Skip to main content
sharethis

 


 


บทความนี้ เขียนขึ้นโดย ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยใช้ชื่อบทความเดิมว่า "ICT ไร้น้ำยา เซ็กซ์โฟน ยังเกลื่อนเย้ยกฎหมาย เลิกไม่ได้ ควรพิจารณาตนเอง" สืบเนื่องจากที่ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมชุมคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดประชุมเพื่อหามาตรการจัดการกับปัญหาทางโทรศัพท์ในระบบออดิโอเท็กซ์ แต่มาตรการที่หน่วยงานภาครัฐออกมานั้นเป็นเพียงนามธรรม ที่ไม่สามารถจับต้องได้ รวมถึงการที่ กระทรวง ICT และ บริษัท ทีโอที ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและตรวจสอบผู้ประกอบการออดิโอเท็กซ์โดยตรง กลับละเลยไม่ใส่ใจ เรื่องนี้จึงทำให้มาตรการของคณะกรรมการดังกล่าว มีสถานะเป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง


 


 


 


ธิติมา หมีปาน
ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา


 


 


เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อหามาตรการจัดการกับปัญหาทางโทรศัพท์ในระบบออดิโอเท็กซ์

นายไพบูลย์ กล่าวหลังประชุมว่า เบอร์โทร 1900 ที่มีการขายบริการทางเพศและพูดคุยเรื่องเซ็กส์ มีการเปลี่ยนรูปแบบ เมื่อมีผู้ใช้บริการติดต่อเข้าไป จะมีการแจ้งให้ติดต่อไปที่โทรศัพท์มือถือ เป็นการหลบเลี่ยงความผิด แต่ไม่ได้หมายความว่า การกระทำดังกล่าวจะหนีความผิดได้ ซึ่งทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จะจัดการกับเรื่องนี้ โดยการเข้าไปตรวจสอบสัปทาน มีการทบทวนสัญญา และให้ตำรวจดำเนินคดีทันทีเมื่อพบว่าบริษัทที่ได้รับสัมปทานละเมิดข้อสัญญาที่ได้ตกลงกับ บริษัท ทีโอที


 


สำหรับทางด้านของมาตรการทางสังคม และมาตรการทางกฎหมายนั้น จะต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ที่ประชุมจึงให้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังเพื่อสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีกระทรวงวัฒนธรมเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วยคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยจะเปิดให้ประชาชนร้องเรียนมา จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ กทช.หากไม่จัดการจะส่งเรื่องไปถึงเจ้ากระทรวง หรือหัวหน้าหน่วยงานทันที


 


นอกจากนี้ ได้เสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการให้บริการแชทไลน์ออดิโอเท็กซ์ (1900) ที่มีเนื้อหาข้อความสนทนาไม่เหมาะสม ที่ส่อไปในทางลามกอนาจารและค้าประเวณี โดยมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการออดิโอเท็กซ์ แจ้งไปยังผู้ประกอบการทั้งหมดให้ติดตั้งอุปกรณ์บันทึกเสียง ขณะที่มีการใช้สายสนทนาในบริการออดิโอเท็กซ์ทุกราย โดยจะมีเสียงระบบตอบรับอัตโนมัติ (ไอวีอาร์) ว่า จะบันทึกเสียงขณะใช้สาย หากผู้ใช้บริการยินดีให้บันทึกเสียงก็สามารถเข้าระบบต่อไป แต่หากไม่ยอมจะให้ออกจากระบบทันที คาดว่าภายในเดือนเม.ย.นี้ จะติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จ หากผู้ประกอบการรายใดไม่เร่งดำเนินการ จะพิจาณาเลิกสัญญาสัมปทานทันที


 


หลังจากที่มีการเปิดเผยมาตรการดังกล่าวออกมา ทางศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้ให้อาสาสมัครทดลองเข้าไปใช้บริการแชทไลน์ 1900 และขอคุยเรื่องเซ็กซ์โฟนกับพนักงานของทางบริษัทผู้ให้บริการในระบบออดิโอเท็กซ์ ปรากฏว่า ทางพนักงานปฏิเสธ โดยอ้างว่า ทางผู้บริหารสั่งห้ามการเล่นเซ็กซ์โฟนในช่วงนี้ เพราะโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพ่งเล็งอยู่ แต่ถ้าเป็นลูกค้าเก่าที่เคยใช้บริการมาก่อนก็สามารถเล่นเซ็กซ์โฟนได้ แสดงให้เห็นว่า มาตรการที่หน่วยงานภาครัฐออกมานั้นเป็นเพียงนามธรรม ที่ไม่สามารถจับต้องได้ รวมถึงการที่กระทรวง ICT และ บริษัท ทีโอที ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและตรวจสอบผู้ประกอบการออดิโอเท็กซ์โดยตรง กลับละเลยไม่ใส่ใจ เรื่องนี้จึงทำให้มาตรการของคณะกรรมการดังกล่าว มีสถานะเป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง


 


และเรื่องการโฆษณาตามสื่อต่างๆ นั้น ทางผู้บริหาร ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เคยทำข้อตกลงกับบริษัทคู่สัญญาที่ร่วมดำเนินการบริการแชทไลน์ ในระบบออดิโอเท็กซ์ ไว้ว่า การลงสื่อโฆษณา ให้คู่สัญญาทุกรายตรวจสอบสื่อโฆษณาทุกรายการก่อนเผยแพร่สู่สายตาประชาชน แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าเนื้อหาของโฆษณา ที่โจ่งแจ้งก็ยังคงมีอยู่ อาทิเช่น "สายนี้มีแต่นักศึกษา คุยเสร็จไปต่อได้นะค่ะ" หรือ "นักศึกษาสาว ซี๊ดซ๊าด ถึงใจ คุยถูกคอตกลง ราคาเลยค่ะ" นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโฆษณาที่ยังมีให้พบเห็นอย่างมากมายในปัจจุบัน ทั้งที่ๆ ได้มีการทำข้อตกลงไว้แล้ว แสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการทำงานของ บริษัท ทีโอที เป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อ


 


นอกจากนี้วิธีการทำงานในลักษณะแถลงข่าวเป็นรายวัน เป็นเพียงการสร้างกระแสเท่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อองค์กรปฏิบัติงาน เนื่องจากศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงาได้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการให้บริการแชทไลน์ดังกล่าวอยู่ แต่เมื่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวนำเรื่องนี้มาแถลงข่าว ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อมูลและรายละเอียดใดๆ เลย เป็นผลให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนการให้บริการเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ทำให้ไม่พบการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่เชื่อได้ว่าเป็นเพียงการหลีกเลี่ยงการกระทำความผิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งบริการแชทไลน์ดังกล่าวยังคงสร้างปัญหาให้แก่สังคมอยู่ดี


 

หากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการจัดประชุม และการแถลงข่าวโดยไม่มีข้อมูล เพราะต้องการประชาสัมพันธ์ตัวเองเช่นที่ผ่านมา สุดท้ายคงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ หากเป็นเช่นนี้ หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรหันมาพิจารณาตัวเอง ก่อนที่ประชาชนในสังคมจะออกมาประนามว่า "ไร้น้ำยา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net