บทความ : ศึกษาอัตลักษณ์ชาวอะเจห์ภายใต้สถานการณ์ร้อนชายแดนใต้

บทความ : ศึกษาอัตลักษณ์ชาวอะเจห์ภายใต้สถานการณ์ร้อนชายแดนใต้*

 

อลิสา หะสาเมาะ

คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

 

"อะเจห์ ดารุสสลาม" เป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย ที่มีปัญหาความขัดแย้งและการสู้รบกันระหว่างขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM) ในฐานะกบฏแบ่งแยกดินแดน กับรัฐบาลอินโดนีเซียมายาวนาน การสู้รบยุติลงหลังจากพื้นที่แห่งนี้ ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปลายปี 2547 คร่าชีวิตผู้คนชาวอะเจห์ไปกว่า 2 แสนคน

 

"อาเจห์ ดารุสสลาม" เป็นดินแดนแห่งแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ศาสนาอิสลามเข้ามาหว่านเมล็ดพันธุ์ไว้ และยังเคยได้รับสมญานามว่าเป็น "ชานเมือง" หรือ "ระเบียงแห่งเมกกะ" แห่งซาอุดีอาระเบีย ต้นกำเนิดของศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับปัตตานี และกลันตันของมาเลเซีย

 

อันส่งผลให้ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "ปัตตานี ดารุสลาม" ในอดีต มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดไปมาหาสู่กับชาวอาเจห์ ดารุสลามมาจนถึงปัจจุบัน

 

บทความเรื่อง "ศึกษาอัตลักษณ์ชาวอะเจห์ภายใต้สถานการณ์ร้อนชายแดนใต้" ของอาจารย์อลิสา หะสาเมาะ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นชิ้นงานที่คัดย่อมาจากงานวิจัยภาคสนามในประเทศอินโดนีเซีย เรื่อง "อัตลักษณ์ของชาวอะเจห์ในประเทศอินโดนีเซีย" ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ภายใต้สนับสนุนของ "โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเซีย" (API Fellowship Program)

 

ต่อไปนี้ คือ บทเรียนจากอาเจห์ ดารุสลาม เพื่อผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสังคมไทย จะได้เก็บรับไว้ศึกษา

 

0 0 0

 

บริบททางประวัติศาสตร์ของสังคมอะเจห์

อะเจห์ถือว่าตนเองเป็นชาติที่เป็นอิสระไม่ขึ้นตรงกับใครมาตั้งแต่ในอดีต และยังคงมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในแถบยุโรปกับ Queen Elizabeth I ของอังกฤษและประเทศในแถบเอเซีย

 

อะเจห์เคยเผชิญหน้ากับการรุกรานของโปรตุเกส และได้ขอความช่วยเหลือจากอาณาจักร Othoman Turkish ซึ่งเป็นอาณาจักรอิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้น ให้ส่งเรือมาช่วยรบในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 1567[1] ทั้งนี้ สัมพันธภาพระหว่างอะเจห์กับตรุกียังคงดีและแนบแน่นจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้หลังจากที่อะเจห์ประสบกับแผ่นดินไหวและสึนามิ ตรุกีก็ได้เข้ามาช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การสร้างโรงเรียน

 

ในยุคล่าอาณานิคม อะเจห์ยังต้องเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอำนาจ และเขตอาณานิคมของดัตช์ เข้ามายังบริเวณเกาะสุมาตรา โดยได้ส่งเรือรบชื่อ "Citadel Van Antwerpen" มายังอะเจห์ เมื่อวันพุธที่ 26 มีนาคม 1873 ทั้งนี้ดัตช์และอังกฤษได้ร่วมลงนามแบ่งเขตการปกครองชื่อ "Sumatra Treaty" เมื่อปี 1871[2]

 

จากการบันทึกของ Paul van"t Veer จนถึงปี 1914 ฝ่ายดัตช์มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 37,000 คน และชาวอะเจห์เสียชีวิตประมาณ 70,000 คน[3] โดยหลุมฝังศพของทหารดัตช์ที่ตายในช่วงสงครามบางส่วนจำนวน 2,200 คน ถูกฝังอยู่ในสุสาน "Peucut" ณ เมือง Banda Aceh

 

ทั้งนี้ผู้นำชาวอะเจห์ที่เข้าต่อสู้กับดัตช์มีหลายคน หนึ่งในนั้นคือตนกูอูมา (Teuku Umar) แต่ถูกลอบยิงเสียชีวิตระหว่างทำสงคราม จากนั้นชู๊ตยะห์ดีน (Cut Nya"Diën)[4] ภรรยาของตนกูอูมาได้กลายเป็นผู้นำ นำกองกำลังชาวอะเจห์เข้าต่อสู้กับดัตช์จนกระทั่งพิการและตาบอด ในภายหลังถูกทหารดัตช์จับกุมตัวเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1905 และถูกพาไปยังชวาตะวันตก และเสียชีวิตเมื่อ 6 พฤศจิกายน 1908[5]

 

จากการที่ชาวอะเจห์มีความกล้าหาญพร้อมที่จะสละชีพในการต่อสู้ เพราะถือว่าการทำสงครามกับดัตช์เป็นสงครามศักดิ์ (Holy War) ทั้งยังมีทักษะในการใช้อาวุธชื่อ "rencong" และ "klewang"[6] ทำให้ดัตช์ต้องการศึกษาเรียนรู้ความกล้าหาญและความแข็งแกร่งของชาวอะเจห์ในประเด็นศาสนาและการเมือง โดยมี Dr. C. Snouck Hurgronje[7] ศึกษาสังคมอะเจห์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม, 1891- กุมภาพันธ์ 1892[8] และได้เขียนหนังสือชื่อ De Atjeher(1895) และภายหลังได้แปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ The Acehnesese[9]

 

จากยุคอาณานิคมสู่ยุคหลังอาณานิคม สังคมอินโดนีเซียตกอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์มานาน ถึงแม้ว่าในภายหลัง จะตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นอีก 3 ปี ทำให้ระบบการบริหารของสังคมอะเจห์เปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อย 2 ส่วน คือ

 

ส่วนแรก การล่มสลายของระบบสุลต่านในสังคมอะเจห์ และ ส่วนที่สอง การผนวกรวมระบบการบริหารการเมืองการปกครองของอินโดนีเซียเข้ากับระบบการบริหารของดัตช์

 

กษัตริย์หรือสุลต่านองค์สุดท้ายของ Aceh ชื่อ Twk Muhammad Daudsyah ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้กับดัตช์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 1903 ทำให้ระบบกษัตริย์ของอะเจห์ล่มสลายลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และระบบการเมืองการปกครองของ Jakarta ก็ถูกผนวกรวมเข้ากับระบบบริหารของ Netherland East-India[10] ซึ่งผลของการผนวกรวมนี้เองทำให้วัตถุดิบต่างๆ ซึ่งได้แก่ทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจชาติและระดับโลก

 

M. Isa Sulaiman[11] นักวิชาการชาวอะเจห์ได้วิเคราะห์ให้เห็นภาพตัวแสดงกลุ่มต่างๆ ภายในสังคมอะเจห์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางสังคมการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว ว่า

 

ช่วงยุคหลังอาณานิคม ไม่เพียงแต่ปัญหาหลักมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองเท่านั้น แต่ยังผนวกรวมกับความทะเยอทะยาน (aspiration) ความผิดหวัง (disappointment) ความปรารถนาในลาภยศสรรเสริญ (ambition) และผลประโยชน์ของกลุ่มผู้นำ และบริบททางสังคมที่ซับซ้อนอีกนานับประการ โดยกลุ่มผู้นำได้แก่ ชนชั้นสูง ปัญญาชน นักธุรกิจ และนักการเมือง ซึ่งต่างก็ไม่ลงรอยกันเองรวมทั้งขัดอำนาจและผลประโยชน์ต่าง ๆ Isa Sulaiman ได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

ประการแรก การที่กลุ่มขุนนางและชนชั้นสูงสูญเสียอำนาจเนื่องจากการต่อสู้กับดัตช์และต้องการกลับเข้ามามีอำนาจใหม่

 

ประการที่สอง อุดมการณ์การสร้างรัฐชาติอะเจห์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1976 โดย Hasan di Tiro เป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

 

ประการที่สาม ระบบเศรษฐกิจและรายได้หลักที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติเช่น น้ำมัน แก๊ส และไม้ ไม่ได้กลับลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น

 

ประการที่สี่ นโยบายการผนวกรวมและชูวัฒนธรรมชวาซึ่งพิจารณาได้จากสโลแกนของชาติที่ชื่อ Pancasila และถูกบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนทำให้ชาวอะเจห์บางส่วนเกรงว่าจะสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองไป

 

ประการที่ห้า ชนชั้นนำที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ตระหนักถึงกระบวนการพัฒนาและระบบ bureaucratization ที่ถูกสร้างโดยรัฐบาลตั้งแต่ปี 1957 ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวอะเจห์ชนชั้นกลางประกอบไปด้วยผู้มีการศึกษา นักธุรกิจและนักการเมือง ถูกดูดซึมเข้าไปในระบบราชการของรัฐบาลท้องถิ่น และเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐ

 

ประการที่หก ปฏิกริยาของรัฐที่มองการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนและตอบโต้โดยใช้ความรุนแรงและความไม่เป็นธรรมในการจัดการกับปัญหา เช่น การใช้ Kolakops Jaring Merah หรือ ปฏิบัติการตาข่ายสีแดง

 

แต่ผู้คนเรียกกันว่า The DOM = Daerah Operasi Militer หรือ พื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร โดยส่งชุดคอมมานโดประมาณ 6,000 คน ไปยังอะเจห์ และในปีตั้งแต่ปี 2002 ถึง 19 May 2003 รัฐบาลชุดประธานาธิบดี Megawati ส่งกองกำลังปฏิบัติการพิเศษชื่อ Ko-oplihkam=Kommando Operasi Pemulihan Keamanan จำนวนประมาณ 50,000 คน

 

ประการที่เจ็ด กลุ่มชนชั้นนำในสังคมอะเจห์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการ นักธุรกิจ หรือ นักการเมือง ที่เคยได้รับความเดือดร้อนจากการสูญเสียเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงที่ GAM มีอำนาจสนับสนุนรัฐบาลปฏิบัติการใช้อำนาจในการจัดการปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง

 

ประการที่แปด ชาวอะเจห์ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ การได้รับความไม่เป็นธรรม กลุ่มคนที่สูญเสียงานในเมืองและกลุ่มชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินทำกินในชนบท เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวอะเจห์ส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับกองกำลังของกลุ่ม GAM

 

 

อัตลักษณ์ของสังคมอะเจห์

อาจกล่าวได้ว่าอัตลักษณ์ร่วมของสังคมอะเจห์ได้แก่ ประวัติศาสตร์ของสงครามและความรุนแรง เช่น ประวัติศาสตร์การต่อสู้กับดัตช์ในช่วงยุคอาณานิคม ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงยุคหลังอาณานิคมระหว่างกลุ่ม GAM และรัฐบาล

 

การหล่อหลอมความเป็นตัวตนจากศาสนาอิสลาม การต่อสู้กับความยากลำบาก ส่วนอัตลักษณ์ที่สามารถเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้คือ ภาษา วัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย

 

ส่วนประเด็นที่ทำให้อัตลักษณ์ของชาวอะเจห์แตกต่างกันได้แก่ อายุ อาชีพ เพศ ชนชั้น ชาติกำเนิด และบริบททางสังคมในปัจจุบัน จากความพิเศษของลักษณะทางภูมิศาสตร์ในสังคมอะเจห์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตลักษณ์ที่เป็นลักษณะทางกายภาพ เช่น รูปร่างหน้าตา สีผิว จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญและตายตัว

 

เนื่องจากอะเจห์มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล จึงเป็นแหล่งสำคัญของพ่อค้าและนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก สามารถแวะหยุดพักและค้าขายในแถบบริเวณนี้ ดังนั้นจะไม่แปลกใจเลยว่า แม้แต่ชื่อของ Aceh เองก็มีวิธีการเขียนที่หลากหลายและแตกต่างกันไปตามผู้ที่เรียกและยุคสมัย

 

ตัวอย่างเช่น คำว่า "Aceh"ที่ถูกเขียนขึ้นก่อนปีค.ศ. 1972 มีวิธีการสะกดที่แตกต่างกันออกไป เริ่มจากชาวโปรตุเกสใช้ว่า "Dachem" ซึ่งชาวอาหรับและชาวอิตาเลียนรู้จักในนาม "Assi" ในภาษาอังกฤษเองใช้ว่า "Achin" ส่วนดัชต์ใช้คำว่า "Atjeh"

 

หรือเพียงคำว่า Banda Aceh เพียงอย่างเดียวก็มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนหลายอย่าง เช่น "Koetaradja" มาเป็น "Kutaradja"(ซึ่งแปลว่าเมืองของกษัตริย์หรือป้อมของกษัตริย์) เปลี่ยนเป็น"Banda Atjeh" และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 จึงเปลี่ยนเป็น "Banda Aceh" จากการสะกดแบบภาษาดัตช์ "tj" มาเป็นการสะกดแบบภาษาอังกฤษ "ch" อย่างไรก็ดีสำหรับผู้นำกลุ่ม GAM ได้ปฏิเสธภาษาอินโดและการใช้ภาษาแบบใหม่ แต่คำว่า "Aceh" ก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน[12]

 

ชาวAcehบางคนให้ความหมายของคำว่า Aceh ตามตัวอักษร ว่า "A" หมายถึง Arab คือ ชาวอาหรับ "c" หมายถึง China คือ ชาวจีน "e" หมายถึง Europe หมายถึง ชาวยุโรป และ "h" หมายถึง Hindu หรือ ชาวอินเดีย ซึ่งหมายถึงคนอะเจห์มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งยังเป็นแหล่งพบปะของผู้คนที่มาจากหลากหลายกลุ่มทั่วโลก ทั้งในด้านการค้าและการเดินทาง

 

ชาวอะเจห์บางคนกล่าวว่า ความเป็นอะเจห์นั้น ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหนหากอยู่ในพื้นที่นี้มานาน ก็ถือว่าสามารถเป็นคนอะเจห์ได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นอะเจห์มีได้หลายระดับ ระดับแรก ชาวอะเจห์ส่วนใหญ่ถือว่า ความเป็นอะเจห์อยู่ที่การนับถือศาสนานั้น คือ ศาสนาอิสลามและความเป็นมุสลิม

 

ระดับที่สอง การอยู่ในพื้นที่อะเจห์มาเป็นเวลานานจนถึอว่า เป็นเสมือนบ้านเกิด

 

ระดับที่สาม เป็นลูกที่เกิดจากพ่อและแม่เป็นชาวอะเจห์ และระดับสุดท้าย ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดเป็นชาวอะเจห์ ก็ถือได้ว่าเป็นชาวอะเจห์เช่นเดียวกัน

           

 

2 ชีวิต 2 ภูมิหลังชาวอะเจห์ในสังคมอะเจห์

ในส่วนนี้จะนำเสนอประวัติชีวิตของชาวอะเจห์ 2 คน โดยเป็นผู้หญิง 1 คน และผู้ชาย 1 คน เพื่อให้เห็นภาพพัฒนาการอันซับซ้อนของชาวอะเจห์ว่า เติบโตขึ้นมาอย่างไรในสังคมอะเจห์ โดยผู้วิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้ให้ข้อมูลหลักสำคัญทั้งสองคน

 

 

"Our soul is no price and cheaper than fish" และ ประวัติชีวิตของชู๊ต

หัวข้อนี้มาจากการสนทนาระหว่างผู้วิจัยกับนักศึกษาพยาบาลปีสุดท้ายชาวอะเจห์ หลังจากที่เราใช้เวลาละหมาดร่วมกันเสร็จแล้ว ชู๊ต คือชื่อของเธอ ปัจจุบันมีอายุ 21 ปี มี่พี่น้อง 3 คน โดยเป็นบุตรคนโต มีบุคลิกช่างคิด ช่างสงสัย มีอารมณ์ขัน และมักจะคอยเป็นกังวลและเป็นห่วงเป็นใยคนรอบข้างเสมอ

 

ก่อนหน้านั้นทำให้ผู้วิจัยนึกถึงช่วงเวลาที่เรากำลังกินข้าวด้วยกัน ในขณะที่ผู้วิจัยเลือกกินปลาและเธอเลือกกินไก่ โดยชู๊ตให้เหตุผลว่า สำหรับชาวอะเจห์ซึ่งมีสภาพทางภูมิศาสตร์ติดกับฝั่งทะเล ทำให้ปลาเป็นของหาง่าย และไม่ค่อยมีราคามากนัก

 

ชู๊ต จึงนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของเธอในช่วงระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรงว่า "ชีวิตของเราไม่มีค่าและมีราคาถูกกว่าปลา" ชู๊ต เธอเกิดในบ้านแบบดั้งเดิมของชาวอะเจห์ซึ่ง เรียกว่า "Rumoh Aceh" สถานที่เกิดอยู่ห่างไหลจาก Banda Aceh หลายชั่วโมง สภาพทั่วไปของหมู่บ้านในช่วงเวลานั้นไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้าใช้ และมีเพียงทางเดินซึ่งเป็นถนนเส้นเล็กๆ

 

ชู๊ต ไม่ได้เกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย แต่กระนั้นก็ตามสภาพชีวิตเช่นนี้ก็สอนให้ต้องต่อสู้และเรียนรู้ว่าการมีชีวิตอยู่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พ่อแม่ของชู๊ตไม่ใช่คนที่มีการศึกษาสูงนัก แต่มักจะได้รับการสั่งสอนอยู่เสมอว่า ถึงแม้ว่าครอบครัวจะยากจนและบางครั้งมีเพียงข้าวโพดไม่กี่ฝักในสวน ก็ให้รู้จักแบ่งปันกับคนรอบข้าง

 

ในช่วงที่ชู๊ตมีอายุได้ 3 เดือน พ่อได้งานทำในโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งบ้านของเธอก็ติดกับโรงเรียนแห่งนั้น ก่อนหน้านั้น พ่อของเธอมีอาชีพทำนามาตลอด และแม่ก็เป็นแม่บ้าน ช่วงเวลาในวัยเด็กก่อนเข้าโรงเรียน ชู๊ตมักจะอยู่ที่บ้านของยายช่วยหาฟืนในป่าเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร และพาวัวควายออกไปกินหญ้า

 

ถึงแม้ว่าชู๊ตจะไม่เคยเข้าโรงเรียนอนุบาล แต่การที่มีบริเวณบ้านติดอยู่กับโรงเรียนจึงทำให้เธออยากที่จะเป็นนักเรียนและมีผลการเรียนในลำดับต้นๆเสมอ

 

นอกจากนี้ชู๊ตในวัยเด็กยังชอบการเต้นแบบอะเจห์ โดยบอกว่า "หากฉันเห็นการเต้นแบบนี้ ฉันบอกได้เลยว่านี้คือตัวตนของฉัน คือ ความเป็นอะเจห์ ฉันชอบการเต้นแบบนี้มาก และหากฉันมีลูก ฉันก็จะสอนลูกของฉันให้รู้จักการเต้นแบบนี้"

 

 

การรู้จักโลกของความรุนแรง DOM และ GAM

ถึงแม้ว่าโลกของชู๊ต จะเติบโตขึ้นมาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่ก็มีความสำคัญเนื่องจากเป็นบ้านเกิดของผู้นำที่สำคัญของกลุ่ม GAM หลายคน ประสบการณ์ครั้งแรกของชู๊ตที่รู้จัก DOM และ GAM คือช่วงระหว่างชั้นมัธยมปลายปีที่ 3

 

ชู๊ตจำได้ว่าหลังจากที่เลิกเรียนในวันแรก ป้าขอให้ไปดูที่หลบภัยของหมู่บ้านสำหรับเป็นที่พักให้กับผู้ที่ถูกเผาบ้าน และหลบระเบิดที่เกิดขึ้นทุกคืน และต่อมาชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวก็ได้ย้ายไปหลบภัยในโรงเรียนและสร้างที่กำบังขึ้นในนั้น

 

ชู๊ตเล่าว่า บางคืนเธอต้องนอนราบอยู่กับพื้นเนื่องจากมีเสียงปืนดังอยู่รอบบริเวณบ้านของเธอ เนื่องจากการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกับกลุ่ม GAM ช่วงเวลานี้เองทำให้ชู๊ตเห็นว่า ผู้คนต้องทนทุกข์ทรมานจากความรุนแรงได้อย่างไร เหตุการณ์นี้ยังสอนให้ชู๊ตรู้ว่าชีวิตของคนเรานั้นไม่แน่นอน เพราะสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวยากที่จะคาดเดาและไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงวันพรุ่งนี้หรือไม่

 

ชู๊ตยังสูญเสียเพื่อนสนิทซึ่งเป็นคนชวา 2 คน เนื่องจากครอบครัวได้รับการข่มขู่จากบุคคลที่ไม่รู้จักและขอให้กลับไปอยู่ที่บ้านเกิดของตนเองในหมู่เกาะชวา

 

ไม่เพียงแต่คนที่ไม่ใช่อะเจห์เท่านั้น แม้แต่ชาวอะเจห์ที่ไม่สามารถพูดภาษาอะเจห์ได้ก็ยากที่จะอยู่ในพื้นที่เช่นกัน เพราะหากพบกับกลุ่ม GAM และไม่พูดภาษาอะเจห์ก็จะถูกข่มขู่ และ GAM ยังจับผู้หญิงที่ไม่ได้คลุมฮิญาบ เนื่องจาก GAM มองว่า อัตลักษณ์ของชาวอะเจห์คือ ความเป็นมุสลิม

 

สำหรับผู้หญิงสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิมที่ดีคือ การคลุมฮิญาบและแต่งกายเรียบร้อยไม่รัดรูป เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวอะเจห์มีอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดกว่าที่อื่นๆ โดยเฉพาะในหมู่เกาะชวา

 

นอกจากนี้ ภาษาอะเจห์ก็ยังเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญประการหนึ่ง ที่ถูกตีความโดยกลุ่ม GAM อีกด้วย

 

สำหรับชู๊ตในขณะนั้น เธอไม่ชอบที่จะคลุมฮิญาบ แต่เนื่องจากสถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการแต่งตัวโดยไม่เต็มใจและเรียนรู้ที่จะต้องแต่งตัวแบบใดไปโรงเรียน

 

ชู๊ตรู้สึกว่า ช่วงสถานการณ์แห่งความสับสนและสังคมไร้ระเบียบเช่นนี้ ทุกคนมีสิทธิจะตกเป็นเหยื่อได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ทหาร หรือตำรวจ หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

 

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนที่อยู่ท่ามกลางขั้วทั้งสองนั้น ถูกยัดเยียดโชคชะตาอันโหดร้ายจากทั้งสองฝ่าย

 

สิ่งที่ชู๊ตจำได้ดีอีกอย่างคือ รูเมาะกอด๊อง (Rumoh Geudong)[13] สัญลักษณ์ของความโหดร้ายที่สำคัญในยุค DOM รูเมาะกอด๊อง คือบ้านหลังหนึ่งในอะเจห์ เป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่นำบุคคลที่ต้องสงสัยมาทรมานและฆ่าทิ้ง ซึ่งภายหลังชาวบ้านได้เผาทำลายไป

 

ความเป็นนักศึกษาพยาบาลทำให้ชู๊ตมีโอกาสได้พบเจอกับผู้ป่วยที่วิกลจริต อันเนื่องมาจากสูญเสียบุคคลในครอบครัว เช่น สามี/พ่อ แม่/ภรรยา และลูก จากสถานการณ์ความรุนแรง

 

ข้อสังเกตของชู๊ตเกี่ยวกับสมาชิกของ GAM เธอให้ความเห็นว่า ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่การศึกษาไม่สูงนัก และมักจะมีฐานะที่ยากจน นอกจากนี้ ชู๊ตยังมีประสบการณ์อันขมขื่นและมักจะร้องไห้ออกมาทุกครั้งที่คิดหรือพูดเกี่ยวกับเรื่องการเผาโรงเรียน เพราะในช่วงความไม่สงบนั้น การเผาโรงเรียนมักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ และข่าวนี้มักทำให้รู้สึกเป็นทุกข์และกังวลใจ

 

นอกจากความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับโรงเรียนในวัยเด็กแล้ว การที่มีบ้านติดอยู่กับโรงเรียนทำให้ชู๊ตรู้สึกเป็นกังวลใจว่า อาจทำให้ไฟลามมาติดกับบ้านของเธอด้วย เย็นวันหนึ่งเมื่อได้รับข่าวโรงเรียนถูกเผาจากชาวบ้านในละแวกนั้น ความรู้สึกตกใจ และเสียใจเกิดขึ้นในใจทันที ชู๊ตอยากไปดูที่เกิดเหตุให้เห็นกับตา

 

ภาพข้างหน้าซึ่งเป็นประตูโรงเรียนที่เป็นไม้และมีร่อยรอยของการถูกเผา และสิ่งที่ตกอยู่บริเวณนั้นคือ ยากันยุงและไม้ขีดไฟ แต่ทว่าไฟไม่ได้ลามลุกไปทั้งโรงเรียน เพราะนอกจากประตูที่ทำด้วยไม้แล้ว โครงสร้างของโรงเรียนทั้งหมด คือ คอนกรีต

 

นอกจากนี้ข่าวที่ได้รับว่า มือเพลิงที่เผาโรงเรียน คือคนที่อยู่ตรงข้ามบ้านของเธอ เขาเป็นสมาชิกกลุ่ม GAM และยังเป็นครูของเธอในช่วงมัธยมต้นที่ชู๊ตเคยเรียนอีกด้วย

 

ชู๊ตเล่าว่า โดยส่วนใหญ่สมาชิกกลุ่ม GAM จะเป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล แต่คนนี้ถือเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากเขามีตำแหน่งเป็นเหรัญญิกของกลุ่ม GAM ด้วย แต่ภายหลังมีความขัดแย้งกันภายใน เรื่องรายได้และการจัดเก็บเงิน จึงได้หนีหายเข้าป่าไป และปรากฏตัวอีกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหมู่บ้าน เพื่อแวะเยี่ยมเยียนภรรยา

 

ชู๊ตได้พบเขาในสภาพของคนที่มีหนวดเครายาวรุงรัง และเสื้อผ้าที่ทรุดโทรม บนตัวมีสายกระสุนพาดและถือปืนกระบอกโต และเขายังมาที่บ้านของชู๊ตเพื่อกล่าวสวัสดีกับพ่อและครอบครัวในฐานะเพื่อนบ้านที่ไม่เคยทักทายกัน หลังจากนั้นชู๊ตก็ไม่ได้เห็นเพื่อนบ้านคนนี้อีกเลย

 

แม่ของชู๊ตเล่าให้ฟังในภายหลังว่า เขาเสียชีวิตในป่าเพราะเรื่องขัดผลประโยชน์กันเองภายในกลุ่ม ส่วนภรรยาของเขาเล่าให้แม่ฟังในภายหลังว่า เธอถูกข่มขืนจากสมาชิกของกลุ่ม GAM

 

 

การเลือกทางเดินเข้ามหาวิทยาลัย

หลังจากจบชั้นมัธยมปลาย ความใฝ่ฝันของเธอคือ การศึกษาต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัย หากแต่ชู๊ตตระหนักดีว่าด้วยทางบ้านที่มีฐานะยากจนและไม่รู้ว่าจะมีเงินพอที่จะให้ได้เรียนต่อหรือไม่ ซึ่งแม้แต่การจะขออนุญาตเรียนต่อยังทำให้เธอกังวลใจและหวั่นเกรงที่จะถามถึงความสามารถทางการเงินของครอบครัว

 

ทว่าพ่อและแม่กลับยืนยันที่จะให้ได้เรียนและบอกว่า ถึงแม้ว่าจะต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมแค่ไหนก็ตาม เธอก็ต้องได้เรียน

 

คณะแพทย์ศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ ถือเป็นคณะที่มีผู้นิยมเข้าเรียนมากตามลำดับและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าคณะเหล่านี้ สำหรับชู๊ต เธอเลือกคณะพยาบาล ถึงแม้จะรู้ว่ามีนักเรียนกว่า 2,000 คนสมัครและมหาวิทยาลัยมีความสามารถในการรับนักเรียนเพียงแค่ 60 คน อย่างไรก็ตามเธอคือหนึ่งในนั้น

 

แต่การที่ต้องห่างจากหมู่บ้าน ครอบครัว และน้อง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง ทำให้รู้สึกเศร้าเสียใจ และกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจน ทำให้คิดว่า อย่างดีพ่อกับแม่คงมีความสามารถให้เรียนได้เพียงแค่ 1 หรือ 2 ปี ในมหาวิทยาลัย แต่ชู๊ตก็สามารถฝ่าฟันมาได้จวบจนกระทั่งปีสุดท้าย

 

 

จากพยาบาลสู่หมอจำเป็นในช่วงแผ่นดินไหวและสึนามิ

ในช่วงระหว่างที่ชู๊ตเรียนอยู่ในชั้นปี 2 นั้น นอกจากการที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนท่ามกลางความรุนแรงในอะเจห์แล้ว เธอยังต้องขยับฐานะจากพยาบาลสู่คุณหมอจำเป็นในช่วงเหตุการณ์สึนามิอีกด้วย

 

เธอเล่าว่า มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมายจากเหตุการณ์นี้และยังต้องช่วยผู้หญิงทำคลอดโดยไม่มีเครื่องมือแพทย์ใดๆ เพราะเครื่องมือแพทย์ถูกคลื่นสึนามิพัดลอยไปตามน้ำหมด

 

ชู๊ตเล่าว่า "ลองจินตนาการถึงฉันในช่วงเวลานั้นสิ ฉันยังเป็นเพียงนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 ครึ่ง ความรู้ก็ยังมีเพียงแค่น้อยนิด แต่สถานการณ์ในขณะนั้นที่มีคนเจ็บมากมายบังคับให้ฉันต้องช่วยพวกเขาเหล่านั้น เราไม่มีแม้กระทั่งเครื่องมือแพทย์ใด ๆ เลยเพราะว่ามันลอยไปตามน้ำหมด ลองจินตนาการฉันในช่วงเวลานั้นสิ ว่าฉันจะเป็นอย่างไร"

 

หลังเหตุการณ์ใหม่ ๆ มีการประกาศเรียกอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสึนามิ ชู๊ตก็สมัครเป็นอาสาสมัครด้วย หากความที่ประสบการณ์และความรู้ด้านการแพทย์ยังน้อย ทำให้รู้สึกว่า ยังช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แต่ทุกคนกลับมุ่งความหวังตรงมาที่ชู๊ต เพราะความเป็นนักศึกษาพยาบาล และเนื่องจากหมอและพยาบาลจำนวนมากเสียชีวิตในช่วงแผ่นดินไหวและเหตุการณ์สึนามิ ชู๊ตจึงคล้ายๆ กับหมอจำเป็น

 

เมื่อมีคนนำยามาให้เธอดูว่า มีชนิดไหนที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้บ้าง ทว่าชู๊ตกลับรู้จักเพียง 3 ชนิด คือ พาราเซ็ตตามอล วิตามินซี และแอนตี้ไบโอติก จากความรู้และความรู้สึกของชู๊ตขณะนั้น ทำให้รู้สึกเสียใจในความด้อยศัพยภาพของตัวเอง

 

หลักจากเหตุการณ์ดีขึ้น เธอเดินทางกลับบ้านพร้อมด้วยหนังสือยาเล่มโต และสามารถท่องจำชนิดของยาอย่างขึ้นใจได้ทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้เองทำให้ชู๊ตเห็นคุณค่าของความเป็นพยาบาลในตัวเอง เพราะเหตุการณ์นี้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ใหญ่ เด็ก หรือแม้กระทั่งทหาร ต่างต้องขอร้องวิงวอนให้ชู๊ตเข้ามาช่วยดูแลรักษา ถึงแม้ทหารในช่วงเวลาปกติจะทำหยิ่ง แต่เวลานี้ชู๊ตกลับรู้สึกว่าเธอมีอำนาจเหนือกว่าผู้ชายในเครื่องแบบที่ตัวใหญ่กว่าเธอมากนัก และมันทำให้ชู๊ตรู้สึกดีเมื่อทหารขอร้องให้เธอช่วยเหลือ

 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ชู๊ตค้นพบอีกอย่างคือ มีชาวอะเจห์หลายคนต้องกลายเป็นคนเสียสติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ เนื่องจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักภายในครอบครัว แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่เคยเสียสติจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคมอะเจห์ เมื่อเจอกับเหตุการณ์สึนามิหลายคนกลับหายเป็นปกติ โดยไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

 

ข้อสังเกตของชู๊ตระหว่างเธอกับน้องชาย

ครอบครัวของชู๊ตมีพี่น้อง 3 คน ในวัยเด็ก การที่เติบโตในหมู่บ้านชนบทห่างไกลจากเมืองหลายชั่วโมง ชู๊ต มักจะบอกกับผู้วิจัยอยู่เสมอว่า ชีวิตของเธอไม่มีอะไรตื่นเต้นและน่าสนใจ เธอไม่เคยเข้าโรงเรียนอนุบาล แต่มักจะวิ่งเล่นอยู่รอบๆ บ้านและบริเวณโรงเรียน

 

ใช้เวลาในช่วงชีวิตตอนวัยประถมวิ่งเล่นกลางสายฝน ปีนป่ายต้นไม้ ฝึกการเต้นและการร้องเพลงที่เป็นของท้องถิ่นดั้งเดิมอะเจห์ และใช้เวลาในการอ่านอัรฺกุรอานตอนช่วงกลางคืน

 

นอกจากนี้ยังชอบวาดรูปและมักจะวาดสิ่งที่เป็นความทรงจำในห้วงเวลาอันแสนวิเศษเช่นนี้ และแน่นอนว่าเสียงระเบิดหรือเหตุการณ์การความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินเลย

 

ชู๊ต มีน้องสาวและน้องชายอย่างละ 1 คน โดยทั้งสองชอบทำตามเธอทุกอย่าง หากชู๊ตวาดรูปน้องทั้งสองของเธอก็จะวาดรูปตามไปด้วย สำหรับชู๊ตและน้องสาวมักจะวาดรูปทุ่งหญ้า ผีเสื้อ ดอกไม้ และแม่น้ำ หรือรูปที่เป็นธรรมชาติ

 

แต่สำหรับน้องชายของเธอที่เติบโตมาพร้อมภาพทหารเดินเต็มท้องถนน ระเบิด และเสียงปืน จึงมักจะวาดรูประเบิด ทหาร รถถัง และภาพความรุนแรง

 

ชู๊ตตั้งข้อสังเกตว่าในวัยเด็กเป็นวัยที่สำคัญและมีความทรงจำที่ดีที่สุด ความที่ได้วิ่งเล่นในป่า และนอนกลางทุ่งหญ้า ทำให้ปัจจุบันยังจำเหตุการณ์ดังกล่าวและกลิ่นหอมของทุ่งหญ้าได้ดี แต่สำหรับน้องชายของเธอที่เกิดและเติบโตในช่วงที่สังคมอะเจห์มีแต่ความรุนแรง เขาจะโตขึ้นมามีความทรงจำอย่างไร และจะกลายเป็นคนอย่างไร

 

 

การเติบโตเป็นมุสลิมในสังคมอะเจห์

ชู๊ต เธอกล่าวว่า สังคมอะเจห์ที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ก็ใช่ว่าชาวอะเจห์จะปฏิบัติเคร่งครัดตามหลักการทางศาสนาเหมือนกันหมด เพื่อนของเธอบางคนถึงแม้ว่าจะจบจากคณะอิสลามศึกษาแต่ก็ไม่เคยที่จะละหมาด

 

สำหรับตัวเธอแล้ว รวมถึงความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย

 

ชู๊ตเองไม่ได้เติบโตในตระกูลของอุลามะหรือผู้รู้ทางศาสนา ในวัยเด็กเรียนก็ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนสามัญทั่วๆ ไป และเมื่อถึงช่วงมัธยมเธอจะเลือกเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีกฎบังคับให้ต้องคลุมศีรษะ ซึ่งในภายหลังเธอก็ต้องปฏิบัติเนื่องจากความรุนแรงในอะเจห์ และความกดดันที่ได้รับจากกลุ่ม GAM ซึ่งก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงภายนอก แต่ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจ

 

ความศรัทธาของเธอที่มีต่อพระเจ้าเกิดขึ้น เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษช่วงที่อยู่ชั้นมัธยมปลายในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดให้นักเรียนได้เรียนเกี่ยวกับอิสลามศึกษาเป็นเวลา 1 อาทิตย์ มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับปรัชญาของความเป็นมนุษย์ ปรัชญาอิสลาม และการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเยาวชนมุสลิม

 

ในช่วงเวลานี้เองชู๊ตบอกกับตัวเองว่า "ฉันเป็นมุสลิมแต่ฉันกลับรู้เรื่องความเป็นอิสลามแค่เพียงนิดเดียว" ดังนั้นเธอจึงเริ่มที่จะเรียนศาสนาด้วยตนเอง ฝึกฝนการอ่านคัมภีร์อัรกุรอ่าน เพื่อทำให้ชีวิตมีคุณค่าและไม่คิดถึงเพียงแต่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การแบ่งปันสู่คนรอบข้างด้วย

 

หลังจากนั้น สิ่งเหล่านี้ได้ผลักดันให้เธอคลุมฮิญาบจากความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงภายในจิตใจ เนื่องจากเกิดความตระหนักในตัวเอง และเรียนรู้ที่จะเป็นมุสลิมที่ดีในความหมายของชู๊ต ในการคลุมฮิญาบเพื่อต้องการที่จะใกล้ชิดกับพระเจ้า ความรู้สึกเหล่านี้สร้างความสงบและเติมเต็มชีวิต และทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้การเรียนรู้ศาสนาอิสลามในมุมมองของชู๊ต ทำให้ปฏิเสธการเต้นแบบท้องถิ่น ซึ่งเคยชอบมาก "ฉันไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้หญิง (สาว) มาเต้นแบบนี้ต่อหน้าผู้ชาย แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก ๆ ไม่เป็นไร"

 

นอกจากนี้ วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของอะเจห์ รวมทั้งความเชื่อบางอย่างชู๊ตปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคนในครอบครัว เช่น การทำพิธีกรรมในช่วงการแต่งงาน ที่เรียกว่า "โพสติจูต" และการไปเคารพหลุมศพของอิหม่าม

 

ทั้งนี้ ในช่วงเหตุการณ์หลังสึนามิ ตาของชู๊ตบนไว้กับหลุมฝังศพของอิหม่ามว่า หากชู๊ตรอดชีวิตจะมาเยี่ยม แต่ชู๊ตปฏิเสธและยืนยันที่จะไม่ไปโดยให้เหตุผลว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่เคยมีในอิสลาม

 

 

ชีวิตในวัยเด็กของ Pak Muhammad

Pak Muhammad เกิดทางเหนือของอะเจห์ เมื่อปี ค.ศ. 1944 หรือ 1 ปีก่อนอินโดนีเซียจะประกาศอิสรภาพ มีพี่น้องเป็นผู้ชายทั้งหมด 5 คน แม่ของ Pak เป็นหม้ายและมีบุตรชายมาแล้ว 3 คน เพราะฉะนั้นสำหรับ Pak จึงเป็นลูกชายคนที่ 4 ของแม่ แต่เป็นลูกชายคนแรกของพ่อ

 

พ่อของ Pak ทำงานหลายชนิด ตั้งแต่โรงโม่ เปิดร้านกาแฟ โรงงานน้ำมันขนาดเล็ก ขายเสื้อผ้า เป็นพ่อค้าท้องถิ่น สะสมผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน เช่น พริกไท แล้วนำไปขายตั้งแต่อะเจห์จนถึงเมดาน แต่ระหว่างการเดินทางไปค้าขายนั้นถูกดัตช์จับกุมตัวและเข้าคุกด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Pak เกิด

 

ในภายหลังพ่อของ Pak ถูกปล่อยตัวออกมา แต่หลังจากที่ Pak อายุได้ 3 - 4 ปี พ่อก็เสียชีวิต ถึงแม้ว่าจะเกิดในครอบครัวที่ยากจนและมีบ้านคล้ายกับกระท่อมเก่าๆ แต่ก็ไม่เคยต้องขัดสนเรื่องอาหารการกินและมีทุกอย่างภายในบ้านตั้งแต่ ไก่ เป็ด แพะ แกะ ข้าว และผลไม้

 

สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านที่เกิดถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ดี เนื่องจากเป็นหมู่บ้านแห่งแรกที่สร้างโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ภายในชุมชนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นแลกปลา ทำความสะอาด หรือทำกับข้าว

 

แม่ของ Pak เป็นลูกสาวของอุลามะในหมู่บ้าน รวมทั้งทุกคนในครอบครัวทางฝ่ายแม่ยังเป็นครูสอนศาสนาและมี 1 คนที่เป็นครูสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม บริเวณบ้านยังมีบาลัย (Balai) ซึ่งเป็นเรือนยกสูงในลักษณะเปิดโล่งเพื่อใช้สำหรับทำการสอนอ่านคัมภีร์อัรฺกุรอ่าน

 

ช่วงอายุประมาณ 9 ขวบสังคมอะเจห์มีความรุนแรง เนื่องจากเกิดการปฏิวัติที่เรียกว่า Darul Isalam เมื่อวันที่ 21 September 1953 ขณะที่ Pak กำลังเรียนชั้นประถม เหตุการณ์นี้ทำให้โรงเรียนต้องปิดตัวลงเป็นเวลาเกือบ 1 ปี

 

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปโรงเรียน แต่เนื่องจากครอบครัวทางแม่เป็นแหล่งสอนศาสนา ดังนั้นในช่วงเวลาเย็น ๆ Pak จึงเรียนศาสนาร่วมกับเด็กๆ ในหมู่บ้านซึ่งมีกว่า 10 คน เช่น การฝึกอ่านอัรฺกุรอ่าน นอกจากนี้ Pak ยังมีโอกาสได้อ่านหนังสือที่มีอยู่มากมายในชั้นหนังสือของป้าๆ และลุงๆ ทั้งหลายที่มีอยู่อย่างมากมายอีกด้วย

 

หลังจากเหตุการณ์สงบลง ในปี 1954 จึงได้กลับไปเรียนในโรงเรียนจริงๆ อีกครั้ง แม่ของ Pak รักและเน้นการให้การศึกษากับ Pak มาก เนื่องจากเกิดในช่วงที่สามีใกล้ตาย ซึ่งได้สั่งเสียเอาไว้ว่า "ให้นำเขาไปเรียนหนังสือ เขาเป็นเด็กฉลาด" ดังนั้น เมื่อป้าซึ่งเป็นครูและแต่งงานกับครูด้วยกัน ย้ายไปอยู่ที่ Medan ในปี 1956 Pak จึงมีโอกาสได้ติดตามไปเรียนหนังสือด้วย

 

ในขณะนั้นระบบการศึกษายังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เด็กนักเรียนชั้นโตกว่า จะมาสอนเด็กนักเรียนชั้นเล็ก แต่จากภูมิหลังและโอกาสในการเรียนหนังสืออยู่กับบ้าน และความรักการอ่านหนังสือ ทำให้ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อเนื่องยังที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนฝึกหัดเพื่อเป็นผู้พิพากษาที่ Yogjakarta, โรงเรียนกฎหมายใน Lombok

 

ระหว่างที่เรียนอยู่ นอกจากจะทำงานทุกชนิดเพื่อหาเงินเรียนหนังสือ เนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน เช่น เป็นคนงานก่อสร้าง ควบคู่กับการทำหน้าที่เป็นอิหม่ามให้กับมัสยิดในชุมชน และทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กรที่มีความแตกต่างหลากหลายอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ทุนของ Asia Foundation ไปศึกษาปริญญาเอกต่อที่ประเทศสหรัฐอมเริกา

 

เมื่ออายุ 40 ปี ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่หล่อหลอมความเป็นตัวตนของ Pak เป็นต้นทุนทางสังคม และกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลและ GAM ในเวลาต่อมา

 

 

ความขัดแย้ง และบทบาทของอุลามะ

จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กรที่แตกต่างหลากหลายและมีพื้นฐานทางครอบครัวที่เป็นอุลามะ รวมทั้งการศึกษาที่ดี ทำให้ Pak ถูกคัดเลือกเป็นคณะกรรมการในการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย โดยมีหัวหน้าตำรวจที่ปลดเกษียณแล้ว สมาชิกกลุ่ม GAM และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อทำการสำรวจความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและเขียนรายงานไปยัง Geneva

 

ทั้งนี้การเกิดความขัดแย้งและความรุนแรง หรือการเกิดกลุ่ม GAM นั้น ในความคิดเห็นของ Pak หาใช่สิ่งที่มีมาตั้งแต่แรก หากแต่ใช้เวลาและกระบวนการที่ค่อยๆ ก่อเป็นรูปร่างที่ละเล็กละน้อย

 

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่ดีจากรัฐบาล หรือการไม่มีกฎหมายที่ให้ความยุติกรรม หรือการมีกฎหมายเพื่อการสนับสนุนให้จับกุมผู้ต้องสงสัยโดยให้รัฐสามารถกระทำได้ทุกอย่างในทางที่ไม่ดี เช่น การนำไปทรมาน ย่อมเป็นกระบวนการที่สร้างศัตรูเพิ่มมากขึ้น และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับประเทศ และเท่ากับว่าผลักประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายใด ให้ไปอยู่อีกด้านหนึ่ง

 

ประการที่สอง การสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน หากรัฐไม่สื่อสารกับประชาชน ก็จะเกิดความไม่ไว้วางใจ และเมื่อรัฐไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ปัญหาก็จะเกิดขึ้น เช่น หัวหน้าของหมู่บ้านจะต้องมีคุณสมบัติเป็นคนดี ถึงแม้จะมีการศึกษาที่ต่ำและไม่ใช่คนร่ำรวย ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ความเป็นคนดี และได้รับการไว้วางใจก็ไม่ต้องการผู้เชี่ยวชาญอื่นให้มาดูแลชุมชน

 

ประการที่สาม การที่สังคมอะเจห์มีสงครามมา 30 ปี ดังนั้น สงครามบางอย่างจึงเป็นเรื่องของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้า อาวุธและยาเสพติด และยังมีกลุ่มผลประโยชน์ที่ฉกฉวยโอกาสจากการต้องสู้ และความขัดแย้ง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มักจะอยู่เบื้องหลัง

 

ประการที่สี่ การแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เท่าเทียมกัน

 

 

สันติภาพในอะเจห์

"สึนามิมีส่วนกระตุ้นให้เกิดสันติภาพ" ในความคิดเห็นของ Pak ในฐานะที่เป็นชาวอะเจห์และอยู่มากว่าครึ่งทศวรรษ ความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสูญเสียในครั้งนี้

 

Pak กล่าวว่า "สึนามิ มีส่วนให้หัวหน้าของกลุ่ม GAM ที่อยู่ในป่า เห็นความสูญเสียที่เกิดจากสึนามิ เนื่องจากญาติและคนรู้จักหายไปพร้อมกับเหตุการณ์นี้ พวกเขาตกใจ เพราะแต่ละคนเป็นพ่อ เพื่อน วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หายไป สภาวะเช่นนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างสันติภาพ หากสงครามฆ่าคนมากกว่า 100,000 คนในช่วง 30 ปี แต่เพียงไม่ชั่วโมงที่สึนามิฆ่าคนมากกว่า 100,000 คน กระบวนการสร้างสันติภาพเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปีค.ศ.2000 แต่ครั้งนี้สภาวการณ์ต่างกัน"

 

อย่างไรก็ตาม สึนามิก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เกิดสันติภาพ หากแต่การสร้างสันติภาพในอะเจห์มีกระบวนการที่ยาวนานและซับซ้อน มีรากของปัญหามาจากการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการต่อสู้และสงคราม

 

การเซ็นสัญญาสันติภาพ จึงให้มีการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติแก่สังคมอะเจห์มากขึ้น รวมถึงการให้พื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นนั้น คือ GAM สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองและมีสิทธิใช้กระบวนการประชาธิปไตย ในการลงสมัครเป็นผู้แทน ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของภูมิภาคนี้

 

สำหรับสังคมอะเจห์ประเด็นปัญหาที่ Pak ตั้งคำถามก็คือ "เราจะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นนี้ได้หรือไม่และอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะไม่ใช่เป็นปัญหาของรัฐบาลกลางแล้ว แต่จะกลายเป็นปัญหาของเราเอง หมายถึง เรามีทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับการแบ่งปันในจำนวนที่มาก มีโอกาสทางการเมือง แต่เราจะใช้โอกาสเหล่านี้อย่างไร"

 

 

การวางรากฐานการศึกษาหลังสันติภาพในอะเจห์

หลังจากสันติภาพแล้ว สิ่งที่ Pak ต้องการนำเสนอต่อ คือ การศึกษา สวัสดิการทางสังคม และ การสื่อสาร โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาว่า "การศึกษานำไปสู่การมีงานทำ การทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เพราะคนต้องการดื่ม กิน และแต่งตัว ซึ่งความยากจนและการละเลยเป็นรากของปัญหา"

 

จากการที่ Pak มีพื้นฐานทางครอบครัวที่มาจากตระกูลอุลามะ ดังนั้นบทบาทของ Pak ในการพูดคุยสนทนากับกลุ่มอุลามะและการสร้างความสัมพันธ์ประสานกับกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน Pak จึงเน้นที่ความเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่มาจากฐานของครอบครัวเป็นหลัก

 

บางคนมีความสัมพันธ์เป็นญาติ เพื่อน หรือแม้กระทั่งอุลามะต่างหมู่บ้าน ก็จะรู้จักสายตระกูลของกันและกันเป็นอย่างดี ดังนั้น กลุ่มอุลามะจึงไม่มีความรู้สึกว่า Pak เป็นบุคคลแปลกหน้า ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างกระบวนการปรับปรุงวัฒนธรรมและการศึกษาสำหรับประชาชน

 

 

ความเป็นชาวอะเจห์ในมุมมองของ Pak

เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นแหลมยื่นออกไปทางทะเล ตั้งแต่ในอดีตอะเจห์จึงเป็นแหล่งพบปะของผู้คนที่มาจากหลากหลายกลุ่มทั่วโลก ทั้งในด้านการค้าและการเดินทาง

 

สมัยก่อนผู้คนสัญจรไปมาด้วยเรือใบ และเนื่องจากอะเจห์เป็นพื้นที่ส่วนที่อยู่ใต้ลม ทำให้พ่อค้าและนักเดินทางต้องมาหยุดที่อะเจห์ บ้างก็มาหยุดพักเป็นเวลากว่า 6 เดือน เพื่อรอลมพัดกลับให้สามารถเดินทางต่อไปยังแห่งอื่นได้

 

การเป็นแหล่งพบปะของผู้คนตั้งแต่ในอดีตนี้เอง ยังทำให้ชาวอะเจห์มีความแตกต่างทางด้านกายภาพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตาสีฟ้าคล้ายสเปน ผมหยิกคล้ายอาฟริกัน หรือผิวสีน้ำตาลคล้ายชาวทมิฬในประเทศอินเดีย ไม่ถือว่ามีความสำคัญและไม่ใช่คนแปลกหน้า ความเป็นอะเจห์อยู่ที่การนับถือศาสนาอิสลามและอยู่ในพื้นที่มานาน

 

ดังนั้นสำหรับ Pak แล้วความเป็นอะเจห์นั้น ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน หากอยู่ในพื้นที่นี้มานาน ก็ถือว่าสามารถเป็นชาวอะเจห์ได้เช่นกัน แต่สำหรับความเป็นอะเจห์ยังมีปัจจัยชี้วัดได้หลายระดับ

 

ระดับแรก ชาวอะเจห์ส่วนใหญ่ถือว่า ความเป็นอะเจห์อยู่ที่การนับถือศาสนาอิสลามและความเป็นมุสลิม

 

ระดับที่สอง การอยู่ในพื้นที่อะเจห์มาเป็นเวลานาน จนถึงว่าเป็นเสมือนบ้านเกิด

 

ระดับที่สาม เป็นลูกที่เกิดจากพ่อและแม่เป็นชาวอะเจห์ และ

 

ระดับสุดท้าย ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดเป็นชาวอะเจห์ ก็ถือได้ว่าเป็นชาวอะเจห์เช่นเดียวกัน

 

ในเรื่องของภาษาอะเจห์ก็มีที่มาจากหลายแหล่ง เช่น อารบิก สันสกฤต จัมปา ภาษาอังกฤษ และมาเลเซีย เป็นต้น และถึงแม้ว่าภาษาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแสดงออกถึงความเป็นอะเจห์ และรู้สึกว่ามีความไพเราะกว่าภาษาอินโดนีเซีย แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลัก (dominate factor) ตัวอย่างเช่น ชาวอะเจห์ที่อาศัยอยู่ในเมืองอาจจะไม่สามารถพูดภาษาอะเจห์ได้ แต่ที่สำคัญจะต้องมีความรู้สึกนึกคิดเป็นชาวอะเจห์ แต่ปัจจุบัน Pak รู้สึกว่า คนมีความสามารถพูดภาษาอะเจห์ได้น้อยลงและอาจจะสูญหายไป

 

ถึงแม้ว่าภาษาจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่สถานการณ์ความขัดแย้งอาจเป็นเป็นปัจจัยผลัก ตัวอย่างเช่น ในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบหากเจอจุดตรวจการพูดภาษาอินโดนีเซียอาจเป็นปัญหา "พวกเขา (กลุ่ม GAM-ู้วิจัย) อาจตีความว่าคุณเป็นคนแปลกถิ่น" แต่เมื่อกลับมาสู่สถานการณ์ปกติการพูดภาษาอินโดนีเซียก็ไม่มีปัญหา

 

อย่างไรก็ตาม ภาษาอินโดนีเซีย ก็เป็นภาษาสำคัญเพื่อการสื่อสารและการศึกษา เนื่องจากในประเทศอินโดนีเซียมีความหลากหลายสูง แต่ละที่ภาษาท้องถิ่นเป็นของตนเอง การยินยอมให้แต่ละท้องถิ่นมีสิทธิในการใช้ภาษาของตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นความร่ำรวยทางวัฒนธรรม

 

ถึงแม้ว่าการแต่งกายของชาวอะเจห์ในปัจจุบันจะมีความแตกต่างจากในอดีต เช่น ผู้หญิงอะเจห์ในอดีตนุ่งกางเกง เพราะต้องขี่ม้าเพื่อต้องการความคล่องตัวในการต่อสู้กับดัตช์ ในช่วงยุคล่าอาณานิคม และคลุมผ้าทัดใบหู หรือจะเปลี่ยนมาเป็นการคลุมฮิญาบแบบทันสมัย

 

สำหรับผู้ชายการแต่งกายก็เปลี่ยนไป ไม่เหมือนกับปัจจุบัน เพียงแต่ว่าจะต้องปกปิดส่วนสำคัญของร่างกาย ประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรม ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล

 

แต่สิ่งสำคัญ คือ การยอมรับซึ่งกันและกันและไม่ต่อว่าหรือแสดงตนว่า เป็นผู้เคร่งครัดทางด้านศาสนามากกว่า เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัยหรือเงื่อนไขสำคัญนำไปสู่ความขัดแย้ง เช่น ลูกสาวอาจจะต่อว่าแม่เรื่องการแต่งตัว หรือการทำพิธีกรรมที่ตีความว่าผิดหลักการทางศาสนา

 

 

อัตลักษณ์ของชาวอะเจห์

ทั้งสองกรณีศึกษามีอัตลักษณ์ร่วมกัน คือ เกิดในครอบครัวที่ยากจนอยู่ในชนบท ซึ่งถึงแม้ว่าฐานะทางบ้านจะยากจน แต่ได้รับการสนับสนุนและแรงผลักดันของครอบครัว รวมทั้งการให้คุณค่ากับการศึกษาด้วยตนเอง ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต

 

สำหรับ Pak จะมีต้นทุนทางสังคมสูงกว่าชู๊ต เนื่องจากครอบครัวและญาติทางฝ่ายแม่ที่เป็นครูสอนศาสนา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีระบบการเรียนการสอนเป็น Home School และการที่ Pak ได้มีโอกาสติดตามญาติไปเรียนต่อที่ Medan รวมทั้งมีหนังสือมากมายของครอบครัวให้ Pak ได้อ่าน ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับช่วงเวลาวิกฤตที่โรงเรียนต้องหยุดเรียนเป็นเวลา 1 ปี หรือการเรียนการสอนในระบบไม่เอื้ออำนวย

 

การเติบโตท่ามกลางชีวิตของการศึกษา ทั้งในและนอกระบบ ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นคณบดีในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและคุณภาพของชีวิต ด้วยระบบการศึกษา

 

ในขณะที่ชู๊ตไม่ได้เกิดในครอบครัวของอุลามะ แต่การที่ได้อยู่ใกล้ๆ โรงเรียน และครอบครัวที่คอยสนับสนุนในเรื่องการเรียน ทำให้ชู๊ตสามารถฝ่าฝันอุปสรรคในชีวิตได้

 

อย่างไรก็ดี อัตลักษณ์ของ Pak ยังมีปัจจัยความสัมพันธ์อันดีในระบบเครือญาติ ครอบครัว และความสัมพันธ์ในชุมชนที่เหนียวแน่น คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันและยังเป็นหมู่บ้านแห่งแรกที่ก่อตั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

 

การเกิดและเติบโตในชุมชนเช่นนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Pak มีทัศนคติที่ยืนหยุ่นในการทำความเข้าใจระบบความสัมพันธ์ของชุมชน ซึ่งมีวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อม ซึ่งผู้วิจัยไม่พบปัจจัยนี้ในอัตลักษณ์ของชู๊ต

 

เป็นไปได้ว่า การที่ครอบครัวจะต้องแยกออกมาอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวห่างจากทั้งชุมชนเดิมที่เป็นของทั้งพ่อและแม่ อาจจะทำให้ชู๊ตมองไม่เห็นระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ซึ่งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นคอยช่วยประสาน อีกทั้งระบบการศึกษาศาสนาอิสลามในยุคสมัยของชู๊ต ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงทำให้ชู๊ตรู้สึกว่า วัฒนธรรมบางอย่างของอะเจห์ขัดกับหลักการทางศาสนาอิสลาม

 

ทั้งสองคนรู้สึกว่าตนเองเป็นชาวอะเจห์โดยมีปัจจัยชี้วัดที่ต่างกัน ในส่วนของ Pak จะให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามเป็นตัวตนของชาวอะเจห์ ทั้งนี้เนื่องจากการเกิดและเติบโตในตระกูลที่เคร่งครัดทางศาสนา ส่วนภาษา การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับความรู้สึกสำนึกถึงความเป็นอะเจห์

 

ในขณะที่ชู๊ตถึงแม้ปัจจุบันจะปฏิเสธประเพณีพิธีกรรมหลายๆ อย่างของอะเจห์ แต่ยังให้ความสำคัญกับการเต้นที่เป็นของท้องถิ่น และสามารถที่จะบอกได้ว่า สิ่งนี้คือ ตัวตนของเธอและของชาวอะเจห์ ส่วนในเรื่องของภาษาทั้งสองคนสามารถพูดภาษาอะเจห์ได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม ความสามารถเช่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าชาวอะเจห์ทุกคนสามารถที่จะพูดได้ เนื่องจากภาษาที่ใช้เป็นภาษากลางคือ ภาษาอินโดนีเซีย ในประเด็นเรื่องอายุ ก็ทำให้ทัศนคติในการมองโลกมองสังคมที่แตกต่างกัน

 

ในขณะที่ชู๊ตเติบโตท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมอะเจห์ และต้องต่อสู้ดิ้นรนกับสภาวะความไม่แน่นอนหลายประการ เป็นตัวหล่อหลอมให้เธอมีบุคลิกที่เข้มแข็ง และมีความเป็นผู้นำในยามคับขัน และรักที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปแก้ปัญหา

 

ทั้งนี้การศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ของชาวอะเจห์ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของอะเจห์ แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนว่า ชาวอะเจห์มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิหลัง เพศ อายุ อาชีพ การศึกษา การขัดเกลาทางสังคม นำไปสู่วิธีคิด มุมมอง และทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป

 

 

ประเด็นนำเสนอสุดท้าย

ประเด็นสำคัญที่ได้จากงานศึกษาวิจัย มี 3 ประเด็นหลัก คือ

 

1. ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดตกเป็น "เหยื่อ" ของความรุนแรงและถูกเหมารวมว่าเป็นผู้แบ่งแยกดินแดน

 

ช่วงเวลากว่า 30 ปี นับตั้งแต่ผู้นำคนสำคัญของกลุ่ม GAM คือ Hasan di Tiro ประกาศความเป็นรัฐชาติอะเจห์ ในปี 1976 ทำให้ "ชาวอะเจห์" เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้ทางการเมือง เพื่อประกาศอิสรภาพกับรัฐบาลอินโดนีเซีย

 

ภาพหนึ่งการต่อสู้ของ "ชาวอะเจห์" ถูกเหมารวมว่า "ชาวอะเจห์" คือ ก้อนเนื้อเดียวกัน มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการต่อสู้เพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่า ความเป็น "ชาวอะเจห์" เอง ก็มีความหลากหลายและซับซ้อน จากการศึกษาและสัมภาษณ์แบบเจาะลึกชาวอะเจห์ 2 กรณีศึกษา (ดูรายละเอียดในรายงานการวิจัย)

 

ในการต่อสู้ในช่วงระหว่าง 30 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซีย ก็ตอบสนองปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงด้วยการใช้กำลังและการปราบปราม เช่น Kolakops Jaring Merah หรือ ปฏิบัติการตาข่ายสีแดง และ DOM (Daerah Operasi Militer หรือ พื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร) โดยส่งชุดคอมมานโดประมาณ 6,000 คน ไปยังอะเจห์

 

และในปีตั้งแต่ปี 2002 ถึง 19 พฤษภาคม 2003 รัฐบาลประธานาธิบดี Megawati ยังส่งกองกำลังปฏิบัติการพิเศษชื่อ Ko-oplihkam (Kommando Operasi Pemulihan Keamanan) จำนวนประมาณ 50,000 คนเพิ่มเติม โดยไม่ได้เอาใจใส่ต่อความซับซ้อนของปัญหาทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ หรือปัจจัยสำคัญที่มีคุณลักษณะอื่นๆ ที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแยกแยะปัญหา

 

ดังเช่น ในสังคมอะเจห์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ก็มีความหลากหลายภายในกลุ่มด้วย ทำให้มี "ชาวอะเจห์" ที่เป็นประชาชนธรรมดา ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตกเป็นเหยื่อ ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างกลุ่มของรัฐบาลกับกลุ่ม GAM

 

จากการสัมภาษณ์ประวัติชีวิตของชู๊ต ที่เติบโตท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรง เธอเล่าว่า บางครั้งต้องนอนราบอยู่กับพื้น เนื่องจากมีเสียงปืนดังอยู่รอบบริเวณบ้านของเธอ ที่เกิดจากการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกับกลุ่ม GAM การเห็นบ้านของชาวบ้านถูกเผา และต้องหลบในหลุมหลบภัย เนื่องจากมีระเบิดทุกคืน ทำให้ชู๊ต รู้สึกในช่วงเวลานั้นว่า "วิญญาณของเราไม่มีค่าและมีราคาถูกกว่าปลา" และไม่รู้จะอยู่ถึงวันพรุ่งนี้หรือไม่

 

และจากการสัมภาษณ์ Pak Muhammad เขากล่าวว่า "กระบวนการที่ค่อยๆ ก่อเป็นรูปร่างที่ละเล็กละน้อย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่ดีจากรัฐบาล หรือ การไม่มีกฎหมายที่ให้ความยุติกรรม หรือการมีกฎหมายเพื่อการสนับสนุนให้จับกุมผู้ต้องสงสัยโดยให้รัฐสามารถกระทำได้ทุกอย่างในทางที่ไม่ดี เช่น การนำไปทรมาน ย่อมเป็นกระบวนการที่สร้างศัตรูเพิ่มมากขึ้น และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับประเทศ และเท่ากับว่าผลักประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายใด ให้ไปอยู่อีกด้านหนึ่ง"

 

ในขณะที่รัฐอ่อนไหวกับประเด็นความมั่นคงและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการสำเร็จรูปและเหมารวมว่าชาวอะเจห์ คือ กลุ่มก้อนเนื้อเดียวกันหมด จึงทำให้ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายใด ตกเป็น "เหยื่อ" ของความรุนแรง และถูกเหมารวมว่าเป็นผู้แบ่งแยกดินแดน

 

ในขณะที่รัฐมักจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กลับละเลยกลุ่มอื่นๆ ที่ไร้อำนาจและอิทธิพล และมีความแตกต่างหลากหลายภายในสังคมอะเจห์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยเอง

 

2. ประเด็นของความขัดแย้งไม่ได้อยู่ที่ "ศาสนา" แต่มีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็น

 

ความขัดแย้งระหว่างสังคมอะเจห์กับรัฐบาลอินโดนีเซียเกิดขึ้นมานาน Aceh ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตราเหนือในประเทศอินโดนีเซีย สำหรับอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก(2000) มีประชากรทั้งสิ้น 211.6 ล้านคน และถือว่ามีประชากรที่เป็นมุสลิมมากที่สุดด้วยในโลก23 ด้วย

 

ถึงแม้อินโดนีเซียจะมีประชากรมุสลิมมากถึง 88 %24 ส่วนในอะเจห์ที่มีประชากรทั้งสิ้น 3,970,853 คนนั้นมีผู้นับถือศาสนาอิสลามถึง 3,918,904 25 คิดเป็น 98.7% ก็ยังเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง

 

แม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และสิทธิในการนับถือศาสนา ซึ่งมีผู้นับถึงศาสนาถึง 5 ศาสนา ได้แก่ อิสลาม 88% โปรเตสแตนท์ 6% คาทอลิก 3% ฮินดู 2% พุทธและอื่น ๆ 1% ปัญหาความขัดแย้งก็ใช่ว่าจะหมดไป

 

นั่นหมายความว่า สังคมอะเจห์มีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็น และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและมีความซับซ้อนอีกมาก

 

ดังนั้นความรุนแรงจึงน่าจะไม่ได้มาจากพื้นฐานทางด้านศาสนา หากแต่เพราะเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ ความไม่เท่าเทียมกันในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ และการนำรายได้ไปป้อนให้กับระบบเศรษฐกิจของชาติและของโลก โดยไม่ลงมาสู่ในระดับท้องถิ่น

 

ความไม่เป็นธรรม ผู้ที่สูญเสียงานทำในเมืองและสูญเสียที่ดินทำกินในชนบท กลายมาเป็นแนวร่วมของผู้แบ่งแยกดินแดน และการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงของรัฐเป็นปัจจัยเสริมที่ก่อให้เกิดความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น (ดูรายละเอียดได้ในการวิเคราะห์ของนักวิชาการชาวอะเจห์ชื่อ M. Isa Sulaiman ในรายงานการวิจัย)

 

3. ประเด็นเรื่องภาษาและศาสนาถูกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

 

ประเด็นอัตลักษณ์ทางศาสนาและความเคร่งครัดทางศาสนา จึงถูกนำมาอ้างเพื่อใช้ในประเด็นทางด้านการเมือง/การครอบครองทรัพยากร/เขตแดน เช่น ในอินโดถึงแม้ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีแบ่งแยกย่อยว่า กลุ่มใดเคร่งครัดมากกว่า

 

เช่น กลุ่มผู้นำบางคนและสมาชิกในกลุ่ม GAM มีความเคร่งครัดทางศาสนามากกว่าคนในเกาะชวา หรือในกลุ่มชาวอะเจห์ด้วยกัน

 

หากพิจารณาการอธิบายตัวตนเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมักจะใช้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่ม กลายมาเป็นอัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยอะเจห์ เพื่อสร้างและบังคับให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยใช้กำลังความรุนแรง และเพื่อการฉกฉวยโอกาสทางการเมือง เช่น ภาษาอะเจห์ เป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญประการหนึ่งที่ถูกตีความโดยกลุ่ม GAM ว่า ชาวอะเจห์จะต้องพูดภาษาอะเจห์และปฏิเสธภาษาอินโดนีเซีย

 

ซึ่งหากกลุ่ม GAM พบชาวอะเจห์ที่พูดภาษาอะเจห์ไม่ได้ ก็จะถูกข่มขู่ และยังจับกุมผู้หญิงที่ไม่ได้คลุมฮิญาบ เนื่องจาก GAM มองว่า อัตลักษณ์ของชาวอะเจห์ คือ ความเป็นมุสลิม

 

สำหรับผู้หญิงสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิมที่ดี คือ การคลุมฮิญาบและแต่งกายเรียบร้อยไม่รัดรูป เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวอะเจห์มีอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดกว่าที่อื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันหรือต่างกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในหมู่เกาะชวา

 

ทั้งนี้ Isa Sulaiman[14] ได้วิเคราะห์ให้เห็นปัจจัยที่เสริมการสร้างอัตลักษณ์ว่า การที่ประเทศอินโดนีเซียมีนโยบายการผนวกรวมและชูวัฒนธรรมชวา ซึ่งพิจารณาได้จากสโลแกนของชาติที่ชื่อ Pancasila และถูกบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนทำให้ชาวอะเจห์บางส่วนเกรงว่า จะสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองไป

 

 

ข้อเสนอแนะในฐานะ Public Intellectual

1. ให้สิทธิเท่าเทียมกันกับทุกกลุ่มรวมทั้งกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

 

ในการทำความเข้าใจเรื่องประเด็นความขัดแย้งผลการศึกษาเบื้องต้นที่ได้จากประสบการณ์ของบุคคลในสังคมอะเจห์ ควบคู่ไปกับการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นว่า สังคมอะเจห์ที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีความหลากหลายและซับซ้อนมาก ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

ถึงแม้จะใช้มิติชนกลุ่มน้อย - ชนกลุ่มใหญ่ ผู้วิจัยก็พบว่าภายในกลุ่มชนกลุ่มน้อยเองก็ยังมีความหลากหลายและซับซ้อน รวมถึงมีปัจเจกชนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดด้วย ทว่าคนกลุ่มเหล่านี้ ถูกเหมารวมว่า กลายเป็นผู้ก่อความรุนแรงและต้องการแบ่งแยกดินแดน แทนที่จะปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งครอบงำ มีอำนาจและมีอภิสิทธิ์ทางเศรษฐกิจ และการเมือง

 

เสนอว่าควรจะให้สิทธิเท่าเทียมกันกับทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และให้สิทธิที่พร้อมจะปกป้องอัตลักษณ์ ค่านิยม และผลประโยชน์ของตน ตัวอย่างเช่น ในประเด็นของภาษาและศาสนา ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและเป็นอัตลักษณ์ขั้นพื้นฐาน ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำจากวัฒนธรรมชนชั้นนำในชนกลุ่มน้อยเอง เพื่อสร้างอัตลักษณ์ร่วมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นการที่กลุ่ม GAM ต้องการให้ชาวอะเจห์ทุกคนสามารถพูดภาษาอะเจห์ และต้องเป็นผู้ที่มีความเคร่งครัดในศาสนา

 

อย่างไรก็ดี การที่เยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถพูดภาษาอะเจห์ได้ จะอยู่อย่างไร เพราะภาษาอินโดนีเซียในปัจจุบันถูกใช้เพื่อการสื่อสาร การศึกษา และปฏิสัมพันธ์กับคนต่างกลุ่มต่างชาติพันธุ์ซึ่งมีภาษาของตนเอง

 

2. การออกแบบนโยบายที่ให้ใส่ใจกับความหลากหลาย

 

โดยไม่รวบรัดตัดความ เพียงแต่การแยกแยะเชิงโครงสร้าง เช่น ชนชั้นและอาชีพเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง ความขัดแย้งอย่างรุนแรงเกิดขึ้นจากความไม่เอาใจใส่ต่อความซับซ้อนของวัฒนธรรมในระดับต่างๆ ทำให้นโยบายของรัฐ มักตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และมักจะละเลยกลุ่มอื่นๆ ที่ไร้อำนาจและอิทธิพล

 

รัฐควรนำเอาประเด็นเรื่องความหลากหลาย และความซับซ้อนในระดับต่าง ๆ เป็นตัวตั้ง เพื่อไม่ให้ประเด็นทางเศรษฐกิจและความมั่นคงเป็นตัวชี้นำ ไม่ก่อให้เกิดข้อตกลงที่ตายตัว ซึ่งจะนำไปสู่ความตึงเครียด เพราะประเด็นเรื่องความหลากหลายเป็นสิ่งที่ซับซ้อน

 

ในโลกของความเป็นจริงมีความละเอียดและเต็มไปด้วยกับดักแห่งศีลธรรม การชี้นำถูกผิด โครงสร้างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายจะต้องให้การรับรองมุมต่างๆ ของชีวิตจริง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะต้องมีกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

เพราะจากงานวิจัยค้นพบว่า ในสังคมอะเจห์นอกจากจะมีความสัมพันธ์แบบชนกลุ่มน้อย - ชนกลุ่มใหญ่แล้ว ความสัมพันธ์ในกลุ่มชนกลุ่มน้อยเอง ก็มีวัฒนธรรมย่อยที่แตกต่าง ซึ่งมาจากแบบแผนความเชื่อ ค่านิยม ภูมิหลัง การขัดเกลาทางสังคมที่แตกต่างกัน ชนกลุ่มน้อยและปัจเจกชนภายในชนกลุ่มน้อย ควรมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง เปิดโอกาสและไม่ปิดทางเลือกให้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย    

 

3. ควรให้การสนับสนุนการศึกษาจากเบื้องล่างขึ้นบน (studying-up approach)

 

โดยศึกษาจากชีวิตจริง ซึ่งมีรายละเอียดและมีความสลับซับซ้อน รวมทั้งการมีส่วนร่วมจากคนหลายๆ กลุ่ม โดยมีเวทีให้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน นำเสนอประเด็นของตนเอง โดยได้รับการรับรองความปลอดภัย มีสิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก สร้างประสบการณ์อันละเอียดอ่อน โดยไม่รับรู้ด้านเดียว เพื่อให้สังคมมีค่านิยมหลายๆ ชุด เพื่อปกป้องตนเองทั้งในฐานะชนกลุ่มน้อย และในฐานะปัจเจกชน ให้ผู้อื่นได้เข้าใจและยอมรับ โดยสิทธิในฐานะปัจเจกชนก็สามารถที่จะเลือกเข้าร่วมหรือผละออกจากชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มต่างๆ ในสังคมเดียวกันโดยได้รับการรับรองสถานภาพด้วย

 

 

สรุป

อย่างไรจึงจะเกิด "ภาษา" แบบใหม่ที่ไม่ใช่ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน แต่เป็นภาษาที่สื่อสารให้สมาชิกในชุมชนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ การแสดงออกของอัตลักษณ์เป็นปฏิกิริยาตอบสนองและปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว

อัตลักษณ์จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มมีค่านิยมในทิศทางเดียวกัน หรือกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งบางครั้ง นำไปสู่ความรุนแรง หรือถูกปลุกระดม เพื่อต่อรองประเด็นต่างๆ ในทางการเมือง

ทั้งนี้การเข้าใจว่า อัตลักษณ์มีความหลากหลายและซับซ้อนในหลายระดับ ตั้งแต่บุคคล - ชุมชน - ประเทศ - โลก น่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการทำความเข้าใจสังคมที่มีความขัดแย้งรุนแรงมานาน อย่างอะเจห์ เพื่อนำไปเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทยว่า จะต้องไม่กระทำซ้ำเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้อีก ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และที่อื่นๆ

 

 





*บทความชิ้นนี้ได้มาจากการวิจัยภาคสนามในประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 30 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยได้รับการสนับสนุนจาก "โครงการทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเซีย" (API Fellowship Program) หัวข้อเดิมชื่อ Regionalism and Inter-Ethnic Relations: A Case of Acehnese in Indonesia ผู้วิจัยขอขอบคุณ ผศ.ศุลีมาน นฤมล วงศ์สุภาพ trainner พิเศษที่อบรมกระบวนการทำวิจัยในภาคสนามจริงเป็นเวลา 19 วัน ณ ประเทศอินโดนีเซีย และขอขอบคุณ อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และอ.แพร ศิริศัดิ์ดำเกิง ที่ช่วยอ่านและให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์ในการเขียนบทความฉบับนี้





[1] The Documentation and Information Center of Aceh, The Dutch Colonial War In Aceh, PT Nu-Age:Banda Aceh, 1990. P. 16


[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 54


[3] The Documentation and Information Center of Aceh, The Dutch Colonial War In Aceh, PT Nu-Age:Banda Aceh, 1990. P. 79.


[4] Diën หมายถึง "light" ซึ่งเธอได้รับชื่อนี้เพราะความสวยของเธอ


[5] The Documentation and Information Center of Aceh, The Dutch Colonial War In Aceh, PT Nu-Age:Banda Aceh, 1990. P. 77


[6] The Documentation and Information Center of Aceh, The Dutch Colonial War In Aceh, PT Nu-Age:Banda Aceh, 1990. P. 69.


[7] เขามีความสามารถในการอ่านภาษาอาหรับและคัมภีร์อัร-กุรอานได้ ดังนั้นชาวอะเจห์หลายคนจึงเชื่อว่า เขาเป็นคนดี


[8] The Documentation and Information Center of Aceh, The Dutch Colonial War In Aceh, PT Nu-Age:Banda Aceh, 1990. P. 70.


[9] แปลโดย A.W. S. O"Sullivan, the Acehneses, Leyden: Late E. J. Brill, 1906.


[10] M. Isa Sulaiman, The History of Acehnese Resistance and The Development of Nationalist Development เอกสารประกอบการสัมมนา Workshop of Anatomy, Resolution, Post-Conflict Reconstruction, Aceh Peace Program, Research and Education For Peace Unit, University Sains Malasia 15-16 July 2004. P. 2. M. Isa Sulaiman เป็นผู้หนึ่งที่เสียชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในอะเจห์เมื่อวันที่ 26 December 2004


[11] M. Isa Sulaiman, The History of Acehnese Resistance and The Development of Nationalist Development, 2004.


[12] Anthony Reid (editor), Verandah of Violence: The Background to the Aceh Problem, Singapore University Press in association with P.XV. (2006)


[13] "Rumoh Geudong" แปล ว่า บ้านหลังใหญ่ "Rumoh" เป็นภาษาอะเจห์แปลว่าบ้าน ในภาษาอินโดใช้คำว่า Rumah ส่วน "Geudong" แปลว่า บ้านหลังใหญ่ ในภาษาอินโดใช้คำว่า Gedung


[14] M. Isa Sulaiman, The History of Acehnese Resistance and The Development of Nationalist Development, 2004.

23 Rahman, Mushtaqur and Guljan Rahman, Geography of the Muslim World, Chicago: A.S. Noordeen, 1997. หน้า 119.

24 เรื่องเดียวกัน, หน้า 119

25 อินโดนีเซียมีศาสนาประจำประเทศที่ได้รับการรับรองจากรัฐ 5 ศาสนา ได้แก่ อิสลาม 88% โปรเตสแตนท์ 6% คาทอลิก 3% ฮินดู 2% พุทธและอื่น ๆ 1% ซึ่งหมายถึง ในประเทศอินโดนีเซียมีผู้นับถือศาสนาอิสลามถึง 88% และ นับถือศาสนาคริสตร์ 9% ที่มา Badan Pusat Statistik(BPS)-Statistics, Population of Nanggroe Aceh Darussalam ฉบับ Post Earthquake and Tsunami, Jakarta: Indonesia, 2005. pp.97-99.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท