Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


บรรณารักษ์ปลายแถว


 


 



ภาพจาก www.pekin.net/.../Lichtenstein/Crying%20Girl.gif


 


หากมองย้อนกลับไปในแวดวงสำนักพิมพ์หลายแห่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา Chick Lit หรือ นิยายรักกุ๊กกิ๊ก ว่าด้วยตัวละครสาวโสดวัย 20-30 ปลาย และเรื่องราวการตามหา "คนที่ใช่" หรือ Mr.Right เป็นอีกแนวหนึ่งซึ่งติดอันดับ "หนังสือขายดี" เกือบจะทั่วโลก


 


แรกเริ่มเดิมที Chick Lit มีถิ่นกำเนิดแถวๆ เมืองผู้ดี และเป็นคำที่คนในแวดวงวรรณกรรมให้คำจำกัดความและเรียกขานนิยายขายดีแนวนี้อย่างจิกกัดนิดๆ เพราะมันแผลงมาจากคำว่า Chick Literature ซึ่งพูดถึง "วรรณกรรมแบบผู้หญิ๊ง-ผู้หญิง" แนว Escapism ที่ชวนให้คนอ่านหนีไปจากโลกแห่งความจริงด้วยการฝันถึงผู้ชายที่ใช่ (ซึ่งมันมีอยู่ในชีวิตจริงๆ น่ะเหรอ?) แทนที่จะเผชิญหน้ากับโลกที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ด้วยการอ่านเนื้อหาหนักๆ ในวรรณกรรมเพื่อชีวิต (ที่ขายไม่ค่อยออก)


 


ชิคลิทจึงเต็มไปด้วยเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ที่ถูกบรรจุไว้ภายใต้หน้าปกสีสันสดใสหวานแหวว และเนื้อหาข้างใน (ส่วนใหญ่) ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายที่มาเติมเต็มชีวิตสาวโสดให้อบอุ่นหัวใจ


 


เมื่อชิคลิทได้รับความนิยมอย่างมากมายในฝั่งอังกฤษและอเมริกา แน่นอนว่าในที่สุดชิคลิทก็เดินทางมาถึงแวดวงหนังสือแปลในประเทศไทย และได้รับความนิยมมากมายไม่แพ้หนังสือรักกุ๊กกิ๊กจากบางสำนักพิมพ์ที่มี "เรื่องราวแห่งความรัก" ตีพิมพ์ออกมาครั้งละเป็นโหลและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า...


 


แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าชิคลิทกำลังเผชิญหน้ากับคู่แข่งสำคัญเสียแล้ว เพราะหนังแนวสือ Mis lit ที่มาจากคำว่า Misery Literature กำลังขายดิบขายดีอย่างเป็นที่สังเกตได้ชัดเจนตามร้านหนังสือในอังกฤษ


 


"มิสลิท" ที่ว่ามาก็คือหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์อันเลวร้ายของบุคคลที่เป็นเจ้าของเรื่อง การบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ชวนให้หดหู่หรือการเขียนถึงเหตุการณ์ของการตกเป็นเหยื่อในชีวิตจริง ถูกมองว่าเป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง ทั้งในฝั่งของผู้เขียนและผู้อ่าน


 


จากบทความ Misery lit… read on ของเบรนดอน โอนีล นักข่าวของสำนักข่าวบีบีซี ประเทศอังกฤษ เขาได้ไปสำรวจตามชั้นวางหนังสือขายดีหลายๆ ร้านในอังกฤษ และก็พบว่า 3 ใน 10 ของหนังสือขายดี เป็นหนังสือที่เข้าข่าย Mis lit!


 


นักข่าวโอนีลได้ตามไปสัมภาษณ์ตัวแทนสำนักพิมพ์ นักเขียนและคอลัมนิสต์หลายคน เพื่อขอความเห็นเรื่องการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของมิสลิท ซึ่งแน่นอนว่าสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งานเขียนแนวดังกล่าว ให้การสนับสนุนว่ามิสลิทคือการปลดปล่อยประสบการณ์อันเลวร้ายออกไปจากชีวิตของผู้เขียน และมองว่าการพูดถึงความเจ็บปวดผ่านตัวหนังสือเช่นนี้คือ Inspi lit (Inspirational Literature) หรืองานเขียนที่ให้แรงบันดาลใจในการดำรงชีวิตแก่ผู้อ่าน มากกว่าจะเป็นเพียงมิสลิทที่ชวนให้หดหู่เมื่อได้ยินชื่อ


 



หนังสือแนว Mis lit ที่ชายดีในอังกฤษ (ภาพจาก BBC)


 


หนังสือแนวมิสลิทที่ได้รับความนิยมและขายดีเป็นอันดับหนึ่งในอังกฤษ ชื่อว่า Don"t Tell Mommy ของนักเขียนหญิงชื่อ โทนี แมกไกวร์ ซึ่งบันทึกประสบการณ์ที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศตอนยังเป็นเด็ก โดยผู้ใหญ่ที่เป็นคนใกล้ชิด (มากๆ) ในครอบครัว ซึ่งก็คือพ่อแท้ๆ ของเธอนั่นเอง...


 


แมกไกวร์ถ่ายทอดความเจ็บปวด ความอับอาย และความหวาดระแวงของชีวิตที่ติดกับดักของความเป็น "เหยื่อ" ซึ่งถูกละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงบรรยายเหตุการณ์ที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวด้วย


 


การทบทวนเหตุการณ์ที่เป็นเสมือนฝันร้ายในชีวิตและปลดปล่อยมันออกมาด้วยการเขียน คือสิ่งที่แมกไกวร์และนักเขียนแนวมิสลิทคนอื่นๆ กล่าวว่ามันคือ "การเยียวยา" จิตวิญญาณให้หายดี เพราะในเวลาเดียวกันกับที่พวกเธอ (ใช่...นักเขียนหนังสือแนวนี้ส่วนใหญ่-เป็นผู้หญิง) ได้เปิดเผยข้อมูลในชีวิตจริงอย่างหมดเปลือก พันธนาการแห่งความเจ็บปวดและความอึดอัดจากการที่ต้องเก็บงำความจริงก็พลอยได้รับการปลดเปลื้องออกไปด้วย


 


ไม่ใช่แค่หนังสือของแมกไกวร์อย่างเดียว หนังสือแนวมิสลิทเล่มอื่นที่ติดอันดับขายดีก็มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็น Betrayed ซึ่งพูดถึงประสบการณ์ของ "แม่" ที่ครอบครัวแตกแยกเพราะพฤติกรรมของ "ลูกสาว" ที่มีปมปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ และ Silent Sister อันเป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกญาติพี่น้องชายกระทำการล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก...


 


การบรรยายเหตุการณ์อันเป็นเสมือนปมในใจของนักเขียนหนังสือแนวมิสลิท (ซึ่งส่วนใหญ่กล่าวว่าเรื่องที่เขียนเป็น "บันทึกประสบการณ์จริง" ของตัวเอง) เป็นสิ่งที่คนอ่านต้องการรับรู้ เพื่อที่จะติดตามต่อไปว่าการก้าวข้ามผ่านปัญหาอันหนักหน่วงและการเยียวยาจิตใจของผู้เขียนมีกระบวนการอย่างไร


 


ความเจ็บปวดที่ตกผลึกและนำมาใช้เป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตต่อไปนั้น เป็นเสมือนกำลังใจให้คนอีกมากที่ต้องเจอกับปัญหาและความเลวร้ายในชีวิต และขั้นตอนการเอาชนะจิตใจเพื่อผ่านพ้นปัญหาอันเลวร้ายนี้เองที่ถูกมองว่าเป็น "คุณูปการ" อย่างหนึ่งของหนังสือแนวมิสลิทที่มีต่อผู้อ่าน เพราะมันช่วยสร้างสรรและจรรโลงสังคมด้วยการสร้างความเข้าอกเข้าใจอันดีแก่คนหมู่มากได้ด้วย


 


แต่ในขณะเดียวกัน นักเขียนและคนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์บางส่วนก็ตั้งคำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ แครอล ซาร์เลอร์ คอลัมนิสต์ของนิตยสารไทมส์ เอ่ยปากกับนักข่าวโอนีลว่า นักอ่านที่ชอบอ่านหนังสือแนวมิสลิท ใช่คนที่ต้องการทำความเข้าใจกับเหยื่อแห่งการล่วงละเมิดทางเพศจริงหรือ เพราะแครอล ซาร์เลอร์ มองว่าการอ่านหนังสือแนวนี้อย่างแพร่หลาย มีสาเหตุมาจากการที่สังคมเคร่งจารีตแบบปากว่าตาขยิบ "อยากรู้อยากเห็น" ในเรื่องต้องห้ามประเภทนี้มากกว่า เมื่อมีช่องทางที่สามารถอ่านเนื้อหาที่พูดถึงเรื่องดังกล่าวได้อย่างชอบธรรม นักอ่านจึงไม่รั้งรอที่จะหยิบมันขึ้นมาอ่านอย่างหิวกระหาย


 


ทางด้านนักจิตวิทยาส่วนหนึ่งก็ให้การสนับสนุนว่า "การเขียน" คือหนทางบำบัดและเยียวยาผู้มีปัญหาทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากการทารุณและล่วงละเมิดทางเพศได้จริงๆ เพียงแต่การบำบัดดังกล่าวมักจะเกิดจากการเขียน "โดยตัวเอง เพื่อตัวเอง และอ่านเอง" เท่านั้น ส่วนเรื่องของการเขียนประสบการณ์เพื่อ "ตีพิมพ์และจัดจำหน่าย" เป็นคนละเรื่องอย่างสิ้นเชิงกับการบำบัดจิตใจด้วยการเขียนบันทึก


 


ศาสตราจารย์เจมส์ ดับเบิลยู เพนเนเบเคอร์ ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาคนเดียวที่บีบีซีไปสัมภาษณ์ ลงความเห็นว่าการเขียนบันทึกประสบการณ์เพื่อนำไปตีพิมพ์ อาจเป็นตัวสร้างปัญหาใหม่ๆ ในชีวิตให้กับนักเขียนที่เคยเจอประสบการณ์เลวร้ายเหล่านั้น เพราะการนำเรื่องราวต่างๆ มาเปิดเผย อาจสร้างความเข้าใจให้กับคนในวงกว้างก็จริง และตัวคนเขียนก็ได้รับการปลดปล่อยจากอดีตอันหลอกหลอน แต่คนใกล้ชิดที่ถูกพาดพิงถึงในหนังสืออาจรับไม่ได้กับความจริงที่ว่า และอาจจะตัดสัมพันธ์กับผู้เขียนไปเลยก็ได้ ซึ่งมันคงไม่ต่างอะไรจากการสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ในชีวิต


 


ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ทันทีที่หนังสือออกวางจำหน่ายและมีคนอ่านมัน ผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้ที่ถูกเอ่ยถึงในบันทึกประสบการณ์แบบมิสลิท ย่อมตกเป็นเป้าแห่งความสนใจของผู้อ่านที่มีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นจะเต็มใจหรือไม่ ชีวิต (ที่อาจจะไม่อยากเปิดเผย) ของพวกเขาก็ถูกนำมาตีแผ่ให้ "คนนอก" ได้รับรู้อย่างไม่มีทางเลี่ยง โดยที่ภาพของพวกเขาจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับการเขียน ผ่าน "มุมมอง" ของนักเขียนที่อ้างตัวว่าตกเป็น "เหยื่อ" และถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว


 


ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นผู้ร้ายในชีวิตจริงของบรรดานักเขียนเหล่านั้นหรือไม่ พวกเขาก็ไม่มีโอกาสได้แก้ตัวหรือแก้ต่างอะไรทั้งสิ้น...


 


เมื่อหันมามองแวดวงพ็อกเก็ตบุ๊กในเมืองไทยกันบ้าง จะเห็นได้ชัดว่าตามร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีหนังสือแนวมิสลิทวางขายกันให้เกลื่อนแล้ว...ทั้งเรื่องเด็กวัยรุ่นที่หลงไปกับความฟุ้งเฟ้อของกระแสบริโภคนิยม เธอจึงยินยอมให้ผู้ชายล่วงเกินเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเม็ดเงิน...เรื่องของหญิงสาวที่ถูกพี่ชายแท้ๆ ข่มขืน รวมถึงหญิงสาวที่สารภาพว่าเธอเป็นโรคขาดผู้ชายไม่ได้และเสพติดเซ็กส์


 


หนังสือมิสลิทที่ว่ามา ล้วนแปะฉลากที่หน้าปกว่าเป็น "ประสบการณ์จริง" ของผู้เขียน (ที่ไม่อาจเอ่ยนามจริงได้) ทั้งหมดเป็นหนังสือที่หาอ่านได้ง่าย พอๆ กับการซื้อไส้กรอกหรือน้ำอัดลมแก้กระหาย แต่ที่ไม่แน่ใจอย่างเดียวก็คือเรื่องยอดขาย เพราะยังไม่มีการยืนยันจากค่ายไหนหรือสำนักใดว่าความนิยมในการอ่านหนังสือแนวนี้เป็นไปในทางลบ ทางบวก หรือว่าเสมอตัว


 


ถ้ามองในแง่ดี ปรากฏการณ์มิสลิทในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ไทย อาจเป็นเพียงวูบหนึ่งของการกระหน่ำตีพิมพ์หนังสือที่คิดว่า "ขายได้" ออกมาในจังหวะที่กระแสสังคมส่วนใหญ่ยังให้ค่าและสนอกสนใจในเรื่องนี้ และอีกไม่นานเก็คงจะจางหายไปเองจากแผงหนังสือบ้านเรา


 


แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่คนส่วนใหญ่อ่าน ก็น่าจะสะท้อนสภาวะบางอย่างที่สังคมนั้นเป็นอยู่เช่นกัน


 


You are what you read…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net