ต้านโปแตชเสนอผู้ว่าฯ ดันศึกษาโปแตชเชิงยุทธศาสตร์

ประชาไท - 16 พ.ค. 50 เมื่อเวลา 11.00 น.ของวันที่ 15 พ.ค.50 ที่ห้องประชุมภูพระบาท ศาลากลางชั้น 2 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวนกว่า 10 คน ได้เดินทางเข้าพบนายสุพจน์  เลาวัณย์ศิริ  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผลักดันประเด็นการศึกษายุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตชของประเทศ (Strategic Environmental Assessment ; SEA ) ก่อนทำการรังวัดเขตพื้นที่เหมือง หรือพิจารณาประทานบัตรเป็นรายโครงการ โดยให้ผู้ว่าฯ ทำหนังสือไปถึง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งเคยมีมติในประเด็นดังกล่าวไว้เมื่อ 23 ม.ค.49 และอีกฉบับถึง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ จากมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นควรให้มีการศึกษายุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตซ ของประเทศไทย ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม ความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรแร่ เพื่อการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาแหล่งแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด หรือที่เรียกว่า  Strategic Environmental Assessment (SEA)  

 

นายบุญมี  ราชพลแสน  รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  กล่าวว่า ชาวบ้านเห็นว่าประเด็นยุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตช  หรือ  SEA ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เคยมีมติเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นเรื่องที่สำคัญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปปฏิบัติ เพราะแร่โปแตชมีการค้นพบอีกหลายจังหวัดในอีสาน ฉะนั้นการศึกษาจึงชี้ให้เห็นความจำเป็น ความคุ้มค่า ตลอดจนแนวทางการจัดการปัญหาในทุกๆ มิติ หากมีการนำแร่โปแตชขึ้นมาใช้ แต่ในขณะที่ กพร.ก็รออนุมัติประทานบัตรเป็นรายโครงการ บริษัทก็มุ่งจะรังวัด  ผู้ว่าฯ ก็จะตั้งคณะกรรมการ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงกรณีย่อยๆ เท่านั้น  ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์ฯจึงมายื่นขอให้ผู้ว่าฯช่วยผลักดันนำเสนอขึ้นไป อย่างไรก็ดี ชาวบ้านจะรอฟังคำตอบหากยังไม่มีความคืบหน้าก็คงจะมีการเคลื่อนไหวเข้าไปหา กพร.โดยตรง 

 

ด้านนายสุพจน์  เลาวัณย์ศิริ  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี  กล่าวว่า  ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช 

ได้ผ่านผู้ว่าฯ มาแล้ว 3 คน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เห็นทางออกว่าอยากให้มีตัวแทนฝ่ายชาวบ้านเข้าไปประสานงานในระดับข้างบนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาการตั้งคณะกรรมการแล้วพูดคุยกันแค่ในระดับจังหวัดมันก็วกวนอยู่อย่างนี้ไม่จบไม่สิ้นสักที ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านชุดนี้ก็จะเข้าไปผลักดันเพื่อให้เกิดการศึกษาตามประเด็นที่ชาวบ้านนำเสนอมาได้  อย่างไรก็ดี หากชาวบ้านมีข้อเสนอมาดังนี้ก็จะรับดำเนินการให้  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท