บทความประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: งานประชาสัมพันธ์กับต่างประเทศของรัฐบาล- เกาไม่ถูกที่คัน

รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

                                                                        คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                        

ตามที่รัฐบาลไทยว่าจ้างบริษัทอเมริกันเดือนละ 55,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบาย ชี้เเจง หรือทำความเข้าใจกับต่างประเทศเกี่ยวกับประเทศไทยนั้น มีข้อสังเกตที่สมควรกล่าวถึง ดังนี้

 

ประการเเรก คำถามมีว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร ที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพียงเพื่อสร้างความเข้าใจ หรืออธิบาย หรือชี้เเจ้งข้อสงสัย (หรืออะไรก็สุดเเท้เเต่จะเรียก)

 

เข้าใจว่าเเผนประชาสัมพันธ์นี้เกิดจากที่รัฐบาลรู้สึกว่า เกมการต่างประเทศสู้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรไม่ได้ จึงต้องอาศัยมืออาชีพมาคอยเเก้ต่างหรือสร้างภาพให้รัฐบาลสุรยุทธ์มีภาพพจน์ดูดีขึ้นในสายตาของประชาคมโลก

 

รัฐบาลนี้ต้องอย่าลืมว่า ตนเองมิได้มาจากครรลองของระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมิได้เลือกท่านมา เเต่มาจากการเเต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ฉะนั้น ประเด็นเรื่องความชอบธรรมในทางระหว่างประเทศนั้นไม่ต้องพูดถึง

 

ทุกวันนี้ โลกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระเเสเรื่อง โลกาภิวัตน์ สิทธิมนุษยชนเเละสิ่งเเวดล้อมระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การปกครองโดยกฎหมาย (Rule of law) รวมถึงประชาธิปไตยที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาหนักอยู่ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลยังต้องการการยอมรับจากนานาชาติเเล้ว ประเด็นมิได้อยู่ที่จ้างบริษัทต่างชาติมาคอยทำหน้าที่ชี้เเจงเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยหรือเปิดเกมรุกทางการทูตสู้กับอดีตผู้นำพลัดถิ่นอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เเต่อยู่ที่รีบเร่งจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

 

รัฐบาลควรเอาเวลาเเละสติปัญญามานั่งระดมมันสมองว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านประชามติ (ซึ่งมีเเนวโน้มที่ไม่ผ่านสูงมาก) รัฐบาลเเละคมช.จะทำอย่างไรที่จะลดกระเเสการเผชิญหน้ากับประชาชน คมช. ต้องออกมาประกาศเดี๋ยวนี้เเล้วว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะนำรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน 2540 มาใช้ หากรัฐบาลเเละคมช. ทำอย่างนี้เเล้ว นานาชาติก็จะเข้าใจเเละการยอมรับประเทศไทยในระดับระหว่างประเทศก็จะตามมาเอง

 

ประการที่สอง ท่าทีของรัฐบาลเเละคมช. ยังคิดว่าตนเองมีความชอบธรรมเเละคิดว่าการจ้างบริษัทต่างประเทศจะช่วยให้ภาพพจน์ต่อประชาคมโลกดีขึ้น หรือช่วยลดกระเเสต่อต้านของคนไทยในต่างเเดน ซึ่งเเท้จริงเเล้ว ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลที่มิได้มาด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ (เช่น รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารอย่างรัฐบาลสุรยุทธ์นี้) จะก่อให้เกิดปัญหาการรับรองรัฐบาล (Recognition of government) ตามมา ซึ่งประเด็นนี้วงการนักการทูตต่างประเทศต่างรู้ดี ฉะนั้น ไม่ว่าจะจ้างบริษัทมาทำประชาสัมพันธ์ต่อต่างชาติก็ตาม ก็มิได้หมายความว่ารัฐบาลของต่างประเทศจะรับรองรัฐบาลสุรยุทธ์ การรับรองรัฐบาลใดหรือไม่นั้น ถือว่าเป็นดุลพินิจโดยเเท้ของรัฐนั้น ประเทศไทยจะไปกดดันหรือหว่านล้อมไม่ได้

 

นอกจากนี้เเล้ว รัฐบาลเเละคมช.ต้องระลึกอยู่ในใจเสมอว่า เรื่อง "ความชอบธรรม" ในเวทีระหว่างประเทศนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เเละใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลขิงเเก่เเละคมช. จะคาดถึงด้วยซ้ำไป อย่าลืมว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยเเล้วถูกรัฐประหารนั้น เขามีสิทธิตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น (Government - in exile) เเละนานาประเทศก็มักจะให้การรับรองรัฐบาลพลัดถิ่น มิใช่รัฐบาลที่มาจากปลายกระบอกปืน

 

ตัวอย่างก็มีให้เห็นเเล้ว อย่างเช่นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.. 1974 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันมีนาย Makarios III เป็นประธานาธิบดี ถูกกองกำลัง Cypriot National Guard โดยมี นาย Nicos Sampson เป็นผู้นำรัฐประหารภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกรีกทำการรัฐประหาร โดยที่ประธานาธิบดีได้ลี้ภัยทางการเมือง โดยการนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปยังฐานทัพอากาศของอังกฤษที่เมือง Akrotiri เพื่อบินต่อไปยังประเทศมอลต้า และกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ จากนั้นไม่นาน Makarios III ก็ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นสำเร็จ จนคณะรัฐประหารต้องพ่ายเเพ้ไป

 

หรือกรณีของเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.. 1991 คณะรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเฮติที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมี Jean-Bertrand Aristide เป็นประธานาธิบดีและ ประธานาธิบดี Aristede ลี้ภัยทางการเมือง กรณีนี้นานาชาติรวมถึงองค์การสหประชาชาติโดยคณะมนตรีความมั่นคงได้กดดันจน Jean-Bertrand Aristide ได้กลับมาเป็นผู้นำเหมือนเดิม

 

ประการที่สาม การที่จะทำให้รัฐบาลสุรยุทธ์เป็นที่ยอมรับในทางระหว่างประเทศนั้น เกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ เเละประชาธิปไตยอย่างหลีกเลียงมิได้ เเต่การกระทำของรัฐบาลชุดนี้กลับสวนทางกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเเละหลักนิติรัฐอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ในธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2549 ก็รับรองว่า สิทธิของประชาชนคนไทยตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ย่อมได้รับการคุ้มครอง เเต่เเล้วคมช.ก็ยังไม่เคารพกติกาที่ตัวเองร่างขึ้นมาเเท้ๆ เเล้วจะให้ประชาชนเเละประชาคมระหว่างประเทศเชื่อได้อย่างไรว่า สิทธิมนุษยชนของประชาชนคนไทยจะไม่ถูกละเมิด

 

หลังจากที่เกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อ 19 กันยา สิทธิมนุษยชนได้ถูกละเมิดอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการห้ามอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าประเทศไทย การยกเลิกหนังสือเดินทาง การคุกคามเเละปิดกั้นสื่อ การตัดสิทธิทางการเมืองย้อนหลัง 5 ปี การตั้งองค์กรเฉพาะกิจต่างๆ การตั้งศาลเฉพาะกิจอย่างตุลาการรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ซึ่งประเด็นหลังนี้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้เเสดงความวิตกกังวลอย่างมากที่ปัจจุบัน ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้ง มีเเนวโน้มที่จะตั้งตุลาการเเบบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีข้อสงสัยในความเป็นอิสระเเละปราศจากอคติ[1] เป็นต้น

 

ประการที่สี่ การว่าจ้างบริษัทต่างประเทศด้วยจำนวนเงินที่มาก เท่ากับไม่ไว้วางใจหรือไม่เชื่อมือนักการทูตไทยที่ประจำการ ณ ต่างเเดน ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจบรรดาเอกอัครราชทูตไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการทูตที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกมองข้ามความสำคัญไป ซึ่งย่อมกระทบศักดิ์ศรีของนักการทูตด้วย รวมถึงต้องอึดอัดกับการตอบสนองคำสั่งของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

 

ประการที่ห้า ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามมาตรา 40 กำหนดให้รัฐภาคีเสนอรายงานว่าด้วยมาตรการต่างๆ ภายใต้กติกานี้ ก็ไม่ทราบว่าคมช. รัฐบาล และบริษัทต่างชาติจะชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติอย่างไรในเรื่องที่มีการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้งศาลเฉพาะกิจอย่างตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดียุบพรรค ซึ่งเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการเคยแสดงข้อวิตกกังวลเรื่องที่มาของผู้พิพากษาของประเทศซีเรียแล้ว[2] ซึ่งคงปฎิเสธไม่ได้ว่าที่มาขององค์กรเฉพาะกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคตส. ตุลาการรัฐธรรมนูญ มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารอันจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระ ความเป็นกลางและปราศจากอคติอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 

บทส่งท้าย

หากรัฐบาลต้องการการยอมรับจากนานาชาติเเละจากคนไทยด้วยกันในต่างเเดน รัฐบาลต้องรีบจัดการเเก้ไขปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว โดยคิดหาหนทางว่า หากประชามติไม่ผ่านเเล้ว คมช. ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 มาใช้สถานเดียว เเละจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

 

การจ้างบริษัทต่างประเทศมาช่วยงานประชาสัมพันธ์ชี้เเจงข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทยนอกจากจะเป็นการ "เกาไม่ถูกที่คัน" เเล้ว ยังประจานความไม่ประสีประสาของรัฐบาลขิงเเก่กับคมช. ที่พยายามปิดหูปิดตาประชาชนคนไทยเเละต่างชาติ รวมทั้งการไม่เห็นความสำคัญของการปกครองเเบบ "ระบอบประชาธิปไตย" เเละ "หลักนิติรัฐ" ซึ่งเป็นกระเเสหลักของโลกในเวลานี้ไปเเล้ว

 

                                                                       

 

 

 





[1] โปรดดู Javaid Rehman, International Human Rights Law: A Practical Approach,(England: Pearson Education,2003), หน้า 76






[2] โปรดดู Concluding observations of the Human Rights Committee : Syrian Arab Republic. 24/04/2001. CCPR/CO/71/SYR. (Concluding Observations/Comments), para. 15

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท