต้องให้การช่วยเหลือเรื่องการเข้ารับบริการทางสาธารณสุขแก่ผู้ยากไร้ ซึ่งนับได้ว่า การระบุย้ำถึง "ผู้ยากไร้" นั้น เป็นความล้าหลัง เพราะทุกคนมีสิทธิในการรักษาที่เท่าเทียมกัน จึงเสนอให้ตัดคำว่า ผู้ยากไร้ออก และในเหตุผลเดียวกันนี้ ต้องไปแก้ไขในอีกหลายเรื่อง เช่น สิทธิทางการศึกษา


 


นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิฟรีดริค เอแบรท ซึ่งจับประเด็นการเคลื่อนไหวและความเข้มแข็งของกลุ่มแรงงานนั้น มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาที่ตั้งโจทย์ไม่ชัดเจน ดูเหมือนยกร่างเพื่อไม่ให้ระบอบทักษิณกลับคืนมา สิ่งที่ประชาชนเสนอไปไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งก็สะท้อนว่ากรรมาธิการยกร่างไม่วางใจประชาชน ด้วยกลัวทักษิณจะกลับมาเท่านั้น


 


นายศักดินากล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ไว้ใจประชาชนนี้ ไปเชื่อมั่นในคนที่มีฐานะสูง อยู่ภายใต้อิทธิพลของตุลาการภิวัฒน์มาก มอบอานาจให้มากมายไปหมด และสุดท้าย เขามองว่าร่างรัฐธรรมนูญ เขียนขึ้นอย่างความเกรงใจคมช. เห็นตัวอย่างได้ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 299


 


"ทั้งหมดนี้คือการตั้งโจทย์ที่ผิด ซึ่งทำให้แก้ปัญหาไม่ได้" ศักดินากล่าว


 


เขาเห็นว่า ปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังไม่แก้ปัญหา ส่วนปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมนั้น ข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการ ก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


ศักดินากล่าวต่อ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เพิ่มอำนาจของประชาชนอย่างเพียงพอ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐ ไม่มีอำนาจใดๆ ในการกำกับนโยบายของรัฐ


 


 


รธน. 50 ระบอบการปกครองฉบับถอยหลังเข้าคลอง


จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ประสานงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ดูเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็รู้สึกไม่ได้มีอะไรดีขึ้นแต่ก็ไม่ได้เลวลง แต่พอมาดูเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้น เนื้อหารัฐธรรมนูญมันยาวขึ้นจากเดิมหลายเท่า ก็พยายามดูเนื้อหาที่ยาวขึ้นว่ามันช่วยอย่างไร แต่มันก็มีแต่น้ำไปเสียทั้งหมด


 


จอนกล่าวว่า สิ่งที่ผิดหวังจริงๆ คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดเรื่องรัฐสวัสดิการ เช่น เรื่องการศึกษาฟรีที่ภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดบริการการศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี นอกจากนั้น อยากเห็นเรื่องการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง แต่ในฉบับนี้ เรื่องที่อยู่อาศัยเติมแค่เรื่องการจัดที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ไร้ที่อยู่ ซึ่งการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ต้องแก้ทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เฉพาะกรณีผู้ไร้บ้าน ส่วนเรื่องผู้สูงอายุที่ต้องมีบำนาญที่พอเพียง ก็ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


ไม่เพียงเท่านั้น สิทธิของผู้ไร้สัญชาติไม่ได้รับการรองรับ ยังใช้ชื่อหัวหมวดว่า สิทธิเสรีภาพของ "ชนชาวไทย" โดยไม่มีการยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของทุกคน แสดงว่าการละเมิดสิทธิ์ของผู้ไร้สัญชาติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มันก็เป็นเรื่องร้าย


 


จอนกล่าวต่อ ว่าเรื่องสิทธิทางเพศและเพศสภาพ ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540


 


ในประเด็นเรื่องระบบการปกครองนั้น เขากล่าวว่า "เป็นเรื่องถอยหลังอย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเต็มไปด้วยกลุ่มอรหันต์ ทั้งกลุ่มที่จะเข้ามาแก้วิกฤต และกลุ่มที่จะเข้ามาสรรหาส.ว. มันคล้ายๆ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม"


 


เขากล่าวว่า เรื่องการสรรหาส.ว. ดูเหมือนจะลงเอยเป็นระบบกึ่งสรรหา คือ สรรหาก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง ซึ่งวงจรอุบาทว์ที่อ.ใจได้พูดถึงนั้น เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุด เอื้ออำนวยประโยชน์แก่คนส่วนน้อย เป็นเรื่องเกาหลังซึ่งกันและกัน พวกฝ่ายตุลาการก็จะช่วยส.ว. ส.ว.ก็จะช่วยเลือกคนไปองค์กรอิสระ ภาคประชาชนแทบจะไม่มีโอกาสเข้าไปอยู่ องค์กรอิสระจะกลายเป็นสโมสรของข้าราชการใกล้เกษียณ ไม่มีความหลากหลายของกรรมการสรรหา และถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการมาก่อน โอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการสรรหา หรือองค์กรอิสระ แทบจะเป็นไปไม่ได้


 


"ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต้องมีองค์ประกอบจากภาคประชาชนเข้าไปร่วมในการสรรหา และเปิดให้เข้าไปร่วมในองค์กรอิสระ ปัญหาเรื่ององค์กรแก้วิกฤตต้องตัดทิ้งไป" นายจอนกล่าว


 


 


เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


ชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย กล่าวในเรื่องสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญจะระบุว่าบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการแก้ไขกฎหมายลูกที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เช่นทุกวันนี้ คนในวงการภาพยนตร์ก็ยังเจอข้อจำกัดในเสรีภาพจากพ.ร.บ. ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 ที่ผ่านมา แม้รัฐธรรมนูญจะพูดเรื่องเสรีภาพในการพูด อ่าน เขียน แต่ก็ไม่เคยถูกนำมาใช้


 


สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับกำลังร่างนี้ น่าเป็นห่วงในมาตรา 45 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในวรรค 2 ก็ยังมีกรอบข้อจำกัดที่ต้องตีความอย่างกว้างขวางว่า การแสดงความเห็นนั้นต้องไม่ขัดต่อ "ความสงบเรียบร้อย" หรือ "ศีลธรรมอันดีของประชาชน"


 


ด้านพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา อดีตกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า รับไม่ได้เรื่องให้ส.ว.มาจากการสรรหา และเห็นว่า เรื่องการกำหนดจำนวนส.ส. ไม่ควรกำหนดตายตัว แต่น่าจะกำหนดตามจำนวนของประชาชน เพื่อให้ได้ตัวแทนของประชาชนทุกคน เพราะการกำหนดตายตัว อาจทำให้บางจังหวัดไม่สามารถมีตัวแทนได้


 


ในเรื่องการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ประชาชนทุกคนอาจจะมีความถนัดไม่เหมือนกัน จึงน่าจะส่งเสริมการศึกษา ที่นอกเหนือจากการศึกษาสายสามัญด้วย นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีสภาเกษตรกร และมีระบบประกันสังคมให้แก่คนที่มีอาชีพอิสระ


 


ในมาตรา 86 วรรค 6 นั้น ไม่ควรกำหนดว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เพราะก็มีประชาชนที่ไม่สนใจเรื่องการเมือง เมื่อถึงเวลาต้องเลือกตั้ง ก็จะถูกชักจูงทำให้เกิดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ง่าย


 


พ.ญ.เชิดชูกล่าวว่า ในเรื่องการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนสองหมื่นคน ให้มีสิทํธิผลักดันกฎหมายพระราชบัญญัติได้นั้น น่าจะเป็นเรื่องลำบาก ควรกำหนดจำนวนไว้ที่หนึ่งหมื่นคน และน่าจะให้สภาวิชาชีพต่างๆ สามารถตราพระราชบัญญัติได้ด้วย


 


รับไม่รับ รัฐธรรมนูญ 2550


จากนั้น ที่ประชุมได้สอบถามมติรายบุคคลว่า คาดการณ์ว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผลอะไร ความเห็นส่วนใหญ่ในที่ประชุมมองว่า การจะรับหรือไม่รับ ขึ้นกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ แต่โดยภาพรวมเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ


 


เฉลิมชัย เผื่อบัวผัน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าข้อเสนอในหลายประเด็นสำคัญยังไม่ถูกปรับเปลี่ยน คิดว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่จะรับ เพราะมีการทำการตลาดผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ เช่น โฆษณาที่บอกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มสิทธิ ฉะนั้น เชื่อว่าโอกาสที่เราจะไปค้านคงยาก


 


บางความเห็นเห็นว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน เช่น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า จุดยืนและท่าทีของคปส. คือไม่รับรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ทั้งเพราะรัฐบาลนี้มีวาระไม่ปกติ และเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ก็ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


ความเห็นอื่นๆ ที่มีต่อการจะรับหรือไม่รับร่างนี้ เช่น นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า คิดว่าจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้ามีการบอกว่าจะแก้ไขในหลายๆ เรื่อง บางอันก็เห็นว่าคืบหน้าไป แต่หลายอันต้องสู้กัน อันที่รับไมได้จริงๆ ก็ต้องสู้ เช่น แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ แนวนโยบายด้านการบริหารราชขการแผ่นดิน มาตรา 67 (7) น่าจะตัดทิ้งไปเลย


 


ด้านจักรชัย โฉมทองดี กล่าวว่า ผมสนใจน้อยหน่อยว่าใครครองเมืองอยู่ แต่มีความรู้สึกว่าถ้ากฎเกณฑ์ กติกามันมาบังคับใช้ ก็จะสู้ตายให้มันออกมาเท่าที่จะใช้ได้ ถ้ารัฐธรรมนูญรับแล้วก็ต้องตามคว่ำมันหลังมันออกมาบังคับใช้ แต่ตอนนี้ก็สู้ให้มันออกมาแบบหนึ่ง แต่ผมไม่เคยเชื่อว่า ทหารจะทำได้ดีกว่านักเลือกตั้ง นักเลือกตั้งก็ทำเพื่อสนองในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net