Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


ในปี 2004 ภาพนาวิกโยธินชาวอเมริกันเล็งปืนไปยังชาวอิรักผู้ปราศจากอาวุธซึ่งกำลังนอนราบกับพื้น ถูกเผยแพร่ผ่านทางสำนักข่าวหลายแห่ง (ที่ไม่ใช่สำนักข่าวอเมริกัน) และกลายเป็น "บันทึกเหตุการณ์" ที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนจำนวนมาก ทันทีที่ได้เห็นว่า ลูกกระสุนถูกส่งผ่านปลายกระบอก และเจาะเข้าสู่ร่างเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจนเสียชีวิต


 


นักข่าวชาวอเมริกันที่บันทึกภาพดังกล่าวไว้ได้ คือ เควิน ไซทส์ (Kevin Sites) ผู้นำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกให้กับสำนักข่าว NBC ของอเมริกา ณ ช่วงเวลานั้น


 


ก่อนที่ไซทส์จะได้ภาพเหตุการณ์ที่ทหาร "อเมริกัน" ยิง "ชาวอิรัก" ทิ้ง เขาได้รับโอกาสให้เข้าไปฝังตัวอยู่กับกองทัพนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ที่ประจำการในอิรัก เพื่อกิน นอน และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติการของเหล่าทหารหาญ (?)


 


อันที่จริง...เควิน ไซทส์ มีหน้าที่เสนอภาพความยากลำบากและความเสียสละของทหารเหล่านั้น เมื่อภาพที่ทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพสหรัฐฯ (อย่างแรง) หลุดออกสู่สาธารณชนโดยความตั้งใจของไซทส์ เขาจึงตกเป็นเป้าแห่งการหมายหัวจากกองทัพและรัฐบาลอเมริกันนับแต่นั้น


 


ปฏิบัติการ "ยิงทิ้ง" อันลือลั่นสนั่นโลกถูกบีบให้หายไปภายในไม่กี่วัน จากการให้ปากคำของคนใหญ่คนโตแห่งกองทัพสหรัฐฯ ที่ออกมายืนยันว่านั่นเป็นการกระทำที่ "สมเหตุสมผล" ที่สุดแล้ว เพราะชาวอิรักที่ถูกมองว่าโชคร้าย (และถูกสังหารทั้งๆ ที่เขานอนก้มหน้าลงกับพื้นโดยปราศจากอาวุธ) เป็นอันตรายต่อการสร้างประชาธิปไตยในอิรักอย่างแท้จริง


 


แต่ถึงที่สุดแล้ว...ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าคนที่ตายไปมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับขบวนการหรือกองกำลังที่ก่อความรุนแรงในอิรักอย่างไร...


 


จากนั้น ไซทส์ก็ถูกหมายหัวจากกองทัพ เขายังได้รับจดหมายและโทรศัพท์ (รวมถึงอีเมล์) จากอเมริกันชาตินิยมนับพันๆ คนที่ส่งข้อความมาต่อว่าและประณามการกระทำของไซทส์ ซึ่งข้อหาที่เขาได้รับก็คือการเป็น "คนเนรคุณ" ต่อประเทศชาติ ในฐานะที่ออกมาตีแผ่ภาพลักษณ์ด้านมืดของเหล่าทหารที่ต่อสู้ในนามของการรักษา "ประชาธิปไตย"


 


ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่กองทัพอเมริกันปฏิเสธไม่ได้ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า การฆ่าชาวอิรักเพื่อนำไปสู่หนทางแห่งการรักษาความสงบเกิดขึ้นจริง และความจริงเหล่านี้ไม่เคยได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อกระแสหลักมาก่อนเลย


 


ไม่ว่าการกระทำของไซทส์จะเป็นการเนรคุณในสายตาของคนอเมริกันมากแค่ไหน แต่ถ้ามองกันในแง่มุมของการเป็นนักข่าวที่ต้องขุดคุ้ยหรือตีแผ่ข้อเท็จจริงโดยปราศจากการครอบงำ การกระทำของไซทส์ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องผิดอะไร และในทางตรงกันข้าม...มันคือเรื่องที่ไซทส์สมควรทำอย่างยิ่งด้วยซ้ำ...


 


อาจเพราะด้วยเหตุนี้ ในปี 2006 ที่ผ่านมา ไซทส์จึงได้รับรางวัล "นักข่าวผู้มีความกล้าหาญและมุ่งมุ่นในการทำงาน" จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งลอสแอนเจลีส และปี 2004 ที่มีภาพข่าวอื้อฉาวของทหารอเมริกันยิงชาวอิรักออกมา ไซทส์ได้รับรางวัลจริยธรรม (Payne Award for Ethics in Journalism) และรางวัลผู้สื่อข่าวยอดเยี่ยมจาก Emmy Award ด้วย


 


 


ภาพจากเวบไซต์รวมผลงานของ เควิน ไซทส์


 


แต่ถึงจะได้รางวัลการันตีมากมาย ไซทส์ก็ยังต้องย้ายสังกัดจาก NBC ไปประจำอยู่กับเวบไซต์ข่าวชื่อ Hot Zone ซึ่งรวมอยู่ในเครือข่ายของอดีตเสิร์ชเอนจินชื่อดังอย่าง Yahoo แทน เพราะความขัดแย้งบางประการเป็นเรื่องที่ยอมความกันไม่ได้


 


หน้าที่ใหม่ของไซทส์ในเวบข่าวของยาฮูจึงได้แก่การเป็น SoJo หรือ Solo Journalist ที่ยังคงทำงานในพื้นที่แห่งสงครามและความขัดแย้งเช่นเดิม ต่างกันตรงที่คราวนี้ไซทส์ต้อง "ฉายเดี่ยว" โดยไม่มีกองทัพหรือรัฐบาลคอยสนับสนุนหรือคอยให้ความคุ้มครอง


 


การเก็บข้อมูล การบันทึกภาพเหตุการณ์ สารคดี และบทสัมภาษณ์ รวมถึงการส่งข่าวกลับมายัง Yahoo ทำได้โดยเครื่องไม้เครื่องมือทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น กล้องวิดีโอดิจิทัล โทรศัพท์มือถือ เครื่องรับ-ส่งสัญญาณดาวเทียม ฯลฯ ทำให้ไซทส์มีเพื่อนร่วมงาน (ไร้ชีวิต) ที่ตามติดกันไปทุกที่ โดยไม่ต้องมีทีมงานภาคสนามคนอื่นๆ คอยตามให้วุ่นวาย


 


เมื่อบวกเข้ากับความนิยมเรื่องการทำบล็อกในแวดวงไซเบอร์ทั่วโลก การเลือกเป็น SoJo ของไซทส์ก็ยิ่งเป็นคำตอบที่ใช่มากกว่าเดิม เพราะนอกจากจะประหยัดทุนและบุคลากรของต้นสังกัด ความหลากหลายและฉับไวของข้อมูลที่นำเสนอได้อย่างรวดเร็วทันใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนในโลกอินเตอร์เน็ตพร้อมใจต้อนรับและกล่าวถึงด้วยความนิยมชมชอบ


 


การทำงานแบบฉายเดี่ยว ช่วยให้การทำงานในพื้นที่เสี่ยงมีความคล่องตัวขึ้น แต่ในขณะเดียวก็ดูเหมือนจะเสี่ยงภัยมากขึ้นเช่นกัน


 


เมื่อต้องทำงานแบบฉายเดี่ยว มุมมองในการเสนอข่าวของไซทส์ก็พลอยปรับปลี่ยนไปด้วย จากที่เคยเล่นแต่ประเด็นใหญ่ๆ ในแบบของข่าวรายวันที่รายงานข้อมูลว่าปฏิบัติการทางทหารหรือการลอบโจมตีเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร ใครเป็นผู้ก่อการ และผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์มีจำนวนเท่าไหร่ ไซทส์กลับให้ความสนใจในการเสนอภาพ "ชีวิต" ของผู้คนอื่นๆ นอกเหนือไปจากคนในเครื่องแบบบ้าง


 


เรื่องราวที่ไม่ใช่ประเด็นร้อน ไม่ใช่ข่าวใหญ่ และบางครั้งอาจดูเหมือนไม่มีความเร่งด่วนอะไรต้องนำเสนอ แต่ไซทส์ก็เลือกนำเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไม่เป็นข่าวเหล่านั้นมาเผยแพร่ให้คนจำนวนมากได้รับรู้...


 


เมื่อครั้งที่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและเลบานอนเมื่อปี 2005 สิ่งที่สำนักข่าวนานาชาติติดตามและให้ค่าคือเรื่องของการเปิดศึกโจมตีกันในแต่ละวัน แต่ไซทส์กลับเลือกจะเสนอข่าวการเดินทางกลับบ้านของชาวเลบานอนที่ต้องไปก่อร่างสร้างเรือนกันใหม่...โดยที่พวกเขาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าถึงอย่างไรก็จะไม่ละทิ้งแผ่นดินแห่งสนซีดาร์นี้ไปอย่างแน่นอน


 


บางครั้งบางหน ไซทส์ตามไปแกะรอยการลักลอบค้าของเถื่อนหรืออาวุธสงครามในประเทศที่ยังไม่สงบ และรายงานถึงความเกี่ยวพันบางประการระหว่างผู้นำประเทศและ "พ่อค้าอาวุธ" ที่ส่งตรงจากประเทศมหาอำนาจ...


 


และหลายต่อหลายครั้ง เรื่องที่ดูเหมือนไม่เป็นเรื่องของไซทส์สามารถสะท้อนความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจและมีมิติยิ่งกว่าการรายงานแบบเกาะติดสถานการณ์ทุกวินาทีเสียอีก


 


ในเมื่อสำนักข่าวกระแสหลักมากมายรายงานความขัดแย้งและความเคลื่อนไหวของฝ่าย Peacemaker ในแต่ละวันมากเสียจนเกินพอ ข้อมูลของไซทส์ก็น่าจะเป็นรสชาติและสีสันที่แตกต่างออกไปของคนเสพข่าวได้พอสมควร


 


และเหนือสิ่งอื่นใด เราอาจเรียกการกระทำของไซทส์ในอีกนิยามหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า "ความพยายามที่จะถ่วงดุลทางข้อมูลข่าวสาร" ก็เป็นได้…


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net