Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์


 


 


"ฮือปิดอิงคยุทธ์สั่งสลากหัวหดยิงฆ่า-เผา2ศพ"


บ้านเมือง 9 พ.ค. 50


 


"ผู้ชุมนุมอหังการหนัก ล้อมค่ายอิงคยุทธ"


ไทยรัฐ 9 พ.ค. 50


 


 "โจรใต้อำมหิตไล่ฆ่าครูบำนาญ"


เดลินิวส์  8 พ.ค. 50


 


นอกจากสถานการณ์ในภาคใต้ที่รุนแรงขึ้นแล้ว มาวันนี้ภาษาของสื่อก็ดูเหมือนจะแรงขึ้นด้วย ลีลาหรือถ้อยคำในการเสนอข่าวบางครั้งอ่านแล้วนับวันชวนปลุกอารมณ์ฮึกเหิม รักชาติไทย (และชาวพุทธ) อย่างไรพิกล


 


ย้อนไปก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ระเบิดหรือการฆ่ากันจนถึงแก่ชีวิตเคยเป็นเรื่องฮือฮาเอาการบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แต่มาวันนี้คงไม่หยาบไป ถ้าจะสรุปว่า ผู้คนเริ่มจะชินชากับการรับรู้ข่าวแบบนี้เสียแล้ว สังเกตว่าระดับความรุนแรงของสถานการณ์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เราก็ "นิ่ง" กับมันมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นชินชาและเฉยชา ซึ่งนับเป็นอันตรายต่อความพยายามในการหาทางออกและการแก้ไขปัญหายิ่งปั


 


ขณะที่ภาษาหรือข้อความที่รุนแรงเพิ่มขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์นั้น ก็ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นความเคยชินอย่างใหม่


  


ทั้งที่อารมณ์ความรู้สึก "สะใจ" กับ "ความเป็นอื่น" ที่เราได้หยิบยื่นให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้น ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงเบาลง รังแต่จะทำให้มองคนที่นับถือต่างศาสนาเป็นคนอื่น และมองอย่างเหมารวม ขณะที่ความพยายามในการทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย หรือแนวทางแก้ปัญหาแบบสันติวิธีเป็นเสียงที่แทบจะไม่ได้ยินแล้วในทุกวันนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นในพื้นที่ และความโกรธแค้นที่มากขึ้นในพื้นที่สื่อ รวมถึงพื้นที่แสดงความคิดเห็นสาธารณะทั่วไป ไม่ว่าในอินเตอร์เน็ต หรือการส่งเอสเอ็มเอสไปแสดงความเห็นบนจอทีวี


 


เช่นกัน เสียงเรียกร้อง ตักเตือนที่เคยมีในการที่สื่อจะต้อง "อ่อนไหว" กับการเลือกใช้ถ้อยคำในการรายงานข่าว มาวันนี้ดูเหมือนจะไม่มีใครท้วงติง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงข้อเสนอที่ก้าวหน้าของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) แต่ภาครัฐก็ไม่กล้าแม้แต่จะ "พิจารณา" ซึ่งนั่นทำให้ทางเลือกในการแก้ปัญหาหดแคบลง จนแทบไม่ค่อยได้ยินใครอยากจะเสนอเรื่องทำนองนี้อีก


 


ขณะเดียวกันรัฐก็มักจะย้ำตลอดเวลาถึง "การสมานฉันท์" จับมือ ยิ้มแย้ม ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น หากเรายังไม่ได้ตอบคำถามเรื่องความอยุติธรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาอย่างการทำให้สมาชิกในบ้านหลังแล้วหลังเล่าหายตัวไปอย่างลึกลับ หรือเกิดการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐ


 


สุดท้าย ปัญหาจริงๆ ยังไม่ถูกแก้ แต่อารมณ์โกรธแค้นกลับมากขึ้น


 


ในฐานะที่สื่อเองทำหน้าที่รายงาน "ข้อเท็จจริง" อาจมีคำถามว่า สังคมได้รับอิทธิพลความรุนแรงจากการนำเสนอของสื่อ หรือสื่อเป็นเพียงตัวสะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นและมีอยู่แล้วในสังคม


 


แต่การหาคำตอบเรื่องนี้ก็ดูจะคล้ายกับปัญหาโลกแตกประเภทไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เพราะความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก


 


หรือว่าบางทีการคาดหวังกับ "สื่อ" อาจจะเป็นเรื่องยากลำบากกว่าการที่คนอ่านจะตระหนักถึง "ความละเอียดอ่อน" ของปัญหา และทำความเข้าใจในธรรมชาติของสื่อเสียด้วยตัวเอง  


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net