Skip to main content
sharethis

โดย องอาจ เดชา


 


 


 


"หมู่เฮาก็เหมือนเป็นเศษเดนที่ข้าราชการไทยใช้แล้วคายทิ้ง..." นั่นเป็นถ้อยคำน้ำเสียงของ ใส่ แสนมี่ ชาวไทยภูเขาเผ่าลีซูบ้านห้วยโก๋น ที่เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเศร้าปนหยันในชะตากรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐได้นำกำลังพร้อมอาวุธสงครามเข้าจับกุมชาวบ้าน 21 ราย ด้วยข้อหาบุกรุกป่า


0 0 0 0 0


หากย้อนกลับไปในอดีต เมื่อเอ่ยชื่อ "พร้าว" อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ หลายคนอาจจะนึกถึงหนังสือและภาพยนตร์ไทย เรื่อง "หมอเมืองพร้าว" ที่นำเสนอภาพของข้าราชการหนุ่ม กับบทบาทของหมออนามัยที่เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นช่วยเหลือเยียวยาชีวิตผู้คนในท้องถิ่นธุรกันดารบนป่าเขา


ทว่าปัจจุบัน อำเภอพร้าว เริ่มเปลี่ยนไป และได้ถูกหลายๆ ฝ่ายเฝ้ามองพร้อมตั้งคำถามไปต่างๆ นานา ว่า เมืองพร้าว จะเริ่มกลายเป็นเมืองของความขัดแย้ง และข้าราชการเมืองพร้าวเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ ซึ่งว่ากันว่า นับวันยิ่งจะหนักหน่วงรุนแรงขึ้นทุกที


 


"หมู่บ้านลีซูห้วยโก๋น" ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ก็เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่แต่เดิมนั้น มีวิถีชีวิตอยู่อย่างสงบ สมถะ และสอดคล้องสัมพันธ์กับผู้คนพื้นราบมาเป็นอย่างดี แต่จู่ๆ ชาวบ้านทั้งหมดก็ต้องตื่นตระหนกตกใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน ที่จู่ๆ ชาวบ้านก็ถูกกำลังเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจพร้อมอาวุธปืนสงคราม H K. และปืน M.16 เข้าปิดล้อมหมู่บ้าน พร้อมเข้าจับกุมชาวบ้านชนเผ่าลีซูและอาข่า จำนวน 36 คน ก่อนแจ้งข้อหาบุกรุกป่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ปักหลักปักฐานสร้างเป็นชุมชนขึ้น โดยการแนะนำชี้แนะของเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง


 


 


 


 


 


 


 


ย้อนเหตุการณ์ปิดล้อมของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมชาวบ้าน


วันนั้น, 10 ก.ย.2549 ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าลีซูและอาข่า พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านห้วยโก๋น ได้มีชุดกำลังเฉพาะกิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อส.เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำนักงานส่วนบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 16 เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 3354 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอพร้าวและเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังผาเมือง กว่า 300 นาย พร้อมอาวุธปืนสงคราม HK.และปืน M.16 เข้ามาในหมู่บ้าน จากนั้นได้ทำการปิดล้อมหมู่บ้าน ก่อนทำการเข้าจับกุมชาวบ้านทั้ง 34 ครอบครัว


การปิดล้อมหมู่บ้านและจับกุมตัวราษฎรครั้งนี้ นำโดยนายธวัฒน์ จิตต์กาวิน ปลัดอำเภอ อ.พร้าว เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ โดยมีนายประพัฒน์ หล้าแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา พ.ต.ท.ฐานันท์ พัฒนพงศ์สิน รอง ผกก.ป.สภอ.พร้าว และนายอินเหลา จันป้อ นายก อบต.ป่าตุ้ม นำทีมร่วมปฏิบัติการ


โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า นายอดุลย์ ทรงชัยกุล นายอำเภอพร้าว ทำหนังสือที่ ชม.1017/1644 แจ้งไปยังกำนัน ต.ป่าตุ้ม นายกอบต.ป่าตุ้ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.ป่าตุ้ม รวมทั้งสมาชิกอบต.ป่าตุ้ม หมู่ 11 เรื่องแจ้งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่เขตอุทยาน ลงวันที่ 28 ส.ค.2549 ที่ระบุว่า อำเภอพร้าวได้รับแจ้งจากอบต.ป่าตุ้มว่ากลุ่มผู้ทำนาและกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.เขื่อนผาก ต.ป่าตุ้ม ต.เวียง ต.ทุ่งหลวง ซึ่งใช้น้ำจากน้ำแม่สะลวมในการปลูกพืชประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร จึงร่วมกันขึ้นไปตรวจสอบสอบป่าต้นน้ำแม่สะลวมซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯศรีลานนา พบว่ามีชาวเขาเผ่าอาข่าและลีซู จำนวน 40 หลังคาเรือน 105 คน ได้ลักลอบไปตั้งบ้านเรือนและทำไร่เลื่อนลอยบริเวณบ้านห้วยโก๋นทำให้ป่าไม้ถูกทำลายและเกิดความแห้งแล้ง 


 


อำเภอพร้าวจึงได้ออกคำสั่ง เลขที่ 443/2549 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว พบว่า มีการบุกรุกป่าต้นน้ำแม่สะลวมจริง จึงได้ประชุมคณะกรรมการฯ และสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาแล้วโดยมีมติให้ชาวเขาทั้งหมด 40 หลังคาเรือนที่อยู่บ้านห้วยโก๋นอพยพไปอยู่ที่อื่น ดังนั้นอำเภอพร้าวจึงขอให้แจ้งราษฎรบ้านห้วยโก๋นจำนวน 40 หลังคาเรือนที่บุกรุกเขตอุทยานฯศรีลานนา อพยพรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยกำหนดให้วันที่ 1 ก.ย.2549 เริ่มย้านที่อยู่ และหากหลังจากวันที่ 7 ก.ย.2549 เป็นต้นไปยังมีชาวบ้านห้วยโก๋นฝ่าฝืนอยู่ในเขตอุทยานฯศรีลานนา จะแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย


 


อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นแม้ทางอำเภอได้แจ้งให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ก่อนการเข้าจับกุมนั้น แต่ชาวบ้านยืนยันไม่ย้ายออกเพราะอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ขณะที่อุทยานฯศรีลานนานั้นเพิ่งมาประกาศเมื่อปี 2542 จึงยืนยันอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป


 


กระทั่ง ในวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านจำนวน 36 คน และควบคุมตัวไปยังสภ.อ.พร้าว โดยตั้งข้อหาบุกรุกป่า และหลังจากนั้นได้ปล่อยตัวชาวบ้านไป 15 คนเพราะชาวบ้านส่วนนี้ได้ขึ้นทะเบียนตรวจสอบการถือครองที่ดินตามมติครม.วันที่ 31 พ.ค.2542 ขณะที่ชาวบ้านที่เหลือ 21 คน นั้นได้ถูกควบคุมตัว


 


ซึ่งการปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านในครั้งนี้ ทางชุดเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่า ได้ปฏิบัติการตามคำสั่งนายอำเภอพร้าวที่ 604/2549 ลงวันที่ 5 กันยายน 2549 โดยชาวบ้านที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีอาญาทั้งหมด 21 ราย เป็นชนเผ่าลีซู 12 คน และเป็นชนเผ่าอาข่า 9 คน ถูกตั้งข้อหา "ก่นสร้างแผ้วทางเผาป่าด้วยกระทำการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า ยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้างแผ้วถางป่าหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต"


 


และนายอดุลย์ ทรงชัยกุล นายอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ให้ชาวบ้านอพยพรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างย้ายออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่อื่นทันที ทั้งที่อำเภอพร้าวยังไม่ได้เตรียมโครงการรองรับการอพยพหมู่บ้าน เช่นที่ดินกิน ที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวบ้านห้วยโก๋นแต่อย่างใด 


 


 


 


นายไสว ตามิ ผู้ใหญ่บ้านห้วยโก๋น บอกเล่าให้ฟังว่า บ้านห้วยโก๋นนั้นเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซูและอาข่า อาศัยอยู่ที่นี่มานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี ชาวบ้านก็มีบัตรประชาชนกันเกือบทั้งหมดแล้ว ขณะที่บ้านห้วยโก๋นนั้นก็ไม่ได้อยู่ในเขตต้นน้ำตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังนั้นการจับกุมที่เกิดขึ้น เขาเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุเพราะไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเสียก่อน


 


"การมีคำสั่งให้ชาวบ้านอพยพออกเพราะอ้างว่าอยู่ในเขตอุทยานฯศรีลานนานั้นจึงเป็นคำสั่งที่ชาวบ้านรับไม่ได้ เพราะอุทยานฯศรีลานนาเองนั้นก็เพิ่มมาประกาศเอาเมื่อปี 2542 ที่สำคัญการสั่งชาวบ้านห้วยโก๋นอพยพออกนั้น ทางอำเภอก็ไม่มีแผนการใดๆรองรับอย่างเป็นระบบ ซ้ำร้ายยังไม่มีพื้นที่รองรับชาวบ้านด้วย ดังนั้นชาวบ้านยืนยันไม่อพยพออกไม่ว่ากรณีใดๆและขอยืนยันว่าจะต่อสู้อย่างถึงที่สุด" ผู้นำหมู่บ้านห้วยโก๋น เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงจริงจัง


 


"พวกเราไม่อยากย้าย อยากอยู่ที่เดิม เพราะถ้าถูกไล่ออกจากพื้นที่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นพวกเราขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะพวกเราบริสุทธิ์หาเช้ากินค่ำไม่ทำให้ใครเดือนร้อน" ตัวแทนชาวบ้านห้วยโก๋นคนหนึ่ง ที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาเพียงชั่วข้ามคืน โอดครวญด้วยน้ำเสียงเศร้า


 


สจ.พร้าว-สมาชิก อบต. โดดป้องชาวบ้าน นำหลักทรัพย์ประกันตัวร่วม 4 ล้านบาท


 


รุ่งเช้าของวันที่ 11 ก.ย.2549 นายอรุณ ธนะหมี สมาชิกสภาจ.เชียงใหม่ (สจ.อ.พร้าว)ได้ใช้หลักทรัพย์จำนวน 3.2 ล้านบาท ในขณะที่นายสุเทพ แสนมี่ สมาชิกอบต.ได้ใช้หลักทรัพย์อีกจำนวน 750,000 บาท รวมทั้งสิ้นร่วม 4 ล้านบาท ประกันตัวชาวบ้านทั้ง 21 คนออกมา


 


นายอรุณ ธนะหมี สจ.พร้าว บอกเล่าหลังยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวชาวบ้านออกมา ว่า กรณีการจับกุมชาวบ้านครั้งนี้ เขาเห็นว่าชาวบ้านไม่มีความผิด กระบวนการจับกุมไม่เป็นธรรม เพราะชาวบ้านอาศัยอยู่ที่นั่นมานาน อีกทั้งในการจับกุมชาวบ้านเองหน่วยงานราชการก็ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเหตุการณ์อย่างนี้ไม่เกิดเฉพาะที่ อ.พร้าวที่เดียว เพราะพี่น้องชาวเขามีอยู่หลายที่ ดังนั้นเขาจะติดตามคดีนี้จนถึงที่สุด เพื่อทำเป็นกรณีศึกษาแก่พื้นที่อื่นด้วย


 


ในขณะที่ผู้ใหญ่บ้านห้วยโก๋น บอกเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นคาราคาซังมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาส่วนของชาวบ้านห้วยโก๋นเองนั้นก็มีกติกาอยู่ว่าชาวบ้านต้องทำกินในพื้นที่เดิมเท่านั้น ห้ามขยายพื้นที่ใหม่อย่างเด็ดขาด ซึ่งชาวบ้านเองก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ชาวบ้านยังได้เสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานว่าให้เข้ามารังวัด กันแนวเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านให้ชัดเจน แต่ข้อเสนอนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับไปพิจารณาแต่อย่างใดเลย


 


 


 


สุเทพ แสนมี่ สมาชิกอบต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว


 


นายสุเทพ แสนมี่ สมาชิกอบต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว กล่าวว่า การจับกุมชาวบ้านที่เกิดขึ้นเขาเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ และที่ทางอำเภออ้างว่าชาวบ้านทำลายป่า แต่หากใครมาดูก็จะเห็นว่าป่าที่นี่สมบูรณ์มาก ชาวบ้านช่วยกันจัดการดูแล อีกทั้งหมู่บ้านห้วยโก๋นก็ไม่ได้อยู่ในเขตต้นน้ำอย่างที่อำเภอกล่าวอ้าง ซึ่งก็น่าแปลกว่าทำไมพื้นที่ที่อยู่ต้นน้ำจริงๆ ภาครัฐไม่ดำเนินการใดๆ


 


ชี้เงื่อนงำอพยพชาวบ้าน หวังยึดพื้นที่หาผลประโยชน์ของจนท.รัฐ-ผู้นำท้องถิ่น


 


อย่างไรก็ตาม สมาชิกอบต.ป่าตุ้ม ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เหตุผลการอพยพและจับกุมชาวบ้านห้วยโก๋นครั้งนี้ อาจเป็นเพราะปัจจุบันบริเวณดังกล่าวกำลังมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะลวม มีคนหลายคน โดยเฉพาะผู้นำองค์กรท้องถิ่นบางคนต้องการที่ดินเพื่อรอเอาค่าชดเชย อีกทั้งผู้นำองค์กรท้องถิ่นคนนี้ยังมีปัญหาการบุกรุกที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ในหลายพื้นที่ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าเขาร่วมมือกับทางอำเภอเพื่อสั่งอพยพชาวบ้านโดยอ้างชาวบ้านทำลายป่าต้นน้ำเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะมายังบ้านห้วยโก๋นแทน ดังนั้นชาวบ้านห้วยโก๋นจึงกลายเป็นแพะรับบาป


 


"เข้าใจว่าที่เขาอยากย้ายชาวบ้านห้วยโก๋นออกไป ก็เพราะมีนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการอำเภอพร้าวและนายทุนอยากยึดพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งหวังผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อน เพราะได้ข่าวว่า ผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่นร่วมกันเป็นนายหน้ากันเสียเอง" สมาชิกอบต.ป่าตุ้ม บอกย้ำ


 


 


 


แม่เฒ่าอาหมี่มะ เลายี่ปา


ชาวบ้านห้วยโก๋น


 


ล่าสุด "ประชาไท" ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านห้วยโก๋น พร้อมสอบถามความรู้สึกของชาวบ้านหลังถูกเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อม จับกุม และออกคำสั่งให้อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น


 


แม่เฒ่าอาหมี่มะ เลายี่ปา วัย 63 ปี บอกเล่าให้ฟังว่า รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากที่ต้องเจออย่างนี้ ทั้งๆ ที่มีบัตรประชาชนเป็นคนไทยเหมือนคนทั่วๆ ไป


 


"เฮาเคยอยู่ที่นี่ ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เฮาเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ และอยากจะขอตายอยู่ที่นี่" แม่เฒ่าอาหมี่มะ บอกเล่าด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า


 


"พวกเราชาวบ้านก็เหมือนเป็นเศษเดนที่ข้าราชการไทยใช้แล้วคายทิ้ง และอยากถามว่าระหว่างกฎหมายอุทยานฯ กับแม่เฒ่า ใครแก่กว่ากัน" นายใส่ แสนมี่ ชาวบ้านห้วยโก๋นอีกคนหนึ่งบอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงบ่นพ้อ


 


คดีอยู่ชั้นอัยการ เหยื่ออำนาจรัฐ 21 ราย ยืนยันความบริสุทธิ์ ขอสู้ให้ถึงที่สุด


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือ กล่าวว่า ขณะนี้ คดีจับกุมชาวบ้านห้วยโก๋นทั้ง 21 คน ยังอยู่ในชั้นอัยการ เพื่อรอการพิจารณาอยู่ว่าจะทำการฟ้องหรือยกฟ้อง หากมีการยื่นฟ้อง ศาลก็จะนัดไต่สวน ซึ่งชาวบ้านทั้ง 21 คน ต่างยืนยันในความบริสุทธิ์ และจะขอสู้ให้ถึงที่สุด โดยชาวบ้านบอกย้ำว่า ทุกคนอยู่ที่นี่มาด้วยความถูกต้อง


 


"อยากเรียกร้องให้ชั้นอัยการ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอย่างนี้ลงมาสำรวจข้อเท็จจริงของปัญหาในพื้นที่อย่างจริงจัง ก่อนที่ตัดสินว่าชาวบ้านถูกหรือผิด เพราะเรื่องเหล่านี้กระทบต่อชีวิตของชาวบ้านโดยตรง จึงควรให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาด้วย"


 


และนี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ หนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง การแย่งชิงฐานทรัพยากรระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ รวมทั้งการมีอคติทางชาติพันธุ์ โดยสาเหตุของการเกิดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง ล้วนมาจากการกระทำของภาครัฐทั้งสิ้น ซึ่งมีหลายฝ่ายหวั่นวิตกกันว่า ปัญหาแย่งชิงฐานทรัพยากรเช่นนี้ จะเริ่มทวีความหนักหน่วงรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในทั่วทุกพื้นที่ของสังคมไทย


 






 


"ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากในสังคมไทย โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ปัญหายิ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน ที่สำคัญกระบวนการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงก็ไม่ค่อยชัดเจน ที่ผ่านมากรณีป่าไม้และที่ดินในเขตป่ารัฐมักขีดวงตีกรอบให้ชาวบ้าน ไม่ค่อยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้ความเป็นธรรม มักใช้แต่กฎหมายง่ายๆซึ่งนำไปสู่ปัญหาไม่จบสิ้น"


สุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)


 


 


 


 






 


ปัญหาที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ปัจจุบันเกิดในหลายพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้กฎหมายตัวตัวนำในการแก้ปัญหาแต่ไม่ได้มองบริบทด้านอื่นๆประกอบการดำเนินการ อย่างกรณีบ้านห้วยโก๋นเห็นชัดเจนว่าราชการอ้างชาวบ้านอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งตามกฎหมายแล้วชาวบ้านต้องอพยพออก แต่ไม่ได้มองว่าชาวบ้านอยู่ที่นั่นมานานก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติฯที่เพิ่งประกาศเอาเมื่อปี 2542 ด้วยซ้ำ ดังนั้นปัญหาดังกล่าวหากราชการยังมองแค่หลักกฎหมายเพียงมิติเดียวเขาเห็นว่าปัญหาลักษณะนี้ก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไปในหลายๆพื้นที่.


วิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.)


 


 






 


แถลงการณ์จากชาวบ้านห้วยโก๋น


 


" ใช้ช่องว่างกฎหมาย อาศัยกฎหมู่ อำนาจอิทธิพลเถื่อน ข่มขู่คุกคาม จับกุม บังคับและขับไล่ราษฎร บ้านห้วยโก๋น อำเภอพร้าว 34 ครอบครัว ออกจากป่า "


 


เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2549 เจ้าหน้าที่อำเภอพร้าว เจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติศรีลานนาสำนักบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 16 องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตุ้ม ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ประมาณ 300 นาย พร้อมอาวุธสงครามครบมือ ได้กระทำการเข้าปิดล้อมจับกุมราษฎรบ้านห้วยโก๋น หมู่ที่ 11 ต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โดยจับกุมราษฎรที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและผู้หญิงได้ 34 คน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซูและอาข่า ถูกตั้งข้อหา "บุกรุกทำลายป่าอุทยานแห่งชาติและถูกบีบบังคับให้อพยพออกจากหมู่บ้านทันที" ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ถือเป็นการการะทำที่ป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง


           


เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจ รวมถึงความไม่มั่นคงต่อครอบครัวและวิถีชีวิตเนื่องจากหัวหน้าครอบครัวถูกดำเนินคดี และอำเภอพร้าวมีคำสั่งให้อพยพหมู่บ้านออกจากพื้นที่ทันที โดยทางอำเภอพร้าวไม่ได้มีโครงการรองรับ เช่นพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย สาธารูปโภคอื่นๆแต่อย่างใด


           


ข้อเท็จจริง


ราษฎรห้วยโก๋นทั้ง 34 ครอบครัว เป็นชนเผ่าดั้งเดิมติดแผ่นดิน มีสัญชาติไทย อาศัยทำกินในพื้นที่แห่งนี้มานานนับแต่บรรพบุรุษกว่า 50 ปี และลงทะเบียนที่ดินไว้ตามมติ ครม. 11 พฤษภาคม 2542 โดยมีโครงการดอยเวียงผาให้การสนับสนุนและพัฒนา ประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามแนวทางพอเพียง ด้วยการทำสวนผลไม้ ปลูกพืชผัก ข้าว ข้าวโพดและลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคเป็นหลัก ตั้งแต่ปี 2532 มีการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างดีทำให้ผืนป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีน้ำตกหลายแห่งเหมาะแก่การอนุรักษ์และการท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จึงประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2542 ทำให้หมู่บ้านห้วยโก๋นและหมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงถูกอุทยานแห่งชาติศรีลานนาประกาศทับที่ทั้งหมด จึงกลายเป็นผู้บุกรุกและอยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมาย


 


เมื่อปี พ.ศ. 2547 ผู้แทนราษฎรสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่เขตอำเภอพร้าว ได้เสนอโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะลวม ต่อรัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร และได้รับอนุมัติงบประมาณ 500 ล้าน และมีแผนจะสร้างอ่างเก็บน้ำในอีก 3-4 ปี ข้างหน้า นายทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลเจ้าหน้าที่รัฐ จึงกว้างซื้อที่ดินทำกินของราษฎรพื้นราบที่อาศัยทำกินตลอดลำห้วยแม่สะลวมไปจนถึงบ้านห้วยโก๋นในราคาถูกและพยายามบุกเบิกป่าใหม่กว่า 1,000 ไร่ เพื่อเก็งกำไรและเตรียมขอค่าชดเชยหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ สภาอบต. มีมติหลายครั้ง เสนอให้ตรวจสอบนายทุนบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ แต่แทนที่จะดำเนินการกับนายทุนและผู้มีอิทธิพลเจ้าหน้าที่รัฐ กลับเอาราษฎรห้วยโก๋นมาเป็นแพะรับบาป สังเวยตัณหาผลประโยชน์อำนาจเถื่อนของนายทุนและผู้มีอิทธิพลเจ้าหน้าที่รัฐ...ราษฎรผู้บริสุทธิ์กลายเป็นผู้ร้ายและผู้ต้องหาอาญาแผ่นดินในชั่วข้ามคืน...


           


"พวกเรา...ราษฎรบ้านห้วยโก๋น จึงมาร้องขอความเป็นธรรมจากท่านทั้งหลาย โปรดให้ความเป็นธรรม ช่วยกันตรวจสอบปัญหาข้อเท็จจริง หาคนกระทำผิดมาลงโทษ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ตั้งตัวเป็นนายทุนผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ อาศัยอำนาจเถื่อน ความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในการข่มขู่คุกคาม จับกุมและอพยพราษฎรชนเผ่าที่ไร้ทางต่อสู้"


 


ด้วยความหวัง ว่าจะไดรับความเป็นธรรม....จากราษฎรบ้านห้วยโก๋น


 


ข้อมูลประกอบ สำนักข่าวประชาธรรม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net