Skip to main content
sharethis

4 พ.ค. 50 - สำนักทรัพย์สิน ยื่นฟ้อง ตลาดหุ้น-สหกรุงเทพพัฒนา เรียกค่าเสียหาย กรณีค้างชำระค่าเช่าที่ดินตั้งแต่ปี 2537 รวมมูลหนี้ 344 ล้านบาท ขณะที่ "นงราม" แจงผลจากโครงการ "เอ็กซ์เชนจ์ สแควร์" ล่มกระทบฐานะการเงิน สหกรุงเทพพัฒนา ส่อเค้าโดนฟ้องล้มละลาย เผยอยู่ระหว่างเจรจาประนอมหนี้


 


รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ยื่นฟ้องร้องตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท สหกรุงเทพพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ชำระค่าเช่าที่ดินซึ่งค้างชำระตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2548 พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินประมาณ 344 ล้านบาท


 


นอกจากนี้ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ยังฟ้องตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ขนย้ายทรัพย์สินต่างๆ ออกจากพื้นที่บริเวณรอบอาคาร และชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเงินประมาณ 220 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นศาล


 


คดีความฟ้องร้องดังกล่าว สืบเนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับทางสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเวลา 30 ปี เพื่อก่อสร้างอาคารตลาดหลักทรัพย์ โดยสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2571 ซึ่งภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่านั้น ทางสหกรุงเทพพัฒนา ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าที่ดินได้ตกลงรับผิดชอบการจ่ายชำระเงินค่าตอบแทนการเช่า และเงินอื่นๆ ทั้งหมดที่ผูกพันจะต้องชำระแทนตลาดหลักทรัพย์ให้กับผู้ให้เช่า


 


อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงกันว่า กรณีที่ สหกรุงเทพพัฒนา ผิดนัดชำระเงินค่าตอบแทนการเช่า และเงินอื่นๆ ทั้งหมดที่ผูกพันจะต้องชำระ และทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ดำเนินการจนเป็นที่สุดแล้ว ทางสำนักงานทรัพย์สินฯมีสิทธิเรียกให้ตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ชำระค่าตอบแทนการเช่าหรือเงินอื่นๆ ตามสัญญา


 


รายงานข่าวระบุว่า ต่อมาทางสหกรุงเทพพัฒนา ได้ประสบปัญหาทางการเงิน และไม่ได้ทำการจ่ายค่าเช่าตั้งแต่ปี 2537 เป็นเงินจำนวน 283.63 ล้านบาท ซึ่งผู้ให้เช่าที่ดินอยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับ สหกรุงเทพพัฒนา โดยในปี 2547 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวชำระค่าเช่าที่ค้างตั้งแต่ปี 2537 ถึงปี 2544 เป็นเงินรวม 132.84 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี แก่ผู้ให้เช่า และในปี 2548 ทางสหกรุงเทพพัฒนา อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์


 


ทั้งนี้จากรายงานประจำปีของตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้ประเมินฐานะปัจจุบันของคดีความ และความตั้งใจของกลุ่มบริษัทดังกล่าว คดียังคงค้างและน่าจะใช้เวลานานจนกว่าจะถึงศาลในขั้นสุดท้าย ผลสุดท้ายของคดียังมีความห่างไกล และไม่สามารถประเมินได้อย่างสมเหตุสมผลในปัจจุบัน ดังนั้น สำรองเผื่อค่าความเสียหายจึงยังไม่ได้มีการตั้ง ณ วันที่ของงบการเงินนี้


 


นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ สายงานบริหาร กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ในอดีตทางสหกรุงเทพพัฒนามีแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยทำเป็นเอ็กซ์เชนจ์ สแควร์ ขึ้นมาจึงได้เชิญตลาดหลักทรัพย์มาเปิดอาคารสำนักงานซึ่งเป็นอาคารสำนักงานที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยหวังว่าจะมีโบรกเกอร์ และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนอื่นๆ มาเช่าพื้นที่โดยรอบอาคารสำนักงานตลาดหลักทรัพย์


 


อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ สหกรุงเทพพัฒนา ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนั้นด้วย ซึ่งปัจจุบัน สหกรุงเทพพัฒนา อยู่ระหว่างถูกฟ้องล้มละลาย และเท่าที่ประเมินดูทาง สหกรุงเทพพัฒนา อาจไม่สามารถชำระค่าเช่าที่ดินในผืนดังกล่าวได้ และตามสัญญาตลาดหลักทรัพย์จะต้องเป็นผู้ชำระแทน ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการเจรจากับทางสำนักงานทรัพย์สินฯอยู่


 


"ถ้าว่ากันตามสัญญา เราเองก็คงต้องชำระค่าเช่าในส่วนนี้ เพียงแต่ตอนนี้ อยู่ระหว่างเจรจากับทางสำนักงานทรัพย์สินฯ เพราะตอนที่สหกรุงเทพพัฒนา ทำสัญญาเช่ากับ สำนักงานทรัพย์สินฯ ตอนนั้นเราไม่เห็นสัญญาเช่าจึงไม่รู้ว่าราคาค่าเช่าเป็นอย่างไร พอมาเห็นทีหลังว่าค่าเช่าสูง เราก็เลยต้องเจรจาขอปรับหนี้กัน ซึ่งการเจรจาก็เป็นไปได้ด้วยดี" นางนงราม กล่าว



ผลดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์รอบปี 2549 นั้น มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ (ขาดทุนสุทธิ) จำนวน 262.05 ล้านบาท ซึ่งลงเมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ (กำไรสุทธิ) รวม 582.87 ล้านบาท หรือลดลง 320.82 ล้านบาท คิดเป็นการลดลง 55.04%


ทั้งนี้ จากเว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ข้อมูลว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นองค์กรนิติบุคคลดูแลและจัดประโยชน์อันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบริหารและดูแลผู้เช่าโดยยึดหลัก "ดูแล รักษา อย่างเป็นธรรม" โดยขณะนี้มีผู้เช่าในความดูแลประมาณ 37,000 สัญญา โดยกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 25,000 สัญญา ส่วนภูมิภาคซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร ลำปาง ราชบุรี เพชรบุรี สงขลา นครปฐม ฉะเชิงเทรา และชลบุรี รวมประมาณ 12,000 สัญญา


ข้อมูลบางส่วนจาก : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net