Skip to main content
sharethis

ประชาไท 17 พ.ค. 50 -  ผลการประชุมสมัชชาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.) ประจำปี ระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมวีเทรนอินเตอร์เนชั่นแนล ทุ่งสีกัน ดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ... ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะมีการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ยังมีสาระอีกหลายประเด็นที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์  จึงได้เสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังต่อไปนี้


1. การคุ้มครองสิทธิของผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มหลากหลายทางเพศโดยไม่เลือกปฎิบัติ 


2. การจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เช่น การรักษาพยาบาลทุกคน การคุ้มครองผู้สูงอายุ การรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัย  การจัดการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


3. การปฎิรูปสื่อ โดยให้แยกองค์กรทำหน้าที่ด้านโทรคมนาคม และด้านวิทยุโทรทัศน์ และต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของ  และเข้าถึงสื่อวิทยุและโทรทัศน์


4. สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม การเสนอกฎหมายต้องมีตัวแทนประชาชนเข้าร่วมพิจารณากฎหมายในทุกขั้นตอน 


5. การทำข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างประเทศ จะต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล และร่วมพิจารณาให้ความเห็น   และต้องให้รัฐสภาพิจารณาก่อนทำสัญญาข้อตกลง


6. รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรม ความเลื่อมล้ำ ในสังคมมาโดยตลอด


7. การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม โดยใช้มาตรการการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า  เช่น ภาษีทรัพย์สิน  ภาษีที่ดิน  ภาษีมรดก


8. สิทธิชุมชนท้องถิ่น ต้องให้ชุมชนท้องถิ่นทุกชุมชนมีสิทธิตัดสินใจในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนโดยตรง


9. ให้มีองค์กรอิสระผู้บริโภคที่มีสำนักงานเป็นอิสระและได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ ในการบริหารงาน  รวมทั้งให้มีองค์กรอิสระด้วนความปลอดภัยในการทำงาน


10. การเกษตร รัฐต้องสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยทั้งการผลิตและการตลาด การรวมตัว รวมทั้งการเป็นเจ้าของที่ดินและทรัพยากรทางพันธุกรรมตลอดจนการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกร


11. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต้องปรับปรุงองค์ประกอบและคุณสมบัติขององค์กรอิสระ โดยให้มีส่วนร่วมจากองค์กรภาคประชาชน  ราชการ   องค์กรสื่อมวลชน  และองค์กรวิชาชีพ    เช่น   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา  เป็นต้น


12. การกระจายอำนาจ ต้องรับรองให้ประชาชน องค์กรชุมชน มีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดแผนพัฒนาท้องถิ่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดบริการสาธารณะ


13. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นการเลือกตั้งเขตแบบหนึ่งเขตหนึ่งคน (จัดให้เป็นเขตเล็ก) มีระบบปารตี้ลิสต์ ให้เป็นบัญชีรายชื่อหลายบัญชี 


14. สมาชิกวุฒิสภา ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยมีการปรับปรุงฐานการเลือกตั้งที่ทำให้ตัวแทนของเครือข่ายประชาชนเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกได้  และไม่กำหนดวุฒิการศึกษาของวุฒิสมาชิก   


นอกจากนี้ยังได้เสนอให้การปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยปฏิรูประบบราชการ การเงินการคลัง การจัดเก็บภาษี สื่อต่างๆ ของรัฐ และกลไกอื่นๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้และสวัสดิการ การตรวจสอบ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมทั้งการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นพลเมือง และการส่งเสริมตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน และประชาสังคมในทุกระดับ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net