Skip to main content
sharethis

 


องอาจ  เดชา


 


 


 


 


"ผงะ! ยาเสพติดจ่อเข้าประเทศล็อตใหญ่"


 


"ป.ป.ส.เผยภาคเหนือ ลักลอบขนยาเสพติดมากที่สุดเป็นอันดับ 1"


 


สื่อหลายสำนักต่างพาดหัวข่าวปัญหายาเสพติดกลับมาระบาดหนักในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ปัญหาขบวนการค้ายาเสพติด ถือเป็นปัญหาที่หน่วงหนักและเป็นปัญหาที่กำลังทะลักเข้ามาทั่วทุกพื้นที่ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ


 


กระทั่ง ล่าสุด นายชาติชาย สุทธิกลม ที่ปรึกษาด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานป้องกันและปรามปราบยาเสพติดแห่งชาติหรือ ป.ป.ส. ออกมากล่าวย้ำถึงปัญหายาเสพติดในประเทศไทยขณะนี้ว่า สถานการณ์การค้ายาเสพติดยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และยาบ้ายังคงเป็นยาเสพติดที่ต้องเฝ้าระวังในทุกพื้นที่ ซึ่งในเดือนเมษายน พบการจับกุมยาบ้าจำนวน 260,612 เม็ด โดยในเขตภาคเหนือ มีการลักลอบขนยาเสพติดมากที่สุดเป็นอันดับ 1


 


ในส่วนภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะการขนยาเสพติดเป็นกองทัพมด ในขณะที่ปัญหาเสพติดในภาคใต้มีปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ ยาบ้า และเฮโรอีน ซึ่งแพร่หลายในชุมชนเมือง ส่วนปัญหายาแก้ไอผสมกับกระท่อมนั้น แพร่หลายในชุมชนชนบทของ 3 จังหวัดชายแดนใต้


 


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปัญหายาเสพติดยังเป็นเหมือนสงครามที่ไม่มีวันสุดสิ้น แต่ยังมีอีกชุมชนๆ หนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ได้ร่วมกันใช้พลังใจ พลังชุมชน ออกมาต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว จนก้าวพ้นจากวังวนของปัญหายาเสพติดนี้ได้ โดยได้มีการพัฒนาชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของตน จนได้รับรางวัล ได้รับการกล่าวขานกันว่า "ชุมชนตำบลนาแส่ง" อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นชุมชนตำบลที่ก้าวพ้นจากปัญหายาเสพติดอย่างแท้จริง


 


ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่หลายๆ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ควรศึกษาถึงกระบวนการแก้ปัญหาของชุมชนโดยชุมชนเอง...


 


 


0 0 0


 


 


2542 ปีแห่งการแพร่ระบาดหนักยาเสพติดในประเทศไทย


"ปัญหายาเสพติดในรอบปี 2542 ที่ผ่านมา ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติดประเภทยาบ้า ที่การขยายตัวของระบบอุปทานรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งกลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้ค้าจากภายนอกประเทศ และจากภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นศักยภาพการขยายเครือข่ายยาเสพติดเข้าสู่ตลาดของประเทศไทยเป็นปริมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์


 


โดยในรอบปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทย และประเทศพม่าได้จับกุมยาบ้ารวมกันประมาณ 70 ล้านเม็ด ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ผลการจับกุมดังกล่าวไม่สามารถกระทบกระเทือนระบบอุปทานยาบ้าได้..."


 


นั่น คือสรุปรายงานถึงสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศไทยในรอบปี 2542 ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ที่บ่งบอกให้เห็นถึงสถานการณ์ของยาบ้าที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทวีคูณในห้วงขณะนั้น


 


ปปส. ยังสรุปถึงปัญหายาบ้า ด้วยว่า เป็นปัญหาที่รุนแรงมากที่สุด  เมื่อเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น ดูได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาด พบว่า  ยาบ้าหาซื้อได้ง่ายในเกือบทุกพื้นที่ โดยมีการผลิตยาบ้าทั้งภายนอกประเทศ และภายในประเทศ  มีการลักลอบลำเลียงยาบ้าจากนอกประเทศเข้ามาในประเทศไทย ยังคงมีการลักลอบกันอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดนทั้งทางด้านภาคเหนือของไทย


 


ซึ่งศูนย์ประชาสัมพันธ์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ภาคเหนือตอนบน ได้รายงานว่า ปัญหายาเสพติดภาคเหนือมีขนาดความรุนแรงและมิติของปัญหาต่างจากภาคอื่น เนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ พื้นที่บริเวณชายแดนภาคเหนือติดกับพื้นที่ของประเทศสหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจีนตอนใต้ ซึ่งมีแหล่งผลิตยาเสพติดตามแนวตะเข็บชายแดน เช่น ชายแดนพม่ายังมีการผลิตฝิ่น เฮโรอีน ATS หรือยาบ้า ยาไอซ์


 


สำหรับชายแดนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยังคงผลิตฝิ่น ยาบ้าอัดเม็ด และผู้ค้าลักลอบลำเลียงส่งผ่านตามบริเวณชายแดนเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อจำหน่ายและส่งออก


 


สาเหตุที่ยังคงมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดตามบริเวณแนวชายแดน เกิดขึ้นจากสภาพปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปัจจัยภายนอกเกิดจากแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงผลิตยาเสพติดสำคัญอยู่ เช่น ชนกลุ่มน้อยในสภาพพม่ายังจำเป็นต้องหารายได้และสะสมทุนเพื่อต่อสู้ เพื่อสร้างฐานอำนาจ และชาวบ้านในหมู่บ้านชายแดนส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮ่อ มีความสัมพันธ์และเกรงกลัวอิทธิพลของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะความยากจน ทำให้มีแรงจูงใจและแรงกดดันให้ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนนอกประเทศ เป็นผู้ลำเลียงและผู้ค้ายาเสพติด


 


ในรายงานยังบอกอีกว่า สำหรับชาวเขาในประเทศที่หลงผิดไปเป็นเครื่องมือในการขนลำเลียงและค้ายา ก็เกิดจากปัญหาความยากจน ที่ทำกินไม่เพียงพอ ขาดจิตสำนึกและความภักดี


 


นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุสำคัญ คือ นักค้ารายสำคัญยังไม่ถูกทำลายและยุติบทบาท นักค้ารายย่อยยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และนักค้ารายใหม่เกิดขึ้น ที่สำคัญยังมีกลุ่มผู้ต้องการยาเหลืออยู่ คือ ผู้ใช้ ผู้ติดยาที่ยังไม่เข้ารับการบำบัด และกลุ่มที่ยังรักษาไม่หายขาด


 


 


สำรวจพื้นที่นำเข้าและเส้นทางลำเลียงยาเสพติดภาคเหนือ


เมื่อสำรวจดูพื้นที่นำเข้าและเส้นทางลำเลียงยาเสพติด ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ จะเห็นได้ว่า ในพื้นที่ จ.ตาก มีการลำเลียงยามาทางด้าน อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.ท่าสองยาง ในส่วนพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะผ่านเข้ามาทาง อ.เมือง อ.ปาย อ.ปางมะผ้า อ.ขุนยวม อ.แม่สะเรียง และ อ.แม่ลาน้อย


 


ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีการลำเลียงยาบ้าเข้ามาทาง อ.เชียงดาว อ.ฝาง อ.แม่อาย อ.ไชยปราการ และ อ.เวียงแหง


 


ในพื้นที่ จ.เชียงราย มีการลักลอบขนยาบ้าผ่านเข้ามาทาง อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ


 


ซึ่งดูจากภาพรวมของการค้ายาบ้าในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดแล้ว ยังคงมีสถานการณ์การค้ายาบ้าในระดับที่รุนแรงมาก เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ใกล้กับแหล่งผลิตนอกประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จะเป็นแหล่งกระจายยาบ้าเข้ามายังพื้นที่ภาคเหนือตอนกลาง และตอนล่างมากที่สุด


 


แน่นอน ไม่เว้นแม้แต่ในเขตพื้นที่ของ จ.ลำปาง ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางผ่าน เส้นทางลำเลียงผ่านรอยต่อที่เชื่อมกันระหว่างพื้นที่จังหวัดชายแดนกับพื้นที่ภาคเหนือตอนกลางและตอนล่าง จึงทำให้ชุมชนหมู่บ้านในหลายพื้นที่ประสบกับปัญหายาบ้าระบาดกันอย่างรุนแรง  และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


โดยเฉพาะชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่ของ ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ซึ่งในห้วงเวลานั้น ยาบ้าได้แพร่ระบาดเข้าไปทั่วทุกชุมชนอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง  เนื่องจากว่าพื้นที่บริเวณนี้  เป็นพื้นที่ที่กลุ่มผู้ค้าได้อาศัยใช้เป็นเส้นทางลำเลียงยาผ่านมาพอดี


 


 


           


ศึกษาเหตุการณ์การเคลื่อนของยาเสพติดที่ "เกาะยะ-นาแส่ง"


 


หมู่บ้านเกาะยะ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ในเขต ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ซึ่งเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ประสบกับปัญหายาเสพติดที่ทะลักเข้ามาในชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งในกลุ่มผู้เสพ ผู้ค้า และกว่าจะข้ามพ้นปัญหายาเสพติด ต้องผ่านพบปัญหาอุปสรรคมามากมาย จนกระทั่ง สามารถประสบความสำเร็จ กลายเป็นหมู่บ้าน ชุมชนนำร่องในเรื่องการขจัดปัญหายาเสพติดทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาดูงานจากในหลายจังหวัดของประเทศ


 


สมยศ อุปรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแส่ง บอกว่า หมู่บ้านเกาะยะ-แม่หยวก ถือว่าเป็นหมู่บ้านแรก ของอำเภอเกาะคา ของจังหวัดลำปางที่เริ่มแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนโดยคนในชุมชนช่วยกันแก้ไขปัญหากันเอง


 


"สมัยนั้น ช่วงปี 2542 ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านเกาะยะ และเป็นช่วงที่กระแสยาบ้ากำลังระบาดไปทั่วภาคเหนือ  แน่นอน มันเริ่มเข้ามาระบาดที่หมู่บ้านของเราด้วย เนื่องจากเป็นเส้นทางขนยาพอดี"


 


อย่างที่รู้กันนั่นแหละ  พื้นที่ จ.ลำปาง เป็นพื้นที่ที่ติดต่อกับจังหวัดใกล้ชายแดน  ทางเชียงใหม่ เชียงราย  ดังนั้น ย่อมได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


"เส้นลำเลียงยาเสพติดมาจากไหน?"


"ผู้ค้าเขาจะรับมาจากทาง อ.ห้างฉัตร นำเข้ามาขายให้กับคนในหมู่บ้าน"


 


เมื่อถามว่าทำไมยาเสพติดถึงได้แพร่ระบาดเข้ามาในชุมชนอย่างรวดเร็ว เขาบอกว่า เนื่องจากความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นแบบเครือญาติ เวลาคนอื่นทำ หรือคนอื่นมีพฤติกรรมอย่างไร  คนอีกคนหนึ่ง หรือคนอีกกลุ่มหนึ่งจะเลียนแบบ มีอิทธิพลไปถึงคนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว


 


"อย่างเช่น เมื่อก่อนถ้ามีงานศพ ก็จะมีคนเล่นการพนัน ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชุมชน ใช่ พอมีคนค้ายา คนเสพยาบ้า คนอื่นๆ ก็เริ่มเลียนแบบ และทำตามกันเป็นทอดๆ"


 


โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของชาติ ถ้าเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถ มีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดี ก็จะเป็นผู้นำพาชาติให้เจริญมีความมั่งคั่งและมั่นคง ทว่าเด็กและเยาวชนบ้านเกาะยะ กลับกลายเป็นเป้าหมายของขบวนการค้ายาเสพติด โดยมีกลุ่มคนขายยาบ้า ได้แทรกซึมเข้าไปในกลุ่มเยาวชนในชุมชนอย่างเงียบๆ 


 


"คนที่ขายในหมู่บ้านมันมีไม่มากเท่าไร ไม่ใช่รายใหญ่ ส่วนมากก็จะรับช่วงเขามาขายอีกที ตอนนั้นพวกคนค้ายาจะเอามาขายครั้งหนึ่งประมาณ 20-30 เม็ด"


 


"ตอนนั้น พวกเยาวชนในหมู่บ้านที่ลุ่มหลงมัวเมายาเสพติด ถึงขั้นเอารถไปขายไปฝากขายพันสองพัน  บางทีไปเอายาไม่มีเงินให้ก็เอารถทิ้งไว้คนค้าเดือดร้อนพ่อแม่ต้องไปไถ่มาตลอด"


 


"ช่วงนั้นถือว่าหมู่บ้านของเราใกล้ล่มสลายเลยก็ว่าได้เพราะฐานะแต่ละครอบครัวก็ลำบากกันอยู่แล้ว  เศรษฐกิจช่วงนั้นก็ไม่ดี"เขาเอ่ยออกมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด


 


และที่สำคัญ ปัญหายาบ้าเริ่มแพร่ระบาดกระจายไปทั่วทุกชุมชนหมู่บ้านภายในตำบลนาแส่ง


 


 


สมยศ อุปรี


นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง


 


ในขณะที่ในห้วงขณะนั้น รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติด พร้อมให้ทหารและตำรวจร่วมกันวางมาตรการการปราบปรามยาเสพติดในปฏิบัติการพลังแผ่นดินร่วมกวาดล้างยาเสพติด โดยได้กำชับทั้งตำรวจ ทหารให้จับตาพฤติกรรมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งเอาจริงกับนักค้ายาเสพติด ให้ทุกฝ่ายร่วมมือเฝ้าระวัง เอาจริงเอาจัง อย่าปล่อยปละละเลยให้ยาเสพติดกลับมาระบาดอีก


 


อย่างไรก็ตาม  ภายหลังมีการประกาศสงครามยาเสพติดแล้ว แต่ก็ยังมีข่าวจับกุมยาบ้าเป็นจำนวนมาก  รวมทั้งมีข่าวการจับกุมกลุ่มขบวนการยาเสพติดเกิดขึ้นที่โน่นที่นั่นอยู่ไม่ขาดสาย โดยสื่อมวลชนประโคมข่าวการจับกุมผู้ค้ายาบ้ากันอย่างต่อเนื่องทุกวันๆ โดยมีการรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มผู้ค้ายา ในขณะที่ทางสำนักงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า เชื่อว่า ผู้ค้ายาเสพติดมีความพยายามที่จะตัดตอน ฆ่าปิดปากกันเอง หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการปราบปรามอย่างเอาจริงเอาจัง


 


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ย่อมส่งผลทำให้ผู้ค้าและผู้เสพเป็นจำนวนมากที่เสียชีวิตจากนโยบายประกาศสงครามยาเสพติดในครั้งนี้


 


เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ พ่อสมยศ มีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะเริ่มห่วงใยเด็กๆ เยาวชน ลูกหลานภายในชุมชนของตน จึงพยายามครุ่นคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดภายในหมู่บ้านเกาะยะ ให้หมดไปได้อย่างไร


 


"ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหานี้ได้โดยลูกหลานไม่ต้องถูกจับกุมหรือไม่ต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ"


 


 


0 0 0 0 0


 


 


ข้อมูลประกอบ


นวัตกรรมการสร้างสุขภาพ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) กระทรวงสาธารณสุข


ศูนย์ประชาสัมพันธ์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ภาคเหนือตอนบน


สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น, นสพ.ไทยโพสต์


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net