Skip to main content
sharethis

8 พ.ค.50 - สำนักงานแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ของ สสส.  จัดเสวนา "การใช้สิทธิ(CL) ต่อไปเพื่อคนไทยเข้าถึงยา" โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ 1.นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตวุฒิสมาชิกและเลขาธิการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 2.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากองค์กรหมอไร้พรมแดนไทย-เบลเยี่ยม (MSF) 3.รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.สุบิน นกสกุล จากเครือข่ายโรคไต มี รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผอ.สำนักงานแผนงานฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจจำนวนมาก


 


ความคืบหน้าล่าสุด หลังจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ปรับเปลี่ยนสถานะของไทย จากประเทศที่ต้องจับตา (Watch List : WL) ไปเป็นประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWLPWL โดยให้เหตุผลสำคัญเรื่องการประกาศใช้ซีแอล จนเป็นที่ตื่นตระหนกว่าภาคธุรกิจไทยบางส่วนอาจถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จนกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้น ขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสถานทูตสหรัฐจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Plan of Action ร่วมกัน นอกจากนี้ในสัปดาห์นี้ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็จะเดินทางไปชี้แจงเรื่องนี้กับหลายภาคส่วนที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งจะมีการลงนามเพื่อการจัดซื้อยารวมร่วมกับมูลนิธิคลินตันและประเทศกำลังพัฒนาอีก 16 ประเทศ ในวันนี้ (8 พ.ค.) ด้วย


 


ร่วมซื้อยารวมล็อตใหญ่กับมูลนิธิคลินตัน เล็งประกาศซีแอลเพิ่ม "อลูเวียร์"


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กล่าว่า มูลนิธิคลินตันมีวิธีการซื้อรวมกันซื้อทีละหลายประเทศ ทำให้สามารถต่อรองกับบริษัทยาผลิตยาชื่อสามัญในอินเดียเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกกว่าปกติ ขณะนี้เหลือเพียง 695 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อเดือน ถูกกว่าบริษัทแอ็บบอตซึ่งยอมลดราคาต่ำสุดที่ 1,000 เหรียญต่อคนต่อเดือน จากที่ปัจจุบันนี้ MSF ซื้อยาดังกล่าวเพื่อแจกจ่ายในโครงการให้ความช่วยเหลือในราคา 11,580 บาท


 


ทั้งนี้ ยาอลูเวียร์เป็นยาต้านไวรัสรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องเก็บในที่เย็นเช่นยาคาเลทตรา โดยบริษัทแอ็บบอตเพิ่งจะถอนการขึ้นทะเบียนยาดังกล่าวไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นการตอบโต้การประกาศซีแอลของกระทรวงสาธารณสุข


 


นายจอนกล่าวว่า "ขณะนี้ไทยประกาศไปสามตัว แต่ใช้จริงเพียงตัวเดียวคือคาเลตรา สำหรับอลูเวียร์เป็นยาจำเป็น แปลกใจเหมือนกันที่กระทรวงสาธารณสุขทำซีแอลกับคาเลตรา เพราะมันมีปัญหาอุปสรรคมากต้องเก็บในที่เย็น ต้องเอาใส่กระติกน้ำแข็งไปกินข้างนอก ขณะที่อลูเวียร์เป็นยาตัวเดียวกัน แต่พกติดตัวสะดวก จริงๆ น่าทำอลูเวียมากกว่า แต่ถ้าทำจริงก็ไม่รู้แอบบอตจะโกรธขนาดไหน ขนาดคาเลทตราที่เขาจะโละสต๊อกอยู่แล้ว เขายังโกรธขนาดนี้"


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องประกาศบังคับใช้สิทธิเพิ่มหรือไม่ นายจอนกล่าวว่า บริษัทแอ็บบอตถอนการขึ้นทะเบียนยาอลูเวียร์ในประเทศ แต่เขาได้จดสิทธิบัตรไว้แล้ว ฉะนั้น หากจะมีการซื้อจากอินเดียก็ต้องมีการประกาศซีแอลเพิ่มสำหรับยาตัวนี้ ซึ่งจากการไปร่วมประชุมเรื่องยาที่แคนาดา ก็พบว่าแคนาดากำลังจะมีการแก้กฎหมายอำนวยให้สามารถทำซีแอลร่วมกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อที่แคนาดาจะสามารถผลิตยาสามัญขายได้ในราคาถูกด้วยเช่นกัน


 


รศ.ดร.จิราพรกล่าวว่า เรื่องซีแอลประเทศไทยต้องก้าวต่อ เพราะจะเป็นเครื่องมือเดียวที่ถูกกฎหมายที่ทำให้การค้ายุติธรรม ให้การผูกขาดตลาดยามีตัวต่อรอง


 


กรรณิการณ์กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีตัวอย่างหลายกรณีที่ทำให้เห็นว่าสำหรับเรื่องยาแล้วระบบทรัพย์สินทางปัญญามีปัญหามาก ทำให้คนไม่เข้าถึงยา ดังนั้น ในระดับนานาชาติมีการคิดกันว่าน่าจะมีวิธีการอื่นที่จะดีกว่าการให้สิทธิบัตรแล้วผูกขาด ในสัปดาห์หน้าที่การประชุมที่เจนีวาน่าจะมีการหาทางออกเรื่องนี้


 


ซีแอล ควรประกาศเพิ่ม สงครามนี้ไม่ใช่กรณีเฉพาะของไทย


จอนกล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาติดใจมากว่าทำไมในระบบหลักประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมการฟอกไตซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อสู้กันมาพร้อมกับเรื่องยาต้านไวรัส จากการศึกษาข้อมูลสมัยที่เป็นส.ว.พบว่าค่าใช้จ่ายฟอกไตสูงมาก ทั้งที่สามารถลดลงมาได้เยอะ จึงควรต้องทำซีแอลในยาโรคไต หรือยาที่จำเป็นในโรคเรื้อรังอื่นเช่น มะเร็ง เพราะราคาแพงเกินไป อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นความจริงที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมจะใช้ซีแอลกับยามากมายถึง 20-30 ชนิดตามที่บริษัทล็อบบี้ยิสต์ในอเมริกาโฆษณา


 


"การที่เราถูกเลื่อนมาเป็นพีดับบลิวแอลก็มาจากการล็อบบี้ของบริษัทยา ซึ่งจ่ายเงินบริจาคให้กับนักการเมืองในสหรัฐเวลาหาเสียง มีอิทธิพลสูงต่อรัฐบาลสหรัฐ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราเองจะต้องตื่นตระหนก เพราะมันเป็นการเล่นเกมส์กันอยู่ว่าใครจะยอมแพ้ก่อนใคร บริษัทยาและรัฐบาลสหรัฐประเมินผิดอย่างหนึ่ง คิดว่าตอบโต้แล้วจะทำให้ประเทศเกิดการแตกแยก รัฐบาลจะยอมถอย แต่เท่าที่เห็นตอนนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น และเรายังมีเพื่อนจำนวนมากในทางสากล"


 


"ความสำคัญที่ไทยทำซีแอล ไม่ได้สำคัญเฉพาะในประเทศไทย ประเทศกำลังพัฒนาไม่ค่อยกล้าทำ แต่ครั้งนี้เราทำ บราซิลตามอย่าง แล้วจะมีผลต่อประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เขาจะใช้มาตรการที่ทำให้ประชาชนเขามีโอกาสได้รับยาเหล่านี้ เรากำลังยืนหยัดในการต่อสู้ที่จะทำให้ประชาชนทั้งโลกมีโอกาสเข้าถึงยามากขึ้น แต่เราต้องเข้าใจว่าการตอบโต้นี้ก็เป็นการขู่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายว่าอย่าตามอย่าประเทศไทย นี่เป็นการต่อสู้ที่กว้างกว่าเรื่องของไทย" จอนกล่าว


 


แอ็บบอตก็ได้เทคโนโลยีใหม่ จากการใช้ซีแอลของรัฐบาลสหรัฐ !


นอกจากนี้จอนยังได้เล่าประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปชี้แจงเรื่องซีแอลที่สหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากนักศึกษา อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งจะตื่นตัวช่วยกันจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนาในฐานะที่เป็นหน่วยคิดค้นวิจัยยาที่สำคัญแล้ว เขายังได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมประจำปีของบริษัทแอ็บบ็อตที่สำนักงานใหญ่ด้วย


 


"การประชุมประจำปี เป็นการประชาสัมพันธ์ล้วนๆ ว่าบริษัทรุ่งเรื่องขนาดไหน เขาจะภูมิใจมากกับเทคโนโลยีใหม่ อุปกรณ์ขยายหลอดเลือดอันล่าสุดซึ่งมีคุณภาพดีที่สุด แต่เขาลืมบอกไปว่า เทคโนโลยีนี้เขาได้มามาจากมาตรการซีแอล โดยกรรมการการค้าของสหรัฐเองกำหนดให้แอ็บบอตไปเอามาได้ เนื่องจากบริษัทเดิมเจ้าของเทคโนโลยีนี้นี้ถูกซื้อโดยบริษัทใหญ่มากอีกแห่งหนึ่ง รัฐบาลสหรัฐกลัวว่าจะเกิดการผูกขาดมากไป ส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ผู้บริโภค"


 


"ช่วงที่มีการซักถาม ผมก็ได้อ่านคำถามเชิงวิจารณ์ต่อแอ็บบอตว่า เขามีคำขวัญใหม่ว่า promise for life แต่บริษัทแอบบอตในประเทศกำลังพัฒนาชื่อเสียงไม่ดีนักเพราะไปถอนยาใหม่จากตลาด และไม่ใช่ promise for life แน่นอน แม้ผมจะโดนโห่จากผู้ถือหุ้น แต่เวลาสื่อมวลชนลงข่าวก็ลงข่าวค่อนข้างดี" จอนกล่าว


 


จับตาแอคชั่นแพลนไทย-สหรัฐ สอดไส้เอฟทีเอ


กรรณิการ์แสดงความเป็นห่วงกรณีการทำแผนปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับสถานทูตสหรัฐ เนื่องจากข้อเรียกร้องของสหรัฐในแผนนี้เหมือนกับข้อเรียกร้องในความตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ที่สหรัฐยื่นข้อเรียกร้องมาในการเจรจารอบ 6 อย่างยิ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบมากกับระบบสาธารณสุขไทย


 


"เมื่อเอฟทีเอชะงักออกไป มันก็มาในรูปแอคชั่นแพลนแบบนี้ซึ่งหลายฝ่ายรับไม่ได้ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ด้วย ซึ่งเป็นท่าทีที่นับว่าดีมาก เท่าที่รู้มานอกจากที่เห็นในรายงานข่าวยังมีการขอให้ไทยเข้าเป็นภาคีพีซีที การเปลี่ยนระบบคัดค้านเป็นการค้านหลังออกสิทธิบัตร และขอเรื่องจีเอ็มโอให้มีการเปิดเสรีด้วย" กรรณิการ์กล่าว


 


ทั้งนี้ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจรายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค.โดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงพาณิช์ที่ระบุว่าจะมีการทำแผนดังกล่าวในวันที่ 11 พ.ค.นี้ และประเด็นที่คาดว่าสหรัฐต้องการที่จะให้ไทยบรรจุไว้ใน plan of action ก็คือประเด็นที่สหรัฐเคยเสนอให้ไทยยอมรับในการเจรจาระดับทวิภาคี โดยเฉพาะต้องการให้ไทยคุ้มครอง "สิทธิบัตรยา" ที่ "สูงกว่า" มาตรฐานของความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า TRISs(TRIPs plus) ได้แก่


 


1) ให้ไทยขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมสิทธิบัตร วิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย การผ่าตัด รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในการรักษา ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิผูกขาดซ้ำซ้อน 2) ขอให้ไทยขยายอายุสิทธิบัตรเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไปจากการขึ้นทะเบียนยา 4 ปี นับจากวันที่ยื่นคำขอ หรือ 2 ปี นับจากวันที่ยื่นพิจารณาคำขอ นอกจากนี้การเร่งรัดเวลาส่งผลให้คุณภาพการกลั่นกรองลดลง เรื่องนี้อาจทำให้ยาที่ไม่มีประสิทธิภาพออกสู่ตลาด ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของไทย


 


3) การจำกัดใช้มาตรการบังคับเหนือสิทธิบัตรให้แคบลง โดยสหรัฐขอให้ใช้มาตรการนี้ได้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินเท่านั้น รวมทั้งยังเสนอให้ผู้ขอใช้สิทธิต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของสิทธิบัตรอย่างเหมาะสม 4) ให้องค์การอาหารและยา(อย.) ของไทยทำหน้าที่เป็นตำรวจสิทธิบัตร ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาล่าช้าของกระบวนการตรวจสอบตามมา


 


จอนให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า "การเสนอแผนนี้ เป็นการก้าวก่ายประเทศไทยมากเกินไป ถ้าจะมีต้องมีในส่วนที่เห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหา เช่น ปัญหาของซอฟท์แวร์ แต่ในเมื่อเรื่องซีแอลเป็นเรื่องที่เรายืนยันว่าถูกต้อง จู่ๆ จะมาเสนอให้ซีแอลทำยากขึ้นทั้งที่มันถูกต้องตามข้อตกลงระหว่าประเทศและกฎหมายทุกอย่าง ผมถือว่ามันค่อนข้างหน้าด้าน และเป็นการแทรกแซงนโยบายของไทยในเรื่องอื่นๆ ผมยังเห็นว่าเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตคนเช่นเรื่องยา ไม่ควรอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์อย่างเดียว กระทรวงสาธารณสุขควรมีส่วนร่วมด้วย เพราะหลายครั้งกระทรวงพาณิชย์ขาดความเข้าใจในบางมิติ"


 


จอนกล่าวด้วยว่า "ถ้ารัฐยอมรับแผนนี้ก็เท่ากับเซ็นเอฟทีเอไปโดยปริยาย ไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์อันตราย เขาเล่นเราทางนี้ไม่ได้ก็เล่นอีกทางหนึ่ง ถ้าไม่มีเอกภาพระหว่างกระทรวงต่างๆ สธ.สู้สำเร็จ แต่กระทรวงอื่นอาจทำให้เราแพ้ได้ในเวทีเดียวกัน"


 


รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า สังคมไทยจึงควรจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพ.ร.บ.สิทธิบัตรที่กำลังจะเข้า ครม. ได้แก้ไขประเด็นที่เคยเป็นประโยชน์ที่ภาคประชาชนใช้อยู่คือ การคัดค้านก่อนจะออกสิทธิบัตรให้กลายเป็นคัดค้านหลังจากออกสิทธิบัตรแล้ว ถ้าวิเคราะห์ร่วมกับเอฟทีเอจะเห็นได้ว่าการแก้ไขนี้สอดคล้องพอดิบพอดี ทั้งที่จริงแล้วอุตสาหกรรมยาไม่มีการบ่นเรื่องนี้ มีแต่คำอ้างของสภาคมอุตสาหกรรมยาที่ยกเรื่องความล่าช้าในการให้สิทธิบัตร ซึ่งความจริงเกิดความล่าช้าจากการกฎหมายให้เวลาบริษัทในการยื่นให้พิจารณาตรวจสอบคำขอถึง 5 ปี แล้วเขาก็มายื่นตอนใกล้หมดเวลา เป็นช่องโหว่ด้านกฎหมาย


 


รัฐบาลประชาธิปไตย หรือ รัฐบาลรัฐประหาร ก็ต้องทำ


ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดมาตรการนี้จึงสำเร็จในรัฐบาลรัฐประหาร และคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะดำเนินการต่อหรือไม่ จอนตอบว่า ประเด็นนี้ถามกันมากในสหรัฐเช่นกัน ซึ่งได้ชี้แจงว่าเราได้ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนานมาก ตั้งแต่สมัยยาดีดีไอ การต่อสู้เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะยาต้านไวรัสไม่อยู่ในระบบ เพิ่งปีที่แล้วนี่เองที่เข้าสู่ระบบทำให้คนที่ต้องการยาต้านรุ่นแรกได้รับยา ปีนี้คิดว่าจะให้ได้รับยาถึง 120,000 คน


 


"เราบอกว่าสิ่งที่ไม่เหมือนสหรัฐคือ สหรัฐไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้เขารวยมากแต่ไม่มีสวัสดิการสังคมเรื่องนี้ คนอเมริกันจึงต้องมารักษาในประเทศไทยและอื่นๆ ดังนั้น ตามระบบนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็ต้องจัดการให้การรักษาผู้คนถ้วนหน้า และขณะนี้มีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 20,000 คนที่ดื้อยารุ่นแรก ต้องใช้ยารุ่นสองของแอ็บบอต" จอนกล่าว


 


"ซีแอลเกิดได้ในสมัยนี้ ไม่ใช่เพราะทหารมาทำรัฐประหาร แต่บังเอิญว่านายกฯ มีวิธีบริหารที่ให้แต่ละกระทรวงบริหารเองได้และเราได้หมอมงคลมาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเข้าใจเรื่องนี้อย่างดี เคยได้รับรางวัลแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่าทุ่มเทเพื่อการกระจายการเข้าถึงการรักษา จึงมีปรัชญาความคิดเรื่องสุขภาพคนเหนือสิทธิประโยชน์ทางการค้าบางอย่าง มันอยู่ที่การประเมินคุณค่าว่าเราจะมีหลักประกันให้ทุกคนมีการอยู่ดีกินดี แต่เราต้องยอมเสียสละบางอย่าง มันจึงเชื่อมโยงกับปรัชญาเศรษฐกิจด้วยว่าต้องการกระจายให้มากขึ้น หรือต้องการการเติบโตอย่างเดียว ผมก็ยังเชื่อว่ามีโอกาสในรัฐบาลหน้าด้วยโดยเฉพาะเมื่อบทบาทของประชาชนในการเมืองรุ่งเรือง ซีแอลก็ยังทำต่อได้"จอนกล่าว


 


รศ.ดร.วิทยา กล่าวเสริมว่า ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว สปสช.มีการพิจารณาใช้มาตรการซีแอลกับยาต้านไวรัสแอฟฟาไวแลนซ์ โดยการประชุมนั้นมีพินิจ จารุสมบัติ รมว.สาธารณสุขเป็นประธานด้วย แต่เมื่อส่งเรื่องมาที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อขออนุมัติ เรื่องนี้กลับเงียบหายไป จนตกทอดมาถึงรัฐบาลชุดนี้ และไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขจะประหยัดเงินไปซื้ออาวุธอย่างดังที่โดนกล่าวหา แต่เงินงบประมาณจะคงอยู่โดยสามารถขยายไปสู่ผู้ป่วยอื่นให้ครอบคลุมมากขึ้น


 


การเมืองสหรัฐในเงื้อมมืออุตสาหกรรมยา


กรรณิการ์ ยังนำเสนออิทธิพลของอุตสาหกรรมยาที่มีต่อการเมืองในสหรัฐอเมริกาเพื่ออธิบายว่าเหตุใดรัฐบาลสหรัฐจึงออกมาตรการตอบโต้รัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า ในปีพ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา บริษัทยาอันดับ 1 อย่างไฟเซอร์ ฟันกำไรไปสูงถึง 15.8% ของรายได้ 51,298 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ใช้จ่ายงบประมาณด้านการตลาดไปถึง 33.1% ของรายได้ แต่จ่ายเงินเพื่อเป็นการวิจัยและพัฒนายาจริงๆ เพียง 14.5% เท่านั้น ส่วนแอ็บบอตนั้นใช้งบวิจัย 8.2% ของรายได้ 22,338 ล้านเหรียญ และใช้งบด้านการตลาดไป 24.6% ของรายได้


 


นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าอุตสาหกรรมยาได้ใช้เงินในการล็อบบี้หรือสนับสนุนโดยตรงกับภาคการเมืองในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยตั้งแต่ปี 2541 มีการใช้เงินไปในการล็อบบี้ในระดับต่างๆ ตั้งแต่รัฐบาลกลาง มลรัฐ หรือการบริจาคต่างๆ รวมแล้วราว 818 ล้านเหรียญ และส่งผลต่อกฎหมายหลายฉบับทั้งกฎหมายที่ให้อนุญาตนำเข้ายาจากแคนาดาซึ่งราคาถูกกว่ามากทำให้ประหยัดเงินกว่า 38,000 ล้านเหรียญไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลบุช การแก้ไขกฎหมายโครงการสวัสดิการสาธารณสุขเพื่อคนชรา (Medicare) ที่บริษัทยาล็อบบี้หนักจนกฎหมายนี้ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจต่อรองราคายากับบริษัทยา


         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net