พี่น้องคารามาซอฟ: The Brothers Karamazov

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณภัค เสรีรักษ์

 

 

ถึงแม้ Fyodor Dostoevsky จะเสียชีวิตไปแล้วกว่าร้อยปี แต่วรรณกรรมของเขายังคงถูกพูดถึงและได้รับการอ่านจนถึงทุกวันนี้ เหตุผลหนึ่งก็คือเรื่องราวของเขาสามารถเข้าใจได้ในทุกวัฒนธรรม ทุกความเชื่อ เรื่องราวไม่สลับซับซ้อนแต่กลับลึกซึ้งยิ่ง ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเลื่อนไหลของเหตุการณ์ แต่ได้ล้วงลึกไปถึงระดับความคิดและจิตวิญญาณ โดยเฉพาะนิยายเรื่องยาวเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเขา The Brothers Karamazov

 

แม้เขาจะเขียนมันไม่จบสองภาคอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่เพียงภาคแรกภาคเดียวก็ทำให้เราจดจำเรื่องราวของตระกูล Karamazov ไปนานแสนนาน แม้ถึงวันที่โลกแตกสลายไป

 

 

ฉบับแปลภาษาไทย โดย "สดใส"

 

เรื่องราวเริ่มต้นโดยการแนะนำพี่น้องตระกูล Karamazov ทั้งสามคน ซึ่งถูกทอดทิ้งจาก "พ่อ" ถูกเลี้ยงดูจากต่างสถานที่ ต่างสิ่งแวดล้อม ไม่เคยรู้จักกัน และไม่รู้จักพ่อของตัวเอง ประสบการณ์และความทรงจำที่ต่างกันหล่อหลอมให้แต่ละคนมีบุคลิก โลกทัศน์ และแรงขับดันที่แตกต่างกันไป

 

Dmitri (หรือ Mitya) ลูกชายคนโต ผู้มักจะใช้จ่ายเพื่อความสุข สูญเงินมากมายไปกับสุราและผู้หญิง ลักษณะซึ่งไม่ต่างอะไรกับพ่อที่เขาเกลียดชังและเต็มไปด้วยความอาฆาตแค้น นอกเหนือไปจากการถูกทอดทิ้งตั้งแต่ลืมตาดูโลก เขายังรักผู้หญิงคนเดียวกับพ่อของตนอีก สิ่งเหล่านั้นได้หลอมรวมไปในตัวเขาจนรู้สึกอยากฆ่าพ่อตัวเอง

 

Ivan ลูกคนถัดมา ผู้เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุผลอธิบายได้ เขาไม่เชื่อในพระเจ้า ซึ่งทัศนะเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดอย่างเข้มแข็งจากงานเขียน และการพูดจาของเขา ถึงแม้เขาจะเกลียดพ่อเป็นอย่างมากแต่เขาก็เก็บงำความรู้สึกนั้นไว้ตลอด

 

และ ลูกชายคนที่สาม Alexei (หรือ Alyosha) เป็นตัวแทนของ "ความดีงาม" มีจิตใจเมตตากรุณา ไม่ตัดสินใคร และไม่กล่าวร้ายใคร รักเพื่อนมนุษย์ และศรัทธาในพระเจ้า การพูดคุยของเขากับตัวละครต่างๆในเรื่อง โดยเฉพาะกับ Ivan มักจะทำให้เราได้ตั้งคำถามกับสิ่งรอบข้างอย่างไม่หยุดยั้ง

 

เรื่องราวค่อยๆดำเนินไปพร้อมกับความขัดแย้งระหว่าง Mitya และ พ่อของเขา (Fyodor) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว Fyodor ก็ถูกฆาตกรรม และหลักฐานต่างๆ ชี้ว่า Mitya เป็นคนทำ

 

เรื่องราวค่อยๆ คลี่คลายให้ผู้อ่านร่วมตามหาฆาตกร โดยการล้วงเข้าไปในความคิดของตัวละครแต่ละตัว ครั้งแล้วครั้งเล่า...

 

เมื่อมองลึกลงไปแล้วเราพบว่าบุคลิกลักษณะของพี่น้อง Karamazov ทั้งสาม คือมุมมองต่อมนุษย์ของ Dostoevsky เขาแบ่งมนุษย์เป็นสามประเภท คือ พวก Sensualist (Mitya, Fyodor), Rationalist (Ivan) และ Spiritualist (Alyosha, Zosima)

 

มนุษย์ประเภท Sensualist และ Rationalist ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่บนโลก มักมีการปะทะระหว่างกัน เพราะทั้งคู่เป็นดั่งขั้วตรงข้ามของกันและกัน ขณะที่พวก Spiritualist ก็ไม่สามารถช่วยเหลือคนสองประเภทข้างต้นให้พ้นจากความขัดแย้งระหว่างกัน หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งภายในตัวเองได้อย่างทั่วถึง

           

ประเด็นหลักที่ Dostoevsky ต้องการตั้งคำถาม ซึ่งเราพบได้จากนิยายเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องอำนาจบางอย่างที่คนเชื่อถือกันคือ "พระเจ้า" และ "พ่อ" (ซึ่งอาจรวมถึงการตั้งคำถามถึง การคงอยู่ของระบบซาร์ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อของแผ่นดินด้วย)

 

ดังเราจะพบเห็นในการแสดงทัศนะของตัวละครต่างๆ เรื่องการดำรงอยู่ของพระเจ้า [1] และทัศนะเรื่องการทำปิตุฆาต (Parricide) ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าสภาพชีวิตของ Dostoevsky เองที่ทำให้เกิดคำถามเหล่านี้ ทั้งความรู้สึกของเขาต่อพ่อ และจากการที่ซาร์ลดโทษให้กับกลุ่มนักโทษซึ่งมีเขารวมอยู่ด้วย [2]

 

 

อนุสาวรีย์ของ Fyodor Dostoevsky

 

นอกจากประเด็นคำถามแล้ว Dostoevsky ยังให้ทัศนะหรือแนวคิดบางอย่างแก่ผู้อ่านผ่านตัวละครของเขาอย่างแยบยลจนเหมือนกับเป็นความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนั้นๆ เอง แต่จริงๆ แล้วมันคือทัศนะบางอย่าง ที่ Dostoevsky ต้องการบอกมนุษยชาติ ซึ่งเขามักใช้ผ่านตัวละครที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของความดีคือ Zosima และ Alyosha

 

การที่ Dostoevsky มักจะใช้ Alyosha เป็นสื่อถึงความดี และเป็นตัวละครที่มักจะช่วยประสานความสัมพันธ์แก่บุคคลรอบข้าง นอกเหนือจากสาเหตุที่เขาจงใจวางให้ Alyosha (ซึ่งมีชื่อเหมือนกับลูกชายวัย 3 ขวบ ที่เสียชีวิตของเขานั้น) เป็นตัวเอกแล้ว น่าจะหมายถึงการที่ Dostoevsky เชื่อในมนุษย์แบบ Spiritualist ว่าจะสามารถสร้างทางออกที่ดีให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดในสังคมโลกได้

 

ส่วนในตอนจบของเรื่องที่ Alyosha พูดกับเด็กๆ ให้จดจำความรักและความทรงจำดีๆ ระหว่างกัน น่าจะเป็นการแสดงถึงทัศนคติที่ดีต่อความรักของ Dostoevsky ซึ่งเขามองว่าน่าจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดในสังคมโลก

 

นอกจากนี้ "The Brothers Karamazov" ยังสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งในสังคมรัสเซียยุคนั้นได้เป็นอย่างดีคือ ในช่วงที่รัสเซียมีการปะทะสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมรัสเซียดั้งเดิม กับ วัฒนธรรมยุโรปตะวันตก ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มปัญญาชนสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ Slavophiles และ Westernizer ดังที่เราพบได้จากความแตกต่างทางความคิดของตัวละครหลายๆตัวที่มีความเด่นชัดว่ามีความคิดแบบตะวันออกและตะวันตก และ Dostoevsky ยังมีอารมณ์ขันในการจิกกัดความเป็นตะวันตกผ่านตัวละคร Kolya ด้วย โดยเปรียบเหมือนเด็กที่จริงๆ แล้วไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น

 

คุณค่าที่สำคัญจากนิยายเรื่องนี้ที่ผู้อ่านสามารถค้นพบได้คือ การตั้งคำถามของ Dostoevsky ต่อเรื่องต่างๆในชีวิต ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยต่างพยายามหาคำตอบ และสามารถครุ่นคิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

เราคงบอกไม่ได้ว่าจริงๆแล้ว Dostoevsky นั้นมีคำตอบให้กับเราหรือไม่

 

หรือ เขาอาจพยายามบอกเราว่าสุดท้ายแล้วมันไม่มีคำตอบ

 

แต่บางที คำถามอาจสำคัญกว่าคำตอบ

 

……………………………………………………………………………

 

[1] โดยเฉพาะในตอน "Rebellion" และ "The Grand Inquisitor" ผ่านการพูดคุยระหว่าง Ivan กับ Alyosha

 

[2] ในคืนของวันที่ 23 เมษายน 1849 กลุ่ม Petrashevsy Circle ที่มาประชุมถูกจับไปหมด Dostoevsky ถูกขังเดี่ยวนานถึง 8 เดือน และต่อมาเขาถูกตัดสินประหารชีวิตพร้อมกับสมาชิกกลุ่มรวม 21 คนอย่างไรก็ตาม ในเช้าวันที่ 22 ธันวาคม 1849 ระหว่างที่กลุ่มนักโทษกำลังเตรียมถูกยิงเป้า Tsar Nicholas I ทรงมีพระราชโองการลดโทษประหารชีวิตเป็นการเนรเทศไป Siberia แทน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมี "อำนาจสูงสุด" ความเป็น "เจ้าชีวิต" ที่สามารถตัดสินความเป็นความตายของใครก็ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท