Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 3 พ.ค.50  เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศ จัดเวทีสัมมนา  "กฎหมายข่มขืน : ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง" ห้อง น. 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


อัญชนา สุวรรณานนท์ มูลนิธิอัญจารี กล่าวว่า กฎหมายข่มขืนมีความคุ้มครองผู้ทำผิด ในขณะที่ผู้ที่ถูกข่มขื่นต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ อีกทั้งกฎหมายข่มขืนยังมีเงื่อนไขในกรณีที่สามีข่มขืนภรรยา สามีภรรยาสามารถยอมความกันได้และภรรยาสามารถยอมความได้ในทุกขั้นตอนโดยอาศัยมาตรา 281 ได้ทันที ซึ่งสามีที่เลว ควรได้รับการลงโทษด้วยกฎหมายเพราะความสุขในชีวิตคู่ควรเป็นการแสวงหาความสุขร่วมกัน


 


ณัฐวุฒิ บัวประทุม องค์กรพิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงในประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กว่า จุดยืนของเราคงไม่อนุญาตให้ผู้ชายคนใดก็แล้วแต่ที่จะมารุมโทรมแล้วอ้างว่าเด็กนั้นยินยอมแล้วทำให้ตัวเองไม่มีความผิด


 


มาตรา 277 วรรคท้ายเป็นสิ่งชั่วร้ายทางประวัติศาสตร์กฎหมายไทยซึ่งเข้าใจว่าเป็นกฎหมายที่เขียนกันมาตั้งแต่ 2400 กว่า ๆ คือการที่บอกว่าอนุญาตให้เด็กหญิงอายุ 13 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี และเด็กนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ทำการสมรสกันถือว่าคดีนั้นจบไม่ว่าจะอยู่ชั้นไหนในกระบวนการยุติธรมก็ตาม ในบางครั้งความยุติธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติหรือความเป็นจริง


 


ณัฐวุฒิเสนอว่า ขอให้เปลี่ยนไปใช้กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่มุ่งเน้นในการแก้ไขบำบัดพฤติกรรมแทน ซึ่งประเด็นที่เราต้องทำความเข้าใจคือ พื้นฐานความเป็นมนุษย์บนสังคมที่เปลี่ยนไป การประนีประนอมที่เคารพศักดิ์ศรีระหว่างกัน


 


ท้ายที่สุดแล้วกฎหมายนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านก็จะมีกระบวนการที่ต้องมาพูดคุยมาแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง


 


ส่วน ณัฐยา บุญภักดี กล่าวเสริมว่า วรรคสุดท้ายของมาตรา 277 ที่จะไปยื่นเรื่องต่อสนช. คือ เราไม่ควรแก้ปัญหาเด็กข่มขืนหรือเด็กมีเพศสัมพันธ์กันด้วยจับให้แต่งงานกัน


 


" การแต่งงานไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่การแต่งงานจะเป็นจุดเริ่มของอีกหลาย ๆ ปัญหาจากความไม่พร้อมในการมีครอบครัว"


 


รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเด็นของการต่อสู้เรื่องนี้มันมีหลักฐานในแง่ของตัวเลขงานวิจัย หญิงชายที่มีคู่แล้ว ผู้หญิงร้อยละ 30 ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกบังคับให้ร่วมเพศด้วยท่าพิสดารซึ่งฝ่ายหญิงไม่ยินยอมและนำข้อมูลส่วนนี้แนบไปกับการทำกฎหมายครอบครัว


 


กรณีของเด็ก ร้อยละ 7 ถูกล่วงละเมิดทางเพศซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมากและในเรื่องกฎหมาย เป็นกฎหมายที่มีข้อเท็จจริงในการดำเนินคดีที่ชี้ให้เห็นว่าผู้มีอำนาจใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเผื่อที่จะให้ตัวเองพ้นผิด ทำไมต้องให้อนาคตของเด็กมาขึ้นอยู่กับช่องโหว่ทางกฎหมายซึ่งทำให้เด็กถูกทำร้ายซ้ำซ้อน


จากผู้ที่ใช้เงินในการดำเนินคดีให้ตัวเองพ้นผิดและทำให้เงื่อนไขในการลงโทษลดลง ซึ่งกฎหมายอย่างนี้เป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ


 


กฤตยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะนี้กฎหมายวรรคสุดท้ายของมาตรา 277 ผ่านวาระที่ 2 ไปแล้ว แสดงว่ากรรมาธิการส่วนใหญ่ให้ผ่านแต่ยังมีกรรมมาธิการเสียงส่วนน้อยที่ยังสงวนความเห็นและต้องการให้ตัดวรรคสุดท้ายออก คือ ครูหยุ่ย วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์และอาจารย์จุรี ซึ่งทางที่แก้กฎหมายได้ในตอนนี้คือ ทั้ง 2 ท่านนี้ต้องอภิปรายในสภาให้เห็นภาพถึงความอันตรายของวรรคนี้ต่อสังคมไทยแล้วกลับเสียงให้เห็นด้วยว่าการสงวนคำแปรญัตตินี้เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยและให้ตัดวรรคนี้ทิ้ง ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาได้ในช่วงนี้


 


 





จดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


จาก เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศ


 


 


เรื่อง                  ข้อเสนอประกอบการพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ และ ๒๗๗


กราบเรียน           ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


สิ่งที่ส่งมาด้วย      ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับยกร่างกฎหมายที่ขอแก้ไข กรณีกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ และ


                        มาตรา ๒๗๗ และเอกสารประกอบการพิจารณา


 


            เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศดังมีรายชื่อข้างท้ายนี้ เป็นการรวมตัวและประสานงานร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศ กลุ่มประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินงานสนับสนุนและเสริมสร้างการเคารพสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ตลอดจนมีส่วนรวมในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย แนวปฏิบัติ ทัศนคติ และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ยังไม่เอื้อให้บุคคลดำรงชีวิตด้านเพศได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


            เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศขอแสดงความชื่นชมในความมุ่งมั่นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้พยายามแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา ๒๗๖ และ ๒๗๗ เพื่อให้มีความเท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหาในสังคมปัจจุบันและสอดคล้องกับหลักการสิทธิเสรีภาพของบุคคล และขอกราบเรียนข้อเสนอเพิ่มเติมที่ได้จากการประมวลองค์ความรู้ทางวิชาการ หลักการสิทธิมนุษยชนสากล กฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคี ตลอดจนกรณีศึกษาจากการทำงานภาคสนามของเครือข่ายประชาสังคมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แห่งกระบวนการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทั้งสองมาตราดังกล่าว ดังต่อไปนี้


 


            ๑) มาตรา ๒๗๖ เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศขอสนับสนุนยกร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เนื่องจากส่งผลดีต่อสังคมไทยอย่างน้อย ๕ ประการคือ


            หนึ่ง เป็นการยืนยันว่า อคติทางเพศที่แฝงฝังอยู่ในวัฒนธรรมไทยว่าภรรยาเป็นเสมือนทรัพย์สินที่สามีสามารถข่มขืนและร่วมประเวณีได้ตามต้องการนั้ เป็นสิ่งซึ่งกฎหมายไม่ยอมรับ


            สอง ขยายความคุ้มครองสู่หญิงซึ่งไม่ประสงค์จะใช้ชีวิตร่วมกับสามีและอยู่ระหว่างขั้นตอนหย่าขาดจากกันตามกฎหาย


            สาม ขยายความคุ้มครองสู่บุคคลทุกเพศสภาพที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราภายใต้แนวคิดใหม่ที่มีความเข้าใจว่า มิได้มีเพียงเพศหญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ


            สี่ กำหนดคำนิยามของคำว่า "กระทำชำเรา" ได้ครอบคลุมรูปแบบการทารุณทางเพศตามหลักสากล คือครอบคลุมทั้งการใช้อวัยวะเพศและวัตถุอื่นใดสอดใส่ในอวัยวะเพศ ทวารหนัก และช่องปาก


            ห้า เป็นการแสดงความจริงใจต่อคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้เมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. 2528


 


            อนึ่ง เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศยังคงมีความห่วงใย ๒ ประการ คือ หนึ่ง การระบุข้อความ "เป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้กระทำ" อาจทำให้ไม่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายในกรณีที่ผู้กระทำมีเจตนาอื่น เช่น การแก้แค้น การแสดงอำนาจที่เหนือกว่า การผลิตสื่อลามกที่มุ่งกระตุ้นความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้เสพสื่อ เป็นต้น สอง การระบุเงื่อนไขการคุมประพฤติหรือการลงโทษน้อยกว่ามี่ศาลจะกำหนดไว้ในกรณีที่ผู้กระทำผิดและผู้เสียหายเป็นสามีภรรยากันนั้น อาจเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ยังมีความซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๑ และมาตรา ๕๖ อีกด้วย


 


            ๒) มาตรา ๒๗๗ เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศขอสนับสนุนยกร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในกรณีที่มีการเปลี่ยนถ้อยคำจาก "เด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน" มาเป็น "เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี" ซึ่งเป็นผลดีต่อสังคมไทยดังที่ได้กล่าวไปในกรณีของมาตรา ๒๗๖ แต่ยังคงมีความห่วงใยในกรณีที่ระบุข้อความ "เป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้กระทำ" ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


 


            อนึ่ง ประเด็นสุดท้ายที่เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศรู้สึกเป็นกังวลและเป็นประเด็นที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังสามารถอภิปรายได้ คือ วรรคท้ายของยกร่างมาตรา ๒๗๗ ที่ขอแก้ไข ซึ่งระบุว่าผู้กระทำผิดสามารถพ้นโทษได้ถ้าเป็นการกระทำต่อเด็กอายุเกินกว่า ๑๓ ปีแต่ไม่เกินโดยเด็กนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้สมรสกัน เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศขอเสนอให้ตัดวรรคท้ายนี้และใช้ข้อความต่อไปนี้ทดแทน


 


            "ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกหรือวรรคสาม มีอายุต่างจากผู้เสียหายไม่เกินสองปีและผู้เสียหายยินยอม ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษแต่เป็นเหตุให้ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำต้องรับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก"


 


            ข้อเสนอนี้มีเหตุผลสำคัญรองรับ คือ


            หนึ่ง เด็กคือบุคคลอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีซึ่งต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมโดยคำนึงถึง "ประโยชน์สูงสุดของเด็ก" (the best interests of the child) ดังที่ตราไว้ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และพระราชบัญญัติมาตรป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๐ และอนุสัญญาสิทธิเด็ก จึงมิควรมีข้อกฎหมายใดที่ขัดกับหลักการดังกล่าว


            สอง ความยินยอมในกรณีที่ผู้เสียหายอายุกว่า ๑๓ แต่ไม่เกิด ๑๕ ปีนั้นควรถือว่ามิใช่ความยินยอมที่แท้จริงเพราะยังไม่มีวุฒิภาวะที่เพียงพอต่อการเลือกว่าจะสมรสหรือมีครอบครัว และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังระบุไว้ว่า "การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์แล้ว"


            สาม จากประสบการณ์การดำเนินงานให้ความช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหา โดยองค์กรพัฒนาเอกชนในเครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศ ทำให้รับทราบถึงกรณีต่าง ๆ ที่ผู้กระทำความผิดต่อเด็กใช้อิทธิพลบีบบังคับผู้ปกครองเด็ก หรือเสนอผลตอบแทนที่สูงจนเกิดปรากฏการณ์ "ขายลูกกิน" เพื่ออาศัยเงื่อนไขการสมรสตามมาตรา ๒๗๗ ซึ่งทำให้เด็กหมดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตามวัย


 


            ด้วยเหตุผลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศอันมีรายนามสมาชิกข้างท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้ จึงใคร่ขอวิงวองให้ท่านในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ และมาตรา ๒๗๗ อย่างรอบด้านและสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยโดยถ้วนหน้า


 


     ด้วยความเคารพอย่างสูง


 


 


รายชื่อองค์กรสมาชิกเครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศ


โครงการก่อตั้งมูลนิธิอัญจารี / องค์การแอคชั่นเอด ประเทศไทย / องค์การแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย / มูลนิธิเพื่อนหญิง / มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก / สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย / มูลนิธิรักษ์ไทย / มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง / เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ / โครงการสตรีและเยาวชนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / โครงการศึกษาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระบรมราชินูปถัมภ์ / กลุ่มสะพาน /คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนแห่งชาติ/กลุ่มเพื่อนพนักงานบริการ/มูลนิธิศักยภาพเยาวชน / ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ / เครือข่ายสตรีชนเผ่า / กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี / สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอไทย / ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก ชุมชนคนไทยเกรียง / กลุ่มสตรีชุมชนกทม./มูลนิธิผู้หญิง กฏหมายและการพัฒนาชนบท / เครือข่ายผู้หญิงติดเชื้อฯ / คณะทำงานเรื่องผู้หญิงในงานเอดส์


 


รายชื่อบุคคลที่สนับสนุนการยุติความรุนแรงทางเพศ


รศ.วิระดา สมสวัสดิ์ / รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล / อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ / ผศ.นาถฤดี เด่นดวง/คุณกิติกร สันคติประภา / นางสาวศุภธัญญา โบราณินทร์ / นางรัตนา สัยยะนิฐี / นางเพ็ญวดี ไมยวงษ์/


นางสุกัญญา รัตนนาคินทร์ / นางอัจฉรา ปรียาจิตต์ / นางสางอัจฉรา ศรีรัตอำไพ / นางดวงสุดา เมืองวงษ์/นางสาวศิริพร แย้มนิล  /นางสาวรุ่งนภา สีทะ / นางสาวอรวรรณ ทับสกุล / นางสางอัจฉรา คำสังข์ /นางสาวศิริวรรณ แพงสวัสดิ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net