Miss Potter ร่างทรงของ "บริดเจ็ท โจนส์" ในยุคกระโปรงสุ่ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ซาเสียวเอี้ย

นักอ่านวรรณกรรมเยาวชนตัวยงคงเคยผ่านหูผ่านตากับเรื่องราวของกระต่ายน้อย "ปีเตอร์ แรบบิท" และหมู่สัตว์ที่เป็นเพื่อนพ้องร่วมสายน้ำหมึกจากปลายปากกา (และปลายพู่กัน) ของเบียทริกซ์ พอตเตอร์ มาก่อน แต่เด็กรุ่นใหม่ที่โตมาพร้อมกับ "แฮรี่ พอตเตอร์" อาจงุนงงสงสัยว่ามิสพอตเตอร์มีความเกี่ยวโยงอันใดกับพ่อมดน้อยในยุคนี้

ความยิ่งใหญ่และความเป็นที่รักของเบียทริกซ์ พอตเตอร์ ไม่ได้อยู่ที่การเป็นนักเขียน-นักวาดภาพประกอบวรรณกรรมเยาวชนเท่านั้น แต่รวมถึงการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นนักต่อต้านนายหน้าที่กว้านซื้อที่ดินเก็งกำไรในอังกฤษยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม

การเป็นนักเขียนหญิงในเมืองผู้ดียุคที่ผู้หญิงไม่สามารถไปไหนมาไหนได้โดยปราศจาก "แชปเปอโรน" คงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่เกิดในตระกูลอันมีฐานะ ย่อมไม่ได้รับอนุญาตให้มีอิสระเสรีในเรื่องต่างๆ อย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ หรือแม้กระทั่งการถูกคาดหวังว่าจะหา "สามี" ที่เหมาะสมเชิดหน้าชูตาเพื่อทำหน้าที่แม่และเมียต่อไป

ประเด็นหลักๆ ที่ผู้กำกับ "คริส นูแนน" และคนเขียนบทฉายภาพให้เบียทริกซ์เป็นในหนังเรื่อง Miss Potter จึงได้แก่การเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้หญิงยุคเก่าที่อยากออกนอกกรอบแนวคิดวิคตอเรียนที่รัดรึงและจำกัดสิทธิเสรีภาพมากมาย เพียงเพราะเธอเหล่านั้นเกิดมาเป็นหญิงแทนที่จะเป็นชาย

ในเรื่องยังมีการพูดถึง "เศรษฐีใหม่" ที่สร้างฐานะขึ้นมาจากการค้าขาย (หรือจะด้วยวิธีใดก็ตาม) ซึ่งล้วนแต่ต้องการถีบตัวให้มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าเดิม หน้าที่ของลูกสาวเศรษฐีใหม่จึงได้แก่การหาสามีที่มีสกุลรุนชาติมาเป็นคู่ครอง ถ้าเป็นได้ก็ควรหาใครที่มียศถาบรรดาศักดิ์และเกี่ยวพันกับเชื้อพระวงศ์ได้ก็จะดี

ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้กำกับนูแนนพยายามถ่ายทอด เพื่อที่จะนำไปสู่บทสรุปในตอนท้ายว่าหัวใจที่มีอิสระ ยิ่งใหญ่และมีค่ามากกว่าวัตถุหรือฐานะใดๆ...ซึ่งถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ความคิดแบบนี้จะดูดีกว่าถ้าเปิดโอกาสให้คนดูคิดต่อเอาเอง แทนที่จะจบแบบ "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..."

และแม้ว่าตามประวัติแล้ว เบียทริกซ์ พอตเตอร์ ถือเป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่กล้าแหกคอกจารีตประเพณีที่ไม่ค่อยเหลือพื้นที่ให้จิตวิญญาณอิสระได้หายใจ และยังเป็นนักเขียนหญิงคนแรกๆ ที่มีรายได้มากมายเป็นกอบเป็นกำจากการเขียนหนังสือ...แต่น่าเสียดายที่หนังชีวประวัติของเบียทริกซ์ พอตเตอร์ ที่กำกับโดย "คริส นูแนน" ไม่สามารถทำให้คนดูเห็นถึงความน่าสนใจในตัวเบียทริกซ์ได้มากไปกว่าการเป็น "ร่างทรง" ของ "บริดเจ็ท โจนส์" ในยุคกระโปรงสุ่ม...

การเขียนหนังสือและวาดภาพประกอบซึ่ง (น่าจะ) เป็นงานที่รักของเบียทริกซ์ ถูกพูดถึงผ่านฉากไม่กี่ฉาก แม้ว่าจะน่าประทับใจในการใช้สีสันสื่อถึงความสดใสในโลกจินตนาการ แต่ก็ไม่อาจกลบเกลื่อนความเบาหวิวในฉากอื่นๆ ได้มากนัก เพราะความพยายามสร้างสรรค์และความเชื่อมั่นในผลงานของเบียทริกซ์ ถูกถ่ายทอดและตีความผ่านสายตาผู้กำกับนูแนนโดยปราศจากความน่าเชื่อถือเท่าที่ควร

การที่เบียทริกซ์ผู้มีจินตนาการมากมาย มองเห็นภาพวาดสรรพสัตว์ของตัวเองมีชีวิตโลดแล่นไปตามทางของมันนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การตีความว่าเบียทริกซ์จะต้องนั่งคุยกับภาพวาดของตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ ออกจะเป็นเรื่องน่าขันและไม่สามารถทำให้คนดูคล้อยตามได้เลยว่าผลงานที่เบียทริกซ์สร้างขึ้นมามีความพิเศษตรงที่เธอใช้ "หัวใจ" ในการเข้าถึง...

เพราะการมีจินตนาการไม่ได้หมายถึงเรื่องดาดๆ ที่จำกัดแค่ตาเห็น หูฟัง หรือมือสัมผัส แต่น่าจะหมายถึงการรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสภายนอกด้วยการสังเกต เรียนรู้ และทำความเข้าใจ…เหมือนอย่างที่เบียทริกซ์ในโลกแห่งความจริงเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็น "บ้าน" ของเหล่าสรรพสัตว์ที่เป็นเพื่อนแท้ของเธอ รวมถึงการต่อสู้ให้ชาวบ้านที่ยากจนได้มีที่ทำกินสืบไป

วิธีคิดของเบียทริกซ์จึงไม่ได้ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่อง แต่เป็นการใช้ชิวิตอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

การเพิ่มฉากเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเบียทริกซ์ของผู้กำกับนูแนนเป็นคนไม่ถือตัวและปฏิบัติต่อสาวใช้ (ซึ่งมีฐานะทางสังคมต่ำกว่า) อย่างคนที่เท่าเทียมกัน แต่กับสาวแก่ที่เป็น "ต้นห้อง" หรือ แชปเปอโรน ของเธอเอง เบียทริกซ์กลับไม่ค่อยจะให้เกียรติหรือสนใจมากนัก

ยิ่งไปกว่านั้น การแสดงของ เอมิลี่ วัตสัน ในฐานะเพื่อนสนิทและน้องสาวของคนรักของเบียทริกซ์ ได้เข่นฆ่าเรเน่ให้ตายด้วยบทบาทอันเหนือชั้นกว่า ที่ถึงแม้จะดูแปลกแยก หัวยุ่ง และไม่สวยงาม เอมิลี่ วัตสัน ก็ยังแสดงความเฉลียวฉลาดและอารมณ์ขันร้ายๆ ภายใต้ท่าทางขวางโลกได้อย่างน่าประทับใจ ในขณะที่เบียทริกซ์ในร่างของเรเน่ดูสับสนและไม่มั่นใจในตัวเองเอาเสียเลย

จะว่าเบียทริกซ์ได้รับการอบรมเรื่องมารยาทเป็นอย่างดีตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นเลยกลายเป็นสาวใหญ่ที่ยิ้มได้กับทุกเรื่อง เธอก็ดูไม่น่าเชื่อถือขนาดนั้น เพราะในเวลาเดียวกันกับที่ยิ้ม แววตาของนักเขียนซึ่ง (น่าจะ) เป็นคนช่างคิด กลับดูว่างเปล่าและไร้อารมณ์

แม้กระทั่งเวลาที่เธอจำเป็นต้องรับมือกับเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ปรามาสคาดหน้าว่าผลงานของเธอไม่ต่างอะไรจาก "นิทานกระต่าย" พร้อมภาพประกอบสี่สี เบียทริกซ์ในร่างของเรเน่กลับไม่มีท่าทีรู้สึกรู้สมว่าเธอกำลังโดนดูถูกซึ่งๆ หน้า แต่กลับยิ้มรับอย่างหน้าชื่นตาบานจนเกินเหตุ

แต่บทที่เธอจะเฮี้ยวขึ้นมาเพราะไม่ได้อย่างใจ ม่านบังตาที่เต็มไปด้วยถ้อยคำและมารยาทมากมายก็หลุดออกมาให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเบียทริกซ์ไม่เคยพอใจกับความเป็นอยู่ที่แสนจะอึดอัดของตัวเอง ซึ่งต้องรอให้ใครบางคนมาเป็นตัวกระตุ้นเสียก่อน เธอจึงค่อยมองเห็นว่าตัวเองต้องการ "ประกาศอิสรภาพ" อย่างไร...

สิ่งที่ผู้กำกับนูแนนพยายามบอกว่านักเขียนหญิงผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ต้องการคือการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีสามีหรือคนรัก หรือ "เพศชาย" มาคอยโอบอุ้มเหมือนอย่างที่สาวๆ ในยุคเดียวกับเธอถูกกรอกหูให้เชื่ออย่างนั้น (และบางคนก็เต็มใจที่จะทำโดยไม่ต้องมีใครสั่ง)

แต่หลายต่อหลายครั้ง เบียทริกซ์ใน Miss Potter เลือกทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับปากว่าทุกประการ…

การแสดงของเรเน่ เซลวีเกอร์ ที่น่าประทับใจจาก Chicago หรือ Cold Mountain จึงถูกภาพของ Bridget Jone กลบทับเสียจนแยกไม่ออก

ภาพของเบียทริกซ์ พอตเตอร์ ในฐานะนักเขียนผู้เปี่ยมด้วยจินตนาการไม่ต่างอะไรจาก "สาวใหญ่สติเฟื่อง" ที่แสนจะขี้หงุดหงิดเพราะไม่อาจคัดง้างกับครอบครัวอันเข้มงวดได้อย่างใจคิด และหนังก็ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เบียทริกซ์คิด เชื่อ และกระทำ ล้วนถูกต้องอยู่ฝ่ายเดียว ในขณะที่ครอบครัวซึ่งเป็นเสมือนโซ่ตรวนพันธนาการจิตวิญญาณอิสระของเธอล้วนเป็นคนที่ "ไม่เข้าใจ" และ "คิดผิด" อยู่เสมอ

(ซึ่งชีวิตจริงคงไม่มีใครที่โชคดีขนาดนั้นหรอกกระมัง)

ความซับซ้อนของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ ในฐานะ "มนุษย์" คนหนึ่งที่ทำอะไรต่อมิอะไรมากมายเพื่อผู้อื่น จึงถูกลดทอนเหลือเพียงแง่มุมที่เป็น (หรือถูกทำให้เป็น) "ผู้หญิง" คนหนึ่ง

ที่ร้ายกว่านั้นคือผู้หญิงคนนี้พยายามหลือเกินที่จะทำให้คนอื่นเชื่อว่าเธอสามารถเติมชีวิตของตัวเองให้เต็มได้โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากใคร...

แต่ถึงที่สุดแล้ว เบียทริกซ์ พอตเตอร์ ที่เข้มแข็ง ก็กลายเป็นเพียง "นางสาวพอตเตอร์" ที่ปฏิเสธในสิ่งที่ตัวเองต่อต้านไม่ได้ด้วยซ้ำไป...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท