Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 พ.ค.50 หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคมและแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการเรื่องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม


 


 


สภาหอการค้าหนุนซีแอล ชี้ปัญหาแท้จริงอยู่ที่ค่าเงิน


นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะอนุกรรมการประเด็นการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสภาหอการค้าเห็นด้วยกับการใช้ซีแอล และพบว่ามีความเข้าใจผิดหลายประการโดยเฉพาะการโยงว่าการใช้ซีแอลจะนำไปสู่การถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางการค้า หรือจีเอสพี ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวข้องกัน โดยได้รับการยืนยันจากภาคธุรกิจของสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีสินค้าไทยหลายรายการโดยเฉพาะเครื่องประดับที่ทำจากทองที่อาจถูกตัดจีเอสพีอยู่แล้วหลังวันที่ 1 ก.ค. เพราะเป็น CNL หรือสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขันแล้วไม่จำเป็นต้องพึ่งสิทธิพิเศษในการลดภาษี


 


"ปัญหาสำคัญของผู้ส่งออกตอนนี้ไม่ใช่จีเอสพี แต่เป็นอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทย ภาวะเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้ลงข่าวว่าแย่ แต่เงินบาทแข็งขึ้นตลอด 2 ปี แข็งกว่าทุกประเทศในภูมิภาค มันเป็นความผิดพลาดในการดูแลค่าเงินของธนาคารชาติ ทำให้สินค้าที่เข้าไปในสหรัฐ ทำให้สินค้าที่ส่งเข้าไปในสหรัฐ ผู้ซื้อไม่อยากซื้อเพราะมันแพงเนื่องจากค่าเงินที่แข็งตัว ทำให้ผู้ส่งออกกระวนกระวายและไม่รู้จะไปโทษใคร พอดีมีเรื่องซีแอล ก็เลยโทษซีแอลกลัวว่ามันจะเป็นการซ้ำเติม"


 


นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า กรณีของบราซิลหลังจากมีการประกาศเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ให้บราซิลลดระดับจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษหรือPWL มาเป็นประเทศที่ต้องจับตามองหรือ WL ในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากนั้นวันที่ 4 พ.ค.บราซิลก็ประกาศบังคับใช้สิทธิทันที นับว่าเป็นจังหวะที่เหมาะกว่าไทย อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีเวลาอีกปีหนึ่งกว่าสหรัฐจะมีการจัดอันดับใหม่


 


ตัวแทนจากสภาหอการค้าไทยระบุต่อว่า ประเด็นโต้แย้งของสหรัฐที่สำคัญคือการอ้างว่าไทยละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มีการอ้างตัวเลขด้วยว่าในปี 2006 สหรัฐเสียหายมีมูลค่า 368 ล้านเหรียญ ขณะที่ปี 2005 เสียหายมูลค่า 335 ล้านเหรียญ นอกจากนี้สหรัฐยังระบุว่าหลังการรัฐประหารทหารให้รางวัลตัวเอง 9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันงบของทหารก็เพิ่มขึ้น 1.1 พันล้านเหรียญ ขณะที่งบสาธารณสุขตัดไป 400 ล้านบาท


 


สหรัฐขู่ซีแอลทำให้ไทยไม่ได้ยาตัวใหม่


"เขาบอกว่า สิ่งที่เราทำมีผลต่อยาใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่มีใช้ พวกโรงงานผลิตยาจะไม่เอามาขาย สิ่งที่เขาคิดว่ามันเสียหายมากคือการคาดเดาไม่ได้ สหรัฐอ้างว่าบราซิลใช้ซีแอลรับได้ เพราะให้โอกาสบริษัทยาแจ้งว่าจะใช้ซีแอลแล้วเวลาต่อรองราคายา แต่ไทยขอลดราคาโดยไม่ได้บอกว่าจะใช้ซีแอล เขาจึงว่าไทยไม่โปร่งใส" นายบัณฑูรกล่าวและเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากนี้ทางสหรัฐยังอ้างว่าองค์กรเภสัชกรรมของไทยเป็นองค์กรทำกำไรและประเทศไทยก็มีผู้ที่ติดเชื้อเอดส์เพียงร้อยละ 1 จะเข้าข่ายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องใช้ซีแอลได้อย่างไร


 


"เราต้องทำความเข้าใจว่าทรัพย์สินทางปัญญาคือการผูกขาด ในการเจรจา FTA สหรัฐก็ยังเรียกร้องเรื่องนี้ ให้เปลี่ยนกฎหมายไทยให้เรื่องเป็นความผิดอาญา แม้แต่การถ่ายเอกสารตำราเรียนของเขาซึ่งมีราคาแพงมาก ผมเคยบอกเขาว่า รายได้ของไทยไม่เหมือนฝรั่ง ถ้าอยากจะให้เราคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ กำหนดราคาขายของเขาให้สะท้อนกับรายได้ของเราด้วย ยาก็เช่นกัน เขาควรขายยาที่มีสิทธิบัตรอย่างสอดคล้องกับรายได้ของคนในชาตินั้นๆ แต่เขากลับขายในไทยต่ำกว่าราคาในสหรัฐไม่ถึง 10%" นายบัณฑูรกล่าว


 


หมอวิชัยชี้แจงไทยทำโปร่งใสตามกฎหมาย


นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรมกล่าวว่า เรื่องที่ว่าเราไม่โปร่งใส่เพราะไม่ได้แจ้งบริษัทยาก่อนนั้น ขอชี้แจงว่าการใช้ซีแอลนี้ทำตามกกฎหมายของเรามาตรา 51 เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของรัฐ หรือที่ปรากฏในทริปส์ว่าเป็นการสาธารณะไม่แสวงหากำไร และกำหนดว่าไม่ต้องขออนุญาตหรือบอกกล่าวก่อน รัฐบาลสามารถทำได้เลย แต่ในความเป็นจริงก็ได้บอกกล่าวก่อนโดยการประกาศเมื่อ 29 พ.ย.49 ว่าจะทำซีแอล แต่ยังไม่ได้ทำ นั่นคือช่วงที่จะมาเจรจากัน


 


"เราทำเหมือนบราซิลทุกประการ เราก็ไม่ทราบว่าเขาไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ หลังจากเราประกาศ เขาก็มาเจรจาแต่ราคาที่ลดเราคิดว่าน่าจะลดกว่านั้นได้อีก สำหรับอีก 2 ตัวเราก็ประกาศเมื่อ 25 ม.ค.จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้บังคับใช้เช่นกัน"


 


นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการกล่าวหาของ USA for Innovation ที่ระบุว่างบสาธารณสุขถูกตัดไปโปะงบทหารนั้นในข้อเท็จจริงงบประมาณด้านสาธารณสุขในปี 2549 มีงบต่อหัว 1,695 บาทต่อคนต่อปี ปี 2550 เพิ่มอย่างก้าวกระโดด 1,899 บาทต่อคนต่อปี หรือเพิ่ม 240 บาททั้งที่โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2544 จะเพิ่มเพียงปีละประมาณ 100 บาท ส่วนงบที่จะไปเพิ่มด้านการทหารมากน้อยแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่งและเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายทหารต้องชี้แจง


 


สธ.อาจนำเข้ายาอีก 2 ตัวจากอินเดีย


นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนยาคาแลทตรา ยาต้านไวรัสสูตรสำรองของบริษัทแอบบอตที่ได้ประกาศซีแอลไปด้วยนั้น สมัยก่อนเราซื้อ 2,200 เหรียญต่อคนต่อปี สุดท้ายบริษัทลดราคามาเหลือ 1,000 เหรียญทั่วโลก และในประเทศยากจนมากๆ เหลือ 500 เหรียญ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องยกเลิกเรื่องซีแอล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ไปคุยกับบริษัทเมตริกซ์ บริษัทผลิตยาชื่อสามัญของอินเดีย ซึ่งเสนอ 850 เหรียญ แต่เมื่อเราไปร่วมกับมูลนิธิคลินตันเพื่อรวมกำลังซื้อกับอีกหลายประเทศ ทำให้บริษัทสามารถลดราคาได้ถึง 655 เหรียญต่อคนต่อปี


 


"เราอาจจะเคาะราคาตรงนี้ แต่ถ้าแอบบอตบอกว่าจะลดให้เหลือ 500 เหรียญต่อคนต่อปี เราก็จะซื้อของแอบบอต ต้องดูต่อไป เพราะเราจะซื้อจริงประมาณกรกฎาคม ส่วนยารักษาโรคหัวใจ ประกาศแล้ว ยังไม่ได้บังคับ บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรก็ประกาศลดราคาแล้ว จากเม็ดละ 97 บาทเหลือ 27 บาทกว่า แต่ผมไปได้ราคาที่อินเดีย 3 บาท ก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอาจากไหน"นพ.วิชัยกล่าว


 


นักเศรษฐศาสตร์ชี้ควรคุ้มครองสิทธิบัตรต่างระดับกันในแต่ละอุตสาหกรรม


รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ซีแอลไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพราะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีทั้งด้านบวกและลบ ต้องการการถ่วงดุลเช่นกัน ในอุตสาหกรรมแต่ละอย่างต้องการการคุ้มครองที่แตกต่างกัน แต่ไม่เคยมีการศึกษาให้ชัดเจนว่าสิทธิบัตรในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทควรคุ้มครองนานเท่าไร และครอบคลุมแค่ไหน


 


"กรณีเรื่องยา มีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนพยายามบอกว่า ซีแอลไม่ใช่กลไกที่ดี แต่ก็คำนึงว่าการเข้าถึงยาเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงเสนอว่าการตั้งราคายาตามมาตรฐานการครองชีพของแต่ละประเทศน่าจะเหมาะสม และแบบจำลองที่สร้างขึ้นในกรณีจะทำให้บริษัทยาดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะขายยาได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงบริษัทยายอมลดราคาลงเพียงนิดเดียว เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองที่ไม่เท่ากัน ดูจากอุตสาหกรรมยาที่จ้างล็อบบี้ยิสต์เป็นอันดับสองรองจากบุหรี่"


 


นักรัฐศาสตร์ชำแหละจักรวรรดินิยมใหม่ และมายาคติเรื่องนวัตกรรม


ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นผลผลิตของสหรัฐแล้ว นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกล้าประกาศใช้นโยบายนี้ ส่วนการกล่าวหาว่าไทยเป็นเหมือนรัฐบาลทหารพม่านั้นเป็นเรื่องการ "เอาข้างถู" ของสหรัฐ


 


"สิ่งที่คนไม่เข้าใจในฐานะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คือ นี่เป็นจักรวรรดินิยมอเมริกัน จักรวรรดินี้ได้สร้างระบอบทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมา เรียกว่า New Property Regime ไม่ใช่แค่ New World Order ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถทำให้เป็นของเอกชนได้ อาจรวมถึงร่างกายของท่านด้วย"


 


ผศ.สุรัตน์กล่าวว่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาถูกชูว่าเป็นภาวะสมัยใหม่ที่ทุกประเทศต้องก้าวไป ทั้งที่มันไม่ใช่การแข่งขันอย่างที่กล่าวอ้าง เป็นการขูดรีดกันแบบตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลและชัดเจนทั่วโลก


 


นอกจากนี้ผส.สุรัตน์ยังชี้ว่า ปัจจุบันสังคมเผชิญกับมายาคติของการแข่งขันเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งที่การสร้างนวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีความจำเป็น ที่สำคัญ การสร้างนวัตกรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่สามารถส่งต่อความรู้เพื่อให้เกิดนวัตกรรมอื่น อีกทั้งหากกล่าวว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่นำไปสู่นวัตกรรม ถามว่าการละเมิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1960s ทำไมยังเกิดนวัตกรรม


 


นอกจากนี้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับระบบทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลายก็ไม่อยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะคนส่วนใหญ่ของโลกเป็นผู้หญิงที่ไม่ใช่ผิวขาว พวกเขาไม่เคยมีโอกาสตัดสินใจเรื่องทริปส์หรือใดๆ ก็ตาม ทั้งยังถูกขูดรีดมากที่สุด และนิ่งเงียบมากที่สุด


 


"ปัจจุบันนี้การค้าขายเป็นแบบนี้ อำนาจบรรษัทใหญ่โตขนาดนี้ จริยธรรมขั้นพื้นฐาน สิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตมนุษย์คืออะไร คำถามเหล่านี้เราลืมแล้ว" เขากล่าวด้วยว่า คำถามพื้นฐานที่สุดคือคำถามเชิงจริยธรรม เพราะอย่างอื่นล้วนแต่สามารถเลือกใช้ตรรกะได้ ชักแม่น้ำทั้งห้ามาได้หมด บางทีอาจต้องหันไปหาคำถามง่ายๆ ของศาสนาพุทธว่าถ้าเป็นตัวคุณ ญาติคุณที่ไม่มีเงินเล่า"


 


ผศ.สุรัตน์ ยังระบุว่า ข้ออ้างที่กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่มีการแจ้งบริษัทก่อนนั้น อันที่จริงบริษัทต้องเป็นฝ่ายบอกรัฐว่าต้องการลดราคาเท่าไร ไม่ใช่รัฐต้องแจ้งบริษัท บริษัทจะมีอำนาจใหญ่กว่ารัฐได้อย่างไรหากรัฐเป็นตัวแทนของประชาชน


 


เตือนอย่าหยุดเท่านี้ ต้องสร้างเครือข่ายปลุกประเทศอื่น


อย่างไรก็ตาม เขาเตือนรัฐบาลว่าสหรัฐจะไม่มีทางหยุดการกดดันให้เลิกใช้ซีแอลเด็ดขาด อย่ามองเรื่องนี้ด้วยตัวมันเอง หรือเชื่อมโยงแค่จีเอสพี จักรวรรดิไม่เคยแยกเรื่อง เขาอาจโยงกับเรื่องอะไรก็ได้ไม่ว่าขาทางเศรษฐกิจ ขาทางทหาร ขาทางวัฒนธรรม ขาทางเทคโลโลยี


 


"ฉะนั้น วันนี้เรามีมิตรทางความคิดและการกระทำอย่างบราซิลแล้ว มีอินเดียแล้ว เราสามารถทำตรงนี้ให้ไปเรื่อยๆ ได้ไหม ถ้าไปได้ระบอบของจักรวรรดิในด้านทรัพย์สินทางปัญญานี้ก็จะอ่อนตัวลง แต่ถ้าไปต่อไม่ได้ ก็จะกลายเป็นประเทศนี้ที่ต้องจ่ายราคา ต้องระวัง ช่วงนี้ยังอยู่ในแรงเหวี่ยงอยู่ ลองดูดีๆ ว่าหมากต่อไปเขาจะทำอะไร อย่านั่งนิ่งเฉยๆ ปลุกคนอื่นๆ ให้ทำในสิ่งที่ควรจะทำดีกว่า" ผศ.สุรัตน์กล่าว


 


อาจารย์-นิสิต 12 สถาบันร่วมหนุนซีแอล


ขณะเดียวกันภายนอกห้องประชุม ตัวแทนนักศึกษา อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ 12 สถาบันได้แถลงข่าวการรวบรวมรายชื่อเพื่อสนับสนุนมาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐเพื่อให้คนไทยที่จำเป็นต้องใช้ยาสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง พร้อมระบุว่า "การบิดเบือนข้อมูลทางวิชาการเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ โดยกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่โปร่งใสในการดำเนินการ ตลอดจนการกล่าวหาว่ายาที่ผลิตในประเทศไทยไม่มีคุณภาพนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและหลักมนุษยธรรม"


 


ตัวแทนสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทยกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 29-30 มิ.ย.นี้จะมีการจัดสัมมนาเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วันที่ 28 พ.ค.ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมถึงที่จุฬาฯ ซึ่งยังไม่ทราบวันที่แน่ชัด โดยจะมีการอธิบายเรื่องนี้ให้กับนิสิตใหม่ของคณะเภสัชฯ ด้วย


 


สปสช.ศึกษาซีแอลยามะเร็ง


วันเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสปสช. เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 2 และเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น คณะกรรมการศึกษาวิจัยเพื่อคัดเลือกยาจำเป็นที่ต้องประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐที่มีตนเองเป็นประธานอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยว่าจะเสนอยามะเร็งตัวใดเพื่อให้ สธ.ทำซีแอลต่อไป แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่ชัด โดยจะต้องพิจารณานโยบายด้านการเมืองและนโยบายด้านต่างประเทศของรัฐบาลเป็นหลัก


         


ทั้งนี้ คณะกรรมการอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยยารักษาโรคมะเร็งในแคนาดา อินเดีย และจะนำข้อสรุปการศึกษาให้ นพ.มงคล ณ สงขลา ตัดสินใจอีกครั้ง ภายหลังจากเดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐฯในช่วงสิ้นเดือน พ.ค.นี้


 


"ประเด็นหลักในการคัดเลือกยามะเร็งเพื่อทำซีแอล จะพิจารณาจากปัญหาสาธารณสุขระดับชาติเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ การศึกษาจำนวนคนไข้ที่เข้าไม่ถึงยา ซึ่งการให้บริการผู้ป่วยมะเร็งที่ถือบัตรทอง เมื่อปี 2548 มีผู้ป่วยมะเร็ง 20,481 คน เข้ารักษาเป็นคนไข้นอก 101,148 ครั้ง ค่าใช้จ่าย 263 ล้าน คนไข้ใน 20,104 คน ใช้บริการรักษา 57,181 ครั้ง จำนวนเงินที่จ่าย 690 ล้าน ปี 2549 มีคนไข้นอก 23,508 คน เข้ารักษา 143,287 ครั้ง เป็นเงิน 255 ล้าน คนไข้ใน 21,509 คน เข้ารักษา 63,703 ครั้ง มีค่าใช้จ่าย 1,022 ล้านบาท" นพ.สงวน กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net