Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ  - ในวาระที่จะมีการจัดการประชุมประจำปีของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี ที่กรุงเกียวโต กรีนพีซเรียกร้องเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมาให้เอดีบีวางนโยบายทางการเงินและแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติพลังงานในเอเชีย โดยพิจารณาถึงพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพด้านพลังงานเป็นพื้นฐาน  กรีนพีซเสนอว่า หลังจากที่มีการลงนามในพิธีสารเกียวโตซึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกผ่านมาสิบปี ถึงเวลาแล้วที่เราควรต้องมีความคืบหน้าที่เด็ดขาดขั้นต่อไปในการปกป้องภูมิอากาศของโลก ซึ่งควรจัดขึ้นที่กรุงเกียวโตนี้  รายงานชิ้นสำคัญฉบับล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก หรือ IPCC คาดการณ์ว่าหากโลกเราไม่ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลง จะเกิดผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงนี้  เอดีบีตระหนักดีถึงหายนภัยของภาวะโลกร้อนและยอมรับว่าสาเหตุใหญ่ของภาวะโลกร้อนเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล  อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนในภาคพลังงานของเอดีบีจำนวนมหาศาลยังคงใช้ไปกับพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วทั้งเอเชีย


 


แผนการปฏิวัติพลังงานทั่วโลกที่กรีนพีซจัดทำขึ้นแสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจพร้อมกับทำตามข้อเรียกร้องของบรรดานักวิทยาศาสตร์ในการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2050  ส่วนแผนการปฏิวัติพลังงานระดับภูมิภาคสำหรับประเทศจีน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก แสดงให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและประสิทธิภาพด้านพลังงานสามารถสอดรับกับความ ต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเอเชีย และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากหายนภัยทางภูมิอากาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามชีวิตผู้คนนับพันล้านคนในทวีปที่มีประชากรมากที่สุดในโลก กรีนพีซชี้ให้เห็นว่า ต้องใช้เงินทุนประมาณ 300 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกทั้งหมดให้ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งเงินลงทุนจำนวนนี้เท่ากับปริมาณเงินช่วยเหลือที่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลได้รับเมื่อเร็วๆ นี้  สำหรับในภูมิภาคเอเชีย การปฏิวัติพลังงานจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวน 60 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี


 


เงินลงทุนส่วนใหญ่ของเอดีบีมาจากประเทศอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมในยุโรป  "ประเทศเหล่านี้เป็นตัวการก่อให้เกิดวิกฤตโลกร้อนขึ้น ดังนั้นพวกเขาควรจะรับผิดชอบด้านการลงทุนในการปฏิวัติพลังงานที่ยั่งยืนอย่างที่พวกเราต้องการ" แดเนียล มิตเลอร์ ที่ปรึกษาด้านการเมือง กรีนพีซสากลกล่าว


 


"ในช่วงท้ายของการประชุม เราหวังว่าจะเห็นเอดีบีให้สัญญาว่าจะถอนการช่วยเหลือสนับสนุนทุกประเภทในเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเริ่มต้นที่ถ่านหินเป็นอันดับแรก  และเอดีบีจะต้องเพิ่มเงินช่วยเหลือรายปีจำนวนหนึ่งพันล้านดอลล่าร์สหรัฐในด้านพลังงานสะอาด ตามที่เคยให้สัญญาไว้ โดยเงินช่วยเหลือจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นปีละ 10 เปอร์เซนต์ ทุกปี ตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า  ก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งคือ การสร้างพันธกิจพิเศษที่จะไม่ลงทุนในโครงการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้พันธกิจของการริเริ่มด้านพลังงานสะอาด" อาธีน่า บัลเลสเตรอส ผู้ประสานงานด้านภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย กรีนพีซสากลกล่าว


 


เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน และหลายประเทศในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกกำลังเผชิญกับภัยร้ายแรงอันเกิดจากภาวะโลกร้อน  รายงานของ IPCC ยังชี้ให้เห็นต่อไปว่าภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อประชากรโลกนับพันล้านคนที่ต้องประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำ ความอดอยาก โรคระบาด และอุทกภัยในช่วงปลายศตวรรษนี้ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำสายสำคัญของเอเชีย เช่น แม่น้ำโขง และจูเจียง (แม่น้ำไข่มุก) ในประเทศจีน


 


"เอดีบีควรให้เกียรติกับกรุงเกียวโตซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมประจำปีในครั้งนี้และเป็นจุดกำเนิดของพิธีสารเกียวโต ด้วยการยอมรับในการดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อร่วมต่อสู้กับภาวะโลกร้อน" บัลเลสเตรอส กล่าวทิ้งท้าย


 


นอกจากนี้ ล่าสุด เมื่อวานนี้ (4 พ.ค.) กรีนพีซเรียกร้องต่อบรรดาผู้นำของโลกเร่งให้คำตอบที่จริงจังด้านการเมืองตามรายงานล่าสุดจากการประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (IPCC) ผ่านในรายงาน "การหยุดยั้งภาวะโลกร้อน" ของกรีนพีซ ที่ชี้ให้เห็นว่ามหันตภัยด้านภูมิอากาศจะทำให้การลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต้องล่าช้าออกไป ขนาดของการดำเนินการในการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ใน 20-30 ปีข้างหน้าจะเป็นตัวกำหนดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงได้


 


"ชิ้นส่วนสุดท้ายที่จะเติมเต็มภาพต่อของทางเลือกในอนาคตเรากำลังชัดเจนขึ้นทุกขณะ" สเตฟานี ตันมอร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและภูมิอากาศ กรีนพีซสากลกล่าว "มันค่อนข้างชัดเจนว่าการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเป็นสิ่งจำเป็น ยิ่งยืดระยะเวลาล่าช้าออกไปเท่าไร อุณหภูมิผิวโลกก็ยิ่งสูงขึ้น และผลกระทบก็จะทวีความรุนแรงขึ้น การผัดวันประกันพรุ่งจะทำให้หายนะเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์นับพันล้านคนทั่วโลก"


 


"เราจำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิผิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายถึงว่าปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสูงสุดภายในปี 2015 และลดลงอย่างรวดเร็ว 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงกลางศตวรรษ ซึ่งต่ำกว่าปริมาณที่เกิดขึ้นในปี 1990 รายงานฉบับนี้ยังเตือนด้วยความกังวลว่า ตัวอย่างซึ่งประเมินระดับการลดการปล่อยแก๊สไว้ต่ำกว่าค่าประมาณการจำเป็นต้องรักษาปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้คงที่"


 


โดย รายงานฉบับนี้ได้เสนอทางเลือกส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งภาวะโลกร้อน ซึ่งรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในหลายรูปแบบ


 


การรักษาปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้คงที่เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มอุณหภูมิผิวโลกนั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าค่าใช้จ่ายของการไม่ลงมือทำอะไรเลยอย่างเห็นได้ชัด ตามที่รายงานระบุไว้ ระดับการปล่อยแก๊สที่คงที่ระหว่าง 450 ถึง 550 ส่วนต่อนาที จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 0.2 ถึงไม่เกินร้อยละ 3 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกในปี 2030 หรือน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ต่อปี ตัวเลขของค่าใช้จ่ายในธุรกิจปกติที่ไม่มีการกระทำไม่ได้แสดงไว้ แต่จากส่วนท้ายของรายงานของรัฐบาลในเครือจักรภพอังกฤษ เมื่อเดือนตุลาคม 2006 ตัวเลขนี้ควรจะ เป็นร้อยละ 5-10 ของGDP ทั่วโลก และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20


 


ค่าใช้จ่ายของมาตรการในการปกป้องสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้มีค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจปกติอยู่มาก รายงานแผนการปฏิวัติพลังงานทั่วโลกของกรีนพีซแสดงให้เห็นว่า เราสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก โดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพด้านพลังงาน ในขณะที่การเติบโตอย่างมั่นคงทางเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงดำเนินอยู่ต่อไป รายงานฉบับนี้อิงอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและพิสูจน์ได้ โดยไม่รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์และการใช้การดักจับและกักเก็บคาร์บอน


 


ในการประชุม G8+5 ของบรรดาประเทศผู้นำในเดือนมิถุนายน และการเจรจาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมนี้ ทั่วโลกต่างจับตามองและคาดหวังที่จะเห็นความก้าวหน้าของการเจรจาที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลก


 


การประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ที่ประเทศอินโดนีเซียในเดือนธันวาคมนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการกำหนดพิธีสารเกียวโตในช่วงต่อไป รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องรับรองว่าภายในปี 2009 จะต้องมีข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายอันใหม่


 


"รายงานฉบับนี้ได้ให้ทิศทางที่ชัดเจนต่อรัฐบาลทั่วโลกและสาธารณชนในการจะลงมือปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ปรากฏในรายงาน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงาน การอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรพลังงาน การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพด้านพลังงานเป็นสิ่งที่กรีนพีซได้รณรงค์มาโดยตลอด" ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net