"จอน" เผยเอ็นจีโอ-ปัญญาชน-ส.ส.สหรัฐ หนุนไทยใช้ซีแอลให้คนจนเข้าถึงยา

นพ.มงคล แถลงก่อนบินไปสหรัฐ ชี้สหรัฐอเมริกาทำเหมือนไทยเป็นผู้ร้าย

วานนี้ (4 พ.ค. 50) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) - นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ถึงการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) หรือซีแอล กับ ยา "เอฟฟาไวเรนซ์ ยาคาเลตรา" ยาต้านไวรัสเอชไอวี และยา "พลาวิกส์" รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ว่า

 

หลังจากประกาศทำซีแอลไทยถูกกดดันหนักมาก แต่การทำซีแอลทำให้ไทยสามารถนำเข้ายาชื่อสามัญหรือผลิตยาจำเป็นที่ยังติดสิทธิบัตรได้ เชื่อว่าการประกาศทำซีแอลทำให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากที่เคยอยู่ในการจับตามองระดับธรรมดา (WL) ทำให้เหมือนกับว่า เราเป็นผู้ร้าย

 

"ประเทศไทยจะทำซีแอลตามความจำเป็นจริงๆ ไม่เกิน 5 ตัวจะทำยาที่ช่วยชีวิต เราไม่ทำซีแอลยาปลูกผมหรือยานกเขาไม่ขัน มันไม่เกี่ยว เราไม่ทำแน่ เราทำเฉพาะยาที่เกี่ยวกับการรักษาชีวิต ตามสาเหตุการตาย 5 อันแรกของประเทศไทยซึ่ง โรคเอดส์มาอันดับ 1 ตามด้วยหัวใจ มะเร็งและอื่นๆ ไม่ใช่ทำพร่ำเพรื่อ 20-30 ตัวที่มีข่าวในสหรัฐ เป็นการสร้างข่าวให้เราเสียหายมากกว่า ผมไม่ทราบว่าข้อมูลบิดเบือนได้อย่างไร ทำให้เราเป็นผู้ร้ายได้น่าเกลียดน่ากลัวยิ่งขึ้น" นพ.มงคล กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความกดดันจากต่างประเทศจะทำให้ไทยต้องถอนการประกาศทำซีแอลหรือไม่ นพ.มงคลกล่าวว่า เราคงไม่แลกกับชีวิตประชาชน ซึ่งตนได้เรียนนายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นตรงกัน ทางเราจะหาทางออกที่นุ่มนวลให้มีความเข้าใจกันให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามการเดินทางไปสหรัฐในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ตนจะพยายามชี้แจงกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างดีที่สุดหาทางออกด้วยความนุ่มนวล ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข ทำเรื่องนี้ร่วมกัน

 

นพ.มงคล กล่าวด้วยว่า การไปสหรัฐอเมริกาในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ เพื่อลงนามกับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในนามมูลนิธิบิล คลินตัน พร้อมด้วยประเทศกำลังพัฒนาอีก 16 ประเทศ ในวันที่ 8 พฤษภาคมเพื่อดำเนินการจัดซื้อยาร่วมกัน ซึ่งเดิมนั้นได้มอบหมายให้ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ เป็นผู้แทน แต่เนื่องจากผลการตรวจสมรรถภาพร่างกายหลังตนผ่าตัดทำบัลลูนหลอดเลือดหัวใจ พบว่า แข็งแรงดี จึงเดินทางไปด้วยตนเอง ซึ่งไทยจะเป็นตัวแทนประเทศกำลังพัฒนาที่รายได้ปานกลางและเคนยา เป็นตัวแทนประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย ผลจากการลงนามจัดซื้อยาร่วมกันครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนามีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อยาทุกประเภททั้งยาต้นแบบ ยาที่ทำซีแอลแล้วในราคาที่ถูกมากขึ้นเนื่องจากจัดซื้อในปริมาณมากโดยดำเนินการผ่านมูลนิธิบิล คลินตัน

 

 

อ.เภสัช จุฬาฯ ชี้ "ซีแอล" เป็นทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงยา

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กฎหมายสิทธิบัตรยาคุ้มครองบริษัทยาผูกขาดจำหน่ายยาต้นแบบ เป็นเวลา 20 ปี ทำให้ราคายาสูง ซึ่งการใช้มาตรการซีแอลเป็นทางเลือกหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยา ไม่เชื่อว่าสิ่งทำเราทำถูกต้องตามกฎหมายจะถูกข่มขู่ ไม่ว่าไทยหรือสังคมโลก หากไม่เคารพกฎหมายอะไรจะเกิดขึ้น ความรุนแรงสงครามย่อมเกิดขึ้น

 

รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างของการยอมแพ้หรือยอมตามแรงข่มขู่กดดันของสหรัฐเพื่อแลกผลประโยชน์ทางการค้า เพราะชีวิตคนนับเป็นตัวเงินไม่ได้ ผลประโยชน์ทางการค้าที่เขาจะกระทำกับไทย ถ้าไม่ถูกต้องสังคมโลกต้องประณาม ซึ่งยาที่ได้จากมาตรการบังคับใช้สิทธิมีคุณภาพเชื่อถือได้ เพราะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จึงจะนำเข้าหรือจำหน่ายได้

 

 

"จอน อึ๊งภากรณ์" และ "นิมิตร์ เทียนอุดม" ให้ข้อมูลพบ "สภาคองเกรส-แอ๊บบอต" กับหมอมงคล

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าวันเดียวกัน นายจอน อึ้งภากรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นายนิมิตร์ เทียนอุดม อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เข้าพบ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ข้อมูลสถานการณ์ในประเทศสหรัฐหลังจากที่ได้เดินทางไปพบกับองค์กรเอกชนที่เป็นพันธมิตร สมาชิกสภาคองเกรส และร่วมการประชุมสามัญของบริษัทแอ๊บบอต ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

นายจอน กล่าวว่า ได้รายงานให้ นพ.มงคล ทราบเกี่ยวกับการเดินทางไปประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการเข้าพบเจ้าหน้าที่สภาคองเกรส และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน เกี่ยวกับประเด็นที่ไทยจะต้องให้ความกระจ่างกับรัฐบาลสหรัฐฯ และคนอเมริกัน 3 ประเด็น ซึ่งเป็นคำถามที่ถามถึงบ่อยมาก คือ 1.การที่ไทยมีการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในยุคของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร 2. การที่ไทยไม่มีการเจรจากับบริษัทยาก่อนที่จะมีการบังคับใช้สิทธิ และ 3.ข่าวที่ไทยเตรียมจะมีการบังคับใช้สิทธิเพิ่มในยาอีก 20-30 ชนิด ซึ่งคำถามเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจ ไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการเตรียมความพร้อม รวมทั้งกรณีที่บริษัทยาได้จ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์โฆษณาชวนเชื่อข้อมูลเกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิของประเทศ ไทยที่มีข้อมูลไม่เป็นความจริง

 

จึงได้เรียนให้ทราบและเตรียมการไว้ในการตอบคำถาม ทั้งนี้ที่ผ่านมามีความพยายามบิดเบือนโดยผูกเรื่องการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยากับรัฐบาลรัฐประหาร และชี้ว่ารัฐมนตรีที่ทำในเรื่องนี้แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร พยายามเปรียบไทยกับพม่า ถือเป็นการใส่ร้าย

 

"บริษัทพวกนี้ฉลาด นอกจากจะเป็นบริษัทพีอาร์แล้วยังเป็นเอ็นจีโอด้วย โดยเอ็นจีโอกลุ่มนี้ถือเป็นเอ็นจีโอปลอม ได้รับเงินจากบริษัทยา ทำข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับไทยผิดเพี้ยน ดูมีเหตุมีผล พยายามผูกเรื่องการบังคับใช้สิทธิกับรัฐบาลรัฐประหาร เปรียบเทียบกับประเทศพม่า ซึ่งไม่ใช่ถือเป็นการใส่ร้ายป้ายสี แม้แต่คนที่เราตั้งขึ้นมาเจรจาการบังคับใช้สิทธิถูกหาว่าตั้งจากรัฐบาลรัฐประหาร คิดว่าเพิ่งทำในยุคนี้ ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการดำเนินการเพื่อให้เกิดการบังคับสิทธิ (ซีแอล) ไทยได้ทำมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2542 แล้ว" นายจอน กล่าว

 

 

ชี้บริษัทยาฝรั่งมีอิทธิพลมักบริจาคเงินให้นักการเมืองสหรัฐ

นายจอน กล่าวด้วยว่า กระแสของการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทยาค่อนข้างแรง และมีอิทธิพลกับรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทยาจะมอบเงินบริจาคในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงการเลือกตั้ง ซึ่งเราพบว่าสมาชิกวุฒิสภาที่เขียนหนังสือคัดค้านการทำซีแอลของไทย ก็มีรายชื่อรับเงินบริจาคจากบริษัทยาเช่นกัน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ประชาชนอเมริกันชินและรู้อยู่แล้ว รวมถึงการที่บริษัทยามีการล็อบบี้ด้วย หากไทยอธิบายข้อเท็จจริงก็จะแก้ไขความเข้าใจผิดทั้งหมด ยิ่งทำเพื่อช่วยชีวิตคนยิ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญ ขณะนี้สหรัฐฯ มีการบังคับใช้สิทธิเป็นประจำ เนื่องจากบริษัท แอ็บบอตฯ ได้ประโยชน์จากการทำซีแอลร่วมกัน ด้านเทคโนโลยีการขยายหลอดเลือด อิตาลีก็ทำ แต่ไทยกลับทำไม่ได้ ซึ่งหากทางสหรัฐฯ เองเห็นว่า ไทยทำซีแอลเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าโลก คงจะมีการฟ้ององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ไปแล้วแต่นี่ก็ไม่ได้ทำอะไร

 

นายจอนกล่าวว่า ตนยังได้เล่าให้ นพ. มงคลทราบถึงการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทลอบบี้ยิสต์ ที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง แต่ถึงแม้จะมีการโฆษณาชวนเชื่อก็มีหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรกับการดำเนินการของประเทศไทย และไม่ต้องการให้ไทยถอยในการดำเนินการในเรื่องนี้ เช่น องค์กรหมอไร้พรมแดน เครือข่ายนักศึกษาในสหรัฐ องค์กรเอกชนออกแฟม (OXFAM) มิฉะนั้นจะทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่กล้าใช้มาตรการเดียวกันนี้ ขณะเดียวกันสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้ลงนามเห็นด้วยกับการกระทำของไทย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ประเทศไทยควรจะทำอย่างไรต่อไปในเรื่องซีแอล นายจอนกล่าวว่า มาตรการที่ดีที่สุด คือควรนิ่งไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมาตรการที่สหรัฐใช้ เพราะตนไม่เชื่อว่าสหรัฐจะใช้มาตรการตัดสิทธิจีเอสพี อีกทั้งหากไทยละเมิดข้อตกลงขององค์การการค้าโลกสหรัฐคงฟ้องร้องไปแล้ว ดังนั้นประเทศไทยควรอยู่นิ่งและแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตนดีใจที่นายกแสดงจุดยืนว่าไทยทำถูกต้องแล้ว ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนาอาทิ อินเดีย บราซิล อาร์เจนติน่า ต่างก็สนับสนุนสิ่งที่ไทยทำ เห็นได้ชัดว่าเรามีพันธมิตรเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศไม่จำเป็นต้องไปกลัวสหรัฐ

 

 

ยันเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีล็อบบี้ยิสต์ ขอให้หมอมงคลไปอธิบายรัฐบาลสหรัฐให้เข้าใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ไทยต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์เพื่อชี้แจงเรื่องนี้ นายจอนกล่าวว่า ส่วนตัวตนเห็นว่าไม่จำเป็น แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะตัดสินใจ แต่กรณีที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าวิธีการที่ดีที่สุด คือการที่ให้ นพ.มงคล ไปอธิบายและชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้กับทางสหรัฐเข้าใจ ยืนยันว่าเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งประชาชนอเมริกันต่างรับทราบการกระทำของล็อบบี้ยิสต์กันดี ดังนั้นเราเพียงแต่อธิบายข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ในสหรัฐฯเองก็มีการบังคับใช้ซีแอลเป็นประจำ และแอบบอตเองก็ได้รับประโยชน์เมื่อผู้ป่วยเข้าถึงยาขยายหลอดเลือดได้ ดังนั้นทำไมสหรัฐฯจึงทำได้ อิตาลีทำได้ แต่ทำไมไทยจึงทำไม่ได้ แล้วทำไมผิด

 

"ผมเชื่อว่าหลังจากที่รัฐมนตรีได้ไปอธิบายเรื่องนี้ด้วยตนเองจะสร้างความเข้าใจให้กับคนสหรัฐ ผมเชื่อว่าในสหรัฐที่คนที่เข้าใจ เห็นใจไทยมีอีกมาก แต่หลายส่วนยังต้องการข้อมูลว่าการที่ไทยทำซีแอลนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ และการทำซีแอลเป็นเพราะทหารไทยต้องการลงโทษสหรัฐหรือไม่ บทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะมีประโยชน์มาก เพราะเป็นการชี้แจงในนามรัฐบาลไทย ซึ่งมีน้ำหนักสูงกว่าภาคเอกชน หรือเอ็นจีโอ" นายจอนกล่าว

 

นายจอน กล่าวว่า จากที่ตนเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทแอบบอตในสหรัฐฯ ได้ซักถามเกี่ยวกับนโยบายในกรณีที่ไทยประกาศบังคับใช้ซีแอล ซึ่งได้รับคำตอบที่เป็นข้อมูลเท็จว่า แม้ว่าทางบริษัทจะเจราจาและลดราคายาให้เท่าไหร่ ประเทศไทยก็ไม่ซื้อยาจากแอบบอตอยู่ดี และยืนยันจะใช้ซีแอล โดยตอนนั้นตนไม่รู้ข้อมูล จึงไม่สามารถชี้แจงข้อมูลกลับไปได้

 

 

ข้อมูลบางส่วนจาก : เว็บไซต์ผู้จัดการ และคมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท