Skip to main content
sharethis

รศ. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ในเอกสารประกอบการแถลงข่าวของ คตส. ได้ใช้คำว่า "Treason" ซึ่งคตส. แปลว่า   "การทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน" ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจสมควรตั้งข้อสังเกตดังนี้


1. ความผิดฐาน Treason คืออะไร
จากการศึกษากฎหมายอาญาของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายอาญาของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ พบว่า ความผิดฐาน
Treason หรือ High treason นั้นหมายถึง การทรยศ (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กบฏ) หรือหมายถึง ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐทั้งที่เกิดจากภายในและภายนอกราชอาณาจักรโดยส่วนที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้นได้แก่ กรณีที่บุคคลได้มีเจตนาปลงพระชนม์ประมุขของรัฐ หรือทำร้ายประมุขของรัฐ รวมไปถึง การล้มล้างรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย การล้มล้างรัฐธรรมนูญ


ส่วนที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายนอกราชอาณาจักร ได้แก่ กรณีที่ช่วยเหลือศัตรูของรัฐ (ซึ่งโดยปกติเป็นรัฐต่างประเทศ) โดยมีเจตนาให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกไปอยู่อำนาจของรัฐต่างประเทศ หรือคบคิดกับบุคคลกระทำการเพื่อให้เปิดประโยชน์แก่รัฐศัตรู หรือทำการรบกับประเทศของตน (levies war against the state) (การกระทำเหล่านี้ รวมไปถึงผู้ใช้ ผู้สนับสนุนด้วย) กฎหมายอาญาของหลายประเทศรวมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ (เช่นของประเทศสหรัฐอเมริกา[1] ไอร์แลนด์ ฯลฯ) ถือว่าเป็นความผิดฐานทรยศชาติ


ด้วยเหตุนี้ การใช้ถ้อยคำว่า "ความผิดฐานทรยศต่อความไว้วางใจประชาชน" ว่าหมายถึง Treason จึงมิได้มีนัยสำคัญทางกฎหมายแต่ประการใด การที่ คตส. ใช้คำนี้นั้นอาจเข้าใจได้สองทางคือ คนใช้ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า Treason หรือไม่ก็เป็นเพียงการประดิษฐ์ถ้อยคำขึ้นเองเพื่อให้ดูหวือวา เพิ่มสีสันทางการเมืองเท่านั้นเอง


2. กฎหมายของไทยมี "ความผิดฐานทรยศชาติ" และ "ความไว้วางใจประชาชน" หรือไม่
จากคำอธิบายข้างต้น ความผิดฐานทรยศชาติมีความหมายกว้างขวาง รวมการกระทำผิดอาญาไว้หลายลักษณะ ประมวลกฎหมายอาญาของไทยมิได้ใช้คำว่า "ความผิดฐานทรยศ" โดยตรง แต่ก็ครอบคลุมเนื้อหาของความผิดฐานนี้ไว้อย่างเพียงพอ (โปรดดูมาตรา 107 ถึงมาตรา 129 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)


อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานทรยศต่อความไว้วางใจประชาชนนั้นตามกฎหมายอาญาของไทยไม่มีความผิดฐานนี้ และเข้าใจว่ากฎหมายอาญาของประเทศอื่นก็ไม่มีความผิดนี้ด้วย


3. การทำลายหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือพวกพ้อง
ในเอกสารประกอบการแถลงข่าวของ คตส. กล่าวว่า การใช้อำนาจทางการเมืองที่จะเข้าข่ายลักษณะของการทรยศความไว้วางใจประชาชนนั้นจะต้องมีความมุ่งหมายเพื่อทำลายหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญหรือ เพื่อแสงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือพวกพ้องนั้น มีข้อสังเกตดังนี้


            3.1 การทำลายหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ: หลักนิติรัฐ
การที่ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยไม่คำนึงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจ (ซึ่งรวมอยู่ในความหมายของหลักนิติรัฐด้วยนั้น) เช่น การให้ศาลเสนอร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาได้เอง การให้ฝ่ายตุลาการเป็นองค์คณะแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ของชาติ การให้ศาลเป็นกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิก รวมทั้งการกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมทั้งการกระทำในอดีตและอนาคตด้วยนั้น (ซึ่งโดยปกติแล้ว วัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรมนั้นเป็นการไม่เอาผิดกับเหตุการณ์ในอดีตที่จบลงไปแล้ว) อย่างนี้ไม่ทราบว่า สสร. มุ่งทำลายหลักนิติรัฐและเข้าข่ายการทรยศความไว้วางใจประชาชนหรือไม่


หลักนิติรัฐนั้นยังรวมถึงการให้ความคุ้มครองหรือการจัดหามาตรการที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนด้วย โดยกรณีที่ คตส. เองมิได้อนุญาตให้ทนายให้เข้าร่วมรับฟังกรณีที่ คตส. เรียกคุณพานทองแท้ ชินวัตรเข้าพบ อย่างนี้มิเป็นการพรากสิทธิของบุคคลที่จะติดต่อกับทนายของตนดอกหรือ ซึ่งสิทธินี้ก็ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในมาตรา 14 (3)


นอกจากนี้หลักนิติรัฐยังคลุมถึงหลักกฎหมายสำคัญในกฎหมายอาญาอีกด้วย เช่นหลักการสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumed innocent) อีกด้วย หลักนี้เป็นหลักสากลที่นานาประเทศยอมรับอีกทั้งยังได้รับการยืนยันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในมาตรา 14 (2) หลักนี้หมายความว่า ในคดีอาญา เฉพาะคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงให้เห็นถึงความผิดของบุคคล ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ แต่ทุกวันนี้คตส. กลับออกมาชี้แจง อธิบายรายวันถึงความผิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่คตส. มิใช่ศาลยุติธรรม แต่เป็นเพียงองค์กรเฉพาะกิจที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร พฤติกรรมอย่างนี้เข้าข่ายทำลายหลักสันนิฐานเกี่ยวกับความเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่


อีกทั้งการแต่งตั้งคตส. นั้นแทนที่จะแต่งตั้งโดยพิจารณาจาก "องค์กรหรือหน่วยงาน" ที่มีความรับผิดชอบโดยตรงกลับแต่งตั้ง "ตัวบุคคล" แทน ซึ่งคตส. ซึ่งคตส. หลายท่าน (ในสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร) ก็ได้แสดงความคิดเห็น ท่าที ทรรศนะคติ ฯลฯ ในหลายโครงการของรัฐบาลทักษิณต่อสาธารณาชนแล้ว ดังนั้น การปฎิบัติหน้าที่ของคตส. จึงหลีกเลี่ยงข้อครหาว่ามีอคติไปไม่ได้ ซึ่งโดยจริยธรรมแล้ว (ที่รัฐบาลขิงแก่และคมช. ชูนักหนาในเวลานี้) คตส. บางท่านควรถอนตัวเสีย การยังคงทำหน้าที่อยู่ต่อไปนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของผลการปฏิบัติงานอย่างแน่นอน


3.2 เพื่อแสงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือพวกพ้อง
เป็นที่รับรู้กันว่า หลังรัฐประหาร คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งองค์กรเฉพาะกิจมาหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น คมช. สนช. สสร. คตส. ซึ่งมีค่าตอบแทนคนละแสนต่อเดือน หลายคนที่เข้าไปดำรงตำแหน่งพวกนี้ก็เป็นพรรคพวกหรือคนที่คุ้นเคย ใกล้ชิด หรือฝากฝังแนะนำกันต่อ ๆ กันมา แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ คนเหล่านี้ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับนายกทักษิณ อย่างนี้ไม่ทราบว่าการแต่งตั้งตำเเหน่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการการทำเพื่อแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือพวกพ้องหรือไม่ เป็นการทรยศความไว้วางใจต่อประชาชนหรือไม่


โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกคมช. ที่อ้างว่าทำเพื่อประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง เรียกตนเองว่าเป็น "วีรบุรุษ" แต่แล้วทำไมจึงยอมรับค่าตอบแทน รวมถึงที่เหล่าคมช. เข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่มีเงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม โบนัสจำนวนมาก ลฯล ถ้าหากทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนแล้ว โปรดดู "รุ่นพี่" ของพวกท่านอย่างท่าน พ.อ พระยาทรงสุรเดช พ.. พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พ.. พระประศาสน์พิทยายุทธ สามทหารเสือของคณะราษฎรที่ปฎิเสธที่จะรับยศขั้นเงินเดือนสูงขึ้น หรือฉกฉวยกอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตนเอง ทั้ง ๆ ที่อยู่ในฐานะจะทำได้ แต่ท่านก็ไม่ทำ ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน ข้อครหาและเป็นข้อพิสูจน์แก่ประชาชนว่า การปฎิวัติ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เป็นการทำเพื่อประชาชนคนไทยอย่างแท้จริงมิใช่ผลประโยชน์ของตนเอง นี่แหละ "วีรบุรุษ" แท้จริงของคนไทย


4. การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ: Treason ตัวจริง
กฎหมายอาญาของหลายประเทศบัญญัติว่า การล้มล้างรัฐบาลที่มาด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ (overthrow the government) นั้นเป็นความผิดฐานทรยศต่อชาติ ฉะนั้น การทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จึงเป็นความผิดฐานทรยศ หรือกบฏ เพียงแต่ที่ผ่านมาในอดีต รัฐบาลหลังรัฐประหารไม่เคยหยิบประเด็นนี้ขึ้นพิจารณาอย่างจริงจังเพราะติดขัดข้อกฎหมายสองเรื่องคือการนิรโทษกรรมและความคิดที่ว่าคณะรัฐประหารที่ทำสำเร็จถือว่าเป็น "องค์อธิปัตย์" มิใช่ "กบฏ" อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ควรมีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาทบทวนอีกครั้งเพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะลงโทษผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อตัดวงจรอุบาทและเพื่อเป็นบรรทัดฐานมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป


บทส่งท้าย
หวังว่า เมื่อผู้อ่านอ่านจบข้อเขียนนี้แล้ว คงตอบคำถามที่ผู้เขียนตั้งไว้เป็นชื่อบทความได้ว่า ใครคือผู้ที่ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน


 





[1] Article III section 3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net