Skip to main content
sharethis

ประชาไท 5 พ.ค. 50 - วานนี้ (4 พ.ค. 50) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส), ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์, ผศ.สมชาย รัตนซื่อสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร ได้เข้าพบนายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ชะลอการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในระดับไร่นาจนกว่าจะมีมาตรการและกฎหมายที่เข้มงวดรัดกุมในการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ป้องกันผลกระทบจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีต่อเกษตรกร ผู้บริโภค รวมทั้งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ปลูกพืชทั่วไปและทำเกษตรกรรมอินทรีย์


 


ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ สูตะบุตร ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ว่า จะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาโดยเร็ว โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรทำการศึกษาความพร้อมในเรื่องดังกล่าวอยู่


 


ก่อนหน้านี้ในวันที่ 18 มกราคม 2550 นายธีระ สูตะบุตรและนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้ให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวแล้วครั้งหนึ่ง โดยรมต.ว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อ้างว่าไทยมีศักยภาพที่จะควบคุมพืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ให้หลุดออกไปสู่ธรรมชาติได้อย่างแน่นอน อีกทั้งขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจัดทำร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อควบคุมเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวแล้ว


 


โดยของแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีข้อเสนอแนะต่อ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีการอนุญาตให้มีการทดลองพืชแปลงพันธุกรรมในระดับไร่นาดังนี้


 


1.แผนงานฐานทรัพยากรอาหารเห็นว่ายุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศควรยืนอยู่บนรากฐานของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้เป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการให้ความสำคัญเป็นด้านหลักกับการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรกรรมอินทรีย์ หรือการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ(ที่ไม่ใช่พันธุวิศวกรรม)มาใช้สำหรับการลดการใช้สารเคมี เป็นต้น มากกว่าการส่งเสริมการทดลองและปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม


 


รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราวและมีระยะเวลาการบริหารประเทศเพียงระยะสั้น จึงไม่ควรตัดสินใจเรื่องทางนโยบายที่เสี่ยงจะเกิดผลกระทบในหลายด้าน และมีความเห็นขัดแย้งในสังคมมากอย่างเช่น ประเด็นเรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมเพิ่มมากขึ้นไปอีก


 


2. รัฐบาลควรคงนโยบายห้ามมิให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในระดับไร่นาเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเตรียมความพร้อมใน 2 ประเด็นสำคัญ ให้ได้เสียก่อน ดังนี้


 


2.1 ต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการกับปัญหาการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอซึ่งหลุดจากสถานีทดลองออกไปในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ให้ได้เสียก่อน เปิดเผยผลการสอบสวนการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างโปร่งใส รวมทั้งมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการหลุดลอดของพืชดัดแปลงพันธุกรรมออกไปนอกพื้นที่ทดลอง เหมือนดังกรณีที่เกิดขึ้นกับการทดลองเรื่องฝ้ายบีที และมะละกอต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวน


 


2.2 ดำเนินการให้มีกระบวนการร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้บริโภค และองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามนโยบายในเรื่องนี้ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างกฎหมายไม่น้อยกว่ากระบวนการยกร่างกฎหมายเดียวกันนี้ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้โดยเนื้อหาในกฎหมายต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองสิทธิของเกษตรกร/ผู้บริโภค การชดเชยและเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งบทลงโทษที่เหมาะสม เป็นต้น ทั้งนี้โดยต้องผลักดันให้กฎหมายที่มีเนื้อหาดังกล่าวบังคับใช้ก่อนถึงจะอนุญาตให้มีการทดลองในระดับไร่นาได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่ามาตรการและกลไกต่างๆในการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจะได้รับการนำไปใช้อย่างจริงจัง


 


และ 3. การตัดสินใจทางนโยบายที่ผิดพลาดในกรณีพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ การผูกขาดพันธุ์พืช การสูญเสียตลาด และความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค จึงควรดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net