Skip to main content
sharethis

วานนี้ (27 เม.ย.) ที่ราชบัณฑิตยสถาน สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ได้จัดเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญกับอนาคตของชาติ"


 


 


บวรศักดิ์ชี้ถ้าไม่ไตร่ตรอง รธน.ฉบับวัฒนธรรม รธน.ใหม่จะเปิดปัญหาแบบ "40


นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญปี 2540 คือแม้ว่าจะมีโครงสร้างทางกฎหมายที่เป็นสากลแต่สังคมไทยยังมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ อยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบโบราณ เราจึงมีรัฐบาลที่มาจากคนจนที่ถูกอุปถัมภ์ด้วยนโยบายประชานิยม คนชั้นกลางจึงลุกขึ้นมาล้มรัฐบาลในที่สุดทหารก็ต้องมายุติปัญหาก่อนจะเกิดการนองเลือด ดังนั้นจึงต้องถามว่าจริงๆแล้วรัฐธรรมนูญ 40 ล้มเหลวหรือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยล้มเหลว ซึ่งคำถามนี้ถ้ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาร่างรัฐธรรมไม่ตอบและไม่ไตร่ตรองให้ชัดเจน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับฉบับปี 40


 


 


ชูพิมพ์เขียว รธน. รัฐบาลมั่นคง ตรวจสอบเข้มแข็ง ประชาชนมีส่วนร่วม


"พิมพ์เขียวในใจของผมถ้าเป็นกมธ.ยกร่างฯก็คือรัฐธรรมนูญต้องทำให้ 1.ต้องสร้างรัฐบาลที่มีความมั่นคงไม่กลับไปก่อนปี 2540 ให้ได้ 2.ระบบตรวจสอบอิสระต้องเข้มแข็งขึ้น 3.ขยายพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น" นายบวรศักดิ์ กล่าว


 


นายบวรศักดิ์ยังยืนยันว่า การได้รัฐบาลเข้มแข็งนั้นต้องออกแบบระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวเท่านั้น เพราะระบบนี้จะทำให้คนที่แม่ฮ่องสอน มี 1 เสียงเท่ากับคนกรุงเทพฯ ขณะที่พรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายประชันกันได้ คนที่ไม่มีเงินจะได้มีเวลาหาเสียงได้ทั่วถึงเพราะเขตเล็ก แต่เขตใหญ่ 3 คนนั้นอธิบายไม่ได้ว่าทำไมแม่ฮ่องสอนได้ส.ส. 1 คนแต่ทำไมกทม.ได้ถึง 3 คน ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ต้องแบ่งเป็น 4 ภาคเช่นเดียวกับที่กมธ.ร่างไว้ แต่จำนวนส.ส.จะไม่ไปแตะต้องเพราะไม่ใช่ปัญหา และเพื่อเป็นการไม่ก่อให้เกิดปัญหากับพรรคการเมืองในการเตรียมตัวเลือกตั้ง


 


 


ชี้เลือกตั้งระบบพวง พรรคจะอ่อนแอ


นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าระบบเขตใหญ่ 3 คนอยากให้พรรคอ่อนแอที่สุด เจ๊งที่สุด ระบบนี้ พรรคจะแข่งกันเองและหักหลังกันเอง และเงินจะสะพัดในพื้นที่ เพราะพรรคจะทุ่มมหาศาลซื้อเสียง พรรคแอลดีพีในญี่ปุ่นเคยยับเยินมาแล้วด้วยระบบนี้ในที่สุดญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ระบบนี้กรรมาธิการยกร่างฯก็รู้อยู่แล้วว่าจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอแต่ก็จงใจให้เกิดขึ้นนายจรัญ (ภักดีธนากุล) ก็พูดชัดว่าทำอย่างนี้พรรคการเมืองจะได้ไม่ต้องเข้มแข็งอหังการมากนัก ท่านจึงออกแบบให้รัฐบาลอ่อนแอ


 


"ถ้าเป็นอย่างนี้โดยไม่มีการแก้ไข ผมพยากรณ์ให้บันทึกไว้ที่ราชบัณฑิตได้เลยว่ารัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐบาลแบบก่อนปี 40 คืออยู่แค่ 8 เดือนหรือ 1 ปี ขณะที่ระบบตรวจสอบเพิ่มขึ้น ตุลาการภิวัฒน์มากขึ้น อำนาจประชาชนเพิ่มมหาศาล มันไม่ช่วยอะไรเลย เราจะได้รัฐบาลที่ไม่ทำอะไรเลย บริหารตามระเบียบราชการเฉยๆโดยเฉพาะให้คนฟ้องร้องรัฐได้ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้ทุกเรื่อง รัฐบาลจะไม่กล้าทำอะไรเลย กลัวไปหมด"นายบวรศักดิ์ กล่าว


 


 


เมินเลือก ส.ว. เสนอลากตั้ง อ้างได้ตัวแทนหลากหลาย ตัดตอน ส.ว. ตัวแทนคนชนบท


นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับที่มา ส.ว. นั้นจะต้องไม่เลือกตั้ง เพราะเราต้องการ ส.ว.ที่มีความต่างจากส.ส.มีสภาแบบพหุนิยม ประกอบด้วยคนจากหลายหลายอาชีพทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งถ้าใช้ระบบเลือกตั้งเราจะไม่ได้คนลักษณะนี้แต่จะสะท้อนตัวแทนจากคนชนบทเช่นเดียวกับ ส.ส.แต่จะไม่ได้กลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆ เช่น ชนชั้นกลางในเมือง ข้าราชการ ทหาร พลเรือน อย่างไรก็ตามการจะใช้ระบบแต่งตั้งสังคมไม่ยอมรับ แต่ ดังนั้นต้องหาจุดตรงกลางคือสรรหาและเลือกตั้ง


 


ในส่วนของกรรมการสรรหานั้นควรจะมาจากอดีตประธานศาลฎีกา อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี โดยเลือกประชาชนจากบุคคล 4 กลุ่มคือ 1.ข้าราชการ ทหาร พลเรือน 2.ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม 3.ทนายความ แพทย์ สื่อมวลชน และ 4.เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะสมัครเองหรือให้กรรมการเลือกมาก็ได้ 400 คนแล้วให้ประชาชนเลือกตั้งทั่วประเทศคนละ 1 เสียงเหลือ 200 คน มีวาระ 6 ปี เราจะได้ ส.ว. ที่มาจากประชาชนมีสิทธิถอดถอน หรือเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ เสนอกฎหมายได้


 


 


ยุเขียน ม.68 ใช้งานง่ายและใช้ได้จริง แค่เสียง 6 ใน 11


นายบวรศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สำหรับมาตรา 68 ที่เปิดให้ประมุข 11 องค์กรแก้วิกฤตประเทศนั้นต้องเขียนให้สุดทางโดยระบุให้สามารถใช้เสียง 6 ใน 11 เรียกประชุมได้ทันที และบุคคลที่เป็นผู้ก่อวิกฤตห้ามเข้าประชุม พร้อมทั้งต้องระบุว่ามติที่ได้นั้นจะมีผลในทางปฏิบัติอย่างไร ถ้าเขียนไว้ลอยๆ เช่นนี้ในที่สุดจะไม่มีใครกล้าใช้


 


"ถ้าให้ผมต้องลงมติในวันนี้ผมก็จะรับรัฐธรรมนูญร่างนี้ เพราะถือว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง รวมทั้งได้ขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น และอยากขอร้องประชาชนว่า เวลาลงมติร่างรัฐธรรมนูญนั้นให้อ่านทั้งฉบับ และต้องดูภาพรวม อย่าดูบางท่อนบางตอน เช่นเดียวกับการตัดสินนางงามต้องดูทั้งตัวไม่ใช่ตัดแขนมาดูว่ามีไฝหรือไม่ แต่ต้องดูทั้งหมด ถ้าผ่าเป็นส่วนๆไม่มีทางเป็นนางงามได้เลย แม้แต่นางงามโลกก็เหมือนกัน ถ้าเอามาคว้านไส้แล้วเอามาดูก็ไม่มีทางเป็นทางเป็นนางงามโลกได้ รัฐธรรมนูญก็เป็นอย่างนั้นเช่นเดียวกัน"นายบวรศักดิ์ กล่าว


 


 


'สมคิด' ชี้เหตุ รธน.50 มี 2 สาเหตุ 1.ที่มา ส.ว. 2.บรรจุพุทธศาสนาใน รธน.


นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญร่างแรกนี้มีเรื่องที่น่าจะเป็นปัญหามากๆ 2 เรื่องคือที่มาของ ส.ว. และศาสนาพุทธจะบรรจุให้เป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ โดยเฉพาะกรณี ส.ว. นั้นการสรรหาแท้ๆก็ตอบคำถามในเรื่องความยึดโยงกับประชาชนไม่ได้ แต่แต่งตั้งโดยนายกฯคนเดียวก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงมีการนำพวกพ้องตัวเองเข้ามา ในรัฐธรรมนูญปี 40


 


"ในเมื่อเราอยากได้ ส.ว. ที่เป็นกลาง มีความเป็นอิสระถอดถอนคนอื่น ซึ่งจะไม่ได้จากระบบเลือกตั้ง นอกจากนี้ระบบเลือกตั้งเราจะไม่ได้คนจากทุกกลุ่มในสังคม เราไม่ได้คนพิการ ภาคเกษตร แต่ระบบสรรหาเราจะได้คนอิสระเป็นกลาง กลุ่มวิชาชีพที่หลากหลาย" เลขานุการกมธ.กล่าว


 


นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้นยืนยันว่านายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นประธานกรอบสถาบันการเมืองได้ฟังความเห็นจากพรรคการเมืองแล้วส่วนใหญ่อยากได้พรรคละ 3 คน ถ้าเราไม่เชื่อเขาก็ไม่รู้จะเชื่อใคร และคิดว่าระบบนี้น่าจะพอไปเพราะคนไม่มีเงินก็สู้ได้ แต่ถ้าจะกลับไปเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวเหมือนเดิมประชาชนจะถามว่าแล้วตกลงจะปฏิรูปอะไร เหมือนเดิมทุกอย่าง


 


ส่วนที่นายบวรศักดิ์ ระบุว่าการเลือกตั้งพรรคละ 3 คนจะทำให้พรรคอ่อนแอนั้น นายสมคิดกล่าวว่า ตนก็เห็นว่าไม่แน่เสมอไป เพราะปรากฏการณ์ที่รัฐบาลทักษิณเข้มแข็งนั้นก็ไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว แต่เกิดจากระบบปาร์ตี้ลิสต์ระบบเดิมที่ทำให้พรรคไทยรักไทยได้เสียงในสภามากเกินความเป็นจริง


 


 


หวั่นประชามติไม่ผ่านทำประเทศวิกฤติ


"กมธ.ยกร่างฯตระหนักดีว่ารัฐธรรมนูญ 50 จะเป็นอนาคตของชาติ เพราะจะเป็นช่องทางเดียวที่พาสังคมไทยกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ ที่ดีหรือไม่ผ่านประชามติประเทศจะถึงทางตันและเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งกมธ.จะพยายามร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความต้องการประชาชนและเป็นไปตามหลักวิชาให้ได้มากที่สุด"


 


ทั้งนี้นายสมคิด กล่าวว่า ในการประชุมกมธ.ยกร่างฯในวันที่ 27 พ.ค. ถึง 10 มิ.ย.นั้นเราจะปรับปรุงบางอย่างเพื่อให้รัฐธรรมนูญดูดีกว่าเดิม แต่ขอเรียนว่าการร่างรัฐธรรมนูญ นั้นไม่ใช่ว่าจะขึ้นกับเจตจำนงของใครคนใดคนหนึ่งได้ 100 เปอร์เซ็นต์นายบวรศักดิ์ก็เข้าใจดีว่า 35 คนมีหลายความคิด ไม่ต่างกับการทำแกงเขียวหวานซักหม้อ เอาพ่อครัว 35 คนมันไม่กลมกล่อม แต่เป็นแกงโฮะ บางคนอยากกินเค็ม ก็ใส่เกลือ อยากใส่หวานก็ใส่น้ำตาล หรือชอบมะเขือ ก็ใส่มะเขือ


 


 


ประธาน ส.ส.ร.รับมีเวลาร่าง รธน. สั้น แต่หวังรับฟัง ค.เห็น เพื่อปรับแก้


ด้านนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยอมรับว่า มีระยะเวลาที่สั้น แต่ก็สามารถทำร่างแรกให้เสร็จตามกำหนด ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจาก 12 องค์ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การปรับแก้ในร่างที่สอง ซึ่งคงมีเนื้อหาสาระที่กระชับและชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามยอมรับว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังไม่เห็นในส่วนที่บกพร่อง ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นที่เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องนำมาปรับปรุงและตีความ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์และพร้อมที่จะนำไปประกาศให้ประชาชนทำประชามติต่อไป


 


นายนรนิติ กล่าวต่อว่า ดังนั้นประชาชนที่เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญมีสิทธิที่จะเสนอความเห็นต่างๆ และทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็จะนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาตกผลึกและนำมาเขียนให้มีความกระชับในร่างรัฐธรรมนูญ แต่กรรมาธิการ ยกร่างฯ นำความคิดเห็นของประชาชนทั่วทั้งประเทศ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะจะทำให้มีเป็นพันมาตรา และจะเห็นว่า นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องการให้รัฐบาล องค์กรตรวจสอบ และประชาชน มีความเข้มแข็ง แต่จะเห็นได้ว่าองค์กรอิสระมีความเข้มแข็งที่ไม่เท่ากับรัฐบาล จึงเกิดปัญหา


 


ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องการทำให้ทุกส่วนมีความเข้มแข็งและคานกันได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคม พฤติกรรมของวัฒนธรรมทางการเมือง ได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่หากจะเปลี่ยนวัฒนธรรมทางสังคมต้องใช้เวลาและประชาชนต้องนำปัญหาต่างๆ มาพิจารณาเพื่อให้รัฐธรรมนูญเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด


 


 "รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปรียบเหมือนบ้านที่มีหลังคา มีโครงสร้าง แบ่งเป็นห้องอย่างชัดเจน แต่อาจจะมีเพียงแค่บางอย่างในบ้าน เช่น หน้าต่างบิดเบี้ยวไปบ้าง ตรงนี้ก็สามารถปรับปรุงและแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ก็เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เกือบจะสมบูรณ์เพียงแต่สิ่งที่ไม่สมบูรณ์นั้นสามารถปรับแต่งแก้ไขได้ อย่าถึงขนาดไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองทุกภาคส่วนก็สามารถที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าอย่างช้าจะไม่เกินเดือน มิถุนายนปี 2551 จะแก้ไขให้สมบูรณ์ได้" นายนรนิติ กล่าว


 


 


หน.พลังแผ่นดินไทย เชิดชู ร่าง รธน.50 ชี้ให้เสรีภาพมากกว่า 40


ขณะที่นายลิขิต ธีรเวคิน หัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไท กล่าวว่า ในภาพร่วมของร่างรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมากว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และที่ดีมากคือบรรจุเรื่องจริยธรรมทางการเมืองและการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนไว้ พร้อมส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน แต่ไม่เชื่อว่าการขยายเขตเลือกตั้งโดยให้มีส.ส.3 คนจะแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ เพราะถ้ากมธ.ใช้ตรรกะว่าพื้นที่ใหญ่นักการเมืองจะไม่ซื้อเสียง ทำไมไม่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งไปเลย รวมทั้งยังไม่เห็นด้วยกับ ส.ว. ถ้ามีอำนาจถอดถอนควรมาจากการเลือกตั้งเพื่อยึดโยงกับประชาชน และในส่วนมาตรา 68 ที่ให้ตัวแทนองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเมืองนั้น มีคำถามหลายข้อ เช่น ถ้านายกฯถูกปลดจากที่ประชุมดังกล่าว ถ้าบุคคลที่เป็นนายกฯดังกล่าวได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง หมายความว่าองค์กรเหล่านี้อยู่ฝ่ายตรงกับประชาชนใช้หรือไม่ ส่วนมาตรา 299 ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมนั้น ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ควรออกเป็น พ.ร.บ.แทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net