Skip to main content
sharethis

 

บัณฑิตา อย่างดี


โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา




ปัจจุบันปาล์มน้ำมันถูกจับตามองมากขึ้น เมื่อรัฐบาลไทยมีนโยบายนำปาล์มน้ำมันมาผลิตไบโอดีเซลเพื่อทดแทนพลังงาน โดยจะเริ่มทดลองใช้ไบโอดีเซล B2 กับรถบรรทุก ในปี พ..2549-2553 ซึ่งจะผสมระหว่างไบโอดีเซลร้อยละ 2 กับน้ำมันดีเซลร้อยละ 98 หลังจากนั้นจะกำหนดให้ใช้ไบโอดีเซล B5 กับรถประเภทอื่นๆ ใน พ..2554 และเพิ่มเป็นไบโอดีเซล B10 ใน พ..2555




ทั้งนี้ เพื่อให้ภาพฝันของรัฐบาลเป็นจริง จะต้องผลิตไบโอดีเซลให้ได้มากถึง 8.5 ล้านลิตร/วัน ซึ่งจะต้องขยายพื้นที่สวนปาล์มเพิ่มอีกประมาณ 5 ล้านไร่ใน พ..2549-2552 รวมเป็นประมาณ 8 ล้านไร่ และจะเพิ่มเป็น 10 ล้านไร่ ภายใน พ..2572




ดังนั้น นับตั้งแต่ พ..2548 เป็นต้นมา ได้เกิดวาทกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการปลูกสร้างสวนปาล์มขึ้นมากมาย อาทิ ปลูกปาล์มทดแทนพลังงาน, ปลูกปาล์มช่วยชาติ, ปลูกปาล์มสร้างป่า, ปลูกปาล์มกำบังลม, เปลี่ยนนาร้างเป็นนาปาล์ม เป็นต้น




นอกจากนี้ รัฐบาลได้ส่งเสริมเงินทุน วัตถุดิบ และอื่นๆ แก่เกษตรกรอีกด้วย ส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่สวนปาล์มอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าพรุ ป่าสาธารณะของชุมชน และทุ่งนา เนื่องจากเหลือพื้นที่ว่างสำหรับปลูกปาล์มไม่มากนัก อีกทั้งปาล์มเป็นพืชที่กินอาหารมาก โดยกินน้ำมากถึงต้นละ 5-350 ลิตรต่อวันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ จึงจำเป็นต้องปลูกปาล์มในพื้นที่ชุ่มชื้น ซึ่งมีน้ำท่าและน้ำบาดาลสมบูรณ์ ตลอดจนมีฝนตกสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 1,800 มิลลิเมตร/ปี หรือประมาณ 150 มิลลิเมตร/เดือน และต้องไม่มีช่วงแล้งเกิน 60 วัน




อย่างไรก็ตาม จากรายงานการสำรวจวิจัยของ UNDP เมื่อ พ..2529 พบว่า ปริมาณน้ำฝนรวมของประเทศไทยต่ำกว่าระดับความต้องการของปาล์ม ทำให้มีระดับการขาดน้ำสูงถึง 208-675 มิลลิเมตร/ปี ส่วนปริมาณน้ำฝนของภาคใต้ ซึ่งมีฝนตกมากที่สุดในประเทศไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าจังหวัดทางภาคใต้ด้านชายฝั่งตะวันตก เช่น พังงา ระนอง กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส จะมีฝนตกมากและการกระจายค่อนข้างทั่วถึงทั้งจังหวัด ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกน้อยจนไม่เหมาะสมที่จะปลูกปาล์ม ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา ปัตตานี สงขลา ส่วนจังหวัดที่เหลือมีเฉพาะบางพื้นที่บางอำเภอเท่านั้นที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ




นอกจากนี้ ปาล์มน้ำมันต้องการแสงแดดประมาณวันละ 6 ชั่วโมง และต้องปลูกในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 300 เมตร มิฉะนั้นจะให้ผลผลิตน้อยและไม่คุ้มทุน จึงมีแนวโน้มว่าการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ตลอดจนทำให้ชาวสวนปาล์มจำนวนมากประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากพื้นที่เหล่านั้นไม่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของปาล์มน้ำมันหลายประการ อีกทั้งการทำสวนปาล์มยังเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเกษตรกร




ส่วนที่ดินที่ผ่านการทำสวนปาล์มมักจะเสื่อมสภาพ เนื่องจากระบบการผลิตส่วนใหญ่เป็นลักษณะเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น แต่แม้จะปลูกปาล์มแบบผสมผสานก็ทำได้ยาก เนื่องจากต้นปาล์มเป็นพืชที่สูงใหญ่เทอะทะปลูกได้เพียงไร่ละ 22 ต้น อีกทั้งมีรากฝอยที่แตกแขนงไปยาวไกล และหนักกว่าต้นละ 3 ตัน ส่งผลให้ปลูกพืชแซมสวนปาล์มได้ไม่กี่ชนิด สิ่งมีชีวิตในดิน เช่น ไส้เดือนก็ต้องชอนไชดินอย่างยากลำบาก เมื่อต้องการกำจัดซากและรากปาล์มเพื่อปลูกใหม่ก็ทำได้ยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยต้องจ้างรถแบ็คโฮมาขุดทำลายหรือใช้สารเคมีฆ่าต้นปาล์ม




น่าวิตกอย่างยิ่งที่รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ในส่วนงานวิจัยทุกสำนักล้วนจำกัดการศึกษาเพื่อค้นหาเทคนิคในการปลูกปาล์มแบบเชิงเดี่ยวให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยที่เปรียบเทียบระหว่างสวนปาล์มและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยกับประเทศคู่แข่ง และผลกระทบจากนโยบายเปิดการค้าเสรีไทย-อาเซียนอยู่บ้าง




อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยเสียเปรียบมาเลเซียและอินโดนีเซีย




จากการเปรียบเทียบระหว่างไทยกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบว่าไทยเสียเปรียบในทุกด้าน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซียที่ก่อร่างอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมาตั้งแต่ พ..2460 ขณะที่ไทยเพิ่งบุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเมื่อ พ..2512 หมายความว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยตามหลังมาเลเซียมาประมาณ 50 ปี




ในส่วนพื้นที่ปลูกปาล์มของไทยก็มีศักยภาพต่ำกว่ามาเลเซีย เนื่องจากสวนปาล์มของไทยได้รับความชุ่มชื้นจากน้ำฝนน้อยกว่า อีกทั้งในหลายพื้นที่ได้รับน้ำฝนน้อยกว่าความต้องการของต้นปาล์ม นอกจากนี้สภาพดินของมาเลเซียก็มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการปลูกปาล์มมากกว่าไทยอีกด้วย




เมื่อเปรียบเทียบด้านปัจจัยการผลิต พบว่าปุ๋ยเคมีและพันธุ์ปาล์มของไทยมีราคาสูงกว่ามาเลเซียมาก อีกทั้งพื้นที่สวนปาล์มประมาณหนึ่งในสามของไทยยังปลูกด้วยพันธุ์ปาล์มที่ด้อยคุณภาพ และเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังคงถูกหลอกขายพันธุ์ปาล์ม ทำให้ต้นทุนการผลิต (ไม่นับรวมค่าที่ดิน ค่าแรง และอื่นๆ) ของไทยสูงกว่ามาเลเซียเกือบเท่าตัว โดยไทยมีต้นทุนการผลิตกิโลกรัมละประมาณ 1.50 บาท ขณะที่มาเลเซียมีต้นทุนการผลิตไม่เกินกิโลกรัมละ 1.00 บาท (ข้อมูล พ..2541)




ในส่วนของขนาดของธุรกิจ ในปี พ..2545 มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีพื้นที่เก็บเกี่ยว21.1 ล้านไร่ และ 15 ล้านไร่ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 31.3 และ 22.2 ของพื้นที่เก็บเกี่ยวรวมของโลก ขณะที่ไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 1.4 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.02 เท่านั้น ทั้งนี้สวนปาล์มของมาเลเซียมีเพียง 2 ประเภท คือ กลุ่มของรัฐและกลุ่มของบริษัท ทำให้สามารถผลิตได้ตามหลักวิชาการ ต่างจากสวนปาล์มของไทยที่ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มบริษัท กลุ่มสหกรณ์และนิคม และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ซึ่งกลุ่มหลังเป็นเจ้าของพื้นที่ประมาณร้อยละ 70




จากปัจจัยความได้เปรียบของสวนปาล์มในมาเลเซียดังที่กล่าวมา ส่งผลให้มาเลเซียสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปีที่ 3 ขณะที่ไทยต้องเก็บเกี่ยวในปีที่ 4 อีกทั้งผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของมาเลเซียค่อนข้างสูงคือเฉลี่ยที่ 3.0 ตันต่อไร่ ขณะที่ไทยมีค่าเฉลี่ย 2.45 ตันต่อไร่ ต่ำกว่ามาเลเซียร้อยละ 18.33 นอกจากนี้ผลปาล์มของมาเลเซีย เมื่อนำมาสกัดน้ำมันแล้วจะมีอัตราให้น้ำมันสูงถึงร้อยละ 18 ขณะที่ไทยมีอัตราให้น้ำมันร้อยละ 14 เท่านั้น




นอกจากนี้ ต้นทุนการแปรรูปน้ำมันของไทยก็สูงกว่ามาเลเซีย คือไทยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.00 บาท ขณะที่มาเลเซียมีต้นทุนแปรรูปเฉลี่ยเพียง 0.80-1.00 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ส่วนต้นทุนการกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ของไทยก็สูงกว่ามาเลเซียเช่นเดียวกัน โดยไทยมีต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.72 บาท ขณะที่มาเลเซียมีต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.00 บาท (ข้อมูล พ..2541)




ในส่วนราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย พบว่าน้ำมันปาล์มของมาเลเซียมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันปาล์มของไทย ใน พ..2545 น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เฉลี่ยของมาเลเซียมีราคาเพียง 16.58 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เฉลี่ยของไทยมีราคา 25.88 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เฉลี่ยของประเทศมาเลเซียใน พ..2546 มีราคา 18.94 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ของไทยมีราคา 27.98 บาทต่อกิโลกรัม




สำหรับการส่งเสริมของรัฐบาล มาเลเซียมีองค์กรบริหารปาล์มน้ำมันที่ค่อนข้างชัดเจน และครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะ Plam Oil Registration and Licensing Authority (PORLA) เป็นองค์กรที่ดูแลการควบคุมการผลิตแบบครบวงจร ส่วน SDRIM จะเป็นองค์กรดูแลด้านคุณภาพและออกใบอนุญาต นอกจากนี้ยังมีองค์กร Plam Oil Registration Institute Of Malaysia (PORIM) จะเป็นหน่วยค้นคว้า วิจัย และพัฒนา และองค์กร MPOPC จะเป็นหน่วยส่งเสริมการค้าและตลาด เป็นต้น ในขณะที่ไทยยังไม่มีองค์กรบริหารใดที่ดูแลเรื่องปาล์มน้ำมันอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง




ทั้งนี้ แม้ไทยจะมีน้ำมันปาล์มเหลือใช้สำหรับส่งออกประมาณปีละ 1-2 แสนตัน จากผลผลิตน้ำมันปาล์มประมาณปีละ 1 ล้านตัน และผลปาล์มสดประมาณปีละ 6 ล้านตัน แต่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนเชื่อถือในคุณภาพของน้ำมันปาล์มที่ผลิตจากมาเลเซีย ในส่วนราคาน้ำมันปาล์มของมาเลเซียก็ต่ำกว่าไทยค่อนข้างมาก อีกทั้งไทยไม่สามารถผลิตน้ำมันปาล์มบางชนิดได้




นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลานานและทำเป็นขบวนการใหญ่ ขบวนการดังกล่าวมีผู้มีอิทธิพลให้การสนับสนุน ตลอดจนมีการใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ประมาณการว่าน้ำมันปาล์มที่ลักลอบนำเข้ามามีปริมาณมากถึงปีละ 30,000 ตัน




อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเสียเปรียบมาเลเซียในทุกด้านและประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเถื่อน แต่ก็ยังมีการกำหนดให้น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าที่จะต้องลดภาษีหลังจากมีการเปิดการค้าเสรีไทย-อาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ใน พ..2546




ผลิตน้ำมันปาล์มป้อนไบโอดีเซลไม่ใช่ทางออกของคนไทย




ผลจากการเปิดการค้าเสรีไทย-อาเซียน ส่งผลให้ไทยต้องลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มเหลือร้อยละ 5 ใน พ..2546 และเหลือร้อยละ 0 ใน พ..2548 ทั้งนี้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าและได้ผลผลิตที่ต่ำกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย




กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจาก AFTA รองลงมา คือโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม หากชาวสวนปาล์มผลิตปาล์มน้ำมันป้อนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มน้อยลง ขณะที่โรงงานสกัดต้องแบกรับต้นทุนการผลิตสูง และผู้ผลิตไบโอดีเซลรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบในราคาที่สูงกว่าโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มรับซื้อ โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มก็อาจประสบปัญหาขาดวัตถุดิบได้ และต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ก็จะสูงขึ้น เป็นผลให้แข่งขันกับน้ำมันปาล์มที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ ได้ยากขึ้น




จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า หากไทยต้องลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มเหลือร้อยละ 20 ร้อยละ 5 และร้อยละ 0 จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ลดลงเหลือกิโลกรัมละ 18.31 บาท 15.98 บาท และ 15.20 บาท ตามลำดับ จะส่งผลให้เกษตรกรขายได้ลดลงเหลือกิโลกรัมละ 1.67 บาท 1.45 บาท และ 1.41 บาท ตามลำดับ และทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ไป เท่ากับ 4,975.70 ล้านบาท 5,510.60 ล้านบาท และ 5,628.90 ล้านบาท ตามลำดับ




แม้รัฐบาลอ้างว่าการนำน้ำมันปาล์มมาผลิตไบโอดีเซลจะช่วยเปิดตลาดน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะช่วยให้น้ำมันปาล์มมีราคาสูงขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกสำหรับชาวสวนปาล์ม รวมทั้งไม่ใช่ทางออกของคนไทย เพราะหากมีการขยายพื้นที่สวนปาล์มตามที่รัฐบาลกำหนด ประเทศไทยจะต้องสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งปอดที่สำคัญของโลกไปโดยประมาณค่าไม่ได้ และยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมได้อีก




ในส่วนประสิทธิภาพของไบโอดีเซลต่ำกว่าน้ำมันดีเซลมาก อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่อรถยนต์ เช่น ทำให้ไส้กรองอุดตัน เกิดการสะสมของตะกอนในถังน้ำมัน เป็นต้น ตลอดจนส่งผลกระทบทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ทำมาจากยางธรรมชาติสึกหรออย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ผลิตก่อน พ..2535 ซึ่งยังไม่ได้นำสารมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อป้องกันผลกระทบจากไบโอดีเซล แม้จะผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลเพียงร้อยละ 2 ร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 ตามที่รัฐบาลกำหนดก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะ และรถเก๋ง




ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มตามสภาพความเป็นจริง และควบคุมไม่ให้มีการปลูกปาล์มในพื้นที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมให้ชาวสวนปาล์มมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเกษตรกรรายย่อย กระจายการถือครองที่ดิน ควบคุมกลไกตลาดให้เป็นธรรม ส่งเสริมให้ชาวสวนปาล์มมีรายได้เสริม เป็นต้น เมื่อชาวสวนปาล์มมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้วก็จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกทางหนึ่งด้วย




.....................................................................




ข้อมูลประกอบ




ตารางที่ 1 ปัจจัยที่ช่วยให้สวนปาล์มของมาเลเซียมีศักยภาพในการแข่งขันสูง







































มาเลเซีย


ไทย


ปริมาณน้ำฝน (มม. / ปี)


ตะวันตก


ตะวันออก


2,300


2,322


กระบี่


สุราษฎร์ธานี


ชุมพร


ประจวบคีรีขันธ์


1,852


1,710


2,029


1,160


ระดับการขาดน้ำ (มม. / ปี)


ตะวันตก


ตะวันออก


5


12


กระบี่


สุราษฎร์ธานี


ชุมพร


ประจวบคีรีขันธ์


369


509


208


616


จำนวนวันขาดน้ำ (วัน)


ไม่เกิน 60 วัน


กระบี่


สุราษฎร์ธานี


ชุมพร


ประจวบคีรีขันธ์


90


120


82


195


ต้นทุน (บาท/ กก.)


ต้นทุนเฉลี่ย (บาท/กก.)


ผลผลิต (ตัน/ไร่)


0.79 - 1.04


0.915


3.2


1.43 - 1.52


1.475


1.9 - 2.2


ที่มา : กรมวิชาการเกษตร, 2541








ตารางที่ 2 ผลกระทบด้านรายได้ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน


เมื่อลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าน้ำมันปาล์ม เหลือร้อยละ 5 และ 0




































รายการ


2540


อัตราภาษีร้อยละ 5


อัตราภาษีร้อยละ 0


ร้อยละ 20


ผลที่เกิด


ส่วนต่าง


ผลที่เกิด


ส่วนต่าง


1.น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์
1.1)ราคา FOB ตลาดมาเลเซีย เฉลี่ยปี พ..2540 (บาทต่อกิโลกรัม)
1.2)ราคานำเข้า ณ โรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (บาทต่อกิโลกรัม)




17.60


22.61








19.83








-2.78








18.91








-3.70


2.ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อ


2.1)โรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์

-
ราคาขายส่งน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เฉลี่ย ปี พ..2540 (บาทต่อกิโลกรัม)
-รายได้ (ล้านบาท)
2.2)โรงงานแปรรูปน้ำมันดิบ
-ราคาขายส่งน้ำมันปาล์มดิบ (บาทต่อ กิโลกรัม)
-รายได้ (ล้านบาท)
2.3)เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน
-ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา (บาทต่อกิโลกรัม)
-รายได้ (ล้านบาท)









24.03
8,108.04



16.60
7,466.61



2.17
5,818.40









19.83
6,690.91




11.72
5,271.61




1.50
4,021.94









-4.20
-1,417.13




-4.88
-2.195.00




-0.67
-1.796.48









18.91
6.380.49




11.03
4,961.25




1.39
3,726.99









-5.12
-1.727.55




-5.57
-2.505.38




-0.78
-2,091.41


ที่มา : วงศ์ขจร ทรัพย์เจริญวงศ์




เอกสารประกอบการเขียน


นันทรัตน์ จันทร์แสง. ผลกระทบของเขตการค้าเสรีอาเซียนต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาพัฒนาการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , 2544.


วิจิตร ว่องวารีทิพย์. รายงานฉบับสมบูรณ์เรื่อง ลู่ทางและโอกาสกานส่งออกและผลกระทบจากการมีเขตการค้าเสรีอาเซียน (สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม). ฝ่ายแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2539.


วงศ์ขจร ทรัพย์เจริญวงศ์. นโยบายในการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของประเทศไทย จากเขตการค้าเสรีอาเซียน. วิทยานิพนธ์ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารทั่วไป) มหาวิทยาลัยบูรพา, 2544.


www.cedis.or.th ปาล์มน้ำมัน...จากน้ำมันพืชถึงไบโอดีเซล. สืบค้นวันที่ 25 ธันวาคม 2549.


www.kasetcity.com ทิศทางการใช้พลังงานไบโอดีเซล. สืบค้นวันที่ 5 มกราคม 2550.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net