Skip to main content
sharethis


 



 



 


ประชาไท - 19 พ.ค. 50 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. เวลา 13.30น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างๆ 22 องค์กร ได้แก่ คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ, กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540, กลุ่มคนจนเมืองรักประชาธิปไตย, สมาพันธ์ประชาธิปไตย, พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย, สมาพันธ์คนรักประชาธิปไตย, นิตยสารสยามปริทัศน์, พรรคแนวร่วมภาคประชาชน, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), เครือข่ายรามคำแหงรักประชาธิปไตย, สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์, กลุ่มกรรมกรปฏิรูป, ชมรมคนรักอุดร, มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย, สมาพันธ์แนวร่วมประชาธิปไตยอีสาน, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า, กลุ่มประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊ก (กปก.), กลุ่มพลังหนุ่มสาวเพื่อประชาธิปไตย, โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, สหพันธ์แรงงานกระดาษ, และแนวร่วมประชาชนแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงาน "15 ปีพฤษภา ทวงคืนประชาธิปไตย คมช.ออกไป"


 


โดยบนเวทีมีการเปิดตัว เพลงมาร์ชประชาชนต่อต้านรัฐประหาร ชื่อ "ปณิธานแห่งเสรีชน" ซึ่งประพันธ์นื้อร้องและทำนองโดย จิ้น กรรมาชน มีการจุดเทียนโดยตัวแทนองค์กรต้านรัฐประหาร และประกาศสถาปนาองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ และ 13 องค์กรต้านรัฐประหารเป็นองค์กร "แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร"


 


โดย นพ.เหวง โตจิราการ ได้อ่านคำประกาศก่อตั้ง "แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.)" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆ ในทุกภาคส่วน โดยมียุทธศาสตร์ในการต่อสู้ คือ "คว่ำ ล้ม โค่น" โดย "คว่ำ" หมายถึง คว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 เอารัฐธรรมนูญ 2540 คืนมาให้ประชาชนปรับแก้ในบรรยากาศประชาธิปไตย ส่วน "ล้ม" หมายถึง ล้ม คมช. และผลิตผลทั้งหมดของ คมช. อันได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ คมช. ตั้งขึ้น รวมถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ของ คมช. ด้วย และ "โค่น" หมายถึง โค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยอันมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นตัวแทนเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนขึ้นมา


 






คำประกาศก่อตั้ง "แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.)"


 


เมื่อ 15 ปีที่แล้ว คณะรัฐประหาร รสช. โค่นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งและทำให้ประเทศถอยหลังไปเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตย รสช.


           


ประชาชนไทยได้ทำการต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย รสช. อย่างองอาจกล้าหาญ ในท่ามกลางการต่อสู้นั้นเองก็ได้ให้กำเนิดองค์กรสู้รบ "สมาพันธ์ประชาธิปไตย" ขึ้นมา และเข้าร่วมกับประชาชนในการต่อสู้โค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยเพื่อแย่งยึดระบอบประชาธิปไตยคืนมาได้สำเร็จ ต่อมาประชาชนได้ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญปี 2540 และได้รัฐบาลประชาธิปไตยตามครรลองของรัฐธรรมนูญ 40 ขึ้นมา


           


มาถึงวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปถึง 15 ปีแล้ว แทนที่ระบอบประชาธิปไตยตามครรลองของรัฐธรรมนูญ 40 จะก้าวรุดไปข้างหน้าตามวิถีทางอันเป็นวิทยาศาสตร์ของมัน กลับมี "ปีศาจรัฐประหารและสมุนบริวาร" ในนามของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" มาทำลายระบอบประชาธิปไตยลงไปและนำเอาระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ถอยหลังเข้าแทนที่


 


ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ต่อสู้คัดค้านการต้านรัฐประหาร คปค.หรือ คมช. ในทันที และขยายตัวก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จนประชาชนจำนวนหนึ่งสามารถก่อรูปการต่อสู้มาเป็น "สิบสององค์กรต้านรัฐประหาร"


           


นอกจากนี้ประชาชนทั่วประเทศรวมทั้งในต่างประเทศก็ได้ต่อสู้อย่างไม่ลดละเช่นกัน สิบสององค์กรต้านรัฐประหารก็ขยายตัวมากขึ้นทุกที (ต่อมาเป็นสิบแปด) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องก่อรูปองค์กรต่อสู้รัฐประหารของประชาชนในรูปแบบที่กว้างขวางรวบรวมทุกภาคส่วนเข้ามาได้อย่างไม่มีขอบเขตโดยมีเป้าหมายและภารกิจที่เข้มคมชัดแจ้ง สิบแปดองค์กรต้านรัฐประหารเดิมจึงขอรับมอบคบเพลิงแห่งการต่อสู้เมื่อพฤษภา 35 สิบห้าปีที่แล้วมา และขอประกาศการสถาปนาแนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.) โดยจะไม่จำกัดองค์กรเพียงสิบแปดเท่าที่มีอยู่ แต่จะขอเชิญและนับรวมเอาทุกองค์กรทุกหมู่เหล่าทุกภาคส่วนที่ต้านรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของ นปตร. ทั้งสิ้น


 


นปตร. มียุทธศาสตร์ในการต่อสู้ที่ชัดเจนเพียงสามคำ คือ "คว่ำ ล้ม โค่น"


 


คว่ำ หมายถึง คว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 เอารัฐธรรมนูญ 2540 เดิมคืนมาและให้ประชาชนปรับแก้โดยตรงในบรรยากาศประชาธิปไตย


 


ล้ม หมายถึง ล้ม คมช. และผลิตผลของเขาทั้งหมดอันได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ คมช. ตั้งขึ้นทั้งหมด รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ของ คมช. ด้วย


 


โค่น หมายถึง โค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยอันมีพลเอกเปรมเป็นตัวแทนเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนขึ้นมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net