Skip to main content
sharethis

เชื่อเดิม  -  รายงาน :  ค่ายเยาวชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม ร่วมเรียนรู้ทรัพยากรป่า ดิน น้ำ สมบัติล้ำค่าของผืนแผ่นดิน


 


โดย    ฐาปนา พึ่งละออ


 


 


 



 


"ลุ่มน้ำแม่ป๋าม" เป็นหนึ่งในลุ่มน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำแม่ปิง ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่หมู่บ้านแม่ปาคี ตั้งอยู่ในเขตตำบลสันทราย อ.พร้าว น้ำแม่ป๋ามมีลำห้วยสาขาย่อยที่ไหลมารวมกัน เช่น น้ำแม่ป๋อย น้ำแม่มาด น้ำปางมะเยา ทำให้น้ำแม่ป๋ามมีปริมาณน้ำที่มากและกว้างใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำสาขาย่อยทั้ง 14 ลุ่มน้ำที่ไหลลงสู่น้ำแม่ปิง ลุ่มน้ำแม่ป๋ามจึงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้สัก ซึ่งมีปริมาณมาก เนื้อไม้มีคุณภาพสูง


 


เหตุการณ์ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ตัดต้นไม้ในเขตบ้านปางโม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว ซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำแม่ป๋าม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดคำถามอีกครั้ง ถึงวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ ขณะที่ชาวบ้านพยายามรักษาดูแล เพราะโดยวิถีชีวิตต้องพึ่งพาป่า แต่รัฐกลับอ้างกฎหมายเพื่อตัดโค่นป่า จึงเป็นการจารึกความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรระหว่างรัฐกับชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ตราบใดที่รัฐยังใช้วิธีคิดแบบเดิม ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าในอนาคตก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง


 


กระนั้น เรายังคงมีความหวังกับคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ เด็ก วัยรุ่น เยาวชนผู้กำลังจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ หากมีสำนึกหวงแหนทรัพยากร และเข้าใจถึงความขัดแย้งดังกล่าว อนาคตย่อมจะมีทางเดินที่เปิดกว้างขึ้น


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าว โครงการจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน จึงได้จัดโครงการ "ค่ายเยาวชนเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน คนลุ่มน้ำแม่ป๋าม" ขึ้นเมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยมีเยาวชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ป๋ามกว่า 50 คน มาเข้าค่ายเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้บริเวณวัดและโรงเรียนของบ้านแม่ป๋ามเป็นสถานที่จัดกิจกรรม


 


 



ภาคภูมิ โปธา


เจ้าหน้าที่โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน


 


 


"ภาคภูมิ โปธา" เจ้าหน้าที่โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน หัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดค่ายครั้งนี้ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของค่ายว่า เกิดจากกลุ่มเยาวชนในบ้านแม่ป๋ามที่ได้มานั่งพูดคุยกัน ว่าอยากทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์สักอย่าง ซึ่งก็มาลงตัวที่เรื่องน้ำ ต้นกำเนิดของน้ำ


 


"...คือน้ำแม่ป๋ามนี่หล่อเลี้ยงพวกเรามานาน แต่จนถึงเดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้จักต้นกำเนิดเลย เราน่าจะหากิจกรรมมาศึกษาลำน้ำป๋าม ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ก็เลยจัดค่ายขึ้นมา ก็ได้รับการสนับสนุนจากโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน แล้วก็ อบต.ปิงโค้ง ที่ผมมีแรงกระตุ้นอยากทำค่ายขึ้นมาก็เพราะว่า ผมได้มีโอกาสไปดูงาน การรักษาทรัพยากรทางบ้านปางโม่ ตอนที่มีกรณีการตัดไม้ของ ออป.เราก็คิดในใจว่า จริงๆ แล้วป่าเป็นของใคร ป่าเป็นของรัฐหรือป่าเป็นของชาวบ้าน คือชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับป่ามาตั้งแต่แรกแล้ว หลังจากนั้น รัฐก็เข้ามาจัดการ ทำให้เกิดความคิดว่า เราน่าจะมาเรียนรู้จุดนี้กัน เราน่าจะมีสิทธิ์ในการรักษาการจัดการดูแลป่า ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะมาตัดไม้ของเราไป 4,000 ต้นแล้วก็ขนเอาไป พูดถึงรายได้เขาก็ไม่ได้มาแบ่งให้ชาวบ้านสักหน่อย ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการด้วยเลย..."


 


ภาคภูมิ กล่าวถึงกิจกรรมที่จัดว่า มีความหลากหลายและมุ่งหวังให้เยาวชนเรียนรู้อย่างเชื่อมโยง ไม่ใช่เรียนรู้แบบแยกส่วน "...คือบางทีการนั่งเรียนในห้องเรียนอาจจะทำให้เราลืมฐานของตัวเอง ลืมวิถีชีวิตของชุมชนเราเอง เราอาจจะมองเรื่องทางนอกมากเกินไป ทั้งที่เราน่าจะเรียนรู้ตัวเราเอง ชุมชนเราเองก่อน คือไม่ได้ปฏิเสธว่า เราต้องเรียนรู้ข้างนอกด้วย เพียงแต่เราน่าจะรู้จักตัวเราเองให้ดีเสียก่อน..."


 


"นิคม  พุทธา" ผู้อำนวยการโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน และ ผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ได้กล่าวในพิธีเปิดค่ายว่า การจัดการป่าที่ผ่านมามันล้มเหลว ชาวบ้านไม่สามารถที่จะพึ่งพาอาศัยป่า ทำให้กระทบกับชาวบ้านโดยตรง


 


"...เราจะทำอย่างไร จะให้พื้นที่ป่าสามารถที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องชาวบ้านได้อย่างไร  เราต้องใช้ประโยชน์จากป่าในหลาย ๆ ด้าน ที่ไม่ใช่จากการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้อย่างเดียว เพราะในป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีเห็ด มีหน่อ  ซึ่งการจัดการป่าของชาวบ้านจะมีองค์ความรู้อยู่มากมาย หากเราแก้ปัญหาแบบนี้ ก็จะทำให้เราลดปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานของรัฐได้ คนที่จะรู้ว่าการจัดการป่าอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์ก็ต้องมาจากคนในท้องถิ่น เช่น ครู อาจารย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น เราสามารถที่จะสร้างหมู่บ้านแม่ป๋ามให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างได้ โดยเริ่มจากการฟื้นฟูป่า อนุรักษ์ รักษา และใช้ประโยชน์ร่วมกัน..."


 



 


หลังจากพิธีเปิด และกิจกรรมเพื่อทำความรู้จักกันในช่วงเช้าพร้อมกับแบ่งกลุ่มเป็น 5 กลุ่มแล้ว ในช่วงบ่าย ชาวค่ายได้รับฟังเรื่องของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแม่ป๋าม จาก พ่อหลวงสุนทร เทียนแก้ว โดยพ่อหลวงสุนทร ได้เล่าว่า บ้านแม่ป๋ามเกิดขึ้นจากการสัมปทานป่าไม้ กล่าวคือ คนงานที่มารับจ้างตัดไม้ของป่าสัมปทาน เมื่อมีการย้ายไปสัมปทานที่อื่น คนงานก็มาตั้งถิ่นฐานอยู่ มีการขุดที่นา ที่ไร่ และตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เรื่อยมา


 


"...เมื่อก่อนหมู่บ้านแม่ป๋ามยังมีการตัดไม้สักที่บ้านแม่ป๋ามไปขาย เพราะไม้สักที่บ้านแม่ป๋ามเป็นไม้ที่มีความสวยงาม เป็นไม้สักทอง และในช่วงนั้นชาวบ้านยังไม่มีการดูแลรักษา การตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นทางการ คือปี 2491 ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำการเกษตร และการตัดไม้ขาย แต่มาในช่วงหลัง ก็เปลี่ยนแนวคิดจากการตัดไม้มาอนุรักษ์ ต่อมาในปี 2527 เกิดภัยแล้ง ต้องสูบน้ำขึ้นมาใส่ไร่นา คนในชุมชนก็เลยคุยกันว่าจะไม่ให้คนที่อื่นหรือคนในหมู่บ้านตัดไม้อีก บ้านแม่ป๋ามเราอยู่กันอย่างพี่น้อง มีประเพณีที่สืบทอดกันมา คือ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ตานสลาก เดือนยี่เป็ง ฯลฯ ซึ่งประเพณีเหล่านี้เป็นประเพณีที่เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของคนในชุมชน..."


 


หลังจากนั้น เยาวชนแต่ละกลุ่มก็แยกย้ายกันไปเข้าฐานการเรียนรู้ชุมชนทั้ง 5 ฐาน ซึ่งได้แก่ ฐานที่ 1 คนกับป่า วิถึพึ่งพาและความผูกพัน,ฐานที่ 2 ผญ๋าคนท้องถิ่นกับการจัดการน้ำ,ฐานที่ 3 วิถีชีวิตแห่งความพอเพียง,ฐานที่ 4 หมู่บ้านแห่งการเปลี่ยนแปลง และ ฐานที่ 5 สมุนไพรจากป่าสู่คน


 



 


"ภู เชียงดาว" วิทยากรประจำฐานที่ 4 หมู่บ้านแห่งการเปลี่ยนแปลง ได้กล่าวถึง อดีตที่ผ่านมาของหมู่บ้านแม่ป๋ามว่า เนื่องจากเมื่อก่อน ที่นี่มีไม้สักมาก จึงทำให้ช่วงหนึ่งเกิดอาชีพเลื่อยไม้สักขึ้นมา เลื่อยเสร็จก็มาสร้างเป็นหลัง จากนั้นก็มีพ่อค้ามารับซื้อมาขนออกไป จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ไม้สักในป่าก็แทบจะไม่เหลือแล้ว ในสมัยก่อนความสมบูรณ์ของป่า นอกจากไม้สัก ของป่าแล้ว ก็ยังทำให้มีสัตว์ป่าชุกชุม


 


"...ตอนที่ผมยังเด็ก พ่อผมเป็นพรานป่า จำได้ว่าทุกเดือนพ่อจะแบกสัตว์ป่าเข้าบ้าน บางทีก็เสือ บางทีก็หมูป่า มีเยอะมาก กินกันไม่หมด แต่ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว เพราะพอไม่มีป่าสัตว์ก็หนี ส่วนวิถีชีวิตของชาวบ้าน การทำการเกษตรก็อยู่แบบพอเพียงจริงๆ ไม่ใช่ตามกระแสแบบเดี๋ยวนี้ คือทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก ไม่ได้ใช่ปุ๋ยหรือสารเคมีอะไรด้วย จำได้ว่าตอนจะปล่อยน้ำเข้านา ก็ปล่อยจากลำน้ำแม่ป๋าม เราก็เอาไซไปดักปลากัน ปลาเยอะมาก พอปลูกข้าวเสร็จก็ปลูกถั่วเหลือง มันก็ช่วยให้ปุ๋ยกับดิน อีกอย่างคือกระเทียม เมื่อก่อนก็ปลูกกันมากจะหัวใหญ่ แข็ง แต่เดี๋ยวนี้หัวเล็กแฟบ ชาวบ้านเขาจะใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาว เอามาจากถ้ำผาไป่ ก็หว่านลงแปลงหอม คือถ้าย้อนดูมันเป็นเกษตรพอเพียงแท้ๆ ไม่ต้องพึ่งข้างนอกเลย..."


 


ภู เชียงดาว เล่าว่า หลังจากหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้ มีความเจริญเข้ามา ชาวบ้านก็ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็ต้องหาเงินกันมา ต้องเร่งปลูกผักส่งตลาด หาเงินมาหมุน แต่ไม่เคยคิดว่า สิ่งที่เสียไปทั้งค่าแรง ค่าใช้จ่ายต่างๆ มันมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียไปหรือไม่ และสุดท้ายชาวบ้านก็มีหนี้สินมากมาย กลายเป็นภาระเป็นความทุกข์หนักของชีวิตดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่ยังมองเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ควรจะรู้ให้ทันความเปลี่ยนแปลงและเลือกให้ได้ว่า อนาคตของตัวเองจะเดินไปทางไหน


 


ชาวค่ายในฐานที่ 4 นี้ ได้ร่วมกันวาดรูปแผนที่หมู่บ้าน และร่วมกันอภิปรายถึง ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ตนเองได้พบเห็น จากนั้นในช่วงเย็น แต่ละกลุ่มได้ออกมาสรุปผลการเรียนรู้จากแต่ละฐาน


 



 


สองทุ่มตรง หลังจากอาบน้ำ ทานข้าวกันเรียบร้อยแล้ว ชาวค่ายทุกคนร่วมชมการแสดงดนตรี "บทเพลงกล่อมไพร" โดย สุวิชานนท์ รัตนภิมล และ ชิ สุวิชาน ก่อนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อน


 


เช้าวันที่สอง หลังอาหารเช้า เยาวชนชาวค่ายทุกคนได้ร่วมกันเดินสำรวจเส้นทางลุ่มน้ำแม่ป๋าม โดยผ่านการเรียนรู้ 5 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 กำแพงมีชีวิต,ฐานที่ 2 ความเชื่อของคนท้องถิ่น,ฐานที่ 3 ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก,ฐานที่ 4 ฝาย ผญ๋าของคนท้องถิ่น และฐานที่ 5 กวางน้อย เมื่อทุกคนเดินป่ามาถึงจุดสุดท้ายคือ น้ำตกแม่มาด จึงได้พักผ่อนรับประทานอาหารเที่ยง พร้อมกับรับฟังการบรรยายเรื่อง "วิถีพึ่งพา ดิน น้ำ ป่า" โดยประสิทธิ์ กันทาซาว และสายสุนีย์ ชัยชนะ



 



 


สายสุนีย์ ได้กล่าวว่า ไม่ว่าพ่อแม่ของเยาวชนทุกคนจะมีอาชีพอะไรบ้าง แต่ส่วนหนึ่งแล้วก็ต้องอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็นดิน  น้ำ  ป่า  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ร่วมอนุรักษ์รักษาไว้คงจะไม่มีเหลือไว้ให้ลูกหลานของเรา 


 


"...เหมือนที่ว่าป่าเหมือนซุปเปอร์มาเก็ต มีคุณค่า และในทุกวันนี้โดยอาชีพของพ่อแม่เรานั้นต้องอาศัยป่า หาเห็ด หาหน่อ ผักหวาน  มดแดง เพื่อมาเลี้ยงชีพของเราและส่งเสียเราให้ได้รับการศึกษา  แต่ถ้าเราช่วยกันทำลายป่าอย่างเดียวป่าก็ไม่สามารถที่จะอยู่กับเราได้ตลอด..."


           


ค่ายเยาวชนครั้งนี้ อาจเป็นเพียงค่ายเล็กๆ ที่มุ่งหวังให้เยาวชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตนเอง แต่การเริ่มต้นครั้งนี้ ก็เป็นเสมือนการเริ่มต้นเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งจิตสำนึกในใจของผู้เข้าค่าย


 


เมื่อต้นไม้ในใจนั้น หยั่งรากลึกและเติบโต


ป่าในใจย่อมเป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำแห่งการอนุรักษ์สืบต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net