Skip to main content
sharethis

วันที่ 1 พฤษภาคม 2550 เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นวันกรรมกรสากล (May Day) ด้วย หลายแห่งได้มีการจัดกิจกรรมต่างให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่นเดียวกับที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่กลุ่มองค์กรแรงงานต่างๆ เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคใต้ มีจัดเดินขบวนรณรงค์ในตัวเมืองหาดใหญ่ เนื่องในวันกรรมกรสากล เพื่อให้สมาชิกและคนงานในอำเภอหาดใหญ่ มีจิตสำนึก และสืบทอดเจตนารมณ์ของการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก


 


ในขณะเดียวกัน ทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคใต้ ได้รณรงค์และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานที่สำคัญของประเทศ โดยมีจำนวนกว่า 21.8 ล้านคนจากผู้ใช้แรงงานทั้งหมด 36 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อให้พวกเขาได้รับสิทธิและการคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานทั่วไป


 


ต่อไปนี้จึงเป็นเสียงเรียกร้อนหนึ่งของกลุ่มแรงงานนอกระบบในภาคใต้ ที่ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ในวันดังกล่าวด้วย ปัญหาของพวกเขาคืออะไร และอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ


 


 


"แรงงานนอกระบบยังขาดการเหลียวแล"


 



 


นายสนธิไชย ถือแก้ว ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคใต้


"แรงงานนอกระบบ เป็นแรงงานที่มีจำนวนมากที่สุดของผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในประเทศไทย มีส่วนสำคัญในการสร้างชาติเช่นกัน แต่พวกเขาไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร ทั้งที่แรงงานนอกระบบก็ควรได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ


 


สถิติของแรงงานนอกระบบมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าบางคนที่เป็นแรงงานในระบบ เมื่อถูกปลดออกก็จะมาเป็นแรงงานนอกระบบ โดยในภาพรวมทั้งประเทศมีประมาณ 21.8 ล้านคน


 


จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับแรงงานนอกระบบ พบว่าในปี 2548 ปีเดียว มีถึง 2.9 ล้านคน ซึ่งสูงมาก แต่แรงงานนอกรระบบเหล่านี้ ไม่ได้กฎหมายคุ้มครองตามระบบการประกันสังคม โดยบางคนได้ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลเองตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2550 ที่ผ่านมาทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ที่มีนายสมคิด ด้วงเงิน เป็นประธาน ได้ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งก็คือแรงงานนอกระบบนั้นเอง ต่อกระทรวงแรงงานแล้ว เพื่อให้ออกเป็นกฎหมายที่จะคุ้มครองแรงงานนอกระบบ


 


ที่ผ่านมาในช่วงรัฐบาลที่แล้ว ในเรื่องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบได้มีการเจรจาต่อรอง ขอให้รัฐคุ้มครองแรงงานนอกระบบใน 7 ประการ เช่น การคลอดบุตร การรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย การว่างงาน ชราภาพ เสียชีวิต เป็นต้น แต่ทางรัฐบาลจะให้การคุ้มครองเพียง 4 อย่าง เท่านั้น คือ ในเรื่องการรักษาพยาบาลให้ใช้ช่องทางหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั่นเอง รัฐจะเสียค่าเสียโอกาสจากการทำงานวันละ 200 บาท แต่ผู้ใช้แรงงานต้องจ่ายเองปีละ 1,200 บาท ส่วนกรณีตายรัฐจะจ่ายให้ 35,000 บาท เราคาดว่าต่อไป เรื่องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบคงจะมีความคืบหน้ามากขึ้นไปอีก


 


สำหรับเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคใต้ ปัจจุบัน มีสมาชิกเครือข่ายอยู่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานีและนราธิวาส รวม 16 กลุ่ม สมาชิก 1,892 คน เช่น กลุ่มปักจักรผ้าคลุ่มสตรี กลุ่มเกษตรรับจ้างกรีดยางพารา กลุ่มขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นต้น


 


ตอนนี้กำลังขยายเครือข่ายเพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ก็จะสอดคล้องกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบในส่วนกลาง โดยมีภารกิจหลักๆ 4 อย่าง ได้แก่ การผลักดันกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ส่งเสริมและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และการขยายเครือข่าย


 


สำหรับสมาชิกเครือข่ายจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สิ่งที่พวกเขาสะท้อนออกมา นอกจากปัญหาจากการทำงานแล้ว ยังมีเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วย โดยเฉพาะการจะออกมานอกพื้นที่ ทำให้บางครั้งเวลามีการประชุมเครือข่าย สมาชิกที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องรีบกลับให้เพื่อให้ถึงก่อนค่ำ ทั้งๆ ที่การประชุมยังไม่จบหรือยังไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องผลผลิตของพวกเขาที่บางครั้งพ่อค้าก็ไม่กล้าเข้าไปรับซื้อถึงในพื้นที่  เป็นต้น


 


เครือข่ายแรงงานนอกระบบเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและปัตตานีก่อน จากนั้นก็ค่อยขยายขึ้นมาสู่จังหวัดอื่นๆ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ก็ตาม แต่การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายแรงงานนอกระบบของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังมีความเข้มแข็งมาก"


 


.................................


 


"คนกรีดยางก็ต้องการได้รับการคุ้มครอง"


 


 


คนกรีดยางเข้าเมือง - เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคใต้ ร่วมกับองค์กรด้านแรงงาน ได้ร่วมเดินขบวนรณรงค์ในตัวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อันเนื่องมาจากวันกรรมกรสากล (May Day) วันที่ 1 พฤษภาคม 2550


 



 


นายอำพล ด้วงปาน ประธานกลุ่มน้ำยางพาราสดคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา


"คนรับจ้างกรีดยางก็ต้องการได้รับการคุ้มครองเช่นกัน เพราะอาชีพกรีดยางพาราไม่สามารถจะกรีดยางได้ทุกวัน เช่น ในฤดูฝน ก็ต้องหยุดกรีดยาง แต่บางคนก็ไม่มีอาชีพอื่นรองรับ หากวันไหนถูกงูกัดขึ้นมา ก็ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ทำงานไม่ได้จึงไม่มีรายได้มาจุนเจือ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการคือขอให้มีการคุ้มครองแรงงานนอกระบบด้วย ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงาน"


 


.............................................


 


"แรงงานชายแดนใต้ ไม่กระทบงานแต่หวาดกลัวภัยร้าย"


 



 


นางพาตีเมาะ สือแม ประธานกลุ่มปักจักรผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิม บ้านฮูแตตูวอ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส


"แรงงานนอกระบบในจังหวัดนราธิวาสมีจำนวนมาก โดยเฉพาะสตรีที่ทำงานปักจักรผ้าคลุม ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเอง ขณะนี้ประสบปัญหาเรื่องได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม เพราะถูกนายหน้าที่มาสั่งสินค้ากดราคา ทั้งๆ ที่ตลาดมีความต้องการมาก โดยถือว่าชาวบ้านไม่สามารถติดต่อกับตลาดโดยตรงได้ จึงขอให้รัฐช่วยเหลือในจุดนี้ด้วย


 


นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย รวมทั้งสุขภาพของแรงงานนอกระบบด้วย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ จึงอยากให้มีวิทยากรไปให้ความรู้ถึงในพื้นที่เลย เพราะแรงงานส่วนใหญ่จะอยู่กับบ้าน รวมให้ความรู้เรื่องกฎหมายและสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับ เพราะพวกเขาไม่มีความรู้เลย


 


ส่วนในเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบนั้น ไม่ค่อยกระทบการทำงานมากนัก นอกจากความรู้สึกหวาดกลัวเท่านั้น ซึ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น"


 


 


 

..................................................

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net