Skip to main content
sharethis

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 


การจัดระเบียบ "เด็กหอ" เป็นเรื่องราวการพัฒนา "หอพัก" ของนักศึกษาของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในหอพักของวิทยาลัยร่วมกัน... ซึ่งถ้าดูจากวิชาชีพที่เรียน นักศึกษาเหล่านี้น่าจะเป็นกลุ่มที่รักสะอาด และสุขอนามัยต้องดีกว่านักศึกษากลุ่มอื่น...หากทว่า สภาพความเป็นจริงกลับกลายเป็นตรงกันข้าม สภาพหอพักของ "เด็กหอ" ทั้งชาย และหญิงล้วนสกปรกรกรุงรัง ทั้งบริเวณภายนอก และภายในห้องพัก...


 


ถามน้องๆ นักศึกษา น้องๆ... ก็บอกว่า การทำความสะอาดหอพักเป็นเรื่องของแม่บ้าน...


 


ฝ่ายแม่บ้านเอง ก็กบอกว่าถึงแม้จะเป็นหน้าที่...แต่ก็ทำได้เฉพาะความสะอาดภายนอก...สำหรับในห้องนอนย่อมเป็นเรื่องของนักศึกษา...


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสกปรกรกรุงรังก็ถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลาเนิ่นนาน....ปรากฏจากพฤติกรรมของ "เด็กหอ" ผู้ที่รำเรียนวิชา "สาธารณสุข" ซึ่งจะเป็นผู้ออกไปทำหน้าที่ "เผยแพร่" ความรู้ในด้านการดูแลสุขภาพให้แก่คนในชุมชนในอนาคต ทำให้อาจารย์ผู้ดูแลเกิดคำถามขึ้นในใจว่า...."ร่ำเรียนและวิชาด้านสุขศึกษา และอนามัยของชุมชน...แต่อยู่กันแบบสกปรกเลอะเทอะ...แบบนี้จะไปให้ความรู้ใครได้"


 


ที่ผ่านมาใช่ว่าจะไม่มี กฎ กติกา มารยาทในการอยู่หอ...มีทั้งตัดคะแนน...และตักเตือนด้วยวาจา แต่ไม่ได้ช่วยให้หอพักสะอาดสะอ้านขึ้นมาได้


 


"ทำกฎระเบียบติดไว้ที่หอ แล้วก็ให้อาจารย์ไปสำรวจเดือนละครั้ง...และทุกครั้งที่ไปตรวจ ก็จะเจอปัญหาทั้งนั้น เช่นต้องยึดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพราะบางอย่างไม่อนุญาตให้ใช้ บางคนเห็นครูมาก็เอาไปซ่อน โยนออกข้างนอกบ้าง พออาจารย์ไปก็เอากลับมาใช้เหมือนเดิม...แก้ปัญหาด้วยการพบอาจารย์ที่ปรึกษาให้ทีมบริหารไปพูดคุยเรื่องกฏระเบียบให้เข้าใจกัน...เตือนด้วยวาจา ตัดคะแนนความประพฤติ…แต่ก็ไม่ได้ผล" อาจารย์พนาไพร โฉมงาม อาจารย์พยาบาลวิชาชีพที่คลุกคลีอยู่กับกลุ่มนักศึกษา อธิบายถึงวิธีการดูแลหอพัก


 


แต่ผลกระทบที่เกิดจากการไม่อยู่ในกฎระเบียบหอพักของบรรดา "เด็กหอ" สำคัญ ก็คือ ทุกๆ ปี ทางวิทยาลัยต้องเสียงบประมาณค่าซ่อมบำรุงระบบประปา, ห้องน้ำ รวมทั้งจ้างคนมาทำความสะอาดซึ่งหมดงบประมาณไปเฉียดแสน..!!!


 


"หอพักนี่ต้องซ่อมทุกปี...ซ่อมบ่อย ใช้งบสูง ปัญหาซ้ำซาก เด็กที่นี่อยู่ส่วนมากก็ไม่ค่อยช่วยกันดูแล ไม่ค่อยใสใจเรื่องความสะอาดเท่าไหร่นัก…เรื่องมาตรการเราก็มีอยู่แต่ไม่ได้ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด และเด็ก 200 คน...เวลาทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ เราก็แค่ตักเตือนบ้าง ตัดคะแนนบ้าง มันก็เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ถูกต้อง นั้นก็คือสร้างความเคยชิน" อาจารย์กันยารัตน์ ชิราวุฒิ กล่าวเสริม


 


ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ถนอมศักดิ์ บุญสู่ ผู้อำนวยการวิทยาลัย จึงพยายามค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหามากมายหลายรูปแบบ กระทั่งได้รับการชักชวนจาก คุณกาญจนา ทองทั่ว หัวหน้าชุดโครงการวิจัย การเสริมศักยภาพนักวิชาการเป็นนักวิจัยแบบมีส่วนร่วม (PAR) เพื่อพัฒนาท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)สำนักงานภาค ซึ่งงานวิจัยชุดนี้ต้องการเข้าไปเสริมสร้างศักยภาพของนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อหนุนให้นักวิชาการเหล่านั้นหันมาทำงานวิจัยกับชุมชนโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม คือร่วมกันค้นหาปัญหา และร่วมแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน


 


ทีมอาจารย์จึงลงมาพูดคุยกับเด็กนักศึกษา เพื่อหาโจทย์วิจัยอันเป็นกระบวนการแรกเริ่มของการทำวิจัย


 


"ไปชวนเด็กๆ คุย ถามว่าปัญหาที่เด็กอยากแก้ไขคืออะไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหอพักทั้งนั้นเลย ทั้งเรื่องเกี่ยวกับน้ำดื่ม ห้องน้ำไม่สะอาด การไม่มีกฎระเบียบ การจอดรถมอเตอร์ไซค์ไม่เรียบร้อย ซึ่งมันก็ตรงกันกับแนวทางที่จะใช้งานวิจัยเข้ามาแก้ปัญหา...ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน.." อาจารย์พนาไพร เล่าถึงวันแรกๆ ที่ลงไปชักชวนเด็กให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานวิจัย...


 


โครงการนี้เริ่มต้นวิจัยด้วยการให้เด็กๆ อาสาสมัครที่เข้าร่วมในโครงการออกไปเก็บข้อมูลรอบๆ ชุมชน โดยให้ "เด็กหอ" เป็นผู้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ในการเก็บข้อมูลด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้านที่อยู่รอบๆ หอ ตำรวจ กลุ่ม อสม. ตลอดจน กลุ่ม อบต.


 



 



 



 



 


ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่ากว่าจะเดินผ่านกาลเวลามาสู่การเป็นหอพักอันใหญ่โต โอ่โถ่งดังเช่นทุกวันนี้ รุ่นพี่ของพวกเขาล้วนผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้าง "น้องใย" -- สุทธิดา จำปาหมื่น นักศึกษาชั้นปี 1 หลักสูตรสาธารณสุขชุมชน เลขาฯ หอพักหญิง บอกว่าช่วงที่เธอและกลุ่มเพื่อนๆ ออกเก็บข้อมูลรอบๆ วิทยาลัยนั้น ทำให้เธอรู้เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับวิทยาลัยและหอพัก...โดยเฉพาะเรื่องราว "การกำเนิดหอ"


 


"ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านรอบๆ วิทยาลัยทำให้รู้ว่าหอสมัยนั้นไม่เหมือนตอนนี้.....ตอนนั้นหอพักยังไม่มี นักศึกษาผู้ชายจะพักกันโรงเก็บของ....มีห้องน้ำห้องครัวอยู่ในนั้น ทำกับข้าวกินกันเอง สมัยนั้นเขาจะเรียกว่า หอนรก เพราะลำบากมาก ส่วนผู้หญิงก็มานอนที่บ้านพักครู ซึ่งจริงๆ แล้วต้องเป็นหอพักชาย...แต่เขาเสียสละให้กับนักศึกษาหญิงไปอยู่ ...ความสัมพันธ์ตอนนั้นก็เป็นเป็นแบบพี่น้อง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน…ไม่เอาถังน้ำส่วนรวม ไปไว้ในห้องส่วนตัวเหมือนสมัยนี้...."


 


และข้อมูลเหล่านี้ยังทำให้ มุมมองต่อการมใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยของน้องใย เปลี่ยนไปจากเดิม…


 


"...จากเดิมที่คิดว่า ต้องเรียนให้จบๆ เพื่อที่จะออกไปทำงาน แต่พอมาทำวิจัย....มีโอกาสสัมผัสกับคน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เขามีเมตตา และมีความเอื้อเฟื้อต่อรุ่นพี่ๆ ทำให้ความคิดเปลี่ยน....เปลี่ยนจากที่คิดแต่จะมาเอาอย่างเดียวคือรีบเรียนรีบจบ ไปเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะเป็นฝ่ายทำประโยชน์ให้กับวิทยาลัยได้อย่างไรบ้าง"


 


อย่างไรก็ตาม นอกจากการรวมรวมข้อมูลนอกชุมชนที่ทำให้เด็กๆ ทราบประวัติความเป็นมาของหอพักแล้วนั้น กิจกรรมที่ทำควบคู่กันไปคือ อาจารย์ที่เป็นทีมวิจัยได้ให้การบ้านแก่นักศึกษาที่เป็นทีมวิจัยอาสาสมัครไประดมความเห็นจากเพื่อนๆ จากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มเสนอโครงการว่าจะพัฒนาหอพักของตนเองอย่างไร


 


"ตรงนี้จะเป็นโครงการย่อยๆ เด็กๆ ก็เสนอโครงการที่เป็นปัญหาของตนเอง เช่น เรื่องน้ำดื่มไม่เพียงพอ ก็ไปดูว่าทำไมมันไม่พอ ก็ค้นไป ค้นมาก็รู้ปัญหา เพราะรถน้ำไม่มาส่ง ที่เขาไม่ส่งเพราะเด็กบางห้องเอาถังน้ำส่วนรวมไปไว้ในห้องของตัวเองโดยไม่คิดถึงเพื่อน ที่นี่พอรถน้ำมาส่งก็ไม่มีถังเปลี่ยนก็ไม่เอาถังใหม่มาให้จนกว่าจะได้ถังเก่ากลับไปด้วย...สุดท้ายก็ได้ถังน้ำกลับออกมาเหมือนเดิม เด็กๆ ก็มีน้ำกินอย่างเพียงพอ" อาจารย์กันยารัตน์ ชิราวุฒิ ยกตัวอย่างโครงการที่เด็กๆ คิดร่วมกัน


 


นอกจากโครงการน้ำดื่มซึ่งทำแล้วได้ผล ยังมีโครงย่อยอีกหลายโครงการ ทั้งเรื่องการจัดระเบียบการจอดรถ...เอาสีมาทาทำเป็นช่องสำหรับจอดรถ.. ออกกฎห้ามสตาร์ทรถบริเวณหอพัก และในเรื่องของความสะอาดก็มีโครงการหอพักสวยด้วยมือเรา ซึ่งเด็กๆ จะจัดเวรกันทำความสะอาดทุกวัน


 


"มัส" หรือ สมรรถ เพ่งพิศ นักศึกษาหลักสูตรสาธาณสุขชุมชน ซึ่งเป็นประธานหอหญิงเล่าว่ากิจกรรมแบบนี้ทำให้หอพักสะอาด น่าอยู่ และเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ตำแหน่งประธานหอคือรับแต่เรื่องร้องเรียน หรือไม่บางครั้งก็ไปคอยจดชื่อคนทำผิด แต่ปัจจุบันเรื่องนี้ลดลงไปมาก


"พวกเราแบ่งเวรกันทำความสะอาด โดยเฉพาะห้องน้ำต้องทำทุกวัน บางปัญหาที่เราแก้ไขเองไม่ได้อย่างเช่นห้องน้ำอุดตันเพราะเศษผม ก็ทำเรื่องเสนออาจารย์ ตรงไหนเสียก็จะทำเรื่องส่งใบแจ้งซ่อม...นอกจากนั้นเรายังมีกิจกรรม Big Cleaning Day ซึ่งเป็นการรวมตัวกันทำความสะอาด รอบๆ หอพักทุกๆ เดือนเพื่อให้ดูเรียบร้อยและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น" ประธานหอพักอย่างกล่าวอย่างภาคภูมิใจ


 


ผลทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะงานวิจัยได้เปิดโอกาสให้นักศึกษา และ ครูอาจารย์มานั่งคุยกัน รับรู้ปัญหาของทั้งสองฝ่าย และเป็น "ปัญหาร่วม" นักศึกษาเองก็มีความตระหนักต่อปัญหา เพียงแต่ขาดโอกาสในการคิด และทำ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่ออาจารย์เปิดโอกาสให้คิดกิจกรรมพัฒนาหอพักตนเอง กิจกรรมต่างๆ พรั่งพรูออกมาจากความคิดของน้องๆ มากมายหลายโครงการ


 


งานนี้นอกจากจะได้ทั้งความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยกลับมาแล้ว ยังทำให้ ความสัมพันธ์ ระหว่างครูกับลูกศิษย์ เพื่อนกับเพื่อน รุ่นพี่กับรุ่นน้องดีขึ้น ที่สำคัญ คือ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานอย่างมีส่วนร่วมที่ต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งเมื่อจะทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นเรื่องของส่วนรวม อาจารย์จะเห็นเด็กๆ มาล้อมวงคุยกันและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันโดยมีกลุ่มอาจารย์เป็นกำลังหนุนอยู่เบื้องหลัง


 

ถึงวันนี้...ความสกปรกรกรุงรังได้กลายเป็นอดีตไปแล้วสำหรับหอพักที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร…ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งอาจารย์ พร้อมทั้งน้องๆ นักศึกษาภาคภูมิใจ และยอมให้เปิดเผยเรื่องราวที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอายต่อสาธารณชน --- และนี่อาจเป็นโครงการตัวอย่างให้แก่หอพักของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่กำลังตกอยู่ในสภาพ "ไร้ระเบียบ" ได้นำเอากระบวนการไปปรับใช้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net