รายงาน : อิ่มด้วยข้าวเหนียว 1 ก่อง นวัตกรรมใหม่สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน


สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงาน

 

 

 

18 พ.ค. 2550 - สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) หนุนชุมชนปรับพฤติกรรมการบริโภคของผู้ป่วยให้เหมาะกับวัฒนธรรมของภูมิภาค เผยชุมชนนำร่องผลิต "ก่องข้าว" ต้นแบบนวัตกรรมควบคุมสัดส่วนการบริโภคข้าวเหนียว สำหรับผู้ป่วยเบาหวานในภาคเหนือ และอีสาน เปลี่ยนเรื่องยุ่งยากของการรับประทานอาหาร ให้ง่าย และสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของท้องถิ่น

 

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เปิดเผยว่า เรื่องอาหารการกินของผู้ป่วยเบาหวานนับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องควบคุมให้เหมาะสม เนื่องจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญพลังงานที่ได้รับจากอาหาร การควบคุมอาหารจึงทำเพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ใกล้เคียงเกณฑ์ปกติได้มากที่สุด โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพยายามลดอาหารที่มีรสหวานจัด ควบคุมจำนวนแป้ง โปรตีน และไขมัน และเพิ่มอาหารจำพวกเส้นใย และธัญพืชต่างๆ ทดแทนอาหารประเภทแป้ง หากแต่ในทางปฏิบัติมักเป็นเรื่องยุ่งยากในการสื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการบริโภคของแต่ละภาคที่แตกต่างกัน อาจไม่สอดคล้องกับหลักโภชนาการที่เจ้าหน้าที่แนะนำให้รับประทาน เช่น อาหารพื้นเมืองที่ชาวใต้รับประทาน แม้จะเน้นการรับประทานผัก แต่อาหารส่วนใหญ่ของกลุ่มมุสลิมมักเป็นอาหารที่ประกอบด้วยกะทิ ที่มีไขมันสูง นอกจากนี้ชาวใต้ยังมีวัฒนธรรมการดื่มชา กาแฟ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมรสชาติที่หวานจัด

 

ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) จึงได้มีการอบรมความรู้โภชนาการให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกี่ยวกับเมนูอาหารที่ได้สัดส่วนของผู้ป่วยเบาหวาน และจัดทำเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เหมาะกับชาวบ้านแต่ละภูมิภาค ภายใต้โครงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในบริบทที่หลากหลาย   สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

 

"โครงการได้ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเข้าไปเก็บข้อมูลการรับประทานอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้วิธีการสอบถามจากตัวผู้ป่วยโดยตรง หรือจากการจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยนำอาหารมารับประทานร่วมกันแล้วเก็บข้อมูลจากอาหารที่ผู้ป่วยนำมา จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความสมดุลทางโภชนาการ ซึ่งหากอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานมีสัดส่วนที่ดีอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่จะส่งเสริมให้รับประทานต่อไป แต่ถ้าอาหารที่รับประทานยังไม่ได้สัดส่วนที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้รับประทานในปริมาณที่น้อยลง หรือจัดให้มีสัดส่วนขนาดที่เหมาะสม"

 

ตัวอย่างของการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของโครงการ ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมด้านโภชนาการเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเกิดขึ้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้จัดตั้งโครงการเรียนรู้อิ่มด้วย 1 ก่องข้าว เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน และครอบครัว เนื่องจากชาวบ้านทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะข้าวเหนียว ชาวบ้านจะรับประทานข้าวเหนียวทุกมื้ออาหารหลัก อย่างไม่จำกัดปริมาณ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเมื่อระดับน้ำตาลสูงอย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อดัชนีมวลกาย และในระยะยาวจะมีผลต่อภาวะความดันโลหิต ภาวะเสื่อมของอวัยวะ และภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการจำกัดปริมาณข้าวเหนียวที่บริโภคในแต่ละมื้อ

 

โดยภาชนะที่ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลลำปางหลวงได้นำมาประยุกต์ เรียกว่า ก่องข้าว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสานพื้นบ้านที่ทำกันทั่วไปในหมู่บ้าน นักโภชนาการโรงพยาบาลลำปางจึงได้ทำการคำนวณอัตราส่วนของข้าวเหนียวในก่องข้าวเพื่อให้เหมาะสมกับการบริโภคในแต่ละมื้อ จากการคำนวณปริมาณ 1 ก่องข้าว จะสามารถบรรจุข้าวเหนียวได้ 35 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี ซึ่งปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมกับผู้ชายคือ ประมาณ 4 ส่วน ให้พลังงาน 320 กิโลแคลอรี และผู้หญิง ประมาณ 3 ส่วน ให้พลังงาน 240 กิโลแคลอรี

 

ผลจากการปรับใช้ "โครงการเรียนรู้อิ่มด้วย 1 ก่องข้าว" กับทั้งผู้ป่วยเบาหวาน และกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลผิดปกติ ที่อำเภอเกาะคา ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 จำนวน 50 คน ผู้ป่วยจำนวน 35 คน มีดัชนีมวลกายลดลง ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจำนวน 33 คน สามารถปรับพฤติกรรมการดูแลตนเองที่อย่างเหมาะสม จาก 39 คน เป็น 44 คน ซึ่งนวัตกรรมก่องข้าวนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการกำหนดปริมาณข้าวเหนียวแต่ละมื้อ ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลเรื่องระดับน้ำตาลในเลือด และญาติยังสามารถเตรียมอาหารได้ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ดี นอกจากการจัดอบรมความรู้โภชนาการให้กับเจ้าหน้าที่แล้ว สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน กำลังพยายามรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในแต่ละภูมิภาค มาประกอบเป็นเอกสารเพื่อเป็นคำอธิบาย และเป็นแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไป เพื่อให้ทราบว่าแท้จริงแล้วการให้ความรู้กับชาวบ้านและผู้ป่วยเบาหวานควรเป็นประเด็นที่จำเพาะในแต่ละพื้นที่ และแนะนำการบริโภคที่เหมาะสม ความรู้ที่เจ้าหน้าที่ให้กับชาวบ้านจึงจะมีประสิทธิภาพ และเห็นผลได้จริงในทางปฏิบัติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท