Skip to main content
sharethis

หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ พลเมืองเหนือ


 


 


 


เลื่อนประกาศ 62 กกต.จังหวัดทั่วประเทศรวมทั้งเชียงใหม่ เหตุมีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรมเพียบ ตั้งทีมลงพื้นที่สืบละเอียดยิบ หวั่นร่างทรงนักการเมือง เปิดประวัติและโชว์กึ๋น 15 ว่าที่ กกต.เชียงใหม่ที่เข้ารอบชิง รอลุ้นผลไว้ใจ๋ได้กา


 


ร้องพฤติกรรมเพียบ ลงพื้นที่เจาะข้อมูล


เชียงใหม่เป็น 1 ใน 62 จังหวัดที่กำลังใจจดใจจ่อรอคอยว่า ใครจะได้เป็น 5 เสือ กกต.ที่จะได้รับการประกาศ ให้มาทำหน้าที่ดูแลการจัดการเลือกตั้งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองที่กำลังเป็นอยู่
ผ่านพ้นเดือนเมษายน ตามแผนงานเดิมที่วางไว้ ควรจะถึงขั้นตอนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลการพิจารณาพร้อมแต่งตั้ง กกต.จังหวัดและประชุมผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ให้ได้รับนโยบายการทำงานได้แล้ว


 


อย่างไรก็ตามได้ล่วงเลยกำหนดเวลามา ยังไม่มีการแจ้งผลการพิจารณามายังสำนักงานแต่อย่างใด เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมของผู้ที่ผ่านการเสนอชื่อมาแล้วโดยละเอียด ด้วยหลังจากประกาศชื่อและเปิดให้ประชาชนได้ร่วมแจ้งเบาะแสพฤติกรรมความเกี่ยวข้องโยงใยกับการเมืองมาก่อนหน้านี้ ปรากฏว่าได้รับแจ้งมาเป็นจำนวนมาก กกต.กลางจึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการลงพื้นที่ตามเบาะแสนั้นทุกประเด็น ประสานข้อมูลกับคณะอนุกรรมการในพื้นที่ที่สงสัย รวมทั้งตรวจสอบไปยังต้นสังกัดเดิมด้วย ซึ่งทำให้ต้องใช้ระยะเวลายาวนานออกไป


 


"เนื่องจากมีผู้สมัครเป็น กกต.ครั้งนี้มาก และจัดพร้อมกัน 62 จังหวัดทั่วประเทศ จึงมีประชาชนผู้เกี่ยวข้องส่งข้อมูลพฤติกรรมของผู้ผ่านการคัดสรรเบื้องต้นกันมากมายที่ระดับจังหวัดเอง และส่งไปยังส่วนกลาง คณะอนุกรรมการจึงต้องตรวจสอบข้อมูลกันอย่างถี่ถ้วน" ฐิติพล ทศรส ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.จ.เชียงใหม่กล่าว


 


 


คาดคลอดโผพฤษภาคม
ทั้งนี้ขั้นตอนจากนี้คือเมื่อเลขาธิการ


 


กกต.ในฐานะประธานพิจารณากลั่นกรองประวัติพฤติการณ์และความเหมาะสมของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกรวมรวมข้อมูลที่ได้รับและมีข้อสรุปแล้ว ก็จะเสนอความเห็นให้ กกต.กลางพิจารณาแต่งตั้ง กกต.จังหวัด และแจ้งผลมายังสำนักงานฯ กกต.จังหวัดที่ได้รับแต่งตั้งจึงจะประชุมเลือกประธานกันเอง คาดการณ์ภายใน กกต.กลางว่า จะดำเนินการสรุปข้อมูลทั้งหมดในชั้นคณะอนุกรรมการฯ ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผ่านการคัดเลือกของแต่ละจังหวัดอยู่แล้วเพื่อประกาศเป็นมติต่อไป และจากเดิมที่คาดว่าจะทยอยประกาศไปตามการพิจารณาเสร็จของแต่ละจังหวัด แต่ขณะนี้สรุปว่าจะประกาศพร้อมกัน 62 จังหวัดเลย ระหว่างนี้จึงรอการรวมข้อมูลเสนอ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประชุมพิจารณามามติเพื่อประกาศเมื่อใดนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากกรรมการแต่ละท่านมีบทบาทในกิจกรรมอื่นด้วย เช่นการเป็น สสร. อย่างไรก็ตามความว่าไม่น่าจะเกินเดือนพฤษภาคมนี้


 


ผู้อำนวยการ กกต.เชียงใหม่เชื่อว่า การเลื่อนประกาศ กกต.จังหวัดเช่นนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อภารกิจสำคัญที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆ นี้คือการประชามติรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิ์ทางความเห็นของประชาชนว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งฝ่ายข้าราชการประจำก็ได้เตรียมการอยู่ ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งใหญ่เช่น ส.ส. หรือ ส.ว. ที่การตรวจสอบเข้มข้นเพราะเกี่ยวโยงกับความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งตามระบบ หากมีการเลือกตั้ง ก็ควรจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งมาดูแล หากได้ กกต.ชุดใหม่เร็ว ก็จะมีผลต่อการกำกับดูแล และกำหนดนโยบายการทำงานของ กกต.จังหวัดเองได้เร็วเท่านั้น


 


อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปลายปีนี้ ส่วนการประชามติจะมีราวเดือนสิงหาคม ดังนั้นหากประกาศ กกต.จ.ได้ราวเดือนพฤษภาคมก็จะยังวางแผนการทำงานได้ทัน ทั้งนี้ปัจจุบันก็มี กกต.จังหวัดเชียงใหม่ชุดเดิมรักษาการอยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่


 


 


ผลคัด 15 ว่าที่ กกต.เชียงใหม่


จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สนใจสมัครเป็น กกต.ชุดใหม่ 62 คน ตรวจสอบประวัติพบไม่น้อยที่คุณสมบัติไม่ครบ ไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งครั้งก่อนบ้าน เคยสมัครเป็นผู้แทนระดับต่างๆ มาบ้าง มีญาติเป็นนักการเมืองท้องถิ่น คลุกคลีใกล้ชิดกับคนการเมืองก็ไม่น้อย แนวทางหนึ่งที่จะคัดสรรคือการเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์การเป็น กกต. ต่อสาธารณะชน โดยให้เวลาคนละ 7 นาที โดยมีคณะอนุกรรมการสรรหา กกต.จังหวัดเชียงใหม่ 13 ท่าน ซึ่งมี ผศ.ดร.ประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพเป็นประธาน คัดเลือกเหลือ 15 คน ด้วยการลงคะแนนเสียงถึง 2 รอบ


 


รายงานข่าวแจ้งผลการลงคะแนนหลังการแสดงวิสัยทัศน์รอบแรก ผู้ที่ผ่านไปด้วยคะแนนเกิดกึ่งหนึ่งรวม 6 คนคือ ผ่องพรรณ จงยศยิ่ง ศุรพงศ์ พงษ์เดชขจร มานพ ศักดาพร ธัญศักดิ์ ศรีแสงจันทร์ พิสัณห์ เจนร่วมจิต ลาภบุญ ผลสมบูรณ์


 


การลงคะแนนรอบ 2 เพื่อสรรหาอีก 9 คนทีเหลือ เพื่อให้ได้ 15 คน เสนอไปยังกกต.กลางเพื่อคัดให้เหลือ 5 คนนั้น มีรายงานผลผู้เข้ารอบคือ สวัสดิ์ ศรีสุวรรณดี อดีตผู้ว่าฯตาก และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ต.วิชัย เชี่ยวเวช อดีตผู้การฯลำพูน และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ พ.ต.อ.เชิดชาย ม่วงมงคล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอสารภี วิเชียร บุตรศรี ภักดี รัตนะผล อดีตรองผู้ว่าฯ พ.ต.ท.ณรงค์ บุญยะประภา พิชิต ตันติศักดิ์ รัชต์ ลุ่มจันทร์ พัฒนาการอำเภอสารภี และ พ.ต.อ.กระจ่าง เลิศเกียรติดำรงค์ อดีตผู้กำกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษศูนย์สืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5






เปิดกึ๋นว่าที่....ตรงใจหรือไม่ ?
"พลเมืองเหนือ" ขอนำการแสดงวิสัยทัศน์ของทั้ง 15 ท่านที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นจากระดับจังหวัดมาเสนอ เพื่อผู้อ่านได้พิสูจน์ด้วยตัวเองเบื้องต้นว่า ผู้ที่กำลังจะมามีบทบาทดูแลการเลือกตั้งในอนาคตนั้นสมราคาหรือไม่


 


พ.ต.อ.กระจ่าง เลิศเกียรติดำรง อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญ ผู้กำกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษศูนย์สืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5


"ผมวางแนวทางการทำงานโดยพิจารณางาน 5 ด้านของกกต.คืองานบริหารทั่วไป จะต้องสร้างความสมานฉันท์ในองค์กร การลงมติออกเสียง 5 คน ถ้าไม่สามัคคีกลมเกลียวแล้วจะลำบาก ต้องสร้างความมั่นคงมั่นใจของผู้ปฏิบัติงาน สิ่งที่ผมได้พบคือข้าราชการประจำที่ได้รับการคัดเลือกมาอยู่ในองค์กรนี้ อาจถูกมองว่าไม่ได้ผลดีถ้าไม่เป็นฝ่ายเดียวกับพวกที่ได้เป็นรัฐบาล ดังนั้นกกต.จะต้องสร้างความมั่นใจ ด้านการจัดสรรงบประมาณ ผู้เป็นกกต.ต้องกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจน และวางแผนระยะยาวทั้ง 4 ปี งานด้านบริหารการเลือกตั้ง ควรรู้ว่ารอบวาระที่ทำงานจะมีการเลือกตั้งกี่ครั้ง อะไรบ้าง วางแผนแต่เนิ่น งานด้านการมีส่วนร่วม จะต้องจัดให้รณรงค์ในเด็ก ให้รักษาสิทธิ์ของตนเอง ส่วนงานด้านสืบสวนต้องทำเชิงรุก ต้องทำก่อนจะเกิดเหตุขึ้น ส่วนงานกิจการด้านการเมือง จะต้องสอบอบรมผู้ที่สมัครเข้ามา เพื่อประกาศตนเองให้ประชาชนรับรู้ว่าผ่านหลักสูตรการคัดกรองเข้ามาด้วย"


 


พ.ต.อ.เชิดชาย ม่วงมงคล อายุ 61 ปี ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอสารภี (สมัคร)


"ผมเคยเป็นหัวหน้าโรงพักหลายแห่ง รู้ปัญหาประชาชน รู้พฤติกรรมนักการเมือง อยากให้ประเทศมีการจัดการบ้านเมืองที่ดี ปัญหาวงจรอุบาวท์จะได้ไม่มี อยากให้ประชาชนรู้จักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่เป็นธรรม เมื่อประชาชนมามีความรู้มาก การเลือกตั้งก็จะบริสุทธิ์ได้ ที่ผ่านมากกต.มีปัญหา ประเทศไทยปฏิวัติครั้งเดียว แต่ที่เหลือเป็นการเกิดรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งตลอด เหตุผลคือการทุจริตคดโกง หลังจากคมช.เข้ามา จัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว วรรค 1 ของมาตร 29 จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และเผยแพร่ให้ประชานทราบ และออกเสียงประชามติทั่วประเทศ เห็นได้ว่า มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยมีประชาชนทุกขั้นตอนมามีส่วนร่วม ถ้าผมเป็นกกต. ในการดำเนินการออกเสียงประชามติ ต้องสอนให้ประชาชนรู้ว่ารัฐธรรมนูญสำคัญอย่างไร มีผลกระทบอย่างไร และเรามีหน้าที่อย่างไร การจะประชามติ กกต.ต้องเตรียมการจัดการว่ามีข้อผิดพลาด อุปสรรค และจะต้องลดขั้นตอนการทำงานอย่างไร หน้าที่ของกกต.คือ พยายามลดการขายเสียง ต้องป้องกันโดยให้ประชาชนรู้รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย การปกครองที่เสมอภาคและมีส่วนร่วมในการปกครอง นอกจากนั้น กกต.จะต้องมีจริยธรรม รับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง และทำให้ประชาชนไว้ใจได้ว่ามีองค์กรกกต.ที่วางตนเป็นกลางจริง"


 


พ.ต.ท.ณรงค์ บุญยะประภา อายุ 60 ปี รับราชการ รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธร อ.แม่แจ่ม


"ผมห็นข้อบกพร่องที่จะนำมาประยุกต์คือ 1.จะต้องพิจารณาตัวเองว่ามีใจรักในงานนี้ ถ้ามาด้วยสิ่งอื่นไม่ต้องมา 2. การจะทำงานใหญ่โต หรือเล็ก เมื่อทำในรูปของคณะกรรมการ ถ้าไม่พูดกันก่อน ล้มเหลวหมด การทำงานจะต้องเชิญคณะกรรมการ 5 ท่านมาร่วมวางแผน หารือ ถึงความล้มเหลวที่ผ่านมาว่าเกิดจากอะไร ข้อปลีกย่อยนำมากำหนดกฏเกณฑ์จะใช้ได้ไหมในการเลืกกตั้งต่อไป ให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายมาร่วมพิจารณาวางแผน เมื่อพิจารณาร่วมกันแล้ว เมื่อประมวลแนวทางได้แล้วเสนอไปยังกกต.กลาง เพื่อความโปร่งใสและแจกจ่ายทั่วเชียงใหม่ว่า กกต.เชียงใหม่จะดำเนินการเช่นนี้ เมื่อได้ข้อสรุปก็มาดำเนินการในส่วนย่อย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่แล้ว แต่กกต.จังหวัดเข้าไปกำกับให้โปร่งใส ทั้งนี้มีกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการคือกิจกรรมการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วม ผมยังไม่เห็นกกต.ที่ไหนไปประสานกับหน่วยงานที่เป็นกรรมการเขตเลย มีเพียงหนังสือออกเป็นคำสั่ง ใช้อำนาจกฎหมายเป็นการมัดมือชก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อยากทำงาน ส่งใบลาป่วย ต้องเปลี่ยนกันวุ่นวาย สิ่งที่ควรทำคือการแบ่งเขตเข้าไปประสานงานกับอำเภอ ขอกำลังเขามาช่วยทำงาน จะได้เลือกเฟ้นว่าไม่ใช่คนของนักการเมือง ไม่ใช่คนของพรรคใดพรรคหนึ่ง จากนั้นควรทำสารบบ มีรายชื่อของกรรมการหน่วยเลือกตั้งถึงระดับหมู่บ้านไว้ได้แล้ว จะสามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาไม่มีจึงเกิดความล้มเหลว ว่ามีบางเบอร์จ่ายค่าอาหารกลางวันให้กรรมการก็มี สุดท้ายกิจกรรมการมีส่วนร่วม หากผมได้รับเลือกจะต้องประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งระดับหมู่บ้านถึงกำนัน คนกลุ่มนี้เขาสะท้อนว่าไม่มีใครให้เขาทำอะไร มีแต่ผู้สมัครมาบอกให้ไปลงเบอร์นั้นเบอร์นี้ เมื่อประชาชนไม่รู้ว่าไปเลือกตั้งทำไม ก็เลยถามผู้ใหญ่บ้านว่าจะจ่ายเท่าไหร่ก่อนออกบ้าน"

ธัญศักดิ์ แสงศรีจันทร์ อายุ
51 ปี รับราชการปลัด อบต.สุเทพ นายกสมาคมพนักงานส่วนตำบลแห่งประเทศไทย


" ผมมองว่ากกต.เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งและประชามติ มีอำนาจวินิจฉัย เพื่อให้ได้ผู้แทนที่มีคุณธรรม แต่ที่ผ่านมา สังคมเกิดความแตกแยก สังคมมองว่าเกิดการทุจริต ประพฤติมิชอบ ถ้าผมเป็นกกต.เสนอวิสัยทัศน์คือ ที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งอย่างสุจริต ผู้เลือกตั้งต้องยึดถือกฎหมายเลือกตั้งเคร่งครัดและสุจริตใจ เจ้าหน้าที่ก็ต้องเป็นกลาง อิสระ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ไม่ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามนี้ ผมเสนอกลยุทธ์คือ 1. ในส่วนเจ้าหน้าที่ต้องมีจิตสำนึกในความเป็นข้าราชการของในหลวง 2. ส่วนของผู้สมัครจะต้องยึดระเบียบ หากพบทำผิดต้องดำเนินการรวดเร็วและเป็นธรรม 3.ส่วนของประชาชนต้องประชาสัมพันธ์ทั่วถึง ประสานทุกฝ่าย เรียกความเชื่อมั่นศรัทธามาโดยเร็ว"


 


ผ่องพรรณ จงยศยิ่ง อายุ 51 ปี ประธานเครือข่ายบรรณาธิการภาคเหนือ


"ดิฉันเห็นปัญหาว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการที่แท้จริงคือคนดี มีศีลธรรม จริยธรรม และโปร่งใสปราศจากคอรัปชั่น เชื่อว่าตัวดิฉันมีหมดทุกข้อที่ประชาชนต้องการ เมื่อปี 2544 เคยเสนอตัวเป็นกกต. โดยเป็นสตรีคนเดียว มาปีนี้เมื่ออ่านระเบียบข้อ 24 และ 31 ที่เขียนไว้ให้สตรีมีส่วนร่วม เลยเกิดกำลังใจ มาสมัครอีกครั้ง แนวคิดที่กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 3 ทาง 1.ต้องการให้เปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบในการปฏิบัติภารกิจอยู่ และต้องการให้ประชาชนสร้างเครือข่ายมีส่วนร่วม 2. เน้นกระบวนการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ทางวิชาการและประชาสัมพันธ์กำหนดการวางแผนระยะสั้นและยาว 3. การพัฒนาองค์กรในทุกๆด้าน สร้างภาพลักษณ์ให้ประชาชนยอมรับ เพราะกกต.ที่ผ่านมามีความเคลือบแคลง สงสัย การทำงานต้องอิงกฎหมาย กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ โปร่งใส ปราศจากการคอรัปชั่น และกล้าปฏิบัติภารกิจ"


 


พิชิต ตันติศักดิ์ อายุ 46 ปี กรรมการผู้จัดการ บจก.เชียงใหม่วิทยาสื่อสาร เฮช เอส ไฟว์


"ผมมีประเด็นคือ 1. ความเข้าใจว่า กกต.คือใคร บทบาทหน้าที่คืออะไร การจะไปตรวจสอบผู้อื่น ต้องพร้อมให้ทุกคนตรวจสอบด้วย ที่ผ่านมากกต.ไม่เข้าใจวงจรชีวิตนักการเมืองว่า เข้ามาถูกต้องหรือไม่ การดำรงตำแหน่งได้ทำตามข้อสัญญาหรือไม่ และการออกจากตำแหน่งแล้วทรัพย์สินที่เพิ่มเข้ามาหรือไม่ สิ่งที่กกต.ควรทำและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าวันนี้ประชาชนไม่เข้าใจบทบาท พันธกิจที่สำคัญ ต้องให้ประชาชนเข้าใจว่าประธิปไตยไม่ใช่ตัวแทน แต่ต้องตรวจสอบการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง
และ 2. ความเข้าถึง ที่ผ่านมา กกต.ได้ละทิ้งพันธมิตรทางสังคมภาครัฐประชาชนและเอกชน พันธมิตรที่พร้อมให้ความร่วมมือ ถ้าผมเป็นกกต. ผมจะต้องแสวงหาพันธมิตรเข้าหาทุกส่วนงานราชการ ภาครัฐ ตำรวจ ทหาร ศาล เอกชนที่พร้อมให้ความเช่วยเหลือเรา ที่ละทิ้งมากที่สุดคือทุนเดิมทางสังคมนักวิชาการ นักเรียน ผู้พิพากษาและสื่อมวลชน การเข้าถึงช่องทางการสื่อสาร คือจะต้องสรรหาช่องทางหลายรูปและเหมาะสมกับพื้นที่ และต้องสื่อสารสองทางอย่างต่อเนื่อง 3. การแก้ไขเปลี่ยนแปลง เมื่อกิจการทำไปก็ต้องปรับปรุง สุดท้ายต้องเข้าถึงอาสาสมัคร พลังอำนาจในสังคม เพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำงานเสริมจิตสำนึกอาสาสมัครช่วยกันทำงาน และสาธารณประโยชน์จิต และจิตที่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของสังคม ผมคิดว่าถ้าทำความเข้าใจและเข้าถึงแล้ว กิจกรรมของกกต.จะได้รับศรัทธา"


 


ภักดี รัตนผล อายุ 64 ปี อดีตรองผู้ว่าฯ ผู้ตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และเผยแพร่ (ระดับ 10) และผู้ตรวจการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง


" การทำงานของกกต.จังหวัดจะต้องเป็นตัวแทนของกกต.กลาง ซึ่งกกต.ชุดปัจจุบันเป็นผู้ซึ่งมาจากศาลเป็นส่วนใหญ่ เที่ยวตรง รอบคอบ เป็นที่ศรัทธาของประชาชน กกต.จังหวัดจะต้องจำลองในแง่ความเป็นธรรมมาให้ได้ เป็นธรรมและเป็นไท จะเป็นกำแพงให้กกต.จังหวัดมั่นใจได้ เราต้องมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อประชาชนในพื้นที่ ก่อนทำงานจะต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์ คือระยะยาว 12 ปี คือใช้กกต 3 ชุดๆละ 4 ปี มุ่งสู่เป้าหมาย 3 ประการ คือ .1 เปิดช่องทางให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของกกต.ให้ได้ 2. การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด โดยให้การศึกษาต่อเนื่อง งานด้านการมีส่วนร่วมจึงสำคัญต่อเนื่องตลอดปี คือการให้ความรู้หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย การเข้ามาสู่กระบวนการมีสิทธิหน้าที่อย่างไร และจะทำอย่างไร จะไม่ให้นักการเมืองเป็นผู้ซื้อ ไม่มีการซื้อต้องไม่มีการขาย ในปีที่ 12 ทุกอย่างจะดีขึ้น ประเด็นต่อไปต้องพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร สำนักงาน และตัวกกต. ในจังหวัด ต้องหล่อหลอมเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วในการทำงาน รอบรู้ในระเบียบกฎหมาย นำระบบไอทีเข้ามา เป็นหน่วยงานที่ประชาชนเข้ามาเสนอช่องทางต่างๆ รับเรื่องร้องทุกข์ได้ เป็นอย่างดี จะต้องหล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกันของงานทั้ง 5 ด้าน สุดท้าย ให้การทำงานเชิงการเลือกตั้งสมานฉันท์ งานเร่งด่วนขณะนี้คือการทำประชามติ ต้องสร้างการรับรู้ว่ามีความหมายต่อชุมชน รับหรือไม่รับ มีผลต่อวิธีคิดของเขาอย่างไร"


 


ภิสันต์ เจนร่วมจิต อายุ 47 ปี ทนายความ


"ผมมองการทำงานกกต ส่วนของการบริหารจัดการเลือกตั้ง ควรแยกปัญหาการเมืองออกจากการบริหารอย่างเด็ดขาด การบริหารต้องอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ครอบงำผลประโยชน์ต่างๆ คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้นำ และตัวอย่าง ในสภาพปัจจุบันเจ้าหน้าที่บางท่านใกล้ชิดกับนัการเมือง ขาดความรู้ความเข้าใจกฎหมายการเลือกตั้ง วิธีแก้ไขคือ นำจริยธรรมของเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติโดยเคร่งครัด การจัดการเลือกตั้ง ควรยึดระเบียบข้อบังคับ และนโยบายอย่างเคร่งครัด คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก มีอิสระในการตัดสินใจ ในการจัดการเลือกตั้ง สภาพปัจจุบันคือมีการซื้อสิทธิขายเสียงทุกครั้งเนื่องจากกรรมการเลือกตั้ง ใช้มาตรการเชิงรับ เพียงแต่มีผู้มาแจ้งเหตุ แล้วค่อยดำเนินการ เป็นการแก้ปลายเหตุ วิธีแก้ ภาคประชาชนต้องเข้ามา โดยฝ่ายจัดการเลือกตั้งต้องมีงบเพียงพอ สร้างขวัญกำลังใจประชาชนส่วนต่างๆ ด้วยการยกย่องชมเชย หมู่บ้านปลอดขายเสียง ประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่"


 


มานพ ศักดาพร อายุ 51 ปี อัยการผู้เชี่ยวชาญสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครองเชียงใหม่ 1


" กกต.จะต้องเป็นกลาง ซื่อสัตย์เป็นที่ตั้งแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องนำแนวทางในระดับแมคโคร หลายอย่างที่มีการนำเสนอ ไม่ใช่หน้าที่ของกกต. มีหน่วยงานอื่นทำอยู่ แต่หากผมได้รับเลือก ผมจะดูนโยบาย มีกรอบแนวคิด 3ส่วน รอบรู้ดี มีมาตรฐาน งานรวดเร็ว โดยรอบรู้ดี ต้องทำให้องค์กรการเลือกตั้งรู้ เข้าถึงกฎระเบียบ เนื่องจากการเลือกตั้งมีประกาศ คำสั่ง จากส่วนกลางมากมาย หากเข้าใจไม่ตรงกัน การทำงานไม่ราบรื่น และไม่รวดเร็ว จะต้องมานั่งคิดว่าหมายความว่าอย่างไร รอบรู้ยังต้องรู้จริง เช่นกกต.มีหน่วยที่ควบคุมการเลือกตั้ง 2 ระดับ ระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในส่วนท้องถิ่น การสอบสวนเบื้องต้นเพื่อให้ใบเหลืองใบแดง แต่สำหรับระดับชาติ ทำหน้าที่แค่รับและส่งเรื่องกรณีร้องเรียน ต้องเข้าใจตรงกันไม่ใช่ว่าเข้ามาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จริงมีอำนาจหรือไม่ ด้านการมีมาตรฐานของผมหมายถึงกรณีซื้อสิทธิขายเสียต้องสอบสวนถูกต้องเป็นธรรมและเป็นกลางแล้ว หากมีกรณีแบบเดียวกันก็ต้องลงโทษแบบเดียวกัน จึงจะทำให้การเลือกตั้งยุติธรรม งานรวดเร็ว การทำงานต้องทำให้ทันในกรอบ เพราะการเลือกตั้งมีกรอบเวลาเป็นตัวกำหนด ในการซื้อสิทธิขายเสียง กรณีมีร้องเรียนต้องมีมาตรฐาน สุภาษิตกฏหมายคือความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม ต้องนำมาใช้ด้วย ผมเห็นว่างานเร่งด่วนขณะนี้คือการออกเสียประชามติ จุดนี้ต้องรณรงค์ให้ทราบว่ารัฐธรรมนูญออกมาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนต้องเข้าใจว่าเป็นกฎหมายที่รองรับสิทธิ์ ต้องให้เขาไม่ยึดติดกับตัวบุคคลผู้ร่าง เพื่อไม่ให้เกิดความคิดที่เบี่ยงเบน"


 


รัชต์ ลุ่มจันทร์ อายุ 54 ปี พัฒนาการอำเภอ/ที่ว่าการอำเภอสารภี


" การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสรรหาบุคคลเข้าไปอยู่ในองค์กร การใช้อำนาจอธิปไตย 2 ใน3 ของไทยมาจากการเมืองตั้ง จึงมีความสำคัญ ผมพร้อมทำหน้าที่กกต. 1. ด้านงานบริหาร เพราะเคยบริหารการเลือกตั้งระดับเขตหลายครั้ง ผมรับราชการทั่วพื้นที่เชียงใหม่รู้จักผู้นำและประชาชนพอสมควร และผมมีความตั้งใจที่จะเป็นกกต.เพราะมีสิ่งที่พบและเห็นอยากจะแก้ไขคือ ประชายยังไม่เข้าใจในสิทธิหน้าที่ กฏหมายมีหมด แต่ไม่มีใครบอกให้ประชาชนรู้ เช่นพรบ.ว่าด้วยการออกเสียงลงคะแนน ถอดถอน กำหนดข้อบัญญัติ มีแต่ใช้ไม่ได้ ไม่ได้ใช้ ไม่มีใครบอก บอกก็ไม่เข้าใจ ผมตั้งใจจะเข้ามาทำให้เข้าใจ ผมตั้งใจจะยึดกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ประหยัด สมประโยชน์ แนวคิดที่จะทำให้ตั้งใจประสบความสำเร็จ คือ กระบวนการเลือกตั้งทุกระดับจากท้องถิ่นถึงระดับชาติสร้างความสับสน การเลือกตั้ง ส.ส.มีบัตร 2 ใบ 1 ใบ กาได้ 1 เบอร์ พอถึงเทศบาล มี 2 ใบ กาผู้บริหาร 1 เบอร์ สภาท้องถิ่นอีก 6 ความตั้งใจอยากจะแก้ไขความสับสนของประชาชนในการใช้สิทธิ์ โดยคนที่จะบอกประชาชนได้ดีคือประชาชน จึงต้องมีเครือข่ายภาคประชาน การตรวจสอบต้องยกให้ประชาชนเป็นพระเอก ฝ่ายบริหารจัดการทำให้เป็นไปตามระเบียบเท่านั้น สิ่งสำคัญต้องให้ประชาชนเข้มแข็ง"


 


ลาภบุญ ผลสมบูรณ์ อายุ 59 ปี พนักงานเกษียณอายุจากบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด
"บทบาทสำคัญของกกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ผมเสนอ 3 แนวทาง 1. ต้องรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะเป็นหัวใจสำคัญ เช่นการเชิญชวนให้ประชาชนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง สอดส่องดูแลการเลือกตั้ง เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 2. การประสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกด้าน ทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือน ทราบและเข้าใจอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว เน้นย้ำสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของประชาชนให้มากที่สุด 3 .คือการให้การอบรมประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกระดับ เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น"


 


วิเชียร บุตรศรี อายุ 45 ปี ปลัดเทศบาล ตำบลท่าข้าม อ.ฮอด


"ที่ผ่านมาการพิจารณาเลือกบุคคล จะเน้นผู้อาวุโส ตำแหน่งสูง ไม่ได้มองจิตวิญญานนักประชาธิปไตย เลยมีปํญหาได้คนมีตำแหน่งสูงในคราบของนักเผด็จการ ตัวแทนของเจ้าขุนมูลนาย เลยทำให้ประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งน้อยลงไป แต่ตอนนี้ฟ้าเปิด กกต.กลางชุดใหม่ทรงคุณธรรม เชียงใหม่มีคนอย่างผมมาเสนอตัวให้เลือก ผมมีประสบการณ์หลายด้านที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เป็นนักศึกษา ผลงานที่ภูมิใจคือการดูแลการเลือกตั้งที่อ.วังชิ้น จ.แพร่ ด้วยยุทธวิธีโจรจับโจร โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และตอนที่เป็นปลัดป้องกันที่อ.แม่สายก็จับกุมผู้กระทำผิดตามชายแดนมากับมือ เรื่องการสืบสวนสอบสวนไม่น่าจะมีปัญหา ข้อเสนอจากผลคือการเลือกตั้งจะทำให้บริสุทธิ์อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายบังคับว่าถ้าประชาชนไม่มาใช้สิทธิ์จะเสียสิทธิ์ทางการเมืองหลายประการ แต่ไม่มีการบอกว่าได้ประโยชน์ อะไร เช่นน่าจะสามารถลดหย่อนภาษี ได้ไปศึกษาดูงานได้เป็นต้น"


 


พล.ต.ต.วิชัย เชี่ยวเวช อายุ 62 ปี อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน


" ผมมีแนวคิดว่า การจัดการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดการให้ถูกต้องเป็นธรรม ยึดข้อกฏหมายเคร่งครัด ทั้งนี้ การดำเนินการต่างๆ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม การพัฒนาเจ้าหน้าที่จะต้องพัฒนาบุคลากรหลายระดับที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกตั้ง ด้านการทำประชามติจะต้องจัดทำประชาสัมพันธ์ทุกขั้นตอน จะเห็นว่าการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมยังไม่ได้ดำเนินการเท่าที่ควร ที่จริงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจว่าการเลือกตั้งทุกระดับจากท้องถิ่นไปถึงระดับประเทศ ใช้สิทธิ์ใช้เสียงหาคนมีความรู้และซื่อสัตย์มาบริหาร ถ้าหากเราให้ประชาชนเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็จะได้คนดีไปบริหารประเทศ"


 


สุรพงศ์ พงศ์เดชขจร อายุ 51 ปี นักธุรกิจ อดีตผู้สมัคร ส.ว.


"ผมเคยสมัคร ส.ว.2 ครั้ง และเกือบได้ ด้วยเหตุใดชาวเชียงใหม่น่าจะรู้ดี ผมเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกตั้งและประชาน มีประสบการณ์สัมผัสกลโกงการเลือกตั้งทุกรูปแบบ นับแต่มีกกต. จะเห็นว่าคนให้ความเชื่อถือมากกว่าการจัดการเลือกตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย แต่ปัญหายังมีมากอยู่ ผมเสนอว่าหากได้เข้าไปทำงานจะผลักดันการบริหารจัดการจะต้องกระตุ้นบุคลากรให้สำนึกในการทำหน้าที่ของกกต. บุญคุณของแผ่นดิน อบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่กกต.ทุกระดับ สอดส่องให้เป็นกลาง การเลือกตั้งทุกครั้งต้องคัดสรรผู้ทำหน้าที่เป็นกกต.อย่างละเอียดรอบคอบ การบันทึกข้อมูลเน้นให้รอบคอบในคอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันกับกกต.กลางได้ การบริหารจัดการก็ต้องประสานกับหน่วยงานอื่นก็ต้องขอความร่วมมือ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาน การจะได้รับความร่วมมือต้องได้รับความไว้วางใจจากเขา รับฟังสิ่งที่เขาจะให้ปรับปรุงก่อน และขอความร่วมมือภาคประชาชนมาร่วมสังเกตุตรวจสอบ ด้านการสืบสวนสอบสวน เน้นว่าต้องทำเชิงรุก เพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่สืบสวนและปรับตัวทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งให้ทันต่อกลโกงของนักเลือกตั้ง ด้านการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เป็นพื้นฐานให้เลือกผู้แทนอย่างมีประสิทธิภาพ"

สวัสดิ์ ศรีสุวรรณดี อายุ
62 ปี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย


"ถ้าผมเป็นกกต. ผมต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ อดทน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม จะใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เคยมีดำเนินการให้เรียบร้อย ผมจะใช้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมและประสานงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นและประชาน เพื่อให้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกำหนดเป้าหมายในการเลือกตั้ง นอกจากนั้นร่วมกันสร้างชุมชนและประชาคมให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะหลักสำคัญคือองค์กรสตรี หรือกลุ่มเกษตรกร หรือองค์กรหลักที่จะสร้างได้อย่างเต็มที่ และเราต้องร่วมกันสร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้ข้าราชการและผู้นำองค์กรต่างๆ และจะใช้หลักการตรวจสอบและรายงานผลการเลือกตั้ง ด้วยความเป็น ถูกต้องรวดเร็วโปร่งใส ใช้ข้อมูลกำหนดเป้าหมายในการทำงาน จะทำงานที่มุ่งผลสำเร็จ และมุ่งบริหารจัดการที่ดี เพื่อการที่จะทำให้งานนั้นมีประสิทธิภาพ การประชาสัมพันธ์ ต้องเน้นหนักสร้างความเข้าใจ ให้ประชาชนรู้จักการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักการฝึกอบรม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net