Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 พ.ค.50 ตามที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นจดหมายถึงนายก และเข้าพบเลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในวันนี้ (22 พ.ค.) เพื่อขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับแก้ไขที่เอาเรื่ององค์การอิสระผู้บริโภคเข้าไปไว้ในหมวด 3/1 และ สคบ.ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วนั้น มีแกนนำเครือข่ายเข้าร่วมประมาณ 50 คน จากจังหวัดต่าง ๆ เช่น ลำปาง สมุทรสงคราม กาญจนบุรี และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วม ผลการเจรจากับเลขาฯ สอบ. ได้ข้อสรุปว่า สคบ. ยืนยันเดินหน้าเสนอให้ ครม. พิจารณาซึ่งจะเข้าที่ประชุม ครม. ในวันอังคารหน้า (29 พ.ค.) โดยอ้างว่าด้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนหมดแล้ว และไม่มีอำนาจในการแก้ไขสาระให้ร่างพ.ร.บ. เพราะรัฐมนตรีที่ดูแล สคบ. ยืนยันร่างนั้นแล้ว


อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายผู้บริโภคยืนยันเช่นกันว่าจะคัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากนี้ยังกำหนดจะจัดสัมมนา "ชำแหละร่าง พรบ.ของ สคบ.ที่เข้า ครม." ที่อาคารรัฐสภา (ตรงข้ามเขาดิน) ในบ่ายวันจันทร์ที่ 28 พ.ค. หลังจากนั้นวันที่ 29 พ.ค. จะมีการนัดรวมพลคัดค้านเรื่องดังกล่าวบริเวณหน้าทำเนียบด้วย


 






 


จดหมายถึงนายกฯ หยุดร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค


 


 


๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐


 


เรื่อง      ขอให้หยุดการพิจารณา(ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค ปี ... ที่ขัดรัฐธรรมนูญ


เรียน      ฯ พณ ฯ นายกรัฐมนตรี


สิ่งที่ส่งมาด้วย      จดหมายถึง ฯ พณ ฯ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๐


 


ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ พ.ศ. .... โดยเฉพาะหมวด ๓/๑ เรื่องคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นเพียงคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภคภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฉบับนี้ ทั้ง ๆ ที่หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาทนายความ นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนให้มีองค์การอิสระผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการซึ่งมีทั้งทุน การเมืองที่เกี่ยวข้องกับทุน ระบบราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยได้รับการผลักดันมามากกว่า ๑๐ ปีจากองค์กรผู้บริโภค นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕๗ หรือมาตรา ๖๐ ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการจัดทำ


หากวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของ(ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ พ.ศ. .... ที่เสนอให้ครม.พิจารณามีหลายประการ ได้แก่


๑.      ขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน เพราะมาตรา ๖๐ ได้ระบุให้มีองค์การอิสระผู้บริโภค และต้องดำเนินการออกกฎหมายเป็นการเฉพาะภายใน ๑ ปี


๒.      ไม่มีหลักประกันเรื่องความเป็นอิสระ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้กำหนด ผู้แทนผู้บริโภค ผ่านกฎกระทรวงของตนเอง ที่ว่าด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือก คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการองค์การอิสระ


๓.      ไม่ได้มีองค์การอิสระผู้บริโภคเกิดขึ้นจริง เป็นเพียงคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ให้ความเห็น ไม่ใช่องค์กรของผู้บริโภคที่จะเข้าพิทักษ์สิทธิของกลุ่มตนเอง


๔.     คณะกรรมการไม่สามารถสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคและกลุ่มผู้บริโภคได้จริงเนื่องจากทำงานตามวาระที่สคบ.กำหนด ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุด คือการให้ผู้บริโภคคุ้มครองตนเอง


๕.     การอยู่ภายใต้สคบ.ทำให้คณะกรรมการไม่สามารถติดตามและการตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ เช่น สคบ.ได้


๖.      ขัดกับมติสหประชาชาติ ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ที่รัฐจะต้องสนับสนุนและพัฒนาให้มีกลุ่มผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ


 


เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ อาทิเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค ๔๒ จังหวัด และเครือข่ายผู้บริโภค ทั้งจากเครือข่ายผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์ เครือข่ายคนคอนโด เครือข่ายผู้เดือดร้อนเรื่องมาตรฐานสินค้า เช่น รถยนต์ กลุ่มพิทักษ์ธรรม ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขอเรียกร้องให้ ฯพณ ฯ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการถอนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีข้อจำกัดและจุดอ่อนมากมาย ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะการถอนหมวด ๓/๑ เรื่องคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออกไป หากสคบ. จะยังยืนยันแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จะต้องมีกระบวนการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งสนับสนุนและรีบเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์การอิสระผู้บริโภค ที่เป็นหน่วยงานอิสระอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภคภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคตามที่สคบ.เสนอ แต่ควรเป็นองค์กรอิสระตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการเสนอให้ ฯพณฯ พิจารณา เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคที่สมบูรณ์ สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคข้างต้นหวังว่า ท่านในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะผลักดันให้เกิดองค์การอิสระผู้บริโภคที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง รวมทั้งเร่งปฏิรูปหน่วยงานและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็ว และขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้


 


ขอแสดงความนับถือ


 


 







(นางสาวสารี อ๋องสมหวัง)


กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


(นางสาวสายรุ้ง  ทองปลอน)


ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค


 


 










(นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา)


ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์


 


 


(นางสมศรี  วิจิตรทองเรือง)


ผู้ประสานงานเครือข่ายฅนคอนโด


 


(นางสาวบุญยืน ศิริธรรม)


ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก


 


นายสาคร กระจาย


ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคเหนือ



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net