Skip to main content
sharethis

                                                                                    รศ. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช


                                                             คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทนำ


ผมอ่านบทความของอาจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง "หมิ่นองคมนตรี"[2] และคุณบุญเลิศ ช้างใหญ่ ได้เขียนบทความโต้ ในหัวข้อ "เบื้องหลังหมิ่นองคมนตรี" แล้วก็มีประเด็นที่จะอยากจะแสดงความเห็นและมีข้อเท็จจริงบางอย่างนำมาเล่าสู่กันฟังด้วย


 


1. ประเด็นของการถกเถียง


1.1 คุณบุญเลิศ กล่าวว่า "แต่โดยสถานะขององคมนตรีมีความพิเศษ" ที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป กล่าวคือ พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ทรงเลือกและทรงแต่งตั้ง … มิใช่ใครอยากจะเป็นองคมนตรีก็เป็นได้" การให้เหตุผลแบบนี้ไม่มีใครเถียง แต่มีคำถามว่า "ความพิเศษ" ที่ว่านี้จะเป็นการยกเว้นมิให้ประชาชนไม่อาจตั้งคำถาม หรือแสดงความคิดเห็นวิจารณ์เชียวหรือ การยกความ "พิเศษของตำแหน่งองคมตรี" ของคุณบุญเลิศนั้น ผมว่าผู้อ่านอ่านแล้ว เหตุผลของคุณบุญเลิศยังมิได้หักล้างเหตุผลของอาจารย์สมชายเลย ผมเห็นว่า หากประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อพฤติกรรมหรือการกระทำขององคมนตรี (ที่เกิดขึ้นนอกเหนือที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้) เห็นทีต้องให้ประชาชนช่วยกันเสนอให้บัญญัติข้อความต่อไปนี้ลงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว " บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันตามกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย"[3]


           


1. 2 คุณบุญเลิศ กล่าวว่า "ประเด็นมิใช่อยู่ที่ใครวิจารณ์ พลเอก เปรม ไม่ได้ หากแต่อยู่ที่ข้อกล่าวหานั้นมิได้เป็นไปตามวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำเพราะมีเบื้องหลังแอบแฝงอยู่ เริ่มมาตั้งแต่ พ... ทักษิณ เคยพูดเรื่องบุคลผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 กลางที่ประชุมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทำเนียบ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึง พลเอกเปรม ขณะเดียวกันพ...ทักษิณก็ถูกกล่าวหาว่าตั้งใจจะกระทบไปถึงผู้ที่เหนือกว่า"


 


คุณบุญเลิศกำลังบอกว่า ผู้ที่กล่าวหาพลเอกเปรมนั้นมี "เบื้องหลังแอบแฝงอยู่" หากใช้ตรรกะเดียวกันบ้าง คนที่กล่าวหาอดีตนายกทักษิณก็มีเจตนา "เบื้องหลังแอบแฝงอยู่" เหมือนกัน และที่คุณบุญเลิศกล่าวต่อไปอีกว่า "จนถึงวันนี้ พ... ทักษิณยังไม่ได้ปฎิเสธอย่างเป็นกิจจะลักษณะว่าการพูดครั้งนั้นไม่ได้หมายถึงพลเอกเปรม" ประชาชนทั่วไปก็กำลังรอคอยคำปฏิเสธอย่างเป็นกิจจะลักษณะจากท่านประธานองคมนตรีเช่นเดียวกันว่า ที่มีการกล่าวหาท่านนั้นเป็นความจริงหรือไม่        


 


2. บทบาทขององคมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญ


ผมเคยเขียนเรื่องนี้มาแล้วจึงไม่ขอกล่าวซ้ำอีก หลังจากที่ผมเขียนบทความเสร็จ ผมได้มีโอกาสค้นคว้าตำรากฎหมายเพิ่มเติมจึงอยากจะอ้างความเห็นของปรมาจารย์ทางกฎหมายของประเทศไทยว่าท่านมีความเห็นในเรื่องบทบาทและการวางตัวขององคมนตรีภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ดร. หยุด แสงอุทัยกล่าวว่า "….องคมนตรีแต่ละคนจะต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง (ถ้ามี) นอกจากนี้ยังต้องไม่พัวพันกับการเมืองไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองเศรษฐกิจและสังคมโดยเปิดเผย"[4]


 


ส่วนศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม เห็นว่า องคมนตรีในต่างประเทศนั้น ปัจจุบันแทบไม่มีบทบาทสำคัญอย่างในอดีตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นองคมตรีของประเทศ โรมาเนีย อังกฤษ หรือแม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่ในอดีตองคมนตรีมีบทบาทมาก แต่ในปัจจุบัน แทบไม่มีความสำคัญอีกแล้ว รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวด้วยคณะองคมนตรีไว้เลย[5]


 


3. การถอดถอนองคมนตรีในอดีต


การถอดถอนองคมนตรีมิใช่เรื่องใหม่ ในอดีตเคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งตอนนั้นยังใช้คำว่า "ปรีวี่เคาน์ซิล" (Privy Council) ซึ่งหมายถึง "ที่ปฤษาในพระองค์"[6] โดยในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการถอด "พระยาอาหารบริรักษ" ออกจากปรีวี่เคาน์ซิล โดยความตอนหนึ่งในพระบรมราชโองการประกาศว่า "พระยาอาหารบริรักษผิดคำสาบาลทั้ง ๒ ข้อ …..จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ถอดพระยาอาบริรักษ ออกจากที่ปรีวี เคาน์ซิลตามกฎหมายปรีวีเคาน์ซิล ข้อ ๙ ว่า ถ้าที่ปฤกษาผู้ใดทำความผิดชั่วอยาบช้าไม่สมควรแก่ยศศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นเดิน จะถอดผู้นั้นเสียจากที่ตำแหน่งยศและจะไม่พระราชทานเงินเบี้ยเลี้ยงรักษายศต่อไปนั้น ให้ถอดพระยาอาหารบริรักษออกจากที่ปรีวีเคาน์ซิล ตั้งแต่วันนี้ไป….."[7]


 


บทส่งท้าย


ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า "ปรีวี่เคาน์ซิล" หรือ "ที่ปฤษาในพระองค์" ที่ทำผิดสาบานได้เคยถูกพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวมีคำสั่งพระบรมราชโอการถอดถอนแล้ว การดำรงตำแหน่งที่มีเกียรติอย่างยิ่งอย่างตำแหน่งองคมนตรีนั้น ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฎิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้


 


"ข้าพระพุทธเจ้า….….และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"


           


ท้ายที่สุด ประชาชนคนไทยคงไม่อยากเห็น "พระยาอาหารบริรักษ" คนที่สองในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นแน่






[1] นสพ. มติชน วันที่ 16 เมษายน 2550



[2] นสพ. มติชน วันที่ 16 เมษายน 2550



[3] ข้อความนี้อยู่ในมาตรา 12 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ แต่ตอนหลังถูกตัดทิ้งไป หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาก็ไม่เคยนำข้อความดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกเลย



[4] หยุด แสงอุทัย, คำบรรยาย หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป คำอธิบายโดยสังเขปของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรและกฎหมายเลือกตั้งทั่วไป, .. 2509, หน้า 229



[5] ไพโรจน์ ชัยนาม, สถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญของต่างประเทศกับระบอบการปกครองของไทย, (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2515), หน้า 156- 167



[6] ดูพระราชบัญญัติปรีวี่เคาน์ซิล พระราชบัญญัตินี้ได้ตั้งไว้ แต่ณวันอาทิตย เดือนแปดบุรภาสาธขึ้นค่ำหนึ่ง ปีจอฉอศกจุลศักราช ๑๒๓๖ เปนปีที่ ๗ ในรัชการ ปัตยุบันนี้



[7] โปรดดู ประกาศว่าด้วยถอดพระยาอาหารบริรักษออกจากที่ปรีวี่เคาน์ซิล คำประกาศนี้ ให้ ณ วันพฤหัสบดี เดือนสิปเอด ขึ้นสิบสองค่ำ ปีจอฉศก ขุนหลวงพระไกรสีห์ เคลิกออฟเคาน์ซิล รับพระบรมราชโองการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net