Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.50 ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยระบุว่า การยกร่างครั้งนี้ไม่ได้ตีโจทย์ว่าคืออะไร ไม่เคยไปถามประชาชนว่าโจทย์อยู่ตรงไหน ปฏิรูปการเมืองคืออะไร ไม่มีฐานความคิดที่จะบอกว่าฉบับหมายความว่ายอย่างไร ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญปี 40 เน้นชัดถึงการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ตลอดจนให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น


 


"ผมจึงเรียกว่า กระบวนการร่างนี้เป็นฉบับอัตตา เป็นไปตามคนร่าง คนร่างคิดยังไง มีอคติ ไม่มีอคติก็ว่าไปตามนั้น อันนี้คือปัญหา แล้วมาอ้างบอกว่าได้ผ่านขั้นตอนการตรวจการความเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางทุกขั้นตอนถามว่าขั้นตอนคืออะไร"


 


ศ.เสน่ห์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังระบุว่าต้องการกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทุกส่วน โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพ ให้มีวิถีทางประชาธิปไตยทุกขั้นตอนการปกครอง ส่งเสริมองค์กรอิสระอื่นให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม เน้นคุณค่าทางจริยธรรม คำถามคือเรื่องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ทุกยุคอำนาจฝ่ายบริหารครอบงำอำนาจนิติบัญญัติตลอดมา ไม่ด้วยอำนาจของทหารก็อำนาจกลุ่มนายทุนทางการเมือง อีกทั้งคุณธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องของแต่ละคนในทางการเมืองเมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้วมีการใช้อำนาจ จะใช้อะไรมาเป็นหลักประกัน เพราะฉะนั้นคุณธรรม จริยธรรมทางการเมืองต้องอยู่ในการควบคุมของประชาชน


 


อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญสะท้อนชัดว่าฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญกับนักเลือกตั้งมีอคติกันมาก เช่น ความไม่เชื่อ ไม่ศรัทธานักเลือกตั้ง หากการเมืองเกิดมีวิกฤติ ก็ให้ประธานศาลฎีกามาคิด อย่างนี้แล้วเกิดความไม่ไว้ใจ แต่ต้องคิดต่อด้วยว่าเมื่อไม่ไว้วางใจแล้วจะให้ใครเป็นคนควบคุมนักการเมือง ก็หนีไม่พ้นประชาชนต้องเข้ามาควบคุมนักการเมืองตามระเบียบการประชาธิปไตย แม้จะรู้ดีว่าที่ผ่านมาประชาชนอ่อนแอ รวมกันไม่ติด


 


"ในทัศนะของผม ซึ่งเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เห็นว่าจะต้องกระจายอำนาจ นี้คือโจทย์ของการปฏิรูปการเมือง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าการกระจายอำนาจ ถ้าคิดเฉพาะแค่อบจ. อบต. และเทศบาลก็ไม่พอ เพราะองค์กรเหล่านี้ล้วนอยู่ในอุ้งมือของรัฐบาล"


 


ส.เสน่ห์กล่าวว่า หากการร่างรัฐธรรมนูญยังวนเวียนอยู่ตรงการจัดการรัฐบาลทักษิณที่เป็นปัญหา ซื้อพรรคการเมือง ซื้อนักการเมือง แทรกแซงอำนาจการตรวจสอบขององค์กรอิสระ คิดอยู่แค่ปัญหารายวัน ก็ถอยหลังไปหมด ประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปทางการเมืองมาแล้ว 100 ปี มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างบ้านเมือง เรื่อยมาจนกระทั่งในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งการพัฒนาทุนนิยมไม่ได้อยู่โดยลำพังแต่เป็นทุนนิยมอยู่ใต้กระแสโลกาภิวัตน์เชื่อมโยงกับทุนข้ามชาติเข้ามาด้วย เหตุนี้รัฐบาลทักษิณ จึงมีพันธมิตรกับเครือข่ายโยงใยกับทุกภาคส่วนใหญ่ๆ ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหามีปฏิกิริยา มีคมช.รวมอยู่ด้วย


 


"รัฐธรรมนูญปี 2540 ยังตอบปัญหาได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มี มีแต่คิดกันว่าปัญหาคือรัฐบาลทักษิณ คิดอย่างนี้ไม่ผิด แต่คือการคิดกันเฉพาะปัญหารายวัน ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้เป็นปัญหารายวัน เพียงแต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพะวงอยู่กับการจัดสรรอำนาจกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่คนในท้องถิ่นไม่อยู่ในสายตา"  


 


"ถ้ามองให้ยาวออกไป มาถึงปัญหาระบอบทักษิณ ปัญหาการปฏิรูปการเมืองคือชนบทถูกครอบงำ ประเด็นคือต้องตีปมโจทย์ให้แตก ต้องอ่านสถานการณ์วิเคราะห์ว่าจากปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่นี้ ต้องแก้ปมโดยให้ท้องถิ่นบวกด้วยผู้นำชุมชนในการจัดการปัญหาท้องถิ่น อย่างกรณี ท่อแก๊สไทย-มาเลเซีย จะเห็นว่าชุมชนอยู่นอกการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตลอดเวลา และเป็นเวทีนอก ตำบล เทศบาล จังหวัด ฉะนั้นในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะต้องเอาในสิ่งที่เรียกว่าเขตการปกครองท้องที่แบ่งเป็นตำบลบวกด้วยกับการให้สิทธิเสียงของชุมชน ไม่ให้ปล่อยชุมชนอยู่ภายใต้การปกครองของตำบล" ประธานคณะกรรมการสิทธิ ฯ กล่าว


 


สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ศ.เสน่ห์ เห็นว่า เป็นหลุมพรางให้มีประชามติว่าเป็นประชาธิปไตย อย่างเช่นการทำประชาพิจารณ์ โครงการท่อแก๊สไทย-มาเลเซีย ทำประชาพิจารณ์เรียกประชุมคน พวกนั้นไม่เคยรู้เลยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ฉะนั้นพอประชาชนมีปฏิกิริยา ก็เกิดเรื่อง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พูดได้เลยว่าคนไทยมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างน่ากลัวเพราะท่าทีของรัฐบาลดูมีปัญหา และความคิดถอยหลังลงไปมาก


 


อย่างไรก็ดี ศ.เสน่ห์ชี้ว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นยังไงไม่สำคัญเท่ากับ ส่วนท้องถิ่นที่จะเปิดพื้นที่ได้มีช่องทางการพัฒนาตัวเอง เวลาราชการพูดถึงเรื่องแผนพัฒนาการเมือง ก็คิดกันว่าพัฒนาในส่วนกลาง ขณะนี้มีคณะกรรมการวางแผนพัฒนาชุมชนในแวดวงวิชาการก็ไม่ได้สนใจ คนในท้องถิ่นถูกละเลย ถูกกระทำมาตลอด ซึ่งเรื่องนี้มีความอันตรายมาก เพราะเมื่อชาวบ้านไม่มีทางออก สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความรุนแรง


 


"มองไม่เห็นอนาคตเลย ไม่ได้ห่วงรัฐธรรมนูญร่างฉบับนี้ ผมห่วงสังคมไทยจะอยู่กันยังไง อยู่ในยุคของโลกาภิวัตน์ กระแสทุนข้ามชาติเข้ามาล้วงตับไตไส้พุ่งมากมาย คนโดนหนักเข้าจะมีทางเลือกอะไร นอกจากความรุนแรง ฉะนั้นอย่ามองเพียงว่าผ่านไม่ผ่าน ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้อยู่ไม่ได้ คนในท้องถิ่น ถึงเขาจะศึกษาน้อย ฐานะยากจน อย่าลืมความเป็นมนุษย์ เขาลุกขึ้นจับมือกันได้เป็นกลุ่มเป็นก้อนจะมีพลัง แต่เป็นพลังที่มุ่งความรุนแรงมากกว่าที่จะเป็นพลังได้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา" ศ.เสน่ห์กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net