Skip to main content
sharethis




 


 


ประชาไท - 20 พ.ค. 50 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร จัดกิจกรรม "15 ปีพฤษภา ทวงคืนประชาธิปไตย เอารัฐธรรมนูญ 40 คืนมา" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวปาฐกถาโดยพิจารณาในด้านประวัติศาสตร์ และ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ พิจารณาในด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง



 


ก่อนการปาฐกถา ดร.ชาญวิทย์ ชี้แจงว่า เขาไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ การทำงานทางวิชาการไม่เคยขอรับเกียรติยศใดๆ ยกเว้นการเป็นอาจารย์ และสอง ขอสงวนสิทธิ์ในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่เป็นประชาธิปไตย และมีลักษณะถอยหลังเข้าคลองเป็นอย่างยิ่ง แต่จะขอสงวนสิทธิไว้ก่อน


 


จากนั้น ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า มี 3 พลังที่ขับเคลื่อนสังคมที่ต้องทำความเข้าใจ คือสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย ซึ่งเห็นได้ชัดหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังพฤษภาคม 2535 แต่ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแบบอังกฤษ สองคือพลังอมาตยาธิปไตย ที่เกิดจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สร้างระบบราชการและกองทัพขึ้นมา หรือที่ถูกเรียกกันว่า รัฐราชการ


 


และ สุดท้ายเป็นพลังใหม่อันหลากหลายของสังคมไทย บางคนอาจเรียกว่า พลังประชาธิปไตย พลังประชาสังคม หรือพลังของประชาชน ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เกิดกลุ่มธุรกิจและการขยายตัวของสถานศึกษาจนเกิดปัญญาชน จนต่อมามีการพัฒนาขึ้นจนหลากหลายทำให้มีทั้งคนจนเมือง และนักเลือกตั้งรวมอยู่ด้วย 


 


ทั้งนี้ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า หากกลุ่มอภิชนและอมาตยาธิปไตยสามารถรอมชอม หรือ "เกี๊ยะเซียะ" กันได้ การเมืองจะเดินต่อไปได้ตามปกติ จะเห็นว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการเกี๊ยะเซียะตลอดเวลา ถ้าขัดแย้งแล้ว เกี๊ยะเซียะกันได้ก็จบ เช่นในเหตุการณ์ ทั้ง 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535


 


"ผมคิดว่ามันจะสูญเปล่าถ้าเราขาดความทรงจำ ขาดประวัติศาสตร์ ไม่นำอดีตมาเป็นบทเรียน อย่างไรก็ตาม เราไม่รู้ว่า 30 พฤษภาคม (วันพิจารณาคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ) นี้จะเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าเกิดทฤษฎีเกี๊ยะเซียะ ปรองดองกันระหว่างอภิชนข้างบน เหตุการณ์ก็คงดำเนินไปอย่างที่เคยดำเนินมา มีรัฐบาลที่อ่อนแอ นายกฯที่ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนหรือประชาธิปไตย แต่สะท้อนความต้องการของคนข้างบน" ดร.ชาญวิทย์ กล่าว  


 


ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมา สังคมไทยใช้การปรองดองกันไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ในปัจจุบันสังคมพัฒนาไปมหาศาล พลังอันหลากหลายอาจทำให้ไม่สามารถประสานผลประโยชน์หรือเกลี่ยกันได้ เงินเก่าเงินใหม่ไม่ลงตัวกัน ตัวละครมากมายมหาศาลก็จะเกลี่ยกันยากมาก ระบบประชาธิปไตยก็เปิดมากขึ้น การถอยกลับไปเมื่อสมัยก่อน ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของมนุษย์เสียแล้ว


 


"เคยมีการถามคำถามและถกกันว่า การยึดอำนาจ 19 ก.ย. เหมือนครั้งไหนมากที่สุด คำตอบคือ ยึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลา 19 ที่ยึดมาแล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับอำนาจที่ได้มา โดยสิ่งที่คล้ายกันนั้นคือ เพราะเกิดความกลัว 6 ตุลา 19 กลัวคอมมิวนิสต์ กลัวนักศึกษา เลยยึดอำนาจ ส่วน 19 กันยา นั้นยึดด้วยความกลัวระบอบทักษิณ แต่ยึดมาแล้วไม่รู้จะทำอะไร" ดร.ชาญวิทย์ กล่าว


 


ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า พัฒนาการของโลก ของสังคมเทคโนโลยีเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ พฤษภาฯ มีเครื่องมือเกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถผูกขาดข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลปิดวิทยุ ยึดสถานีโทรทัศน์ได้ แต่มีโทรศัพท์กับแฟกซ์ มาถึงตรงนี้ เราได้เปิดโลกก็เพราะอินเตอร์เนต รัฐบาลไม่สามารถปิดได้ นับว่าอินเตอร์เน็ตเป็นตัวนำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไทย


 


ดร.ชาญวิทย์ สรุปถึงอนาคตของสังคมไทยว่า ถ้าข้างบนเกลี่ยกันไม่ได้ หญ้าแพรกก็แหลกราญ และที่น่าวิตก คือการใช้กำลังมีไม่ได้ การนองเลือดไม่มีใครต้องการ การต่อสู้เพื่อสันติวิธีดีที่สุด แต่จะเป็นไปได้ไหม เพราะคนที่ควบคุมการนองเลือดได้ไม่ใช่คนระดับล่าง ในกรณีที่เกลี่ยกันไม่ได้ มันก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น ที่น่าวิตกมากกับการเมืองของเรา ปัญหามันถูกหมักหมมไว้มหาศาล สึนามิทางการเมืองกำลังก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ และน่าเฝ้าระวังว่า มันจะพัดกระหน่ำมาในบ้านเมืองเราหรือไม่  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net