เสวนาว่าด้วยชื่อ "สยาม" : เมื่อไผทไม่ใช่ของไทยทุกส่วน หากเป็นของผู้คนหลากหลาย

เรียบเรียงโดย   ณภัค เสรีรักษ์


 

 

เก็บความจากงานเสวนา "สยามหรือไทย : นามนั้นสำคัญมากหรือ?" ในงาน "ไท-ไทย-สยาม กับปัญหาอัตลักษณ์ของผู้คนและประเทศชาติ"  ที่ห้องประชุมตึกอเนกประสงค์ ชั้น 4 มธ. ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2550

 

จัดโดย โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), สถาบันไทยคดีศึกษา มธ. และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยวิทยากร

 

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล มหาวิทยาลัยมหิดล, อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณะศิลปศาสตร์ มธ. และ รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มธ. เป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนา

 

 

000

 

ความคิดแบบ "ขาว-ดำ" ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม ได้ทำอันตรายต่อ "อัตลักษณ์" ของผู้คนอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าจะลดลง เมื่อคนจำนวนไม่น้อยที่ "แตกต่าง" ถูกเบียดขับ กีดกัน และกดทับ "อัตลักษณ์" จาก "เรา"

 

"ความแตกต่าง" ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นอย่างชัดเจนในระยะเวลาไม่ถึง 68 ปี ภายใต้ความคิด "เชื้อชาตินิยม-ล้าหลัง-คลั่งชาติ" ของเหล่า "อำมาตยาธิปไตยชาตินิยม" โดยเส้นแบ่งที่ชื่อว่า "ความเป็นไทย"

 

"ความเป็นไทย" ที่ก่อให้เกิด "เรา" และ "เขา" อย่างชัดเจนนั้นได้ฝังรากลึกผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ว่าจะเป็น หนังสือประวัติศาสตร์, โทรทัศน์, วิทยุ, หนังสือพิมพ์, ภาพยนตร์ ฯลฯ

จนกลายเป็น "ความจริง" "ความดี" และ "ความงาม" ที่คนจำนวนไม่น้อยเชื่อถือและยึดมั่น จนลืมไปแล้วว่า "ประเทศนี้รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อต่างๆ มากมาย" และ "ไผทไม่ใช่ของไทยทุกส่วน หากแต่เป็นของผู้คนอันแตกต่างหลากหลาย"

 

เมื่อ "อัตลักษณ์" ถูกสร้างขึ้นโดยยึดโยงกับ "ชื่อเรียก" ไม่ว่าจะเป็น ชื่อของ "ดินแดน" หรือ "ชาติพันธุ์" การเปลี่ยนชื่อเรียกอาจเป็นจุดเริ่มต้นหรือวิธีการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงรากฐานทางความคิดเกี่ยวกับ "อัตลักษณ์" ทำให้อัตลักษณ์ใดๆ สามารถถูกตีความได้อย่างกว้างขึ้นและเปิดพื้นที่ในการยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย

 

แต่การเปลี่ยนชื่อเรียกจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนในสังคมได้หรือไม่คงต้องเป็นเรื่องที่ขบคิดกันอย่างเข้มข้นต่อไป

 

000

 

 

 

 

 

"สยาม กับ siam เป็นอดีตของเรา, สยาม กับ siam ก็เป็นอนาคตของเรา"

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

 

ประเทศ "สยาม" รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อต่างๆมากมาย

ดร.ชาญวิทย์ อธิบายคำว่า "สยาม" จากหนังสือของ จิตร ภูมิศักดิ์ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ซึ่งบอกว่า "สยาม" เป็นคำโบราณมากในภาษาไทย-ลาว ที่ออกเสียงว่า "ซำ" หรือ "ซัม" แปลว่า ดินแดนที่มีน้ำเป็นแหล่งทำมาหากิน ซึ่งคำนี้คนชาติพันธุ์ต่างๆ เรียกต่างๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็น มอญ ออกว่า "เซ็ม", เขมร ออกว่า "เสียม", พม่า ออกว่า "ฉาน", จีนและเวียตนาม ออกว่า "เสียน", มลายู ออกว่า "เสียม" ฯลฯ

 

คำนี้ซึ่งออกเสียงว่า "สยาม" แปลว่า "ดินแดน" ซึ่งเป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อย่างหลากหลายชนชาติและภาษา ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติทั้ง ลาว, มอญ, เขมร, แต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน, มลายู, กุย, จาม, ชวา, มอแกน, เปอร์เซีย, ภู่ไท, ยอง, กะเหรี่ยง, มูเซอ ฯลฯ ประเทศนี้จึงไม่ได้รวมแต่เชื้อชาติไทยเท่านั้น แต่เมื่อไปดูในหนังสือราชการไทยแล้วจะพบว่าเป็น "ไทย" หมด ซึ่งต่างจากประเทศเวียดนามที่หนังสือราชการบอกไว้ว่า ในเวียดนามมี 53 ชนชาติ และบรรยายอย่างละเอียด

 

เข้าใจ "อัตลักษณ์" ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

"อัตลักษณ์" ของ "ผู้คน" ต้องแบ่งออกจาก "นาม" ของบ้านเมืองของประเทศ เพราะเป็นคนละส่วนกัน นอกจากนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าในประเทศสยามมีผู้คนที่หลากหลายมากซึ่งอยู่ร่วมกันได้ จะทำให้ทำความเข้าใจกับอะไรได้อีกมาก

 

"คนที่สามจังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็น "มลายู" ไม่ใช่ "ไทยมุสลิม" นี่เป็นความพยายามที่จะลดและละลายอัตลักษณ์ แล้วเขาก็ไม่ได้พูด "ยาวี" แต่ เขียน "ยาวี" เพราะ "ยาวี" เป็นภาษาเขียน ถ้าเราสับสนก็จะเป็นการเข้าไปยุ่มย่ามและทำอันตรายต่ออัตลักษณ์ของผู้คน"

 

 

 

 

"ความเป็นไทยตอนนั้น (พ.ศ.2482) เขาต้องการที่จะหลอมคนทั้งหมดให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียว แต่ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่เกิดความหลากหลาย ความเป็นหนึ่งนั้นแก้ปัญหาไม่ได้ และไม่ได้สนองตอบการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้"

 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

 

"สยาม" กลายเป็น "ไทย"

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อ "สยาม" เป็น "ไทย" เพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับปีกขวาของคณะราษฎร และจำกัดอำนาจของคณะเจ้า เป็นความคิดแบบ "อำมาตยาชาตินิยม" ตามแนวคิดของบรรดา "อำมาตยาธิปไตย" ซึ่งใช้คำนี้เพื่อเป็นอำนาจต่อรองทางการเมือง สร้างแนวความคิดแบบ "เชื้อชาตินิยม" ซึ่งคุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ มักเรียกว่า "ชาตินิยม-ล้าหลัง-คลั่งชาติ"

 

รศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า การเปลี่ยนจาก "รัฐราชวงศ์" เป็น "รัฐประชาชาติ" ถ้ามองในด้านดีในแง่ของการเปลี่ยนจากรัฐแบบเก่าเป็นแบบใหม่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลจอมพล ป. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันนี้ขึ้น แต่สิ่งที่เกิดต่อมาคือ "ชาติไทย" และ "เชื้อชาติไทย" ถูกจินตนาการขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อต้องการหลอมรวมคนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ปัจจุบันก็คงเห็นว่าความเป็นหนึ่งนั้นแก้ปัญหาอะไรไม่ได้

 

"ความเป็นไทยตอนนั้น (2482) เขาต้องการที่จะหลอมคนทั้งหมดให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียว แต่ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่เกิดความหลากหลาย ความเป็นหนึ่งนั้นแก้ปัญหาไม่ได้ และไม่ได้สนองตอบการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้" ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าว

 

ทางด้าน รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" พึ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 68 ปี เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ชาติด้วยการใช้วัฒนธรรมแบบ "ไทยนิยม" ที่สร้างคนในชาติให้กลายเป็น "ไทยเหมือนๆกัน" แบบหนึ่งเดียวซึ่งคับแคบ กีดกัน และกดทับอะไรก็ตามที่ถูกมองว่า "ไม่ใช่ไทย"

 

รศ.ดร.กฤตยา ให้ความเห็นว่าในสมัยจอมพล ป. เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ "ความเป็นไทย" ลงหลักปักฐานในสังคมไทย ซึ่งมาจากการประกาศนโยบายรัฐนิยม 12 ฉบับ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ชื่อประเทศ, เพลงชาติ, การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลให้เป็นแบบ "ไทย" ยิ่งไปกว่านั้น อะไรที่รู้สึกว่า "ไม่ไทย" ก็จะใส่คำว่า "ไทย" เข้าไป เช่น ชาวไทยภูเขา, ชาวไทยมุสลิม ฯลฯ

 

 

 

 

"เราต้องคิดว่าเรายังอยากให้จินตนาการเดิมของความเป็นไทยที่สั่งสมมาแบบนี้ที่ดูถูกคนรอบบ้าน ดูถูกเขมร ดูถูกลาว ดูถูกพม่า เราต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งต้องเปลี่ยนในหลายระดับ หลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน หนังหรือละคร ฯลฯ"

กฤตยา อาชวนิจกุล

 

 

จินตนาการของ "ความเป็นไทย"

รศ.ดร.กฤตยา ได้ข้อค้นพบจากการทำวิจัยเกี่ยวกับ "จินตนาการใหม่ของความเป็นไทย" ว่าสามารถแบ่ง "ความเป็นไทย" ได้ 3 แบบ 1.เชิงนิติศาสตร์ คือ การมองในเรื่องสัญชาติ เรื่องสถานะบุคคล 2.เชิงรัฐศาสตร์ คือ การมองในเรื่องอาณาเขต, ดินแดน, การยึดโยงกับพระมหากษัตริย์, การรักษาเอกราชของบรรพบุรุษ, ความคิดเรื่องการเลิกทาส ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากหนังสือประวัติศาสตร์ชั้นมัธยม และ ความเป็นไทยแบบที่ รศ.ดร.กฤตยาเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ 3.ความเป็นไทยในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมทั้ง ภาษา, อุปนิสัย เช่น ความอ่อนโยน การยิ้ม การไหว้ ฯลฯ, สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม เช่น วัด ลายกนก ผ้าไหม ฯลฯ, ประเพณี เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง ฯลฯ

 

 

 

"ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนมีพื้นฐานมาจากอคติทางเชื้อชาติเป็นสำคัญ ปัญหาเหล่านี้เป็นผลกระทบสืบเนื่อง เพราะกระบวนการทางประวัติศาสตร์ซึ่งอาจถูกอำนาจบางอย่างเข้ามามีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการบริหารจัดการของศูนย์กลางอำนาจที่ต้องการรักษาสถานะความมั่นคงของรัฐชาติเพียงอย่างเดียว กลับละเลยความเคารพในสิทธิของชาติพันธุ์อื่นๆที่เคยอยู่ร่วมกัน สร้างรัฐและก่อเป็นประเทศด้วยกันมา"

อัครพงษ์ ค่ำคูณ

 

 

"สฺยำกุกฺ"

อัครพงษ์ ศึกษาการตีความ "สยาม" โดยเปรียบเทียบคำอธิบายของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับ แบร์นาร์ด ฟิลลิป โกรส์ลิเย่ร์ (Bernard Philippe Groslier) ซึ่งทั้งคู่ไม่เคยรู้จักกันรวมทั้งไม่เคยอ้างงานของกันและกันเลย นอกจากนี้หลักฐานที่ใช้ก็แตกต่างกัน เช่น ทางด้านนิรุกติศาสตร์ จิตร ใช้หลักไวยากรณ์เขมร ขณะที่ โกรส์ลิเย่ร์ใช้ภาษาสันสกฤต ขณะที่หลักฐานทางโบราณคดี จิตร ใช้ลุ่มน้ำกก ส่วนโกรส์ลิเย่ร์ใช้ลุ่มน้ำชี-มูน เป็นต้น ซึ่ง อ.อัครพงษ์ พยายามหาความเหมือนและความต่างในความเข้าใจคำว่า "สยาม" ของทั้งคู่

 

จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า "สฺยำ" (อ่านว่า เสียม) เป็นคำเดียวกับ "เสียม" หรือ "สยาม" ที่ปรากฏในจารึกของทั้งเขมร, จาม และพม่า เป็นคำที่ชาติพันธุ์อื่นๆ เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ไทหรือไต แต่ "สฺยำ" ของจิตรก็ไม่ใช่คนที่สุโขทัย เพราะจารึก "สฺยำกุกฺ" (อ่านว่า เสียมกุก) มีอายุเก่าแก่กว่าอาณาจักรสุโขทัย แต่ "สฺยำ" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำ "กก" หรือ "กุก" แถบจังหวัดเชียงรายปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจึงตรงกับธรรมเนียมการเรียกชื่อไท-ไต ที่มักเรียกตามลักษณะเด่นของตน "สฺยำกุกฺ" จึงหมายถึง "ไทกก"

 

ขณะที่ โกรส์ลิเย่ร์ อธิบายว่า "สฺยำ" ในที่นี้คือ ใครก็ได้ที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำชี-มูน หรือลุ่มแม่น้ำซึ่งอาณาเขตของเขมรก้าวไปถึง คนที่อาศัยอยู่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมพวก ข่า, ส่วย, กวย, กุย ไม่ใช่ คนไทหรือไต ส่วนคำว่า "กุกฺ" นั้นโกรส์ลิเย่ร์บอกว่าหมายถึง นกกระยาง ซึ่งได้อธิบายต่อว่าคนกลุ่มนี้คือพวกที่มาจากดินแดน "สฺยำ" และมีเครื่องราง (totem) คล้ายหงอนนกกระยาง

 

อัครพงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาของ จิตร และ โกรส์ลิเย่ร์ ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบประวัติศาสตร์ที่ต้องอาศัยข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่สามารถศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยการสังเกตวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่มีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม เช่น การแต่งกาย, การเรียกขานชื่อชาติพันธุ์, วรรณคดี, ตำนาน, เรื่องเล่า, การดำรงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการผลิต ตลอดจนลักษณะการเคลื่อนย้ายถิ่นอย่างมีพลวัต

 

อัครพงษ์ กล่าวต่อว่า ข้อสังเกตนี้นำไปสู่ข้อคิดที่ว่าวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ชนชั้นสูงกำหนดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเป็นอยู่ ความอยู่รอด และวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกชาติพันธุ์ ซึ่งจากคำอธิบายของทั้ง จิตร และโกรส์ลิเย่ร์ พบว่ารัฐชาติและประเทศต่างๆ ในอินโดจีนประกอบขึ้นมาจากความแตกต่างหลากหลายของผู้คนและแผ่นดิน หาได้เกิดจากกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งเพียงกลุ่มเดียวไม่

 

"สิ่งที่ปรากฏในเนื้อหาคำอธิบายของทั้งสอง กลับเป็นการนำเสนอแง่คิด มุมมองทางวัฒนธรรม และองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ให้ข้อคิดแก่ผู้เกี่ยวข้องในสังคมทั้งรัฐบาลและประชาชนซึ่งควรทราบว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนมีพื้นฐานมาจากอคติทางเชื้อชาติเป็นสำคัญ ปัญหาเหล่านี้เป็นผลกระทบสืบเนื่อง เพราะกระบวนการทางประวัติศาสตร์ซึ่งอาจถูกอำนาจบางอย่างเข้ามามีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการบริหารจัดการของศูนย์กลางอำนาจที่ต้องการรักษาสถานะความมั่นคงของรัฐชาติเพียงอย่างเดียว กลับละเลยความเคารพในสิทธิของชาติพันธุ์อื่นๆที่เคยอยู่ร่วมกัน สร้างรัฐและก่อเป็นประเทศด้วยกันมา อันหมายถึงรูปแบบของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพลง, ภาษา, ค่านิยม, ความเชื่อ, ศาสนา และวิถีชีวิตอื่นๆ"

 

 



"คำว่า "ไทย" อาจสะท้อนนัยยะทางการเมืองของปีกขวาของคณะราษฎร สะท้อนนัยยะชาตินิยมแบบคลั่งชาติ ผมไม่ปฏิเสธ แต่ถ้าให้ผมเลือก ผมเลือกที่จะไม่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ฉลอง สุนทราวาณิชย์

 

หรือ "สยาม" ยึดโยงกับ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ?
รศ.ฉลอง เริ่มต้นกล่าวโดยออกตัวว่าทั้งประวัติศาสตร์และความคิดเรื่องอัตลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถนัด นอกจากนี้ รศ.ฉลอง ยังออกตัวว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "สยาม" โดยมีเหตุผลในการคัดค้านคือ

 

ประการแรก ยังสรุปกันไม่ได้ว่าคำว่า "สยาม" มาจากไหน, มีความหมายว่าอย่างไร, มีรากศัพท์จากภาษาอะไร ฯลฯ แล้วจะด่วนเปลี่ยนชื่อประเทศไปทำไม ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนชื่อประเทศอาจมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่สูง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องธนบัตร, เอกสารราชการ ฯลฯ

 

ประการที่สอง แม้ว่าจะพบคำว่า "สยาม" หรือคำที่คล้ายคลึงกันในหลักฐานประวัติศาสตร์มานมนาน แต่ก็มาจาก "คนอื่น" ไม่ได้มีในหลักฐานประวัติศาสตร์ของ "เราเอง" ที่ร่วมสมัยกับหลักฐานของบริเวณรอบข้าง นอกจากนี้ รศ.ฉลอง ยังเห็นว่าการเรียกตัวเองว่า "สยาม" ของคนในดินแดนนี้นั้นถูกใช้ครั้งแรกในสมัย ร.4 และเป็นการเรียกตัวเองของราชสำนัก ด้วยแนวคิดการสร้างตัวตนของรัฐ, องค์อธิปัตย์ ให้เป็น "จักรพรรดิ" (Emperor) ซึ่งเป็นแนวคิดแบบตะวันตก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญทางการเมืองเพื่อให้ต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่ง เห็นความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานที่ "กรุงเทพฯ" มีอยู่กับอาณาจักรโบราณ "อื่นๆ" ในอาณาบริเวณนี้ที่ฝรั่งเรียกกันมาว่า "สยาม" เพื่อให้ "สยามของ ร.4" อ้างความชอบธรรมในความเป็นเจ้าของดินแดนแถบนี้ทั้งหมด

 

ประการที่สาม หากเอาพฤติกรรมการเรียกชื่อชาติพันธุ์มาวิเคราะห์จะพบว่า "ชื่อ" นั้นมักถูกเรียกจาก "คนอื่น" เช่น ที่ "คนไทย" เรียกคนจีนว่า "เจ๊ก", เรียกคนเวียดนามว่า "ญวน", เรียกคนจากอินเดีย คาบสมุทรมลายู อ่าวเปอร์เซีย ว่า "แขก" ฯลฯ ล้วนมีนัยยะที่แฝงไว้ถึงการเหยียดหยามทางชาติพันธุ์ทั้งสิ้น และทำนองเดียวกัน การที่คำว่า "เสียม" - "เสียน" - "สยาม" ไม่เคยถูกเรียกจากคนในดินแดนแถบนี้แต่ล้วนถูกเรียกจาก "คนอื่น" จึงอาจตีความว่า "สยาม" อาจเป็นคำที่ถูกเรียกด้วยความเหยียดจาก "คนอื่น" ก็เป็นได้

 

ประการที่สี่ แม้ว่าการเปลี่ยนชื่อเป็น "สยาม" จะเป็นความปรารถนาดีที่จะทำให้ชื่อประเทศไม่บ่งถึงความเป็นชาติพันธุ์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่การเปลี่ยนชื่อเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรมทางสังคมของผู้คนจำนวนหนึ่งได้

 

ประการสุดท้าย "สยาม" เป็นชื่อที่ยึดโยงกับแนวคิดแบบ "empire" และ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ขณะที่ การเปลี่ยนชื่อเป็น "ไทย" แม้ว่าจะมีเหตุผลเบื้องหลังในทางการเมืองดังที่หลายท่านได้กล่าวไป แต่จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งก็เพื่อที่จะพยายามาเริ่มต้นสังคมในระบอบ "ประชาธิปไตย" ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ "การปฏิวัติทางการเมือง"

 

"คำว่า "ไทย" อาจสะท้อนนัยยะทางการเมืองของปีกขวาของคณะราษฎร สะท้อนนัยยะชาตินิยมแบบคลั่งชาติ ผมไม่ปฏิเสธ แต่ถ้าให้ผมเลือก ผมเลือกที่จะไม่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

 

ชาญวิทย์ โต้ "สยาม" ไม่ใช่คำเหยียดและ เปลี่ยนเป็น "ไทย" ไม่ได้ล้างระบอบเก่า

ด้าน ดร.ชาญวิทย์ แย้ง รศ.ฉลองว่าจากหลักฐานที่ศึกษามาพบว่าคำว่า "สยาม" เก่ากว่า "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ยิ่งไปกว่านั้นยังเก่ากว่าอาณาจักรสุโขทัยอีกด้วย ส่วนประเด็นที่ รศ.ฉลอง กว่าวว่า "สยาม" เป็นคนที่ชนชาติเรียกด้วยความรู้สึกเหยียดหยามนั้น เป็นเพียงวาทกรรมของกลุ่ม "อำมาตยาชาตินิยม" นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งตกค้างอยู่อย่างน่ามหัศจรรย์ในสังคมปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานที่ อ.ปรีดี เคยเสนอไว้ว่ากษัตริย์สยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็เรียกตัวเองว่า "สยาม" ในพระราชสาสน์ระหว่างประเทศหลายๆ ฉบับ ไม่ได้เพิ่งเรียกในสมัย ร.4

 

"ผมไม่เชื่อว่า "ระบอบใหม่" ต้องการล้าง "ระบอบเก่า" ในเมื่อต้องการล้าง "ระบอบเก่า" ไม่ให้มีบรรดาศักดิ์ ไม่ว่าจะเป็นขุน, หลวง, พระ, พระยา, เจ้าพระยา แต่ทำไมยังมี "คุณหญิง" กับ "ท่านผู้หญิง" อยู่ แล้วท่านผู้หญิงสองท่านแรกใน "ระบอบใหม่" เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2482 หลังเปลี่ยนชื่อประเทศไม่กี่เดือน สองท่านนั้นได้พร้อมกันเลย อันนี้หรือที่เรียกว่าล้าง "ระบอบเก่า" " ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

 

ด้าน อ.อัครพงษ์ เพิ่มเติมว่า ในบันทึกของลาลูแบร์ ซึ่งเข้ามาดินแดนแถบนี้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผู้คนในแถบนี้ก็มีการเรียกตัวเองว่า "เสียม" หรือ "สยาม" อยู่แล้วโดยผู้คนในรัฐฉานเรียกตัวเองว่า "เสียมใหญ่" ส่วนผู้คนในอยุธยาเรียกตัวเองว่า "เสียมเล็ก"

 

ส่วน รศ.ฉลอง ยืนยันว่า ไม่ว่าหลักฐานที่ ดร.ชาญวิทย์ และ อ.อัครพงษ์ ยกมานั้นก็ยังคงเป็นหลักฐานที่มาจาก "คนอื่น" ไม่ใช่หลักฐานของ "เรา" เอง

 

"ลาลูแบร์อาจถูกก็ได้ แต่ลาลูแบร์อาจจะตีขลุมเกินไปก็ได้ แต่ก็อย่างที่บอกผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ยืนยันทั้งหมดที่พูดไป"

 

เมื่อพยายามจะหา "ของแท้" มักสร้างปัญหา

รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า ความคิดแบบ "ชาตินิยมที่คับแคบ" ลงหลักปักฐานในสังคมนี้มานานแล้วตั้งแต่ จอมพล ป. เรื่อยมาจนถึง จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นตัวเชื่อม ความคิดแบบนี้พยายามสร้างความเป็นของแท้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่มี จึงเกิดปัญหา และด้วยระบบวิธีคิดนี้ที่ว่าเมื่อ "เรา" เป็น "ไทย" แล้ว "คนอื่น" ไม่ใช่ "ไทย" เป็นระบบ "ขาว-ดำ" และ "เรา" ก็สร้างความเร่าร้อนและภาวะความเกลียดชังคนที่ "ไม่ใช่ไทย" อยู่ตลอดเวลา แล้ววันหนึ่งความคิดแบบนี้จะนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงกว่านี้

 

ทางออกของปัญหาคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

อัครพงษ์ ยกตัวอย่างที่สำคัญในการแก้ปัญหาทางชาติพันธุ์, ค่านิยม หรือความเชื่อ ของประเทศใกล้เคียง "ที่น่าสนใจมากในฟิลิปปินส์ คือหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ในระดับมัธยมปลาย ในบทแรกอธิบายไว้เลยว่า "We were not always one people for many centuries" ต่อมาในบทสี่สองเรียนเรื่องมุสลิม ทั้งที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศคาธอลิกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย"

 

"ประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินโดนีเซียได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่าวันสำคัญทางพุทธศาสนาคือ "วันวิสาขบูชา" เป็นวันสำคัญแห่งชาติ และรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการด้วย" อัครพงษ์ กล่าว

 

กฤตยา กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อ "ไทย" เป็น "สยาม" นั้นก็ยังไม่พอ ต้องทำอะไรมากไปกว่านี้ ต้องเริ่มต้นคิดใหม่ในหลายๆเรื่อง ต้องเลิก "ความเป็นไทยแท้" ต้องสร้าง "ความเป็นไทย" เชิงซ้อน ในประเทศนี้ต้องมีสิทธิที่จะแตกต่าง มีสิทธิที่จะหลากหลาย จึงสามารถผูกใจรวมกันได้

 

รศ.ดร.ธเนศ เสริมว่า ไม่ว่าจะชาติอะไร ไม่ว่าจะเรียกชื่อประเทศว่าอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่แท้แล้วคือการให้ความสำคัญต่อ "ความเป็นคน"

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท