Skip to main content
sharethis


วันที่ 17 พ.ค. แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร (นปตร.) จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม 2535 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยในช่วงเช้าเวลาประมาณ 6.00 น. ได้จัดให้มีการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ 15รูป ถวายอาหารสำเร็จรูปแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์อุทิศส่วนกุศลและอวยชัยให้พรระบอบประชาธิปไตย



จากนั้น ตัวแทนองค์กรต่างๆในแนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร อาทิ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ตัวแทนจากกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการณ์ และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ได้วางพวงมาลารวมทั้งกล่าวปราศรัยรำลึกวีรชนและเชิดชูการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ นายจารุนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายวีระ มุสิกพงศ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวีรวมทั้งประชาชนกว่า 50 คนได้เข้ามาร่วมในพิธีการนี้ด้วยโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ นับ 10 นาย และเจ้าหน้าที่เทศกิจ คอยดูแลความเรียบร้อยอยู่โดยรอบ


 


ท่ามกลางฝนที่เริ่มโปรยปรายลงมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 เกิดจากการที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้ออกมาต่อต้านเผด็จการณ์และรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจต้องพ้นจากอำนาจ จนในที่สุดจึงได้แก้ไขรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าอย่าต่อเนื่อง


 


แต่ 14 ปี ผ่านมาผู้สืบทอดเจตนารมณ์เดือนพฤษภาต้องรู้สึกเจ็บปวดที่มีการรัฐประหารและนำเอาเผด็จการกลับมา มีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอีกทั้งยังเป็นการฟื้นระบอบอมาตยาธิปไตย


 


"การรำลึก 15 ปีนี้จะไม่มีความหมาย ถ้าไปเห็นดีเห็นงามกับเผด็จการ แต่จะมีความหมายถ้าต่อสู้ตามเจตนารมณ์เดือนพฤษภาที่ต้านเผด็จการ ต้องมุ่งมั่นและมีกำลังใจว่าเจตนารมณ์เดือนพฤษภาสอดคล้องกับการพัฒนาของสังคมโลก"


 


ด้านนายจรัล ดิษฐาอภิชัย กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขอไว้อาลัยรวมทั้งสดุดีวีรชนและรำลึกถึงประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนเมื่อพฤษภาคม 2535 ครบรอบ 15 ปีการต่อสู้ใหญ่อีกครั้งในวันนี้ หลังจากการต่อสู้ใหญ่เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475


 


การต่อสู้ครั้งใหญ่เพื่อประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม 2535 เจตนารมณ์ที่แท้จริงคือการต่อต้านและทำลายเหตุปัจจัยของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน เป็นการต่อต้านเผด็จการ การไว้อาลัยก็คือการรับช่วงต่อเจตนารมณ์


 


แต่น่าเสียดายที่นักต่อสู้เดือนพฤษภาคม 2535 บางคนได้เปลี่ยนขั้วไปเห็นด้วยกับเผด็จการคิดว่าวันนี้สำหรับเขาเหล่านั้นเช่น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือนายสมศักดิ์ โกศัยสุข มีทางเลือก 2 ทาง ทางแรกคือขอโทษวีรชนเดือนพฤษภา ที่นำพวกเขาไปต่อสู้จนตายและบาดเจ็บ ส่วนอีกทางเลือกคือไปขอโทษ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ตอนนี้ยังมีชีวิตว่าที่ทำไปครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ผิด ที่ถูกคือต้องให้ทหารปกครองประเทศและประเทศต้องปกครองโดยระบอบเผด็จการเท่านั้น


 


"กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ถือว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นดอกผลที่สำคัญที่สุดของการต่อสู้ใหญ่เดือนพฤษภาคม 2535 กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ถือเอารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของประเทศ เป็นธงนำต่อต้านเผด็จการ ต้านรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย จนกว่าจะได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง" นายจรัล กล่าว


 


ด้านนายวีระ มุสิกพงศ์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ตกลงร่วมกันมาว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การตกลงร่วมกันตั้งแต่ครั้งนั้นยังไม่มีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น แต่ขณะเดียวกันถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นประมุขของประเทศประชาธิปไตยความมั่นคงก็ลดน้อยลง พระเกียรติอันเป็นที่เป็นที่ยอมรับโดยนานาชาติก็ลดน้อยลง ในสายตาชาวโลกและทางวิชาการเป็นเช่นนั้นไม่มีใครเถียงได้


 


ส่วนนายแพทย์เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยกล่าวว่า ภาระสำคัญที่ต้องทำคือการล้มคว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการ ล้มคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) เพราะเป็นปิศาจล้มล้างประชาธิปไตย และล้มอมาตยาธิปไตยอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย


 


ระหว่างที่กล่าวคำปราศรัยไว้อาลัยเวียนกันไปนั้นฝนได้ตกลงมาหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่า นายกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือจิ้น กรรมาชน ซึ่งนำพวงมาลามาร่วมวางรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ด้วยไม่ได้กางร่มหรือหลบฝนแต่อย่างใด ยืนนิ่งสงบก่อนจะกล่าวคำคารวะดวงวิญญาณวีรชนที่สู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย รวมทั้งร้องเพลง "ปณิธานแห่งเสรีชน" ที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อต้านรัฐประหารด้วยน้ำเสียงที่ทรงพลังกึกก้องไปทั่วบริเวณอนุสาวรีย์


 


จนกระทั่งการรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใกล้เสร็จสิ้น ผู้อาวุโสที่มาร่วมพิธีการท่านหนึ่งที่ยืนข้างนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เกิดอาการขาอ่อนล้าซวนเซ นางประทีปจึงช่วยผดุงให้ทรงกายไว้ได้ แต่อีกพักหนึ่งจึงค่อยๆยุบตัวลงไปนั่งเหยียดเท้าโดยนางประทีป และคนรอบข้างร่วมประคองซึ่งผู้อาวุโสคนดังกล่าวอยู่ร่วมจนเสร็จพิธีการหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย



 



 



 



ที่มาของภาพ : คุณหวานเจี๊ยบ และ คุณ Arpihu เว็บบอร์ดพลเมืองภิวัฒน์


 


จากนั้น กลุ่มแนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหารจึงเคลื่อนย้ายไปหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์เพื่อแสดงละครจำลองเหตุการณ์การปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงโดยนายแพทย์เหวงกล่าวว่าการปราบปราครั้งนั้นนำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ทำให้มีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก สำหรับที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นสถานที่พยาบาลคนเจ็บในเวลานั้นก็ถูกทหารใช้ความรุนแรงเข้าบุกค้นด้วย สำหรับกลุ่มผู้แสดงละครในครั้งนี้มีการแปะป้ายชื่อคณะแกนนำคมช.และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่อยู่เบื้องหลังและผู้กระทำการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 หลังแสดงละครจบทั้งหมดจึงแยกย้ายกันกลับ


 


วันเดียวกัน เวลา 10.00 น.ที่สวนสันติพร ข้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรมได้มีการจัดงานไว้อาลัยเหตุการณ์ 15 ปีพฤษภา 2535 พร้อมวางพวงรีดรำลึกให้กับเหล่าวีรชนที่เสียชีวิตเช่นกัน เพียงแต่มีลักษณะการแบ่งแยกการจัดงานกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยค่อนข้างชัดเจน


 


การจัดงานรำลึกบริเวณนี้มีนายพุทธิพงษ์ ปุณกันณ์ รองผู้ว่า กทม. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สนช. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และญาติวีรชน เข้าร่วม


 


นายสุริยะใส กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 15 ปีพฤษภาทมิฬว่า เป็นไปตามกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถทำได้ เป็นจุดที่เลี่ยงไม่ได้ในกระบวนการประชาธิปไตย โดยทางกลุ่มได้คาดการณ์ไว้แล้วไม่ได้กังวลใจ โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่าที่ออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่กระบวนการการตรวจสอบภาคประชาชนยังทำไม่เต็มที่ ซึ่งทุกวันนี้สังคมไทยต้องสร้างวัฒนธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งด้านหนึ่งเราต้องทบทวนตัวเอง เนื่องจากไม่รู้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร


 


นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ในส่วนของการทำให้ประชาชนเกิดความสับสนนั้น เรื่องนี้ประชาชนต้องสับสนแน่นอน แต่ถ้าเข้าใจว่าจุดประสงค์ของแต่ละกลุ่มที่ดำเนินการคืออะไร ภาคประชาชนก็จะเป็นผู้ตัดสินเอง


 


ส่วนนายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาญาติวีรชน กล่าวถึงกรณีที่นพ.เหวง ระบุว่า ลืมอุดมการณ์ของกลุ่ม ขอยืนยันว่าไม่ได้ลืมอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการทำรัฐประหารในครั้งนี้ซึ่งปัจจุบันได้ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 และเตรียมที่จะบัญญัติเป็นรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยจะบังคับใช้กับประชาชน


 


ในฐานะที่ออกมาเคลื่อนไหวในรัฐธรรมนูญ ปี25400 เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี2550 จะคลอดออกมา ก็ต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะหากมีการบัญญัติออกมาต้องนำมาใช้กว่า 10 ปี อีกทั้งกลุ่มก็ไม่ได้สนับสนุนการทำรัฐประหาร ดูได้จากกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่มีตำแหน่งใดๆ เลย รวมทั้งได้ลาออกจากตำแหน่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะเห็นว่าการทำรัฐประหารในครั้งนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสิ่งที่ร้ายแรงเป็นอย่างมาก


 


"ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายต่อผู้สูญเสียในการทำรัฐประหาร ให้กับญาติผู้สูญเสียอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีการสูญหายเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลต้องตอบคำถามสำหรับผู้ที่สูญหายให้ได้ ว่าจะชดเชยอย่างไร และผมจะขอเรียกร้องต่อรัฐบาลต่อๆ ไป" นายพิภพ กล่าว


 


นอกจากนี้ในพิธีรำลึก ยังมีแถลงการณ์ของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 โดยเนื้อหาระบุว่า ในวาระครบรอบ 15 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมในครั้งนี้ อยู่ในช่วงรัฐบาลซึ่งมาจากเผด็จการทหาร โดยการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 2535 จึงเห็นสมควรไม่เชิญผู้แทนรัฐบาลเผด็จการนี้มาร่วมงาน แต่สิ่งที่อยากจะเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยเฉพาะกองทัพบก เนื่องในวาระครบรอบ 15 ปี ในเหตุการณ์ดังกล่าวคือ


 


1.รัฐบาลและกองทัพ ต้องคืนกระดูกวีรชน ตลอดจนผู้สูญหายในเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 ให้โดยเร็วที่สุด


 


2.ขอให้กองทัพต้องเร่งสอบสวนนำผู้กระทำผิดต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาลงโทษ ตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมไทยให้เกิดขึ้น


 


3.คณะกรรมการฯเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลเร่งคืนอำนาจให้ประชาชน โดยทำการจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net