โกลาหล ห้องนักข่าวสภา ว่าด้วย พุทธ - ไม่พุทธ

ประชาไท - 17 พ.ค. 50 นายปริญญา ศิริสาการ กรรมาธิการการมีส่วนร่วมและการประชามติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวว่า จากที่ได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคต่างๆ พบว่าในหลายเวทีเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ พบว่ามีพระสงฆ์จำนวนมากไปร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นการให้บรรจุพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ มีลักษณะของการจัดตั้งร่วมกับฆราวาส เพราะเมื่อแสดงความเห็นในประเด็นนี้เสร็จ ก็จะให้มีการโหวต จากนั้นก็เดินทางกลับโดยไม่สนใจฟังในประเด็นอื่นอีกต่อไป

 

เหตุการณ์ลักษณะนี้ พบในทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นที่อุบลราชธานี ชัยภูมิ เชียงใหม่ โดยมีสถาบันสงฆ์ใหญ่ให้การสนับสนุนด้านการเงินกับวัดในชนบท เข้าแผนป่าล้อมเมือง ทั้งยังพบการแจกใบเชิญชวนให้ สสร.บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ โดยในท้ายเอกสาร ประณามผู้ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เช่น ใครไม่เห็นด้วย เป็นคนไม่มีศีลธรรม เป็นตัวเสนียดจัญไร

 

หลังจากที่คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและการประชามติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ส.ร.เป็นประธานแถลงข่าวเสร็จสิ้นแล้วนั้น พล.อ. ปรีชา โรจนเสน ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่สนับสนุนการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และยืนฟังการแถลงข่าวอยู่นอกห้อง ได้เดินเข้ามาสอบถามส.ส.ร.ที่ร่วมแถลงข่าวด้วยหน้าตาเคร่งเครียดว่า แถลงข่าวเรื่องอะไร ถ้ามาแถลงข่าวต่อต้านเรื่องการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็จะขอมาชี้แจงว่า ตนก็มีข้อมูลที่ประชาชนส่งมายังกรรมาธิการที่ต้องการให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเช่นกัน

 

ซึ่งนายปริญญา ศิริสาการ กรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงกลับว่า ไม่ได้มาแถลงข่าวว่าไม่ควรบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่มาแถลงข่าวว่า มีขบวนการที่เข้าไปแทรกซึมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในต่างจังหวัด โดยในบางจังหวัดถึงกับคุยในประเด็นอื่นไม่ได้ เพราะกลุ่มพระสงฆ์ร้อยกว่ารูปเข้าไปป่วนเวที และดึงให้เสวนาอยู่ภายในเรื่องเดียว พอเวลาถึงคราวที่ต้องยกมือโหวตก็โหวตอยู่ในประเด็นเดียว และไม่ยอมพูดคุยในประเด็นอื่น ซึ่งกรรมาธิการก็รู้สึกอึดอัดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงส่งเรื่องมายังกรรมาธิการให้หาวิธีแก้ไข จึงได้มาแถลงข่าวเพื่อให้สื่อมวลชนทราบข้อเท็จจริง

 

เขากล่าวต่อ ว่าหากพล.อ.ปรีชายังสงสัยในประเด็นใด ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งต่อไป ขอให้พล.อ.ปรีชาไปร่วมด้วย ไปดูด้วยกันให้เห็นกับตาเลย ซึ่งพล.อ.ปรีชาก็รับปากว่าจะไปด้วยในการจัดเวทีครั้งต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ปรีชา ไม่ได้รับฟังการแถลงข่าวตั้งแต่แรก พยายามเบี่ยงประเด็นว่ากรรมาธิการมีคนจำนวนมากที่ส่งเรื่องมาว่าต้องการให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จนทำให้นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมาธิการที่ยืนดูเหตุการณ์จึงแย้งกลับไปว่า วันนี้อยากขอให้พูดกันในประเด็น ไม่อยากให้มีการออกนอกเรื่อง อยากให้พล.อ.ปรีชาเข้าใจว่า ตอนนี้มีขบวนการทางการเมืองเพื่อกดดันให้มีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึงกรรมาธิการภาคเหนือ ส่งข้อมูลมาให้ตนถึงการก่อกวนของกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีพระสงฆ์เข้ามาร่วมด้วย กลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่ประมาณร้อยกว่าคน ซึ่งเวลาที่จัดเวที มีคนเข้าร่วมประมาณสองร้อยกว่าคน แล้วถ้ามีการจัดตั้งคนมาร้อยกว่าคน ข้อมูลที่ได้มาก็จะมีความผิดเพี้ยน อยากให้มีการเปิดใจคุยกันในเรื่องนี้ว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

 

"พวกผมกำลังรวบรวมหลักฐานการโอนเงินจากวัดที่รวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ให้กลุ่มผู้ชุมนุมหัวละ 5 พันบาท ซึ่งข้อมูลนี้พวกผมก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งถ้าได้ข้อมูลที่ชัดเจน ต้องมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน จึงอยากถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้พล.อ.ปรีชาในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการศาสนาของสนช. รู้สึกอย่างไร" นายเจิมศักดิ์กล่าว

 

พล.อ. ปรีชา กล่าวว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องของการชุมนุมหน้ารัฐสภานั้น ก็เคยเข้าไปขอร้องกับกลุ่มพระสงฆ์แล้วว่า ให้กลับไปวัดเหมือนเดิม เพราะมาชุมนุมอยู่ที่นี่อะไรก็ลำบาก จะสรงน้ำหรือฉันอาหารก็ทำได้ไม่สะดวก ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปคุยกับพล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล แกนนำองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทยอีกคั้ง อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าข้อมูลของประชาชนที่ต้องการให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติมีเป็นจำนวนมากเช่นกัน

 

นายปริญญา จึงซักพล.อ.ปรีชา อย่างมีอารมณ์ว่า อยากถามท่านว่า ในการเขียนพ.ศ.ของประเทศไทย ได้บรรจุอย่างชัดเจนว่า "พุทธศักราช" เหมือนกับที่ศาสนาคริสต์ ได้บรรจุการนับปีว่า "คริสตศักราช" เท่านี้จะเพียงพอหรือไม่ พล.อ.ปรีชา ตอบนายปริญญากลับอย่างมีอารมณ์เช่นกันว่า "ไม่ได้ จะต้องมีการบรรจุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลัง และทำนุบำรุงให้ศาสนาอยู่ได้อย่างยืนยาวต่อไป"

 

การตอบคำถามของพล.อ.ปรีชา ทำให้นายกฤษดา ให้วัฒนานุกูล ส.ส.ร.ที่ยืนฟังการแถลงข่าวซักถามพล.อ.ปรีชา อย่างมีอารมณ์ว่า ตนเป็นส.ส.ร.ที่มาจากตัวแทนภาคเกษตรกร อยากถามว่าหากมีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ การประกอบพิธีพืชมงคลจะหายไปหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นการประกอบพิธีของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่การประกอบพิธีของศาสนาพุทธ และห้ามไม่ให้มีการนับถือเทพเจ้าต่างๆ ด้วย เพราะเทพเจ้าเป็นของศาสนาพราหมณ์ไม่ใช่ศาสนาพุทธ

 

ในประเด็นนี้พล.อ.ปรีชา ตอบว่า ศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์ แยกไม่ออกจากกัน เพราะว่ารอยต่อของศาสนาติดต่อและเชื่อมโยงกันมาก ซึ่งหากมีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจะทำให้เราออกกฎหมายมาคุ้มครองศาสนาพุทธได้

 

ในประเด็นนี้ นายเจิมศักดิ์ ได้ซักว่า แล้วพ.ร.บ.สงฆ์หรือระเบียบวินัยสงฆ์ ทำไมยังออกได้แม้ไม่มีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ขอเรียนตรงๆ ว่าพวกตนไม่ได้ติดใจอะไรหากจะให้มีการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ถ้ามีการบัญญัติแล้วจะต้องออกกฎหมายลูกมาตรวจสอบการกระทำของสงฆ์อย่างเคร่งครัดได้ โดยหากพระสงฆ์รูปใดไม่ปฎิบัติตามศีลของพระสงฆ์สองร้อยกว่าข้อให้ถูกดำเนินคดีทางอาญาได้ และทรัพย์สินทั้งหมด พระสงฆ์ต้องไม่ถือครองจะต้องมีกรมธนารักษ์ที่ตรวจสอบทรัพย์สินของสงฆ์ แม้กระทั้งปัจจัยทัยทานที่ได้จากกิจนิมนต์ ต้องมอบให้เป็นของส่วนกลางและหากพระสงฆ์รูปใดที่ทำการปลุกเสกอาคม เวทย์มนต์ของศักดิ์สิทธิ์ก็จะต้องถูกลงโทษทางกฎหมายเพราะเป็นการผิดหลักศาสนาพุทธ

 

"เราจะต้องทำการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดโดยจะต้องมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ปปช.พระ รวมทั้งมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.พระ) และสรรพากรพระอย่างเป็นทางการด้วย ซึ่งผมได้หารือกับอ.แก้วสรร อติโพธิ คตส.แล้วว่าทำได้ ถ้าหากบัญญัติแล้วกำหนดบทลงโทษอย่างเคร่งครัดอย่างนี้พวกผมก็เอาด้วย ต่อไปเงินที่พระได้รับจากกิจนิมนตร์ห้ามเอาไปให้ญาติโยม ต้องเป็นของหลวงทั้งหมด จะไม่มีกรณีที่มรณภาพๆ แล้วพบเงิน 20 ล้านซุกซ่อนอยู่ในกุฏิ" นายเจิมศักดิ์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเรื่องนี้ทำให้พล.อ.ปรีชา ถึงกับหน้าถอดสีแต่ก็รับว่าถ้าจะเอาอย่างนั้นก็ได้

 

ในการแถลงข่าว คณะกรรมาธิการได้นำเอกสารที่เป็นคำสั่งของมหาเถรสมาคมเรื่องการห้ามพระภิกษุ สามเณร เกี่ยวข้องกับการเมือง พุทธศักราช 2538 มาแจกจ่ายให้สื่อมวลชนด้วยโดยในเอกสารระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่2 พ.ศ.2535 มหาเถรสมาคม จึงออกคำสั่งไว้ดังต่อไปนี้ อาทิ ห้ามพระภิกษุ สามเณร เกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 ห้ามพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคลใดๆ ห้ามพระภิกษุสามเณร ร่วมอภิปรายหอบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด ซึ่งหากพระภิกษุสามเณร รูปใดฝ่าฝืน ละเมิดคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ให้พระสังฆาธิการ ผู้ปกครองใกล้ชิด ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน โดยคำสั่งนี้ลงชื่อสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท