Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 พ.ค. 50 นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวถึงการเสนอขอแปรญัตติ 18 ประเด็นในวันที่ 25 พ.ค.ที่จะถึงนี้ว่า จากที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ได้ให้อำนาจ ส.ส.ร.ในการเสนอแปรญัตติได้ก่อนที่จะส่งให้ประชาชนลงประชามติ จึงขอใช้สิทธิ์ของส.ส.ร. ขอแปรญัตติทั้งสิ้น 18 ประเด็นเบื้องต้นดังนี้คือ


 


1. ขอเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 2 ที่จากเดิมระบุว่า "ประเทศไทยมีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" โดยขอเพิ่มข้อความในตอนท้ายมาตรานี้ว่า "มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐมีหน้าที่ต้องทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าวัฒนาสืบไป"   ซึ่งสาเหตุที่ขอให้เพิ่มข้อความในมาตรานี้ เนื่องจากที่ผ่านมา พุทธศาสนาถูกบ่อนทำลายจากวัฒนธรรมตะวันตก กระแสโลกาภิวัตน์ ระบบทุนนิยมเสรี ระบบบริโภคนิยม และบ่อนทำลายให้ศาสนาเสื่อมถอยลงในหลายๆ ด้านจึงอยากให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการทำนุบำรุงศาสนา


 


2. ในมาตรา 40 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในวรรค 1 ขอให้ตัดคำว่า "เสียค่าใช้จ่ายตามควรแก่กรณี" ออก และในวรรค 3 ขอให้ตัดคำว่า "เสียค่าใช้จ่ายตามควรแก่กรณีออกไปเช่นกัน เนื่องจากการระบุให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายตามควรแก่กรณี จะสร้างปัญหาและสร้างความลำบากวุ่นวายให้กับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าไม่เสียค่าใช้จ่ายเลยจะเป็นเรื่องดี


 


3. มาตรา 47 การรวมหรือแยกกสช. กทช. ในวรรค 2 ขอให้ตัดคำว่า "ของรัฐ" ออกไป ให้เหลือเพียงให้มีองค์กรที่เป็นอิสระก็พอ และขอแก้ไขคำว่า องค์กรหนึ่ง เปลี่ยนเป็น สององค์กรทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ โดยแบ่งเป็นกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์อย่างละหนึ่งองค์กร ดังนั้นการแยกสององค์กรน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติดีกว่ารวมเป็นหนึ่งองค์กร


 


4. ในส่วนของมาตรา 68 วรรค 2 เรื่องการจัดตั้งองค์กรกู้วิกฤตการเมือง ขอให้ตัดข้อความในวรรค 2 ออกไปทั้งหมด ซึ่งตนไม่ทราบว่าเหตุการณ์แค่ไหนเราจะตีความคำว่าคับขัน และใครจะเป็นผู้เรียกประชุมและเมื่อประชุมแล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไร การบัญญัติมาตรานี้จะทำให้อำนาจอธิปไตยของปวงชนถอยหลังและขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างเด่นชัด ดังนั้นควรยกเลิกไปเลยจะดีกว่า


 


5.มาตรา 299 เรื่องการนิรโทษกรรม ขอให้ตัดมาตรานี้ออกไปทั้งหมด  เพราะการบัญญัติเช่นนี้จะทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมด และขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากต้องการที่จะนิรโทษกรรมจริงควรออกเป็นพระราชบัญยัติจะมีความเหมาะสมกว่า


 


6.เรื่องจำนวน ส.ส. ตามมาตรา 91 ขอให้มีจำนวน ส.ส. 500 คน เท่ากับรัฐธรรมนูญปี 2540  เพราะการลดจำนวน ส.ส. จะกระทบต่อการเอาใจใส่ดูแลประชาชน  เพราะหากลดจำนวน ส.ส. ลงเหลือ 400 คน ก็เท่ากับว่า ส.ส. หนึ่งคนต้องดูแลประชาชนถึง 200,000 คน


 


7.มาตรา 92 เรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตและ ส.ส. สัดส่วน ขอแก้ไขให้เพิ่มส.สแบ่งเขต จาก 320 คน เป็น 400 คน และการแบ่งเขตจากเขตใหญ่สามคน เปลียนเป็นเขตเดียวคนเดียวเหมือน รธน. ปี 40 ส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อก็ขอให้มี 100 คนเช่นเดิม แต่ต้องปรับสัดส่วนขั้นต่ำจาก 5% เหลือเพียง 1% และให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง


 


8.มาตรา 95 เรื่องคุณสมบัติส.ส. ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ซึ่งทำให้สามารถลงสมัครในนามอิสระได้


 


ข้อ 9-12. ว่าด้วยเรื่อง ส.ว. ทั้งเรื่องจำนวนและระบบที่ขอให้เป็นแบบเดียวกับปี 2540 คือ มี 200 คน และมาจากการเลือกตั้งเช่นเดิม


 


13. และ 14. มาตรา 138 (3) และ (4) ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการเสนอพระราชบัญญัติ เสนอให้ตัดวรรค (3) ซึ่งระบุให้ศาลและองค์กรอิสระเสนอกฎหมายได้ออกไป เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการอนุญาตให้องค์กรอื่นนอกจากครม. และ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ได้ และในวรรค (4) ซึ่งระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 20,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ขอเสนอแก้ให้ใช้เพียง 10,000 คน


 


15.ในมาตรา 186 เรื่องการทำสนธิสัญญากับนานาประเทศหรือกับองค์กรระหว่างประเทศ ให้เพิ่มข้อความในตอนท้ายว่า ก่อนที่จะทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ครม.ต้องให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย


 


16. มาตรา 246 ที่กำหนดให้อัยการเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ซี่งมีความเป็นอิสระในการบริหาร ขอให้ตัดทิ้ง เพราะพนักงานอัยการต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งหรือกิจกรรมใดๆ หรือกระทำกิจการใดๆ เช่นเดียวกับที่กำหนดในเรื่องนี้ในลักษณะต้องห้ามของผู้พิพากษาหรือตุลาการ


 


17. มาตรา 216 เรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรตัดข้อความในวรรค (2) ที่ให้วุฒิสภาถอดถอนผู้พิพากษา หรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ปปช. ซึ่งการถอดถอนตำแหน่งต่างๆ ควรเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการตุลาการ วุฒิสภาไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซง เพราะจะทำให้วุฒิเข้ามามีอิทธิพลเหนือศาลและผู้พิพากษาได้


 


18. มาตรา 282 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน (1) ให้ลดจำนวนประชาชนที่จะเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก 100,000 คน เหลือ 50,000 และ ส.ส. จาก หนึ่งในห้า เป็นหนึ่งแปด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net