เมืองไทยหลังขิงแก่ 2 : รัฐธรรมนูญ 50 ทำให้รัฐบาลเป็นเพียง "ปลัดประเทศ"

ประชาไท - 30 เม.ย.2550 วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา โครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน จัดเวทีเสวนา เมืองไทย : หลังขิงแก่ 2 "รัฐธรรมนูญฉบับบเนติบริกร - รัฐศาสตร์บริการ กับอนาคตการเมืองไทย" ณ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่ค่อยชัดเจน เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเดาว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบอบทักษิณอีกจึงร่างด้วยความกลัว ในความเห็นส่วนตัว ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปควรมี 2 เป้าหมาย เป้าหมายแรกคือการทำให้ตลาดหรือสังคมการเมืองแข่งขันได้มากขึ้น ส่วนเป้าหมายที่ 2 คือ การสถาปนาธรรมาภิบาลในสังคมการเมือง 

 

นอกจากนี้ ศ.รังสรรค์ ยังวิพากษ์ประเด็นสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ควรต้องกังขาแต่ที่ผ่านมาในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งมักได้รับการยอมรับอย่างเป็นจารีตที่ลงตัว ประเด็นหนึ่งได้แก่เรื่องการดำรงหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 เขียนหมวดดังกล่าวได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับ แต่คำถามพื้นฐานคือมีบทบัญญัตินี้เพื่ออะไร เพราะทุกรัฐบาลเวลาแถลงนโยบายต่อสภาต้องแถลงว่านโยบายของรัฐบาลข้อไหนเป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาลต้องจัดทำแผนการบริหารนโยบายที่อยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาลต้องจัดทำแผนการตรากฎหมายของนของนโยบายที่อยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แต่ไม่มีบทบัญญัติว่าถ้ารัฐบาลไม่ทำ จะถูกลงโทษอย่างไร ดังนั้นจึงบังคับไม่ได้

 

อีกทั้งบทบัญญัติแนวนโยบายนี้ขัดกันไปหมดไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ด้านหนึ่งบอกว่าให้รัฐบาลยึดแนวเศรษฐกิจเสรีนิยม อีกด้านว่าต้องจัดระบบรัฐสวัสดิการ มิหนำซ้ำรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นหากรัฐบาลนำบทบัญญัติไปทำทุกนโยบายขนาดของภาครัฐจะต้องใหญ่โตมาก 

 

"พูดมาหลายครั้งเป็นเวลาหลายปี ทั้งที่เป็นจารีตที่ลงตัวแล้ว แต่ทุกครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยกังขาว่าควรมีหมวดนี้หรือไม่ มีแต่จะเอาใส่นโยบายใหม่ใส่เข้าไปในหมวดนี้ ทั้งที่ ในข้อเท็จจริงในสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลควรมีเสรีภาพในการเสนอเมนูนโยบายให้ประชาชนเลือก ประชาชนควรมีเสรีภาพที่จะเลือกเมนูนโยบายต่างๆที่พรรคการเมืองเสนอให้ แต่กลายเป็นรัฐธรรมนูญบังคับว่า รัฐบาลต้องเลือกเมนูนโยบายที่กำหนดโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ประชาชนต้องเลือกเมนูนโยบายที่กำหนดโดย ส.ส.ร. คิดว่ามันขัดต่อจิตวิญญาณประชาธิปไตย" ศ.รังสรรค์ กล่าว

 

ในด้านผลกระทบที่คาดว่าน่าจะเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2550 ศ.รังสรรค์ ระบุว่า ด้านแรกคือส่งผลต่อโครงสร้างต่อชนชั้นปกครอง เพราะพื้นฐานรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นอมาตยาธิปไตย ถ้ามีผลบังคับ กลุ่มพลังอมาตยาธิปไตยจะมีพื้นที่ในชนชั้นปกครองมากขึ้นโดยมาจากการแต่งตั้ง ส.ว. และองค์กรอิสระ 

 

ผลกระทบอีกประการหนึ่งคือมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดการเมือง แต่ประเด็นนี้ยังไม่สามารถให้บทวิเคราะห์ได้ชัดเพราะกฎกติกาทางการเมืองหลายประเด็นยังไม่ชัด เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ยังไม่ออกมา แต่เท่าที่ดูจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 เชื่อว่าแตกต่างกันไม่มาก ในตลาดนักการเมือง ส.ส.ยังคงต้องสังกัดพรรค จึงยังมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดการเมือง แต่สิ่งที่ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ส.ส.ไม่ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่สำหรับ ส.ว. ยังบรรจุให้ต้องจบปริญญาตรีแสดงว่าระบอบบัณฑิตยาธิปไตยยังไม่หมดไป

 

ผลกระทบที่ 3 รัฐธรรมนูญ 2540 มีสิ่งจูงใจที่จะทำให้เป็นการเมืองแบบทวิพรรค แต่รัฐธรรมนูญ 2550 มีแนวโน้มเบนไปสู่การเป็นการเมืองแบบพหุพรรค อันเนื่องมาจากการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพวงใหญ่ แทนการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว โดยการเลือกใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ไม่ใช่เพราะเชื่อว่าดีกว่าเดิม แต่เป็นเพราะกลัวระบอบทักษิณ ข้อสังเกตคือ ส.ส. จากรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีปัญหาเรื่องการเป็นผู้แทนของปวงชน เพราะ ส.ส. จากระบบแบบแบ่งเขตพวงใหญ่ อาจมีคะแนนเพียง 20 เปอร์เซ็นต์จากเขตก็เป็นส.ส.ได้ 

 

ด้าน ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญในแง่กฎหมายก็คือสถาบันซึ่งคำว่า สถาบัน หมายถึง อะไรก็ตามที่มีโครงสร้าง มีวัตถุประสงค์ มีบทบาทหน้าที่  และสนองความต้องการสังคม โดยการจะตอบสนองบทบาทอะไรบางอย่างในสังคมจำเป็นต้องมีความชอบธรรมดำรงอยู่ด้วย ดังนั้นสถาบันจึงเกี่ยวข้องกับความชอบธรรม ทั้งนี้ ความชอบธรรมหมายถึงการยอมรับเพื่อดำรงไว้ซึ่งความต้องการบางอย่างของสังคม แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมโดยมีมีเรื่องคุณค่า เป็นตัวสะท้อนภาพ

 

สำหรับคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นสะท้อนภาพ การจัดสัมพันธภาพทางการเมือง สิ่งที่สอดสอดแทรกคือเรื่องที่มารัฐธรรมนูญมาจากไหน ในระบอบประชาธิปไตย คุณค่าที่ใช้ประเมินรัฐธรรมนูญคืออำนาจสูงสุดมีที่มาจากปวงชนหรือไม่  หลักเกณฑ์ต่างๆเป็นไปเพื่อส่งเสริมอำนาจประชาชนเป็นสิ่งสูงสุดหรือไม่ 

 

ดังนั้น ประเด็นที่มาของรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าที่มาชอบธรรมสูง หลักเกณฑ์ที่ตามมามักจะได้รับการยอมรับไปด้วยโดยไม่ได้หมายความว่าดีหรือไม่ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 มีความชอบธรรมสูงมากที่สุดที่เคยมีมา ทำให้อะไรที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญนี้จะชอบธรรมสูงตามไปด้วย แต่ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 จะไม่ต้องแก้อะไรเลย รัฐธรรมนูญ 2540 หากมองย้อนถึงที่มาแล้วมีต้นเหตุมาจากการรัฐประหาร 2534  ถึง 2540 อันเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยมีเจตจำนงชัดเจนว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาอะไรแล้วจึงวางหลักการลงไป จึงมีความชอบธรรมในตัวมันเองสูง เพราะมาจากจิตวิญญาณในการแก้ปัญหาระบอบการเมืองจึงตามมาด้วยการยอมรับ เพียงแต่ในส่วนที่มีปัญหาต้องช่วยกันติติงแก้กันไป ถือว่าเป็นจุดเริ่มที่ดีที่จะวางรากฐานทางการเมืองในอนาคตของสังคมไทย 

 

แต่ประเด็นต่อเนื่องคือ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หากผ่านประชามติและบังคับใช้ จะทำให้การเมืองย้อนกลับไปสู่ก่อน 2540 โดยเฉพาะในเรื่องหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติให้มีสภาพอำนาจบังคับให้รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องแจกแจงต่อสภาและต้องมีแผนกฎหมาย จึงกลับมาสู่ประเด็นว่าจะทำอย่างไรกับนโยบายของทุกพรรคการเมือง เพราะไม่ว่าจะหาเสียงอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อได้มาสู่ตำแหน่งในรัฐบาลต้องทำตามหมวดนี้ บอกได้ว่าจะได้รัฐบาลที่เป็นเพียงปลัดประเทศ แต่จะไม่ได้รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์อะไรเลย แม้รัฐบาลทักษิณจะแย่แค่ไหน แต่ก็สู้ด้วยนโยบาย การระบุแบบนี้เป็นการตัดวิสัยทัศน์ของสังคม ทั้งที่พรรคการเมืองควรจะเป็นผู้เสนอวิสัยทัศน์ให้สังคมไทยเลือก ต่อไปจะทำอะไรแนวนโยบายแห่งรัฐจะเป็นตัวกำหนด

 

ดร.ฐาปนันท์ ยังกล่าวถึง มาตราที่ 65 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พูดถึงสิทธิของบุคคลในการต่อต้านวิถีหรือการดำเนินการใดที่ได้มาโดยนอกรัฐธรรมนุญ ที่นำมาบัญญัติไว้ด้วยใน รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรคแรก แต่เพิ่มวรรคสองว่าในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวประเด็นนี้ต่อไปจะถกเถียงกันเป็นประเด็นใหญ่

 

ทั้งนี้ ในตรรกกะของสังคมไทย รัฐธรรมนูญ 2540 บอกว่าทุกคนมีสิทธิต้านรัฐประหาร แต่แล้วมันก็เกิดการรัฐประหาร เมื่อนำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มันเป็นการเกิดในบริบทการรัฐประหารที่ผ่านไปแล้ว และเมื่อดู มาตรา299 พูดว่า เรื่องการกระทำใดๆที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติไว้ว่าชอบด้วยกฎหมายให้ถือว่าชอบด้วยในรัฐธรรมนูญ 2550 เช่นกัน

 

ดังนั้นสิทธิในการต้านรัฐประหารมันเกิดใบริบทที่รัฐประหารไปแล้วและถูกทำให้ชอบโดยรัฐธรรมนูญ 2550

 

เรามีสิทธิต้านรัฐประหารตามร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อทำรัฐประหารแล้วก็ชอบด้วยกฎหมาย จึงย้อนกลับมาตั้งแต่ประเด็นเรื่องความชอบธรรม ในแง่นิติศาสตร์ต้องยืนยันด้วยหลักการ มันบอกไม่ได้ว่ามันชอบธรรม ผิดก็คือผิด 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท