Skip to main content
sharethis


 



 



 


ประชาไท 30 เม.ย. 50 - วานนี้ (29 เม.ย. 50) เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร จัดชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลาประมาณ16.30 น. ท่ามกลางฝนตกปรอยๆ โดยผู้ชุมนุมค่อยๆ ทยอยกันมาจับจองที่นั่งฟังการปราศรัย หลังจากนั้น เมื่อเวลาประมาณ 18.15 น. ผู้ชุมนุมจึงเริ่มเดินขบวนไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อนำผ้าสีดำไปคลุมพานรัฐธรรมนูญ


 


ระหว่างการเดินขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมมีการตะโกน "50 ไม่เอา" และ "40 คืนมา" ตลอดทาง เพื่อจะยืนยันการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชอบธรรม และต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด


 


กลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 400 คน เดินขบวนผ่านถนนราชดำเนินและมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาประมาณ 18.45 น. จากนั้นจึงนำบันไดมาพาดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรับอาสาสมัครจากผู้ร่วมชุมนุมเพื่อจะปีนขึ้นไปคลุมผ้าดำพานรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นตัวแทน 6 คนจึงปีนขึ้นไปดำเนินการคลุมผ้าดำ นอกจากนี้ยังมีการแจกจ่ายแถลงการณ์ 'คำประกาศ 7 เดือน รัฐประหาร : ประชามติล้มรัฐธรรมนูญ เท่ากับ ล้มเผด็จการ ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 ยุติวงจรอุบาทว์การเมืองไทย' อีกด้วย (ดูรายละเอียดที่ล้อมกรอบ)



 


นายแพทย์เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย กล่าวว่า คลุมผ้าดำเพื่อจะบอกว่าตอนนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญอยู่ เพราะ คมช.เข้ามาล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2540) ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารนั้นก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐธรรมนูญ และเมื่อไรที่ คมช.ออกไป และนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ก็เปรียบเสมือนได้สิทธิเสรีภาพของประชาชนคืนมา


 


นอกจากนี้นายแพทย์เหวง ยังกล่าวอีกว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีการปรับแก้อย่างไรก็ยืนยันจะไม่รับ เพราะมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม ขณะที่เนื้อหาก็ไม่ได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และการที่มีมาตรา 299 เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมปรากฏอยู่ก็ยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ชอบธรรมยิ่งขึ้น


 







คำประกาศ 7 เดือน รัฐประหาร


ประชามติล้มรัฐธรรมนูญ เท่ากับ ล้มเผด็จการ ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 ยุติวงจรอุบาทว์การเมืองไทย


           


            นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ปัญหาแกนกลางของการเมืองไทยตลอดเกือบ 75 ปีที่ผ่านมา คือ การต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่าแก่(เก่ากว่ารัฐบาลทักษิณ)กับอำนาจใหม่ คือระบอบประชาธิปไตย หรือกล่าวอีกอย่างในทางรูปธรรม คือ ไม่สามารถดึงอำนาจรัฐที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงและควบคุมโดยประชาชนผ่านรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้ อำนาจเก่าแก่ที่ตกค้างจากระบอบเก่าจึงยังคงสำแดงพิษสงคอยบงการแทรกแซงเหนี่ยวรั้งการเมืองไทยทำให้ระบอบประชาธิปไตยถดถอยล้าหลังอยู่มิได้ว่างเว้น อำนาจเก่าแก่จึงเปรียบเหมือน "มือไม่มองไม่เห็น" ที่อยู่เบื้องหลังความเลวร้ายทั้งปวง แม้บางช่วงเวลาระบอบประชาธิปไตยทำท่าว่าจะลงหลักปักฐานมั่นคง แต่ก็ต้องโดนอำนาจเก่าแก่ทำให้พังลงทุกทีไป


            นับแต่ความพ่ายแพ้ของทหารในการปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 รวมถึงผลพวงของการปฏิรูปการเมืองจนได้รัฐธรรมนูญ 2540 ประชาธิปไตยไทยเริ่มลงหลักปักฐานมั่นคงขึ้นเรื่อยๆอำนาจเก่าแก่และเครือข่ายของพวกเขาเริ่มสูญเสียอำนาจนำ ไม่สามารถแทรกแซงการเมืองได้สะดวกอย่างเคย กองทัพถูกควบคุมโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากขึ้น เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือระบบราชการ พรรคการเมืองเข้มแข็งมากพอจะเสนอนโยบายและผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง กลุ่มพลังต่างๆในสังคมสามารถเติบโตเข้มแข็งอย่างมีนัยสำคัญทางการเมือง ระบบการเมืองอีกมากมายหลายส่วนยึดโยงกับรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากขึ้น ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สั่นคลอนอำนาจเก่าที่ว่าทั้งสิ้น ยังไม่นับว่ากำลังจะมีการผลัดเปลี่ยนครั้งสำคัญในส่วนบนสุดของอำนาจเก่าแก่ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะต้องตกอยู่ภายใต้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งยึดโยงกับประชาชน สิ่งต่างๆเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่อำนาจเก่าแก่และเครือข่ายของพวกเขาไม่อาจยอมได้


            เมื่ออำนาจเก่าแก่ทำท่าว่าจะพ่ายแพ้ตลอดกาล การรัฐประหาร 19 กันยาจึงเกิดขึ้นเพื่อทวงคืนเพื่อรื้อฟื้นอำนาจเก่าแก่ให้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง ด้วยการรื้อฟื้น "ระบอบเปรม" ให้ฟื้นคืนกลับมา ระบอบเปรมเป็นระบอบที่อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจแท้จริงอยู่ที่ชนชั้นสูง ทหาร ระบบราชการที่สามารถบงการควบคุมการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกทีหนึ่ง แต่การจะรื้อฟื้นได้สำเร็จก็ต้องอาศัยการปรับโครงสร้างอำนาจครั้งใหญ่ผ่านทางการร่างรัฐธรรมนูญ


            การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จึงเป็นไปเพื่อตอบสนองสิ่งดังกล่าว และร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีลักษณะสำคัญคือ


1.       มีที่มาอันไม่ชอบธรรม เกิดจากการรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540


2.       กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ นับแต่การสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ การคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) หรือกระทั่งการได้มาของกรรมาธิการยกร่าง ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของ คมช. หาได้มีอิสระอย่างแท้จริงไม่ นอกจากนั้นระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ปรากฎมีการกดดันหรือชี้นำจากแกนนำคณะรัฐประหารและผู้สนับสนุนการรัฐประหารอยู่เสมอ


3.       ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีเจตนารมณ์ในการสืบทอดอำนาจอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ


-          ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มิได้อ้างอิงอำนาจจากประชาชน แต่อ้างอิงอำนาจเอาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 โดยเฉพาะการรับรองการกระทำทั้งปวงของคณะเผด็จการว่าไม่เป็นความผิด (มาตรา 299) ซึ่งเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์รับใช้เผด็จการอย่างชัดเจน


-          ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ละเลยปัญหาบทบาทของทหาร และความสัมพันธ์ของทหารกับการเมือง ทั้งๆที่ทหารเป็นปัญหาสำคัญทางการเมืองมาโดยตลอด การรัฐประหารจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับทหารตลอดมา


-          ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดเด่นในการสืบทอดอำนาจเชิงสถาบันขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ อาทิเช่น


-          กำหนดให้ ส.ว. มาจากการสรรหา โดยคนเพียง 7 คน ขณะเดียวกันก็ยังให้อำนาจล้นฟ้าในการแต่งตั้งถอดถอนนักการเมือง องค์กรอิสระ กลั่นกรองกฎหมาย ฯลฯ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เห็นหัวประชาชนแต่ให้อภิสิทธิ์แก่คนแค่ 7 คนใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน


-          องค์กรแก้วิกฤติ(มาตรา68วรรค2)เป็นการเปิดช่องให้มีการทำรัฐประหารโดยไม่ต้องใช้กำลังด้วยคนแค่ 11 คน ซึ่งจะทำให้การรัฐประหารโดยกำลังทหารหมดไป แต่จะเกิดรัฐประหารโดยไม่ต้องใช้กำลังซ้ำซากไม่สิ้นสุด และจะเป็นการสร้างปิศาจ/ผู้มีบารมีในรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจเหนืออธิปไตยของปวงชนขึ้นมาอีกคนหนึ่ง


-          เพิ่มอำนาจตุลาการมากเกินไปในการสรรหาองค์กรอิสระและสรรหา ส.ว. รวมทั้งในองค์กรแก้วิกฤติตามมาตรา68วรรค2เป็นการดึงศาลมาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป ศาลจะมีลักษณะเป็นการเมืองมากขึ้น ในท้ายที่สุดศาลจะไม่สามารถเป็นกลางทางการเมืองและไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ใครได้


-          กำหนดให้ลดจำนวน ส.ส. เปลี่ยนวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ระบบสัดส่วนตามภาค วิธีนี้เป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอ เพราะพรรคการเมืองเป็นหนามยอกอกของอำนาจเก่าแก่นั่นเอง และปัญหาในทางปฏิบัติที่อาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิทางการเมืองของประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 นี้ อำนาจเก่าแก่สามารถเข้าไปยึดกุมโครงสร้างหลักๆข้างต้นได้อย่างง่ายดาย สังคมการเมืองไทยใต้บงการของอำนาจเก่าแก่นี้จึงอยู่แค่เอื้อม


 


 


เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่คั่งค้างมาเกือบ 75 ปี จำเป็นต้องโค่นล้มเผด็จการ คมช. ยุติการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ ดึงอำนาจเก่าแก่ให้มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง อำนาจเก่าแก่ในปัจจุบันเป็นเพียงความชั่วร้ายที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป ยุคสมัยของพวกเขาได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว นี่คือการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของพวกเขา


ขอให้พี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจงร่วมใจกันปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจนี้ด้วยการลง "ประชามติ" ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ เมื่อเผด็จการถูกโค่นล้มลงก็เท่ากับเป็นการตัดแขนขาอำนาจเก่าแก่ ทำให้การดึงอำนาจเก่าแก่เข้ามาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญมีความเป็นไปได้ หากไม่สามารถจัดการกับอำนาจเก่าแก่นี้ได้ก็ยากจะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไปได้


-          การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ 2550 คือ การล้มเผด็จการ


-          การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ 2550 คือ การทำให้รัฐประหาร 19 กันยา ล้มเหลว


-          การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ 2550 คือ การทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540


-          การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ 2550 คือ อำนาจเก่าแก่ล้มเหลว


-          การลงประชามติล้มรัฐธรรมนูญ จึงหมายถึง ล้มเผด็จการ ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540 และยุติวงจรอุบาทว์การเมืองไทย


 


 


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


ประกาศ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


29 เมษายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net