Skip to main content
sharethis

อดีต ส.ว. เลือกตั้งรวมตัวยื่นข้อเสนอขอแปรญัตติ เสนอบรรจุพุทธศาสนาประจำชาติ - ส.ส. 499 คน - ส.ว.เลือกตั้ง -ไม่เอา "คณะบุคคล" ยามวิกฤต - ห้ามประธาน สตง.รักษาการไม่มีวาระ - ไม่ให้ตัดสิทธิ์ลงสมัครอีกรอบ "ไสว" ชี้ กมธ.ยกร่างฯ เขียนรัฐธรรมนูญฉบับ "ล้างแค้น"


 


ประชาไท - 26 เม.ย. 2550 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เวลา 11.30 น. กลุ่มชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 นำโดยนายไสว พราหมมณี อดีต ส.ว.นครราชศรีมา นายวิบูลย์ แช่มชื่น อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์ นายณรงค์ นุ่นทอง อดีต ส.ว นครศรีธรรมาราช นายสามารถ รัตนประทีปพร อดีต ส.ว. หนองบัวลำพูน นายคำณวน ชโลปถัมน์ อดีต ส.ว. สิงห์บุรี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอให้มีการขอแปรญัตติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


นายไสวกล่าวว่า การยื่นข้อเสนอครั้งนี้เป็นข้อสรุปที่ได้จากการพูดคุยของสมาชิกกลุ่มชมรมฯ ซึ่งเป็นอดีต ส.ว.ตั้งแต่ปี 2543-2549 ซึ่งมีข้อเสนอ 5 ข้อที่จะให้แปรญัตติในร่างรํฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ


 


1.ชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 เห็นด้วยในหลักการให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ 2.ขอเสนอให้มีการปรับปรุงมาตรา 68 ที่ให้สิทธิ 11 บุคคลเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติชาติได้ โดยเห็นว่าวรรคแรกของมาตรา 68 เป็นการรับรองการต่อต้านอำนาจรัฐบาลแบบนอกระบบหรือนอกกติกา โดยขอให้แปรญัตติในวรรคแรกที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ขอเสนอให้ตัดข้อความ "ซึ่งมิได้เป็นไป" ออกแล้วเปลี่ยนเป็น "โดยวิธีการ" แทน เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิต่อสู้กันตามกติกาบ้านเมือง


 


ส่วนวรรคสองของมาตรานี้ เสนอให้ตัดออกทั้งหมด เพราะที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ 11 องค์กรในการแก้วิกฤติ ทำให้บุคคลเหล่านี้มีอำนาจเหนือประชาชน และการกำหนดว่า ภาวะวิกฤติ เหตุการณ์คับขัน ก็จะถูกตีความแตกต่างกันออกไป และไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้กำหนด หลักการที่แท้จริงที่ควรแก้ไขคือ ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน และตัดสินโดยการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีการแห่งประชาธิปไตย


 


3.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 91 และมาตรา 92 เกี่ยวกับ ส.ส. ให้จำนวนผู้แทนราษฎรเป็น 480 คน เพื่อไม่ให้เป็นการลิดรอนสิทธิเดิมของประชาชน โดยให้ ส.ส. 400 มาจากการเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตหนึ่งคนจำนวน 400 เขต โดยแบ่งตามสัดส่วนประชากรและอีก 80 คนให้มาจากการเลือกตั้งแบบเขตทั่วประเทศแต่ให้ปรับปรุงสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ใหม่ เป็น 2% ขึ้นไปหรือใช้เป็นวิธีการคำนวณ โดยเมื่อ ส.ส.เขต 5 คนให้มีส.ส.ได้ 1 คน เพื่อส่งเสริมให้พรรคเล็กได้มีตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎร และส่งเสริมระบบพรรคให้สามารถนำเสนอนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศได้


 


4.ขอให้แก้ไขมาตรา 107-109 เกี่ยวกับ ส.ว.โดยให้ตัดออกทั้งหมดแล้วแก้ไขใหม่ ให้มี ส.ว. 200 คน และให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพราะการกำหนดให้ ส.ว.มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง จะไม่เป็นประชาธิปไตย และจะริบอำนาจประชาชน ทำให้ไม่มีความสง่างามและไม่มีความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทย ที่จะทำหน้าที่ตรากฎหมายตรวจสอบฝ่ายบริหารและแต่งตั้งถอดถอนบุคคลที่แต่งตั้งตนเองมาทำหน้าที่ ส.ว. ซึ่งเปรียบได้กับการออกกฎหมายให้ลูกฆ่าพ่อ หรือพ่อฆ่าลูกได้


 


"โดยหลักการ การใช้วิธีการสรรหา ส.ว.โดยคิดว่า การสรรหา ส.ว.จะไม่ถูกแทรกแซงนั้นน่าจะเป็นสมมติฐานที่ขาดเหตุผลสนับสนุนโดยสิ้นเชิง จึงขอเสนอให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คนเท่าเดิม เพื่อเป็นการรักษาสิทธิเดิมของประชาชนและเสนอให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมดเท่านั้น" นายไสว กล่าว


 


นายไสว กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอในเรื่องที่ 5 นั้นขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขบทเฉพาะกาลดังนี้ คือ


 


1.ขอให้ตัดมาตรา 285 ,286,287 วรรคท้ายออกทั้งหมดโดยไม่ให้จำกัดสิทธิพื้นฐานของผู้ใดและให้ยึดหลักประชาธิปไตยและอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง 2.ให้แก้ไขมาตรา 289 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระปัจจุบันดำรงตำแหน่งได้ต่อไป เพียงครึ่งเวลาของวาระแรกตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการสรรหาใหม่จากปวงชนชาวไทย 3.ให้มีการแก้ไขมาตรา 291 ใหม่ไม่ควรให้บุคคลคนเดียวทำหน้าที่แทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปโดยไม่กำหนด แต่ควรกำหนดให้มีการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ สตง.ตามเวลาที่กำหนดชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 5.เสนอให้ตัดข้อความในมาตรา 299 ออกทั้งหมด เพราะได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 แล้ว และไม่ควรกำหนดให้เป็นเงื่อนไขและความชอบธรรมในการทำรัฐประหารทำลายรัฐธรรมนูญและประเทศไทยในอนาคตโดยมิชอบอีกต่อไป


 


ด้านนายวิบูลย์ แช่มชื่น กล่าวว่า เหตุที่กลุ่มสมาชิกอดีต ส.ว.อยากให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะได้สำรวจเช่นกันและเห็นว่าประชาชนส่วนมากต้องการให้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติ โดยทำแบบสอบถามจำนวนหลายชุดเพื่อไปแจกจ่ายให้กับประชาชน พบว่าประชาชนกว่า 80 % เห็นด้วยให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ดังนั้น การที่กรรมาธิการให้เหตุผลว่าศาสนาอื่นในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมากและทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา รวมทั้งให้ข้ออ้างว่าไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนให้บรรจุศาสนาต่างๆ เป็นศาสนาประจำชาติ ดังนั้นจึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ถูกต้องเพราะจากการสำรวจพบว่าประชาชนต้องการให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ


 


นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า การที่กรรมาธิการกำหนดให้ลดจำนวนส.ส.ลงโดยอ้างว่าสภาสูงเป็นสภา 500 ต้องลดจำนวนลงเพื่อที่จะไม่เป็นสภา 500 เขาขอเสนอว่าให้เป็นสภา 499 ก็ได้ โดย 399 มาจากเขตเลือกตั้งและอีก 100 มาจากระบบปาร์ตี้ลิสต์และกำหนดให้คิดคะแนนสัดส่วนเพียง 1% ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้คำนวณสัดส่วน ส.ส.ได้ง่ายที่สุด ส่วนการที่กรรมาธิการออกบทเฉพาะกาลตัดสิทธิส.ส.ร.ห้ามลงสมัครการเมือง 2 ปี เป็นการตัดสิทธิพื้นฐานทางการเมืองอันชอบธรรมของประชาชน จึงไม่เห็นด้วย


 


"ตัดสิทธิ ส.ส.ร.ยังไม่พอ ยังมาตัดสิทธิ ส.ว.เก่าอย่างพวกผมไม่ให้ลงสมัครทางการเมืองอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน จึงอยากให้กรรมาธิการและ ส.ส.ร.ยึดมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยเมื่อเริ่มรัฐธรรมนูญใหม่พวกเราต้องมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญใหม่ นอกจากนี้ เสนอให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากต้องยึดหลักอำนาจเป็นของประชาชน ถ้ามองว่าประชาชนเลือกแล้วได้คนไม่ดี จะให้คน 7-8 คนมาเลือกหรือ รับไม่ได้ ทั้งนี้ อยากให้ ส.ส.ร.ช่วยนำข้อเสนอทั้ง 5 ข้อพิจารณาในชั้นของการแปรญัตติ" นายวิบูลย์กล่าว


 


ทั้งนี้ นายไสว กล่าวเสริมว่า การตัดสิทธิพวกตนในการไม่ให้ลงสมัคร ส.ว.หรือตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองในครั้งหน้าเป็นการตัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้ผิดเพี้ยน และเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ยืนอยู่บนอคติ หรือเรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับล้างแค้น ถ้ากรรมาธิการจริงใจในการแก้ปัญหาก็ต้องเขียนให้ทุกคนมีสิทธิเท่ากันในทางการเมือง


 


"รัฐธรรมนูญฉบับเก่าเลิกใช้ไปแล้ว ดังนั้น เมื่อเลิกแล้วก็เท่ากับนับ 1 ใหม่ ให้ทุกคนได้สิทธิเท่าๆ กัน ทั้งนี้รวมถึง ส.ว. ชุดที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 49 ด้วย" นายไสว กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อเสนอที่เป็นเหตุผลประกอบหลักในการต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะ ส.ว.ชุด 43 ที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกครหาว่าเป็นสภาทาสและมี ส.ว.ขายตัวให้นักการเมืองโดยรับเงินเดือนเป็นรายเดือนจากนักการเมือง นายวิบูลย์ กล่าวว่า เรื่อง ส.ว.ทาสหรือสภาผัวเมียเป็นข้ออ้างที่กรรมาธิการจะมาใช้ลบร้างระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ส่วนเรื่องการล็อบบี้ ทุกวงการมีเหมือนกันหมดแม้แต่วงการ ส.ส.ร.เองก็ยังมีข่าวออกมาว่ามีการล๊อบบี้ ดังนั้น หากกรรมาธิการมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาก็ต้องมีการออกกฎหมายที่จะมาควบคุมในเรื่องของจรรยาบรรณ และจริยธรรมของ ส.ว. ไม่ใช่มาตัดสิทธิด้วยการสรรหาแบบนี้


 


ด้านนายนรนิติ กล่าวว่า จะรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของอดีต ส.ว.ไปพิจารณา เพราะหากเริ่มนับจากวันที่ 26 เม.ย.ที่จะมีการส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกก็จะมีเวลาอีก 30 วันที่ส.ส.ร.ทั้ง 100 คนจะขอแปรญัตติ โดยใช้ชื่อของคนที่รับรองจำนวน 10 คน ซึ่งอาจจะมี ส.ส.ร.ที่อยากจะขอแปรญัตติในประเด็นต่างๆ ได้ ซึ่งคนได้ข่าวว่านายวัชรา หงส์ประภัสร์ ส.ส.ร.ได้ขอเสนอแปรญัตติเรื่องไม่ควรให้ ส.ว.มาจากการสรรหา ส่วนเรื่องสัดส่วนของส.ส.และมาตรา 68 รวมทั้งมาตรา 299 ก็มีหลายคนที่อยากจะขอแปรญัตติอยู่ อย่างไรก็ตาม จะนำข้อเสนอนี้ไปให้กรรมาธิการพิจารณาอีกรอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net