Skip to main content
sharethis

 


เมื่อวันจันทร์(30 เม.ย.) สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์) ได้เผยแพร่รายงานประจำปีที่มีนัยสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย ด้วยการประกาศให้ไทยเลื่อนอันดับจากบัญชีประเทศ "ถูกจับตามอง" Watch List หรือ WL)ขึ้นไปอยู่ในบัญชีต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ" (Priority Watch List หรือ PWL) โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการสะท้อนถึงความเสื่อมทรุดลงโดยองค์รวมในการให้ความคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย


        


รายงานของยูเอสทีอาร์ร่ายยาวว่า สหรัฐฯซาบซึ้งต่อการที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของไทยจำนวนมาก ยังคงทำงานท่ามกลางสภาพการณ์อันท้าทาย เพื่อลงมือปราบปรามกิจกรรมละเมิดฝ่าฝืนทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้ดูจะไม่ได้มีผลลัพธ์ชนิดคาดคำนวณได้ ต่ออัตราการละเมิดสิทธิและการปลอมแปลง ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงชนิดยอมรับไม่ได้


         


ธรรมชาติอันอ่อนแอของกฎหมายไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อแผ่นดิสก์ภาพ คือสิ่งซึ่งท้าทายเป็นพิเศษ ในการจัดการแก้ไขการผลิตแผ่นดิสก์ละเมิดสิทธิขนาดใหญ่ ขณะที่การละเมิดสิทธิในหนังสือ, การโจรกรรมเคเบิลและสัญญาณ, และการละเมิดสิทธิซอฟต์แวร์ทางด้านนันทนาการและธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ยังไม่ได้รับการจัดการแก้ไขด้วยวิธีที่มีความหมาย ทางด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์มีเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน อาทิ เครื่องแต่งกายและรองเท้า ยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง อาณาบริเวณที่กล่าวถึงทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ยังคงมีการลงโทษตามกฎหมายเพื่อเป็นการป้องปรามกันอย่างไม่พอเพียง จึงมีส่วนทำให้ปัญหาการละเมิดยังคงดำเนินต่อไป


         


ประเด็นซึ่งเห็นชัดว่าเป็นข้อกล่าวหาใหม่ต่อไทยที่ถูกบรรจุไว้ในรายงานนี้ของยูเอสทีอาร์ ก็คือ การที่ไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing หรือ CL) เพื่อนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญเลียนแบบยาที่ยังติดสิทธิบัตรอยู่


         


"นอกเหนือจากความวิตกอันมีมานานต่อความไม่เพียงพอในการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยเหล่านี้แล้ว ในช่วงปลายปี 2006 และต้นปี 2007 ยังมีสิ่งบ่งชี้มากขึ้นถึงความอ่อนเปลี้ยในการเคารพสิทธิบัตร ดังที่รัฐบาลไทยได้ประกาศการตัดสินใจที่จะใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์ยาที่มีการจดสิทธิบัตรแล้วหลายรายการ" รายงานของยูเอสทีอาร์เผยไต๋


         


"ขณะที่สหรัฐฯยอมรับว่า ประเทศหนึ่งๆ สามารถที่จะออกประกาศใช้สิทธิดังกล่าวโดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก(WTO) แต่การขาดความโปร่งใสและขาดวิถีทางที่ถูกต้องซึ่งแสดงออกกันอยู่ในประเทศไทย ก็ชี้ให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงอย่างร้ายแรง การกระทำเหล่านี้ยิ่งเป็นการเพิ่มเติมความวิตกที่ได้เคยมีการแสดงให้ปรากฏก่อนหน้านี้ อาทิ ความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร และความอ่อนแอในการคุ้มครองมิให้มีการนำข้อมูลที่ให้ไปเพื่อขออนุมัติทางการตลาด ไปใช้ในทางการพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม" ยูเอสทีอาร์บอก


        


ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 12 ชาติซึ่งถูกยูเอสทีอาร์ขึ้นบัญชีถูกจับตามองเป็นพิเศษในปีนี้ โดยชาติอื่นๆ ได้แก่ รัสเซีย, จีน, อินเดีย, อิสราเอล, เลบานอน, อียิปต์, ตุรกี, ยูเครน, อาร์เจนตินา, ชิลี, และ เวเนซุเอลา


         


พาณิชย์ยันหนักกว่านี้ก็เจอมาแล้ว


นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การเลื่อนชั้นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ และมีผลกระทบในทางจิตวิทยาเล็กน้อยเท่านั้น เพราะไทยเคยอยู่ในกลุ่มต่างประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ สูงสุด (PFC) มาแล้วในปี 2534-36 เคยอยู่กลุ่ม PWL ในปี 2532-33 และปี 2537 จากนั้นก็อยู่ในบัญชี WL มาจนถึงปัจจุบัน


         


สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับไทยหลังจากนี้ไป สหรัฐฯ จะให้ไทยทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอย่างไร แต่น่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ สัญญาณเคเบิลทีวี เครื่องหมายการค้า การบังคับใช้กฎหมาย การแก้ไขกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการแก้ปัญหาการบังคับใช้สิทธิ์ผลิต หรือนำเข้ายาราคาถูกที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้ออกประกาศบังคับใช้สิทธิ์ไปแล้ว


         


"ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เราเคยอยู่ในบัญชีที่สูงกว่านี้มาแล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราจะต้องทำ เราต้องไปคุยกับสหรัฐฯ มากขึ้นกว่าเก่า และเท่าที่ดูข้อกล่าวหา เป็นเรื่องกว้างๆ ไม่มีเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เหตุผลก็เหมือนๆ ปีที่ผ่านๆ มา แต่ที่ปรับขึ้นคงเริ่มหงุดหงิดไทย"


         


นายการุณกล่าวต่อว่า หลังจากที่สหรัฐฯ ปรับไทยไปอยู่ในบัญชี PWL แล้ว ตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ ให้อำนาจสหรัฐฯ สามารถใช้มาตรการตอบโต้ได้ เช่น ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าบางรายการได้ แต่ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็ไม่เคยทำ เป็นเพียงแค่การระบุไว้ในกฎหมายของสหรัฐฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ตัด GSP ไทยจากเหตุผลดังกล่าวจริง จะผิดกฎองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะเป็นการใช้มาตรการข้างเดียว ซึ่งไทยมีสิทธิ์ฟ้องร้องต่อ WTO ได้ ที่สำคัญ สหรัฐฯ ยังไม่เคยตัด GSP ประเทศอื่นๆ จากการใช้มาตรการ 301 พิเศษเลย


         


"การตัด GSP ไทย เพราะไทยอยู่ในกลุ่ม PWL เป็นเพียงคำขู่เท่านั้น ในความเป็นจริงไม่มีผลในทางปฏิบัติ และก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรป (อียู) บราซิล เคยฟ้องร้อง WTO กรณีนี้มาแล้ว แต่สหรัฐฯอ้างว่า เป็นเพียงข้อกฎหมาย และยังไม่ได้ตัด GSP จริงๆ WTO จึงยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ อยู่ระหว่างทบทวนการให้ GSP สินค้าไทยโครงการใหม่ ที่มีแนวโน้มว่า อัญมณีและเครื่องประดับ ยางเรเดียล จะถูกตัดสิทธิ์นั้น สหรัฐฯไม่ได้เอาปัจจัยทรัพย์สินทางปัญญามาพิจารณา แต่ที่จะถูกตัดสิทธิเพราะผู้ส่งออกไทยมีศักยภาพในการส่งออก"นายการุณกล่าว


       


ครม.โบ้ยสธ.ชี้แจง-ระบุยังไม่ตอบโต้


นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงกรณีที่ทางสหรัฐขึ้นบัญชีให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษเนื่องจากไทยบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยาว่า ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สธ. เพื่อชี้แจงเหตุผลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกาศบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยา โดยเบื้องต้นเชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพราะยังไม่ใช่มาตรการสูงสุด จึงไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการใดตอบโต้


         


ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่า การจัดอันดับประเทศคู่ค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ ของไทยเป็นกลุ่มประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ จากกลุ่มประเทศที่จับตามองอาจนำไปสู่การที่สหรัฐฯ จะตัดลดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ไทยนั้น ตนเชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่ลุกลามถึงขนาดนั้น ยกเว้นไทยจะถูกสหรัฐฯ ปรับอันดับการจับตามองไปสู่ประเทศคู่ค้าที่อยู่ในบัญชีประเทศที่จะตอบโต้ทางการค้าได้ทันทีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะสามารถเจรจาและหารือร่วมกันไปได้


 


หมอมงคลรับยังไม่รู้ชะตากรรมCL


นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า การประกาศของ USTR ในครั้งนี้ มาจากอิทธิพลของบริษัทยาที่มีสูงมากขนาดที่สามารถเข้าถึงข้างในยูเอสทีอาร์ได้เป็นอย่างดี โดยอ้างว่าไทยไม่คุ้มครองสิทธิทางปัญญาของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายทางการค้า รองเท้า เทป ซีดี สัญญาณเคเบิ้ล มีการอ้างถึงสินค้าหลายๆ อย่าง รวมทั้งการบังคับใช้สิทธิยาที่มีสิทธิบัตรโดยไม่โปร่งใส และอาจมีการบังคับใช้สิทธิในยาอีกหลายๆ ตัว


 


 "เขาอ้างว่าเราทำซีแอลไม่โปร่งใส ไม่รู้ไม่โปร่งใสตรงไหน เขาให้เราเจรจากับบริษัทยาก่อนเราก็เจรจาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบแล้ว แล้วก็เพิ่งทำไปตัวเดียวคือยาต้านไวรัส แอฟฟาไวเร้นท์ จากที่มีการประกาศทั้งหมด 3 ตัว ซึ่งก็ทำเพียงเท่านี้ หากมีความจำเป็นก็น่าจะมีการทำซีแอลไม่เกิน 2 ชนิดเป็นอย่างมาก ไม่ได้พร่ำเพรื่อ ทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้นจริงๆ ซึ่งการประกาศซีแอล ไม่ได้หมายถึงต้องทำซีแอล เป็นเพียงประกาศว่าจะทำ ก็เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีการเจรจากันขึ้น ดังนั้น การกล่าวว่าเราทำด้วยความไม่โปร่งใสหรือจะทำเพิ่มอีกหลายตัว จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงเพราะการหยิบยกเรื่องเทปผีซีดีเถื่อนหรือพันทิปน่าจะเป็นเพียงข้ออ้าง แต่เหตุผลที่แท้จริง คือ การทำซีแอล การผลักไทยให้เป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นเพิศษจึงเป็นการข่มขู่ไม่ให้ทำซีแอลต่อไป แต่ไม่สามารถนำเรื่องซีแอลพูดตรงๆ ได้ เพราะเราทำตามกฎหมายถูกต้อง"


 


 "เราไม่มีเส้นมีสายหรือกำลังอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่หัวใจที่ทำเพื่อคนทุกข์ยาก แต่เราก็ไม่มีพลัง ไม่มีคนสนับสนุนอำนาจมันต่างกันเยอะ ดังนั้นทำได้แค่ไหนเราก็จะทำเท่านั้น หากทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องยอม ซึ่งในการลงมติของ USTR อาจมีคนที่หนุนเราส่วนหนึ่ง แต่กลุ่มที่ไม่สนับสนุนไม่รู้คิดอย่างไร ถ้าเห็นด้วยกับเรามากกว่านี้ ผลคงไม่ออกมาแบบนี้และไทยคงไม่ถูกทำร้าย ดังนั้น คนจนอย่างไปคาดหวังจะมีสิทธิมีเสียงหรือหรือทำอะไรแล้วจะถูก" นพ.มงคลกล่าว


 


น.มงคล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จะต้องประเมินสถานการณ์ของไทยว่าจะบุกหรือจะถอยมากน้อยแค่ไหน ต้องวัดใจกันว่าประชาชนของเราที่จะไม่ได้รับยาในการรักษาชีวิตกับการสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศนำมาชั่งน้ำหนักว่าอย่างใดมีค่ามากกว่ากัน ซึ่งหากการบังคับใช้สิทธิเป็นตัวก่อเหตุก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่แต่ก็ต้องนำมาพิจารณาว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่


 


"ไม่รู้ว่ามูลค่าชีวิตคน 1 คน จะคำนวณออกมาได้เท่ากับมูลค่าสินค้าส่งออกไปอเมริกาเป็นจำนวนเท่าใด ผมหมดปัญญาจริงๆ ไม่รู้จะจัดการปัญหาให้กับคนของเราอย่างไร คนต้องตายมากมายเพราะไม่มีเงินซื้อยากิน อย่างไรก็ตามแม้ว่าต่างชาติจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจทำซีแอลก็เป็นเรื่องปกติ เพราะคงไม่เจ็บปวดเท่ากับการที่คนไทยด้วยกันมาด่าว่าเป็นโจร"นพ.มงคลกล่าว


 


นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ในการหารือแต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ดีได้เสนอให้กระทรวงต่างประเทศที่จะเป็นผู้รับดำเนินการในเรื่องนี้โดยตรงเป็นผู้แถลงการณ์ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานให้กระทรวงต่างประเทศส่งตัวแทนหารือกับมูลนิธิคลินตันเพื่อเจรจาสั่งซื้อยาในปริมาณมากๆ พร้อมกันหลายประเทศ ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด ไม่ทราบว่าจะช่วยหรือไม่ เนื่องจากทางสธ.มีภารกิจไม่สามารถเดินทางไปได้


 


 "ประเด็นที่ผมจะต้องชี้แจงกับยูเอสทีอาร์คือประเด็นที่ไทยเตรียมจะประกาศบังคับใช้สิทธิผลิตยา(ซีแอล)กับยาอีกกว่า 30 รายการนั้น ความจริงคือไทยจะดำเนินการเฉพาะโรคที่ทำให้คนไทยตายเป็นจำนวนมากเท่านั้น ไม่ได้ทำกับยาหลายชนิดเช่นนั้น ซึ่งอย่างมากที่ดำเนินการได้มีประมาณ 5 รายการเท่านั้น ซึ่งขณะนี้เหลือยา 2 รายการที่อาจจะต้องดำเนินการในอนาคต คือยารักษาโรคมะเร็งและยาต้านไวรัสเอดส์อย่างละรายการเท่านั้น"นพ.มงคลกล่าว


         


ประณามสหรัฐฯเห็นแก่ได้


นายโรเบิร์ต ไวสส์แมน ผู้อำนวยการ Essential Action องค์กรพัฒนาเอกชนของสหรัฐฯ ที่ต่อสู้เพื่อการเข้าถึงยามายาวนาน ออกแถลงการณ์ประณามตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯ โดยระบุว่า ยูเอสทีอาร์ได้กระทำการอย่างน่ารังเกียจ เห็นแก่ได้ และน่าละอายอย่างยิ่งในการย้ายไทยขึ้นเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะประเด็นสำคัญที่ทำให้ไทย "ถูกจับตามองเป็นพิเศษ" คือการที่ประเทศไทยประกาศบังคับใช้สิทธิกับยาติดสิทธิบัตร 3 ตัว


 


 


นายโรเบิร์ต แถลงว่า ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ทราบดีว่าการกระทำของไทยไม่ได้ละเมิดพันธะสัญญาในความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างของบริษัทยายักษ์ใหญ่และตัวแทนของพวกเขา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯไม่เคยกล่าวว่าประเทศไทยละเมิดพันธกรณีตามกฎระเบียบในองค์การการค้าโลก(WTO) แต่สิ่งที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯตำหนิคือ "ขาดความโปร่งใสและกระบวนการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยน่าห่วงใยอย่างยิ่ง" นี่คือความพยายามที่จะตำหนิอย่างผิดๆ ว่าประเทศไทยประกาศบังคับใช้สิทธิโดยไม่ร้องขอใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิเสียก่อน


         


"สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงถึงความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพราะพวกเขารู้ตั้งแต่แรกว่าภายใต้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลกประเทศไทยไม่ต้องเจรจาขอใช้สิทธิก่อนการประกาศบังคับใช้สิทธิ"


         


เขายังระบุว่า การกระทำของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ช่างน่ารังเกียจเพราะในรายงานประจำปีตามมาตรา 301 ระบุว่า "สหรัฐฯ สนับสนุนปฏิญญาโดฮาว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุขอย่างหนักแน่น" แต่เมื่อประเทศประเทศหนึ่งใช้สิทธิของตัวเองภายใต้ WTO และเติมเต็มหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อจัดหายาที่มีความสำคัญให้กับคนในประเทศแต่การตอบสนองของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯไม่เพียงไม่ร่วมแสดงความยินดีแต่กลับข่มขู่ด้วยการย้ายเป็นประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ


         


การกระทำของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ช่างน่าละอายเพราะบ่อนทำลายการสาธารณสุขการใช้กลไกตามกฎหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้วยการนำเข้ายาชื่อสามัญเพื่อแข่งกับยาต้านไวรัสและยาโรคหัวใจที่ราคาแพงเกินจริง ประเทศไทยแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศให้ความสำคัญกับชีวิตของคนเหนือการค้า ประเทศไทยแสดงความชัดเจนอย่างยิ่งที่จะนำงบประมาณที่ประหยัดได้ไปใช้เพื่อขยายการเข้าถึงยาจำเป็นของคนไทย แต่สารที่สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯส่งมา คือประเทศไทยควรยกเลิกการกระทำดังกล่าว ยิ่งแย่กว่านั้นคือการส่งสัญญาณไปยังประเทศอื่นๆ อย่าหาญกล้าที่จะเดินตามประเทศไทย


 


เครือข่ายเอดส์ชี้อย่ายอมแพ้ 


นายจอน อึ้งภากรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเห็นชัดว่าเป็นการขู่ให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายให้กลัวและถอยหลัง แต่ทั้งนี้ต้องกลับมาพิจารณาว่าไทยจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ซึ่งตอบได้ทันทีว่าอย่าหยุดความถูกต้อง และไทยไม่ควรกลัวการการประกาศครั้งนี้เลย ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆภายในรัฐบาลชุดนี้ต้องสมานสามัคคีกันมากกว่าที่เป็นอยู่ และผนึกกำลังกัน


 


 "หากการใช้ซีแอลของไทยไม่เป็นผลสำเร็จจากการขู่ของประเทศมหาอำนาจในครั้งนี้จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หมดโอกาสในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้อง และอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสธ.เพียงอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่สหรัฐฯประเมินว่าเป็นความแตกแยกของไทยด้วยกันเอง"


 


นายจอนกล่าวว่า มีโอกาสได้เดินทางไปพูดในเวทีประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ของแอ็บบอตฯ ที่สหรัฐฯเมื่อวันที่ 25-27 เม.ย. ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯเช่นกัน เพราะฝ่ายที่ค้านไทยเป็นฝ่ายของพรรครีพลับบิคกัน ส่วนฝ่ายที่ให้กำลังใจไทยเป็นฝ่ายของพรรคเดโมแครค


 


"การเดินทางไปครั้งนี้ทำให้ทราบข้อมูลว่า พวกนักล็อบบี้ยิสต์ของบริษัทยาได้ใส่ร้ายป้ายสีไทยเรื่องการใช้ซีแอลต่างๆ นาและเปรียบไทยว่าเป็นเผด็จการเหมือนกับประเทศพม่า และยังอ้างคำพูดที่ไม่เป็นความจริงของนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 ของกระทรวงสาธารณสุขว่า จะเอานักท่องเที่ยวสหรัฐฯที่มาเที่ยวไทยเป็นตัวประกันด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการใส่ร้ายที่แรงมาก ขณะเดียวกันก็ทราบว่า สหรัฐฯก็ใช้ซีแอลกับยาขยายหลอดเลือดชนิดหนึ่งเพื่อให้แอ็บบอตฯดำเนินการผลิตอยู่เช่นกัน แต่พอไทยดำเนินการบ้างกลับไม่ยอมและตอบโต้ด้วยวิธีดังกล่าว"นายจอน กล่าว


 


นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากการหารือร่วมกัน มีข้อสรุปว่า กระทรวงสาธารณสุขจะต้องออกมาแถลงข่าวตอบโต้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใน 3 ประเด็น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะสหรัฐฯ เข้าใจว่า 1.ประเทศไทยมีการประกาศทำซีแอลไม่โปร่งใส เนื่องมาจากเป็นการกระทำภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร 2.ประเทศไทยมีการทำซีแอลโดยที่ไม่มีการเจรจาก่อนจึงไม่สามารถรับได้ แต่หากเป็นเพื่อการค้ามีการแข่งขันจึงจะเป็นที่ยอมรับ และ 3 ประเทศไทยประกาศจะมีการบังคับใช้สิทธิบัตรยา 20-30 ตัว ดังนั้น ความเข้าใจที่เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะต้องออกมาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ไหว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดหมายเพื่อร่วมแถลงข่าวด้วย


 


ด้านนายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม กล่าวว่า ไทยดำเนินการใช้ซีแอลถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ไม่ได้ละเมิดกฎหมายด้านสิทธิบัตรแต่อย่างใด และการขึ้นบัญชีไทยเป็นมาตรการที่ทำโดยฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ที่มาขึ้นบัญชีประเทศอื่นๆ ทั้งนี้หากสหรัฐฯต้องการจะประท้วงก็น่าจะดำเนินการในเวทีขององค์การการค้าโลก แต่เป็นเพราะทราบดีว่าในเวทีดังกล่าวมีผู้สนับสนุนการใช้ซีแอลเหมือนกัน


 


 "ไทยไม่ได้ปล่อยให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาหรือส่งเสริมกันอย่างเอิกเกริก และการใช้ซีแอลของไทยก็ทำตามความจำเป็นและดำเนินการโดยภาครัฐด้วยซ้ำ ดังนั้นการกระทำของสหรัฐฯ จึงเป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมโดยการใช้อำนาจของประเทศตนเองไปชี้เจ้ากี้เจ้าการประเทศอื่นๆ ทั้งที่ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก รวมถึงสหรัฐฯด้วยแต่กลับไม่ใช้เวทีที่เป็นอยู่"นายเจษฎ์ กล่าว


 


นายเจษฎ์ กล่าวว่า การนำระบบเศรษฐกิจระดับมหภาคมาอ้างอิงกับชีวิตคนป่วยที่ไม่มีอำนาจในการซื้อยานั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลยแม้แต่น้อย และไม่ควรนำมาเป็นประเด็นปัญหา เพราะพันธมิตรที่ไทยควรจะต้องกระชับความสัมพันธ์ไว้คือ จีน และอินเดีย ซึ่งล้วนถูกจัดให้เป็นประเทศพีดับบลิวแอลเหมือนไทยเช่นกัน


 


ขณะที่ ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางออกในเรื่องดังกล่าวคือ ไทยต้องกลับมาพิจารณาว่าจะเสียดุล เสียเปรียบทางเศรษฐกิจกับประเทศสหรัฐฯอีกหรือไม่ ก็ไม่ควรดำเนินการ อาทิ การลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าไม่จริงใจ ละโมบ และการทำซีแอลก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายจนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐแย่ลง


 


"ไทยควรมีจุดยืนของตัวเอง หากคิดว่าทำถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร เพราะจีน อาร์เจนตินา ชิลี รัสเซียล้วนถูกจัดอันดับแล้วทั้งสิ้น และถ้ามากล่าวหาว่าไทยไม่โปร่งใส ต้องถามกลับว่านิยามคำว่าโปร่งใสของสหรัฐฯ คืออะไร มีข้อเท็จจริงอย่างไร พูดให้ชัดเจน และหากกลัวจนต้องไปเซ็นเอฟทีเอ เพื่อหวังว่าจะถูกปลดออกจากการถูกขึ้นบัญชีนี้ก็อย่าคิดเช่นนั้น เพราะเอฟทีเอก็ไม่ช่วยอะไร"


 


ภญ.จิราพร กล่าวว่า ภาครัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มแข็งและภาคประชาชนต้องเคลื่อนไหวสนับสนุนเรื่องนี้อย่างแน่นอน และขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลเดินหน้าเรื่องที่มีประโยชน์เพื่อประเทศชาติต่อไป เพราะสิ่งที่ทำคืออธิปไตยของประเทศ ขณะเดียวกันภายในรัฐบาลต้องร่วมกันทำงานผลักดันนโยบายนี้ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ขัดแข้งขัดขากันเอง


 


"ในฐานะที่นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศควรทำหน้าที่ในฐานะกระทรวงการต่างประเทศในการชี้แจงให้รัฐบาลสหรัฐฯได้เข้าใจถึงข้อมูล เพราะม.ต่างประเทศให้รัฐบาลสหรัฐฯเข้าใจถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะหากการดำเนินการเรื่องนี้ไม่สำเร็จ คงเป็นเรื่องยากที่ไทยจะทำข้อตกลงอื่นใดกับสหรัฐฯ เพราะเห็นจากท่าทีของสหรัฐฯที่ไม่จริงใจ ซึ่งภาคประชาชนก็พร้อมเคลื่อนไหว"ภญ.จิราพร กล่าว


 


 


- - - - - - - - - - - - - - - - -


ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 1 พ.ค.2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net